เมื่อวันที่ 18 พ.ค.59 เจ้าหน้าที่รัฐกว่า 100 นาย นำโดยนายอำเภอเชียงดาว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังกันเข้าไปยังบ้านแม่จอน หมู่ที่ 11 อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอั้ง โดยเจ้าหน้าที่มีการเดินตรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ก่อนมีการเรียกประชุมชาวบ้าน เรื่องการทวงคืนผืนป่าและการขอให้ชาวบ้านคืนที่ทำกินให้กับรัฐในส่วนที่ “บุกรุก” เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
เจ้าหน้าที่ยังมีการให้ชาวบ้าน 28 ราย เซ็นเอกสารยินยอมคืนที่ทำกิน พร้อมระบุว่าหากไม่เซ็นเอกสารอาจมีการยึดคืนที่ดินทำกินมากกว่านี้ แม้ชาวบ้านหลายคนอ่านหนังสือไม่ออก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดของเอกสารอย่างแน่ชัด และไม่ได้มีการให้สำเนาหนังสือไว้กับชาวบ้านแต่อย่างใด ชาวบ้านแม่จอนระบุว่าเจ้าหน้าที่พูดคุยในลักษณะขอให้ชาวบ้านยอม “เสียสละ” คืนผืนป่าให้ประเทศ เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าให้อุดมสมบูรณ์ และเน้นย้ำให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
นอกจากนั้นขณะเข้าตรวจพื้นที่ เจ้าหน้าที่ยังมีการเข้าปักป้ายในพื้นที่ที่ตรวจยึด มีข้อความว่า “อยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีการตรวจสอบแล้วเสร็จ ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ในเบื้องต้น มีชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 28 ครัวเรือน รวมประชากรกว่า 100 ราย รวมมีที่ดินทำกินถูกยึดคืนทั้งสิ้น 116 ไร่ 1 งาน ในจำนวนนี้ 8 ครอบครัวไม่เหลือที่ดินทำกิน บางครอบครัวเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลว่าปีนี้ชาวบ้านจะมีข้าวกินหรือไม่ เพราะไม่มีพื้นที่เพาะปลูก บางครอบครัวต้องตัดสินใจออกไปทำงานรับจ้างภายนอกหมู่บ้าน ขณะหลายคนยังหวาดกลัวว่าจะมีการเข้ามายึดที่ทำกินหรือที่อยู่อาศัยไปอีก และไม่มีใครกล้าเข้าไปทำกิน เพราะเกรงจะถูกดำเนินคดีและกลัวคำสั่งของคสช.
ภาพเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขณะเข้าตรวจยึดและปักป้ายทวงคืนพื้นที่ (ภาพจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.)
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านแม่จอน ระบุว่าภายหลังจากมีการออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และการดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า ในช่วงเดือนพ.ย.57 ได้มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 100 นาย เข้ามาในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ได้ขอคืนที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานฯ รวมพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ส่วนที่เหลือให้ทำกินต่อได้ รวมไปถึงจะให้มีการจัดการที่ดินทำกินร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน หลังจากนั้นอีกราวสองเดือน ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาวัดที่ดินด้วยจีพีเอส แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ตามที่ได้ตกลงกับชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน
จนเมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้ามาในหมู่บ้าน โดยมีการพูดคุยเรื่องการทวงคืนพื้นที่ จนวันต่อมาจึงมีการเข้ามาให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารคืนพื้นที่ดังกล่าว
จากปัญหาดังกล่าว ตัวแทนชาวบ้านบ้านแม่จอนได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในขณะมาจัดเวที “กสม.พบประชาชน (ภาคเหนือ)” ที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 59 โดยขอให้มีการชะลอการยึดที่ทำกินของชาวบ้าน และเปิดให้มีเวทีพูดคุยหาทางออกร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องไว้
สำหรับบ้านแม่จอน มีประชากร 42 หลังคาเรือน นอกจากมีกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอั้ง (หรือ “ปะหล่อง”) เป็นประชากรส่วนใหญ่แล้ว ยังมีชาวลาหู่อาศัยร่วมอยู่ด้วย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีอาชีพเพาะปลูกทำการเกษตร เช่น พืชยืนต้น ลำไย ข้าวโพด มะม่วง และพืชผลผสมผสาน โดยบางส่วนมีโครงการหลวงเป็นผู้เข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูก ชาวบ้านยอมรับว่ามีการบุกเบิกที่ทำกินเพิ่มเติมในบางส่วนหลังปี 2545 แต่ก็เกิดขึ้นภายใต้ปัญหาความยากจนของชุมชน โดยข้อมูลแผนที่ที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและอุทยานฯ ยังไม่ตรงกัน
ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าของคสช.ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งมีวิถีชีวิตและการทำมาหากินสัมพันธ์กับที่ดินและป่าไม้ ได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ หรือถูกจับกุมดำเนินคดี
ตัวแทนชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.59 (ภาพจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช.)