วานนี้ (23 ส.ค.59) ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีนายอาแม อามอ ชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ในข้อหาบุกรุกป่าสงวน แต่ต้องเลื่อนออกไปอีก หลังจากทำการเลื่อนมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง เนื่องจากต้องรอเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศาลจึงให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไปในวันที่ 28 กันยายน 2559 เวลา 9.00 น.
นับจากวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ที่พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้ยื่นฟ้องนายอาแม อามอ ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง อ.งาว จ.ลำปาง ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน และฝ่ายปกครองได้สนธิกำลังกันเข้าตัดฟันต้นยางพารา ทุเรียน และเงาะในพื้นที่ดังกล่าว ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และนโยบายทวงคืนผืนป่า (ดูรายงานข่าว)
ต่อมา ทนายความของจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลในการขอแก้ไขคำให้การของจำเลย โดยระบุว่าการรับสารภาพเกิดขึ้นโดยจำเลยมีปัญหาในการสื่อสารภาษาไทย และไม่มีล่ามอยู่ในระหว่างการสอบคำให้การ อีกทั้งข้อกล่าวหาตามคำฟ้องต่อจำเลยยังระบุจำนวนพื้นที่มากเกินกว่าพื้นที่ที่จำเลยเคยทำกินมาก่อนทนายความยังได้แถลงต่อศาลอีกว่าได้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนปัญหาในคดีนี้ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอให้ทำการรอพิจารณาก่อน (ดูรายงานข่าว)
ล่าสุดวานนี้ ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปอีก เป็นครั้งที่ 5 หลังจากมีการนัดหมายคดีมาก่อนหน้านี้แล้ว 4 ครั้ง เนื่องจากต้องรอรายงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ พร้อมจัดทำรายงานผลการตรวจสอบ โดยเบื้องต้นพบว่าจากการตรวจสอบพื้นที่ซึ่งนายอาแมเข้าไปถือครองเป็นจำนวนราว 33 ไร่ ไม่ตรงกับข้อกล่าวหาที่ถูกฟ้อง ว่าบุกรุกพื้นที่จำนวนกว่า 80 ไร่ ศาลยังได้สั่งให้อัยการโจทก์ติดต่อไปยังหัวหน้าอุทยานถ้ำผาไท เพื่อมาให้การยืนยันรายงานดังกล่าวและจำนวนเนื้อที่ในรายงานดังกล่าวต่อศาล ศาลได้นัดหมายคดีใหม่ในวันที่ 28 ก.ย.59 เวลา 9.00 น.
ปัจจุบันนายอาแม อามอ อายุ 73 ปี ก่อนหน้านี้เคยประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ โดยมีโรคประจำตัวคือโรคความดัน ในวานนี้มีลูกชายและญาติของนายอาแม 3 คน มาร่วมให้กำลังใจที่ศาลด้วย นายสมศักดิ์ ลูกชายของนายอาแม ระบุว่าพร้อมที่จะรับฟังคำตัดสิน ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร หากคำพิพากษาให้พ่อเสียค่าปรับในจำนวนไม่มากก็จะขอจ่ายเลย เพื่อให้การดำเนินคดีสิ้นสุด แต่หากต้องเสียค่าปรับในจำนวนที่สูงหรือถูกพิพากษาจำคุก ก็ต้องขอต่อสู้กันในชั้นศาลลำดับต่อไป โดยตนไม่เคยคิดมาก่อนว่าการทำมาหากินของคนธรรมดาคนหนึ่ง จะส่งผลกระทบได้ถึงเพียงนี้
ทั้งนี้ ภายหลังการใช้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 64/2557 และนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการข่มขู่คุกคาม หรือไล่รื้อที่อยู่อาศัย, การตัดฟันทำลายพืชผลในเขตป่า และการจับกุมดำเนินคดี แม้ในคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 จะเน้นย้ำว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ยากไร้ ในพื้นที่ภาคเหนือ กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ หรือถูกจับกุมดำเนินคดี