22 พ.ค. 2559 เวลาประมาณ 16.00 น. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) จัดงานรำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร อนาคตที่ประชาชนไม่ได้เลือก โดยเริ่มรวมตัวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงจุดยืนว่า ก่อนมีการลงประชามติ ประชาชนต้องออกมารณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญได้
ก่อนจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทางกลุ่ม NDM ได้ขออนุญาตจัดการชุมนุมสาธารณะไปที่ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม โดยมีนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ประสานงานขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นผู้แจ้งการชุมนุม ในใบแจ้งการชุมนุมยังชี้แจงว่าเวลาประมาณ 17.00 น. จะมีการเคลื่อนขบวนโดยเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผ่านสนามหลวง เข้าสู่ถนนราชดำเนิน ผ่านแยกคอกวัว มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเมื่อถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะมีการเล่นดนตรี อ่านบทกลอน และเสร็จสิ้นกิจกรรมเวลาประมาณ 20.00น. นอกจากนี้ระหว่างการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ United Nations (UN) 3 คน มาร่วมสังเกตการณ์
เนื่องจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีการขออนุญาตจัดการชุมนุม จึงไม่มีเหตุการณ์จับกุม แต่มีการตรวจกระเป๋าบริเวณสนามหลวง ขณะประชาชนกำลังเดินเท้าไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และตรวจอีกครั้งก่อนเข้าไปที่อนุสาวรีย์ฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
(ตำรวจขออนุญาตตรวจสัมภาระผู้ร่วมกิจกรรม)
หลังจากเดินทางถึงอนุสาวรีย์ฯ กลุ่ม NDM ได้จัดกิจกรรมพูดถึงปัญหา 2 ปี ของการทำรัฐประหาร และกิจกรรมประชามติ “2 ปีรัฐประหาร คสช. ควรไปต่อหรือไม่” โดยทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมลงประชามติจำลอง และเรียกร้องว่าก่อนมีการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องสามารถออกมารณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้
(กิจกรรมลงประชามติจำลอง)
เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี สมาชิกกลุ่มฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เรามาที่นี่ ไม่ใช่เพื่อขอคืนความสุข แต่เพื่อขอคืนความจริง ขอคืนอำนาจ ขอคืนประชาธิปไตย
ด้านรังสิมันต์ โรม กล่าวขณะปราศรัยว่า “คณะบุคคลใดที่เพิกเฉยต่อเสียงของพี่น้องประชาชน คณะบุคคลนั้นได้ชื่อว่าเพิกเฉยต่อเสียงของประเทศไทย 2 ปีที่ผ่านมา มันอาจจะไม่นานเมื่อเทียบกับชั่วชีวิตคน แต่ก็นานพอที่จะทำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ชั่วช้าสามานย์แค่ไหน”
ลำดับเหตุการณ์กิจกรรมรำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร อนาคตที่ประชาชนไม่ได้เลือก
16.00 น. ประชาชนกว่า 200 คน เริ่มรวมตัวที่ลาน 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเริ่มกิจกรรม รำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร อนาคตที่ประชาชนไม่ได้เลือก โดยมีการเปิดให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับ คสช. และระบอบเผด็จการ
16.30 น. เพนกวิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ร่วมปราศรัยกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยเพนกวินได้แสดงความเห็นว่า รัฐบาล คสช. กำลังปลุกผี และทำเรื่องแย่ๆ กับเด็กคือ การปลุกผีจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมา ผ่านการออกค่านิยม 12 ประการ สั่งให้เด็กท่องจำ และทำตาม ห้ามตั้งข้อสงสัย โดยรัฐบาลเชื่ออย่างผิดๆ ว่า การสั่งให้เด็กท่องจำ และทำตามจะทำให้เด็กเป็นคนดีได้ ซึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง (ข้อมูลอ้างอิง https://www.facebook.com/Prachatai)
17.00 น. กลุ่ม NDM และประชาชนผู้เข้าร่วมเริ่มตั้งขบวนเพื่อเดินทางไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะผ่านสนามหลวงเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้นกระเป๋า แล้วปล่อยขบวนผ่านไป
17.40 น. ขบวนเดินมุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยไม่ถูกปิดกั้น ประชาชนถือป้าย Vote No พร้อมตะโกนรัฐธรรมนูญ-ไม่เอา
17.52 น. ก่อนขบวนจะเดินข้ามถนนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจได้ขอตรวจกระเป๋าอีกครั้ง แจ้งเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ชุมนุม
18.00 น. ประชาชนประมาณ 500 คน ร่วมกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ สลับกันขึ้นปราศรัยแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งนี้ ระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม ได้มีมวลชนไม่ทราบฝ่ายจำนวน ประมาณ 20 คน ออกมาตะโกนไล่กลุ่มผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่จัดกิจกรรม 2 ปี รัฐประหาร โดยตะโกนว่า “คสช. ไม่ใช่เผด็จการ พวกมึงออกไป” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์ โดยแยกมวลชนฝ่ายหนึ่งออกไปอยู่ฝั่งแมคโดนัลด์ ขณะที่ฝ่ายจัดกิจกรรมอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านกลุ่มรำลึก 2 ปี รัฐประหาร ตะโกนโห่ด้วยความไม่พอใจ ส่วนมวลชนฝ่ายจัดรำลึกก็มีการตะโกนโห่กลับเช่นกัน แต่นักศึกษาขอร้องให้ผู้ร่วมกิจกรรมอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนกันบริเวณดังกล่าว (อ้างอิง https://www.facebook.com/Prachatai)
18.05 น. นายเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ปราศรัยว่าจะพากลุ่มผู้ชุมนุมทำประชามติจำลอง ซึ่งไม่ใช่การยุงยง ปลุกปั่นแต่อย่างใด
18.10 น. เริ่มกิจกรรมลงประชามติจำลอง เสร็จแล้วก็หยอดบัตรลงคะแนน
19.20 น. ฝนเริ่มตก แต่กลุ่ม NDM ยังปราศรัยไปเรื่อยๆ
19.40 น. NDM ประกาศยุติกิจกรรม แต่ก่อนยุติ NDM ได้เชิญชวนให้ประชาชนออกไปลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อให้ประชาชนได้กำหนดอนาคตตัวเอง และได้มีการร้องเพลงเพื่อมวลชน และบทเพลงแห่งสามัญชนปิดท้าย ประชาชนแยกย้ายกลับบ้าน