เมื่อศาลสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี: สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีขบวนเสด็จ

จากเหตุการณ์การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการใช้สิทธิในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นั้นได้มีการตั้งข้อหาความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยนายเอกชัย หงส์กังวาน นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง และ นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ได้ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 110 ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี”

 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งนายเอกชัยและนายสุรนาถไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนนายบุญเกื้อหนุนนั้นได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขสั่งห้ามไม่ให้กระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในบทความนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความมุ่งหมายในการนำเสนอหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยสังเขป เหตุผลความจำเป็นว่าทำไมจึงต้องมีมาตรการปล่อยตัวชั่วคราว และข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้

 

1. ทำไมต้องมีการพิจารณาปล่อยชั่วคราว?

การดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดนั้นบางครั้งต้องใช้ระยะเวลานาน หากเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกขังอยู่ย่อมต้องเสียอิสรภาพและเกิดความเสียหายต่อสิทธิหรือเสรีภาพต่างๆอย่างร้ายแรง ดังนั้นจึงเกิดมาตรการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิเสรีภาพของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด นั่นคือการพิจารณาให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการที่เกี่ยวกับคดีอาญา โดยทั่วไปผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องควบคุมหรือขังไว้ เช่นเหตุตามมาตรา 108/1 ดังที่จะได้กล่าวต่อไปในข้อ 2. ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการที่สอดคล้องและสืบเนื่องมาจากหลักกฎหมายเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง (Presumption of innocence)

ดังนั้นหากกล่าวกันในเชิงหลักการ การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดีอาญาย่อมเป็นหลัก การควบคุมตัวย่อมเป็นข้อยกเว้น หากศาลมีคำสั่งยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวโดยปราศจากเหตุผลที่อธิบายได้อาจเป็นการล่วงละเมิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าการกระทำความผิดทางอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์อันเป็นหลักการสำคัญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการดำเนินคดีอาญาที่ไม่เป็นธรรมตามหลักการได้รับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม (Due Process)

 

2. หลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นอย่างไร?

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวโดยหลักถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 โดยศาลจะปฏิเสธไม่ปล่อยตัวชั่วคราวได้จะต้องเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 108/1 เท่านั้น เมื่อศาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวได้รับคำร้องแล้วต้องรีบพิจารณาสั่งอย่างรวดเร็วตามที่กฎหมายกำหนดและถือเป็นหลักว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ในการพิจารณาว่าสมควรที่จะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 กำหนดว่าเมื่อมีเหตุอันควรเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เจ้าพนักงานหรือศาลจึงจะสามารถสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ นั่นคือ

1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4.ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

5.การปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

กล่าวโดยสรุปในเชิงหลักการสิ่งสำคัญที่ศาลต้องยึดถือในการพิจารณาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็คือความเป็นไปได้หรือโอกาสที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะหลบหนีหรือไปสร้างความเสียหายต่อพยานหลักฐาน หรือไปก่อความเป็นอันตรายต่อสังคม

 

สุรนาถ แป้นประเสริฐ

 

3. ข้อสังเกตบางประการเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวกรณีเอกชัย หงส์กังวาน และสุรนาถ แป้นประเสริฐ

การตั้งข้อหาของทั้งนายเอกชัย นายสุรนาถและนายบุญเกื้อหนุนนั้นมีมูลความมาจากเหตุการณ์เดียวกันนั่น คือการ กล่าวอ้าวว่ามีการขัดขวางขบวนเสด็จในช่วงเวลาที่ดำเนินผ่าน ถนนพิษณุโลก สถานที่ชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งสามคนได้ยืนยันเช่นเดียวกันว่าไม่รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จมาก่อน ไม่มีเจตนาตามมาตรา 110 ผู้ชุมนุมตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นขบวนเสด็จ แต่พอรู้ว่าเป็นชบวนเสด็จแล้วก็ไม่มีการขวาง โดยผู้ชุมนุมทั้งสามคนไม่มีเจตนาหลบหนีและต้องการไปมอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ แต่อย่างไรก็ตามนายเอกชัยและนายสุรนาถได้ถูกจับกุมก่อนไปมอบตัวที่สถานีตำรวจ ซึ่งข้อสังเกตประการหนึ่งคือแม้การตั้งข้อหาดังกล่าวจะมาจากเหตุการณ์คดีเดียวกัน แต่ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวกลับมีแค่นายบุญเกื้อหนุน ในขณะที่นายเอกชัย และนายสุรนาถกลับไม่ได้ประกันตัวแต่อย่างใด

นอกจากนี้หลักเกณฑ์ประการหนึ่งในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวนั้นคือผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ซึ่งหากพิจารณาจากเหตุผลที่ศาลให้โดยสังเขป ศาลได้นำเรื่องการมามอบตัวโดยสมัครใจที่สถานีตำรวจมาพิจารณาประกอบคำสั่งอนุญาตให้ปล่ยตัวชั่วคราว ทั้งนี้แม้ทั้งสามคนจะประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไปมอบตัวที่สถานีตำรวจโดยสมัครใจ แต่มีเพียงนายบุญเกื้อหนุนเท่านั้นที่สามารถไปมอบตัวได้สำเร็จในขณะที่นักกิจกรรมอีกทั้งสองคนโดนจับกุมเสียก่อนเดินไปทางไปสถานีตำรวจ

ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าการไปมอบตัวโดยสมัครใจหรือไม่ย่อมส่งผลต่อการพิจารณาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวและหากใช้ข้อเท็จจริงเช่นนี้เป็นปัจจัยในการพิจารณาย่อมก่อให้เกิดข้อสังเกตว่า ในบางกรณีหากผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหายืนยันในความบริสุทธิ์ของตนและตั้งใจจะไปมอบตัวที่สถานีตำรวจอยู่แล้วแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจขัดขวางหรือกลั่นแกล้งโดยการเข้าจับกุมเสียก่อนเพื่อไม่ให้มอบตัวโดยสมัครใจที่สถานีตำรวจได้ โอกาสในการประกันตัวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาย่อมลดลงโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 

บทส่งท้าย: การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาแม้พฤติการณ์แห่งความผิดจะร้ายแรงเพียงใดองค์กรของรัฐควรคำนึงถึงหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง (Presumption of innocence)

แม้โดยหลักพฤติการณ์และความหนักเบาแห่งข้อหาจะถูกนำมาใช้พิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว แต่โดยหลักเหตุที่ศาลจะปฏิเสธไม่ปล่อยตัวชั่วคราวได้ต้องเป็นไปตามมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ศาลปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายเอกชัย หงส์กังวาน และ นายสุรนาถ แป้นประเสริฐเนื่องจาก พฤติการณ์และข้อกล่าวหาตามคำร้องฝากขังเป็นเรื่องร้ายแรง หากมีการหลบหนีจะมีความเสียหายมาก  หากข้อกล่าวหาเป็นจริงย่อมมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีหรือก่อเหตุร้าย

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนายเอกชัย และนายสุรนาถ ได้ประกาศชัดเจนว่าจะไปมอบตัวและยืนยันในเจตนาบริสุทธิ์ของตนย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่จะต่อสู้คดีโดยไม่หลบหนี และแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบทั้งสามประการของการได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนั่นคือ การไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือไปสร้างความเสียหายต่อพยานหลักฐาน หรือไปก่ออันตรายต่อสังคม การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวนั้นย่อมส่งผลเสียต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาอย่างไม่จำเป็น ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นการฝ่าฝืนหลักหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง (Presumption of innocence) ในการพิจารณาคดีอาญานั้นแม้การคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมจะเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังของกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ต้องกล่าวหาย่อมเป็นคุณค่าที่สำคัญอย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นการใช้ดุลพินิจในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นจึงควรใช้อย่างระลึกถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเสมอ เพื่อให้การประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากอำนาจรัฐเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 

X