01
กรณีละเมิด: เจ้าหน้าที่ติดต่อเข้ามาทางเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของผู้ถูกคุกคามเพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวการจัดชุมนุม ชื่อของผู้เข้าร่วม องค์กรและสังกัดผู้จัดชุมนุม แล้วเรียกตัวไปพูดคุยนอกรอบหรือออกหมายเรียกผู้จัดการชุมนุมไปให้ถ้อยคำที่สถานีตำรวจ
ตัวอย่างกรณี:
- จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่โทรเข้าเบอร์โทรส่วนตัวของผู้จัดการชุมนุมนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
- จ.พะเยา เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกเยาวชนผู้จัดงาน “วิ่งไล่ลุง” ไปที่สถานีตำรวจเพื่อให้ถ้อยคำในฐานะพยาน และติดตามตัวผู้จัดฯ ไปจนถึงบ้านของผู้ปกครอง แล้วโทรศัพท์ติดต่อโดยใช้เบอร์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังได้ซักถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดวิ่ง ข้อมูลกิจกรรม และข้อมูลส่วนตัวของผู้จัดฯ เป็นเวลานานถึงกว่า 5 ชั่วโมง
วิธีรับมือ:
การโทรเข้ามาทางเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวนับเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่ทั้งนี้ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่ได้เบอร์โทรฯ มาโดยชอบหรือไม่อีกองค์ประกอบหนึ่ง
องค์ประกอบหลักในการพิจารณาว่าได้เบอร์โทรฯ มาโดยชอบหรือไม่ คือต้องตรวจสอบก่อนว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นเป็นใคร? มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือไม่? เช่น ในกรณีที่ผู้จัดฯ ยื่นแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมงเอาไว้ตาม หลักการของพ.ร.บ.ชุมนุม เจ้าหน้าที่จะขอเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของผู้ติดต่อแจ้งการชุมนุมเอาไว้ แต่หากเจ้าหน้าที่คนนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการชุมนุม ต้องการแค่หาข่าว กรณีนี้ถือเป็นการละเมิดชัดเจน อย่างไรก็ตามถึงแม้ในขั้นตอนนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ยังไม่ถึงกับเป็นการผิดกฎหมาย วิธีที่ดีที่สุดคือหากผู้จัดชุมนุมไม่แน่ชัดว่าผู้ติดต่อเข้ามาเป็นใคร ต้องการอะไร มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างไร ผู้จัดฯ มีสิทธิจะไม่พูดคุยหรือให้ข้อมูลใดๆ
02
กรณีละเมิด: เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบขอถ่ายรูป ขอดูบัตรประชาชน ถ่ายรูปสำเนาบัตรประชาชนของผู้ชุมนุม หรือขอเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลส่วนตัวของผู้ชุมนุม
ตัวอย่างกรณี:
- จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบกว่า 20 นาย เข้าไปในสถานที่ชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเจ้าหน้าที่บางนายเดินขอตรวจบัตรประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม (ซีรีส์การชุมนุมภายหลังยุบพรรคอนาคตใหม่)
วิธีรับมือ:
การใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้เข้าร่วมฯ ไม่จำเป็นต้องแสดงบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ดู เพราะการเก็บข้อมูลในบัตรประชาชนสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่การคุกคามอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้น ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิขอตรวจบัตรประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทุกคน การขอข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าชุมนุมแต่ละรายได้ จำเป็นต้องดูว่า “มีเหตุ” หรือไม่ เช่นมีผู้ชุมนุมบางคนพกอาวุธ พยายามก่อความวุ่นวายทำร้ายร่างกายผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ชุมนุมไม่สามารถแสดงบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ได้ ฐานความผิดสูงสุดในกรณีนี้คือโทษปรับ โดยมีโทษปรับสูงสุด 200 บาท ในฐานความผิดไม่พกบัตรประชาชน และหากมีการขอดูบัตรประชาชนเกิดขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิทำสำเนาเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นด้วยการถ่ายรูปหรือถ่ายเอกสาร
หากเจ้าหน้าที่โทรมาขอรายชื่อผู้เข้าร่วมชุมนุม พึงตระหนักว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เจ้าหน้าที่ยังไม่มีสิทธิสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมต้องบันทึกชื่อของผู้เข้าร่วมชุมนุม อีกทั้งกฎหมายไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถเรียกเอารายชื่อของผู้เข้าร่วมการชุมนุมจากผู้จัดฯ ได้ อย่างไรก็ตามช่วงมีการระบาดของโรคโควิด-19 อาจมีกรณีที่ผู้จัดฯ ต้องบันทึกชื่อผู้เข้าร่วม แต่เป็นหน้าที่ของผู้จัดที่ต้องเก็บรักษารายชื่อนั้นไว้ไม่ใช่เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ เว้นแต่ภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ติดโรคโควิด-19 เจ้าหน้าที่จึงจะมีสิทธิขอรายชื่อจากทางผู้จัดการชุมนุม
ในกรณีเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกให้ผู้จัดฯ ไปให้ข้อมูลที่สถานีตำรวจในฐานะพยาน แม้จะเป็นการเรียกเพื่อไปสอบเอาข้อมูลส่วนตัวอย่างชัดเจน ในกรณีนี้ ถ้าได้รับหมายเรียกอย่างไรก็ต้องไป ไม่สามารถขัดคำสั่งเจ้าพนักงานได้ แต่ผู้ถูกเรียกสามารถโทรเลื่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือโทรขอคำแนะนำจากทนายได้ ผู้ถูกเรียกฯ ควรปรึกษาทนายก่อนไปสถานีตำรวจไม่ว่าจะได้รับหมายอะไรก็ตาม
03
กรณีละเมิด: บุคคลผู้ไม่ประสงค์ดีนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ชุมนุมไปเผยบนโลกออนไลน์ นำไปล่าแม่มดไซเบอร์ หรือทำให้ผู้ชุมนุมถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวหรือคุกคามทางเพศ
ตัวอย่างกรณี:
- กรุงเทพมหานคร การชุมนุม #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #จุฬารวมพล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตหญิงรายหนึ่งตกเป็นเป้าของการล่าแม่มดและการคุกคามทางเพศ จากความพยายามชักธงดำขึ้นเสา (ซีรีส์การชุมนุมภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
วิธีรับมือ:
การล่าแม่มดออนไลน์หรือการเปิดเผยข้sอมูลส่วนตัวถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เข้าข่ายคดีหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา เมื่อเจอกรณีเช่นนี้ผู้ถูกละเมิดสิทธิต้องเตรียมตัวรับมือหลายด้าน ทั้งด้านการบริหารความเสี่ยง การรักษาความปลอดภัย การรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมฟ้องร้องทางกฎหมาย ฯลฯ รวมถึงขั้นตอนพื้นฐานอย่างการแจ้งผู้ดูและระบบเพื่อให้นำข้อมูลนั้นออก หรือระดมกดรายงานโพสต์ (report) ที่นำข้อมูลของเรามาเปิดเผย ทั้งนี้สามารถศึกษาขั้นตอนการรับมือการล่าแม่มดอย่างละเอียดได้ที่ “ทำอย่างไรเมื่อถูกล่าแม่มด 10 วิธีรับและรุกเมื่อถูกล่าฯ” https://tlhr2014.com/?p=18187
04
กรณีปิดกั้น: ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ได้ห้ามนักเรียน-นักศึกษาจัดกิจกรรมการชุมนุมโดยตรง แต่ใช้วิธีออกข้อกำหนดหรือมาตรการที่กระทบต่อการทำกิจกรรม ทำให้กิจกรรมต้องปรับรูปแบบไปจากเดิมหรือเลิกเร็วขึ้น
ตัวอย่างกรณี:
- จ.ชลบุรี การจัดวิ่งไล่ลุงของกลุ่มโกงกาง มหาวิทยาลัยบูรพา แม้จะจัดขึ้นได้ แต่ระหว่างกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้ากดดันให้ยกเลิกโดยเร็ว โดยแจ้งต่อผู้จัดฯ ว่า มีเพียงการแจ้งกิจกรรมเท่านั้น “แต่ไม่ได้ขออนุญาตมหาวิทยาลัย” จึงขอให้ยกเลิกกิจกรรมภายใน 30 นาที
- จ.สุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ไม่ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดปราศรัยหรืออ่านแถลงการณ์ ทำให้ผู้จัดฯ ต้องปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นการเขียนป้ายแสดงความคิดเห็นแทน (ซีรีส์การชุมนุมภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
- กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ขอนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุม (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
- จ.ลพบุรี อธิการบดีออกหนังสือวันที่ 1 มีนาคม 2563 ให้หยุดการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีไว้ชั่วคราว โดยอ้างถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักศึกษาออกมาทำกิจกรรม (ซีรีส์การชุมนุมภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
วิธีรับมือ:
การจัดการชุมนุมในสถานศึกษาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้า เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อีกทั้งสถานศึกษาไม่มีสิทธิสร้างเงื่อนไขปิดกั้นการจัดกิจกรรมและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิกดดันหรือขัดขวางการทำกิจกรรมของนักศึกษาหรือนักเรียน
แต่ในกรณีผู้จัดฯ ใช้พื้นที่ของสถานศึกษาบางจุดซึ่งเป็นพื้นที่ปิด เช่น อาคาร หอประชุม ซึ่งระบุถึงระเบียบการใช้สถานที่ไว้ ผู้จัดฯ จำเป็นต้องขออนุญาตล่วงหน้า แต่หากเป็นพื้นที่เปิดอย่างลานกว้างหรือลานกิจกรรม อาจไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน เพราะเป็นพื้นที่สำหรับใช้เพื่อจัดกิจกรรมอยู่แล้ว
ในกรณีที่สถานศึกษาออกมาตรการสั่งห้าม เช่น สั่งห้ามใช้เครื่องเสียง ผู้จัดฯ สามารถชี้แจงสถานศึกษาว่าจำเป็นต้องใช้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในการจัดกิจกรรม เพราะทำให้ควบคุมคนจำนวนมากได้ยาก อย่างไรก็ตามสถานศึกษาไม่สามารถห้ามการปราศรัยหรือการชูป้ายได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก
ในกรณีมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาสั่งห้ามไม่ให้ชุมนุมเพราะกลัวการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ผู้จัดสามารถชี้แจงมหาวิทยาลัยได้ว่าการชุมนุมสามารถกระทำได้แม้จะอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากมีการป้องกันการระบาดไม่ว่าจะเป็นการใช้หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ รวมไปถึงการรักษาระยะห่างทางกายภาพ อีกทั้งปัจจุบัน ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในอัตราที่สามารถควบคุมโรคได้ และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการติดโรคจากสถานที่ชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อแนะนำ การใช้ดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎระเบียบยังเป็นของสถานศึกษา แต่หากมีการลงโทษทางวินัย หรือมีการออกประกาศ กฎที่มีผลจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ประเด็นดังกล่าวยังต้องมีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณา การอุทธรณ์ รวมถึงสามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบต่อศาลปกครองได้
05
กรณีปิดกั้น: สถานศึกษาที่สั่งห้ามหรือไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมชุมนุม โดยเผยแพร่ประกาศห้ามอย่างเป็นทางการ มีเนื้อหาในลักษณะปิดกั้นกิจกรรม เช่น ระบุว่าหากจัดการชุมนุมจะลงโทษ หรือขอกำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วยดูแลความเรียบร้อย
ตัวอย่างกรณี:
- จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มนักศึกษาในนาม “มวล.เสรี” มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกาศจัดวิ่งไล่ลุงในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยกลับออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม อ้างว่ามีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง และมหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนให้กลุ่มบุคคลใดจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยยังมีการเรียกนักศึกษาไปพูดคุยกับทางตำรวจ และพยายามพูดคุยให้ยกเลิกกิจกรรม
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร –2 มีนาคม 2563 โรงเรียนออกประกาศว่ากลุ่มนักเรียนผู้จัดการชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตโรงเรียนเพื่อใช้พื้นที่ทำกิจกรรม และส่งหนังสือขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พระราชวัง มาดูแลความเรียบร้อยในช่วงเวลาที่มีการประกาศว่าจะทำกิจกรรม (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังยุบพรรคอนาคตใหม่)
- กรุงเทพมหานคร โรงเรียนสตรีวิทยาไม่อนุญาตให้นักเรียนใช้สถานที่ทำกิจกรรม โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ราชการ ไม่ควรเลือกข้างทางการเมือง ทำให้กลุ่มนักเรียนต้องย้ายออกมาทำกิจกรรมนอกรั้วโรงเรียนแทน (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังยุบพรรคอนาคตใหม่)
วิธีรับมือ:
ในกรณีที่สถานศึกษาไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมอย่างเป็นทางการ และออกประกาศห้ามอย่างชัดเจน ผู้จัดฯ สามารถทำหนังสือโต้แย้งหรือแม้แต่แถลงการณ์เปิดผนึก ว่าการชุมนุมทางการเมืองของเรานั้นเป็นการใช้เสรีภาพโดยชอบตามกฎหมาย เป็นการแสดงออกอย่างสันติปราศจากอาวุธ ย่อมต้องสามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และระเบียบของสถานศึกษาจะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุด
ในกรณีสถานศึกษาอ้างว่า “ไม่ต้องการจะยุ่งเกี่ยวทางการเมืองเนื่องจากต้องวางตนเป็นกลาง” ในความเป็นจริงการวางตัวเป็นกลางกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของนักเรียน-นักศึกษาถือเป็นคนละเรื่องกัน และสถานศึกษาไม่มีสิทธิละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือหากสถานศึกษามีระเบียบกำกับไว้ให้การแสดงออกทางความคิดมีความผิด แต่นับว่าผิดแค่ระเบียบของสถานศึกษา หรือผิดระเบียบวินัยนิสิต ไม่ได้ผิดกฎหมาย
ถ้าเราถูกทางมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาเข้ามาห้ามหรือขัดขวางการชุมนุม เราสามารถยืนยันสิทธิตามรัฐธรรมนูญของเราได้เลย หรือหลังจากนั้น หากมีกรณีการลงโทษ เราสามารถโต้แย้งสิทธิของเราผ่านทางศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในสถานศึกษาเป็นเรื่องที่สถานศึกษาสามารถทำได้
06
กรณีละเมิดและปิดกั้น: เจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางใช้ข้ออ้างอื่นแอบแฝงเพื่อละเมิดหรือปิดกั้นการใช้สิทธิชุมนุม
ตัวอย่างกรณี:
- ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ล้อมรั้ว ตั้งจุดตรวจวัดไข้โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แล้วให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องลงชื่อ-สกุล เลขประจำตัวบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และหน่วยงานที่สังกัดก่อนเข้าไปยังพื้นที่ชุมนุม (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังยุบพรรคอนาคตใหม่)
- จ.นครนายก เดิมมีกำหนดการจัดงานวิ่งไล่ลุงที่บริเวณเขื่อนขุนด่านปราการชลช่วงเช้า แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านตรวจบริเวณถนนปากทางเข้า ทำให้ไม่มีใครได้ขึ้นไปวิ่งบนสันเขื่อนในเช้าวันนั้นได้
- กิจกรรมวิ่งไล่ลุง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านซึ่งมีไม้กั้นไม่ให้คนเข้าออกสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นที่จัดกิจกรรม หากใครจะเข้าต้องขออนุญาต โดยอ้างว่าเนื่องจากมีคนจะเข้ามาใช้พื้นที่ในการชุมนุม
- กิจกรรมวิ่งไล่ลุง จ.สกลนคร ในคืนก่อนวิ่งมีผู้พบเจ้าหน้าที่ทหารนำป้ายไวนิลไปติดบริเวณทางเข้าสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ โดยมีข้อความว่า “ชมรมคนรักสุขภาพ สระพังทอง ต้องการสุขภาพ ไม่ยุ่งการเมือง”
วิธีรับมือ:
ผู้จัดฯ ชุมนุม ไม่จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลของผู้เข้าร่วมชุมนุม ที่ลงชื่อก่อนเข้าร่วมชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิตั้งโต๊ะเก็บรายชื่อของผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะการเก็บข้อมูลเป็นหน้าที่ของคนจัดการพื้นที่ ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในกรณีที่ผู้จัดงานจำเป็นต้องเก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมจริงๆ สิทธิในการส่งต่อข้อมูลหรือไม่ยังเป็นของผู้จัดฯ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิบีบบังคับเอาข้อมูลดังกล่าวไป
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่านไม่ให้คนเข้าไปในพื้นที่เพื่อชุมนุมได้ หากฝ่าฝืน มีโอกาสที่จะเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ยิ่งในกรณีสถานที่นั้นไม่ใช่สถานที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึง แต่ถึงแม้จะเป็นสถานที่สาธารณะ การฝ่าด่านกั้นของเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ยังอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะอาจเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินและสถานที่
สิ่งที่ต้องสังเกตก็คือ เจ้าหน้าที่ที่มาตั้งด่านตรวจในบริเวณนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่? ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดจะสามารถมาตั้งด่านก็ได้ หากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ดูแล หน้าที่ดังกล่าวต้องเป็นของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการดูแลพื้นที่นั้นๆ เช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปิดกั้นทางเข้าสวนสาธารณะได้เพราะไม่ได้มีส่วนในการดูแลพื้นที่สาธารณะ
ในกรณีที่มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่มาเป็นจำนวนมากหรือมีการใช้เครื่องตรวจค้นระเบิดจนทำให้ผู้ร่วมชุมนุมเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ในกรณีนี้ ไม่สามารถห้ามเจ้าหน้าที่ได้
07
กรณีละเมิด: เจ้าหน้าที่ติดตามผู้ชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุมถึงบ้านหรือที่ทำงานเพื่อกดดันไม่ให้จัดการชุมนุม พูดจาข่มขู่คุกคาม ถ่ายรูปที่อยู่อาศัย อ้างว่าจะดำเนินคดี ทั้งก่อนหน้าและหลังจัดกิจกรรมชุมนุม
ตัวอย่างกรณี:
- จ.บุรีรัมย์ เยาวชนที่ประกาศจัดงานวิ่งไล่ลุงใน อ.สตึกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวไปพูดคุยห้ามจัดกิจกรรม โดยอ้างว่าไม่อยากให้กลายเป็นเบี้ยทางการเมือง และยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปกดดันถึงบ้านและที่ทำงาน ทั้งมีการข่มขู่เรื่องผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้เจ้าตัวต้องตัดสินใจประกาศงดร่วมกิจกรรม
- จ.พังงา มีรายงานกรณีผู้ร่วมในไลน์กลุ่มที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับวิ่งไล่ลุง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปพบถึงบ้านอย่างน้อย 2 ราย โดยมีการเข้าถ่ายรูปครอบครัว และสอบถามเรื่องการไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง
- จ.พะเยา นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาผู้เคยคิดจะจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2 เดือนโดยไม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ หลังจากนั้น ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจวนเวียนติดตามที่หอพัก มีการข่มขู่เจ้าของหอพักว่าจะขอหมายค้นเข้าตรวจค้นหอพัก ทำให้เจ้าของหอพักรู้สึกกังวลและขอให้นิสิตย้ายออกจากหอพัก (ซีรีส์การชุมนุมภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
วิธีรับมือ:
ในการไปเยี่ยมถึงบ้าน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องแสดงตัวให้ชัดเจนว่ามาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ส่วน “ผู้ถูกเยี่ยม” ต้องถ่ายรูปเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ถามชื่อ ถามสังกัด จากนั้นส่งต่อข้อมูลให้สื่อหรือองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้ช่วยกระจายข้อมูลเพื่อให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นสาธารณะ
กรณีที่เจ้าหน้าที่มาโดยไม่มีหมาย แค่มา “ขอความร่วมมือ” เท่านั้น เราสามารถปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นสิทธิของเราอย่างเต็มที่ที่จะให้หรือไม่ให้ หากมีการเชิญไปพูดคุยนอกรอบที่สถานีตำรวจหรือสถานที่อื่น ผู้ถูกเชิญไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไป ยกเว้นถ้าเจ้าหน้าที่มาโดยมีหมายอย่างถูกต้อง
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปบ้านและครอบครัว เรามีสิทธิที่จะไม่ให้ความยินยอมในการถ่ายภาพเพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ในกรณีเจ้าหน้าที่เข้ากดดัน ข่มขู่ ผู้ให้เช่าที่พักอาศัย ให้กดดันผู้เช่าอีกต่อหนึ่งให้ไม่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง กรณีดังกล่าวถือเป็นการคุกคาม และอาจเข้าข่ายการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่บางกรณีก็เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับเจ้าของสถานที่ หรือผู้ให้เช่าจึงควรทำให้เป็นประเด็นสาธารณะเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
08
กรณีละเมิดและปิดกั้น: เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอื่นๆ มาประกอบเพื่อขัดขวาง ข่มขู่ หรือดำเนินคดีผู้ออกมาใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบบริเวณนอกสถานศึกษา เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ กฎหมายควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียงฯ พ.ร.บ. การรักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ. การจราจรทางบกฯ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
ตัวอย่างกรณี:
- จ.อุบลราชธานี – เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมาย พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ อย่างสับสนและเปลี่ยนแปลงไปมา แม้จะ “อนุญาต” ให้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้ในที่สุด แต่ได้ออกข้อกำหนดหลายข้อที่สร้างความลำบากให้ผู้จัดฯ เช่น ให้เปลี่ยนโลโก้ไม่ให้มีคำว่า “ลุง” ในชื่อกิจกรรม, ห้ามชูป้ายต่อต้านรัฐบาล และยังออกเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ลงทะเบียนเข้าวิ่งต้องแสดงบัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือเอกสารราชการอื่นๆ อีกทั้งในวันวิ่ง ตำรวจยังประกาศขณะประชาชนทำกิจกรรมว่าหากนักวิ่งวิ่งเข้าเส้นชัยไม่ตรงตามเวลาหรือเกินเวลา จะผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ ทำให้ต้องรีบเร่งจัดกิจกรรม
- อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ตำรวจมีหนังสือกำหนดเงื่อนไขหลังแจ้งการชุมนุม (วิ่งไล่ลุง) โดยข้อหนึ่งระบุให้ผู้จัดฯ ส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ ขอตั้งเครื่องสแกนวัตถุระเบิดก่อนเข้างาน อีกทั้งห้ามใช้เครื่องเสียงและตั้งเต็นท์บริเวณงานด้วย
- จ.กาฬสินธุ์ “ปิยรัฐ จงเทพ” หนึ่งในผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง ได้เข้าพบตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อจ่ายค่าปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียง และใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่ากิจกรรมวิ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 700 บาท (ภายหลังทราบว่า ปิยรัฐยังโดนหมายเรียกฐานไม่แจ้งการชุมนุมด้วย แต่ไม่ได้รับหมาย จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ออกหมายจับในที่สุด)
- จ.แพร่ ผู้จัดการชุมนุมคัดค้านกรณี ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ถูกตำรวจ สภ.เมืองแพร่ เรียกไปเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท เรื่องการไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง แม้ว่าทีมงานจะได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และแจ้งการใช้เครื่องขยายเสียงในแบบฟอร์มการแจ้งการชุมนุมแล้วก็ตาม (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
- ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่บริเวณสกายวอล์ค หน้าห้างมาบุญครอง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศต่อผู้ชุมนุมว่า การเข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี โดยหนึ่งในข้อหาที่ถูกนำมาใช้ข่มขู่นั่นคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในข้อกำหนดเรื่องการห้ามการชุมนุม อีกทั้งในเดือนเดียวกันนั้นเอง ยังมีกรณีผู้ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องการอุ้มหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายตัวไปในประเทศกัมพูชา ถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกและแจ้งข้อหาฐานละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในข้อที่ว่าห้ามเรื่องการชุมนุม
- ในการชุมนุมของกลุ่ม สนท. ตลอดช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจง รับผิดชอบ และตามหาผู้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหาย มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นั่นก็คือการผูกโบว์ขาว ซึ่งภายหลังการจัดกิจกรรมผูกโบว์ เพนกวินและเพื่อนกลับโดนตั้งข้อหาในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. การรักษาความสะอาดฯ
วิธีรับมือ:
พ.ร.บ. ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้จัดชุมนุมมีหน้าที่ “แจ้ง” ว่าจะจัดการชุมนุมเท่านั้น ไม่ใช่ “ขออนุญาต” เมื่อรับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่สามารถกำหนดให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เฉพาะเรื่องสถานที่ เช่นหากการชุมนุมดังกล่าวจัดภายในสถานที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น รัฐสภา ศาล หรือรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง โดยหลักการแล้ว หากไม่ติดเงื่อนไขเรื่องสถานที่เฉพาะ ประชาชนมีสิทธิจัดชุมนุมในที่สาธารณะได้ทุกที่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสั่งให้ผู้จัดชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ใช้ชุมนุมเพราะเหตุอื่นนอกจากกฎหมายกำหนดได้
หากการแจ้งใช้สถานที่ติดปัญหาเรื่องการจราจร เจ้าหน้าที่ไม่สามารถออกคำสั่งให้ผู้จัดชุมนุมเปลี่ยนสถานที่ แต่ต้องช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเส้นทางจราจร เพื่อให้ผู้ชุมนุมและผู้ใช้เส้นทางการจราจรใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ในทาง เนื้อหา พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ยังไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สั่งห้ามการชุมนุมในประเด็นใดๆ การห้ามถือป้ายข้อความ การใช้คำบางคำในการรณรงค์หรือแม้แต่การเก็บรายชื่อ ไม่ใช่อำนาจที่ได้รับมอบตามตัวบทกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. การชุมนุมฯ นั่นคือการกำหนดให้ผู้จัดฯ ต้องแจ้งขอใช้เครื่องขยายเสียงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพิ่มเติมจากการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสร้างความยุ่งยากและภาระหน้าที่เพิ่มเติมให้ผู้แจ้งการชุมนุม บ่อยครั้ง พบกรณีที่เจ้าหน้าที่เขตบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลงชื่อในหนังสือรับแจ้งฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้แจ้งเท่านั้น ไม่ใช่ขออนุญาต ทั้งนี้ ฐานความผิดดังกล่าวมีโทษปรับ 200 บาท
ในกรณีของ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ เช่น กรณี สนท. ผูกโบว์ขาวตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แล้วเก็บหลังกิจกรรมจบ ผู้จัดกิจกรรมได้รับโทษปรับ 2,000 บาท แม้ความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้กับการชุมนุมจะเป็นโทษปรับ แต่ก่อให้เกิดภาระทางคดีได้ อย่างไรก็ตามพึงตระหนักว่าถึงแม้จะโดนแจ้งข้อหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ. รักษาความ สะอาดฯ แต่ศาลอาจไม่ติดสินว่าเป็นการกระทำความผิดเสมอไป
ในกรณีเจ้าหน้าที่หยิบยก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มากล่าวอ้างให้ยุติการชุมนุม ปัจจุบันตามข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 นั้น รับรองว่าสามารถชุมนุมได้ เพียงแต่ต้องมีมาตรการในการควบคุมโรค
Note: การที่เจ้าหน้าที่บอกด้วยวาจาว่าพฤติการณ์บางอย่างของผู้ชุมนุมผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าพฤติการณ์นั้นผิดกฎหมายหรือจะมีคดีตามมาเสมอไป ทนายความอาจมีประเด็นที่สามารถนำมาสู้คดีในชั้นศาลได้
09
กรณีละเมิด: เจ้าหน้าที่เข้ากดดันบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม (ที่ไม่ใช่แกนนำโดยตรง) สร้างความลำบากให้ผู้จัดการชุมนุมจนต้องเลื่อน ยกเลิก เปลี่ยนสถานที่ หรือสร้างความยากลำบากในการทำกิจกรรม
ตัวอย่างกรณี:
- กรุงเทพมหานคร ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเผชิญการกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ให้ใช้สถานที่จัดแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง ทั้งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศและที่โรงแรมรัตนโกสินทร์
- จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพูดคุยกับร้านค้าที่รับสกรีนเสื้อวิ่งไล่ลุง และสั่งห้ามไม่ให้ทำงานนี้ ทำให้ผู้จัดฯ ต้องยกเลิกการทำเสื้อ เพื่อไม่ให้ทางร้านได้รับผลกระทบ
- จ.ยโสธร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปกดดันร้านสกรีนเสื้อไม่ให้รับทำเสื้อกิจกรรมวิ่งไล่ลุง
วิธีรับมือ:
ในความเป็นจริงแม้พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่จะส่งผลต่อสิทธิในการชุมนุม แต่วิธีการ “กดดัน” เป็นวิธีที่ยากจะนำกระบวนการทางกฎหมายมาดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ได้ วิธีที่ดีที่สุดคือทำให้การกดดันและละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่กลายเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคม ผ่านการส่งเรื่องต่อให้สื่อมวลชนหรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
10
กรณีปิดกั้น: ภาครัฐจัดกิจกรรมซ้อนทับกับการชุมนุมของประชาชน สร้างความยากลำบากให้กับผู้ชุมนุม
ตัวอย่างกรณี:
- จ.เชียงราย หลังผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงประกาศจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2562 เมื่อถึง 9 ม.ค. 2563 ได้มีการเผยแพร่เอกสารของอำเภอเมืองเชียงราย ประกาศจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาปรับภูมิทัศน์” ทำความสะอาดถนน ในวันเวลาและสถานที่เดียวกันกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง หนังสือยังระบุให้อำเภอนำมวลชนจิตอาสาในพื้นที่ หมู่บ้านละ 10 คน เข้าร่วมกิจกรรมด้วย
- จ.เชียงใหม่ มีการประกาศจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ปัญหาฝุ่นควันที่ประตูท่าแพ ในวันและเวลาเดียวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยมีกำหนดการนำนักเรียนและข้าราชการมาร่วมรณรงค์ และจัดแถวขบวนรถฉีดน้ำล้างถนนพร้อมกับมีการเปิดเพลงด้วยเสียงอันดัง มีการนำรถดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาพ่นฉีดละอองน้ำ ในขณะที่ผู้ร่วมวิ่งไล่ลุงเดินทางกลับมาถึงประตูท่าแพ ทำให้ผู้เข้าร่วมวิ่งไล่ลุงได้รับผลกระทบเนื้อตัวเปียก
วิธีรับมือ:
การกระทำดังกล่าวของทางภาครัฐนับว่าไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพียงแค่สร้างความยากลำบากและอุปสรรคในการเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น ทางออกคือทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคม ผ่านการส่งเรื่องต่อให้สื่อมวลชนหรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
11
กรณีปิดกั้น: เจ้าหน้าที่อ้างไม่ให้จัดกิจกรรม เนื่องจากมีขบวนเสด็จฯ
ตัวอย่างกรณี:
- จ. เชียงราย –ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเปิดเผยว่า ในวันที่ตนจะจัดกิจกรรมนั้นคาบเกี่ยวกับวันที่จะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่พอดี แม้จะมีการเจรจากับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงการเปลี่ยนสถานที่และเส้นทางวิ่ง แต่ตำรวจยังไม่อนุญาตให้ใช้เส้นทางใดๆ โดยอ้างว่าขบวนเสด็จฯ อาจออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้เดิมก็ได้ และยังข่มขู่ให้ผู้จัดฯ เข้าใจว่าหากเกิดการกีดขวางหรือรบกวนขบวนเสด็จฯ ผู้จัดจะถูกดำเนินคดีได้
วิธีรับมือ:
ในกรณีเวลาจัดกิจกรรมคาบเกี่ยวกับเวลาที่ขบวนเสด็จฯ ผ่าน กรณีดังกล่าวนั้นไม่ได้เป็นข้อห้ามทางกฎหมาย หากผู้จัดยืนยันจะจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินคดีใดๆ แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
12
กรณีปิดกั้น: การให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. หรือหน่วยงานอื่นในกำกับของทหาร เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลการชุมนุม ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่
ตัวอย่างกรณี:
- จ.นครราชสีมา –หลังผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้แจ้งขออนุญาตใช้สถานที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม) เพื่อจัดการชุมนุม ตำรวจได้ “เชิญ” ผู้จัดฯ มาพูดคุย รอง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา ระบุหลังการพิจารณากิจกรรมว่า จะต้องนำข้อมูลรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ของจังหวัดนครราชสีมา ให้พิจารณาว่าจะอนุมัติให้จัดกิจกรรมหรือไม่ เพราะยังมีกฎหมายความมั่นคงภายในบังคับใช้อยู่
- อ.พัทยา จ.ชลบุรี – หลังผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้แจ้งขออนุญาตใช้สถานที่ ในหนังสือตอบกลับแจ้งเงื่อนไขการจัดการชุมนุมสาธารณะที่มีถึง นาย อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ในฐานะผู้ประสงค์จัดการชุมนุมวิ่งไล่ลุง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 มีการระบุว่า ภายหลังจากมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว ทาง สภ.เมืองพัทยาได้จัดประชุมพิจารณาเงื่อนไขการจัดการชุมนุม โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เมืองพัทยา, อำเภอบางละมุง, สันติบาลจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. มาหารือ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมในครั้งนั้น
วิธีรับมือ:
หน้าที่ในการพิจารณาเรื่องการชุมนุม หรือพิจารณาข้อกำหนดในการชุมนุมเป็นของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่ กอ. รมน. หรือหน่วยงานทางการทหาร หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องพึงตระหนักว่านี่ไม่ใช่กระบวนการปกติหรือเป็นไปตามกกฎหมาย และหากพบว่า กอ. รมน. ละเมิดผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างชัดเจน สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
13
กรณีปิดกั้น: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบพื้นที่สาธารณะนั้นๆ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดการชุมนุม มีการติดป้ายห้ามใช้สถานที่ด้านหน้าหรือขัดขวางการเข้าสู่สถานที่นัดหมายการชุมนุม
ตัวอย่างกรณี:
- จ.แพร่ เทศบาลเมืองแพร่บ่ายเบี่ยงไม่ให้คำตอบผู้ประสงค์จัดงานวิ่งไล่ลุง เรื่องการขอใช้พื้นที่สนามหลวงเมืองแพร่
- จ.เชียงราย ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้สนามกีฬาของ อบจ. เพื่อจัดกิจกรรม แต่ไม่ได้รับคำตอบอนุญาตให้ใช้
- กรุงเทพมหานคร ในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้นำดอกไม้และพืชพันธุ์จำนวนมากมาประดับโดยรอบอนุสาวรีย์ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าใกล้ตัวอนุสาวรีย์ได้
วิธีรับมือ:
หากสถานที่นั้นเป็นที่ที่คนทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้โดยปกติ การชุมนุมย่อมต้องสามารถทำได้ เพราะไม่ได้รบกวนการครอบครอง ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องดูข้อกำหนดของสถานที่ประกอบ รวมทั้งลักษณะของกิจกรรม อย่างไรก็ตามหากหน่วยงานที่ดูแลสถานที่ไม่อนุญาตให้ใช้ และบุกรุกเข้าไปอาจได้รับโทษทางอาญาได้ แต่โดยหลักการแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งปกติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในความดูแลเพื่อจัดงานอื่นๆ ทั่วไปได้ ไม่สามารถเลือกปฏิบัติกับการจัดชุมนุมทางการเมือง ซึ่งควรจัดได้โดยเสมอภาค
อย่างไรก็ตามการใช้พื้นที่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชุมนุม มีข้อควรระวังซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงมีความผิดทางกฎหมาย เช่น หากเข้าไปเคลื่อนย้ายสิ่งของ หากสิ่งของนั้นไม่เกิดความเสียหาย อาจไม่มีความผิดใดๆ แต่หากมีของเสียหายอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาได้
14
กรณีละเมิด: เจ้าหน้าที่พยายามสั่งห้ามหรือปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมชูป้ายที่มีข้อความซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่เหมาะสมเพื่อแสดงออกถึงจุดยืน และข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี
ตัวอย่างกรณี:
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ (หอวัง นนทบุรี) เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปในพื้นที่ของโรงเรียน สั่งให้ผู้ชุมนุมปลดป้ายผ้าที่มีเนื้อหาสื่อถึงการเรียกร้องให้ประเทศมีประชาธิปไตย ซึ่งโรงเรียนได้กดดันต่อไปยังผู้ปกครอง (ซีรีส์การชุมนุมต่อเนื่องภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่)
- งานวิ่งไล่ลุง จ.กรุงเทพมหานคร นักวิ่งผู้แต่งชุดมาสคอต 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและ รปภ. ซึ่งตั้งจุดตรวจกระเป๋าและแผ่นป้ายข้อความของผู้จะเข้าสู่สวนรถไฟ เรียกตัวไปคุย เนื่องจากทำป้ายข้อความว่า “power up” และ “free hug กอดไล่ลุง” ทั้งสามถูกตรวจบัตรประชาชน ถูกสอบถามความหมายของป้ายดังกล่าว สอบถามเรื่องความหมายในการแต่งกายชุดมาสคอต และถูกถ่ายรูปใบหน้าไว้ทั้งหมด
วิธีรับมือ:
ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่จะห้ามผู้ชุมนุมชูป้ายข้อความได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อความนั้นๆ ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ บ่อยครั้งข้อความบนแผ่นป้ายที่เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้แสดงออก เป็นเพียงข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” ในทัศนะของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเป็นข้อความที่ “ผิดกฎหมาย” ตามหลักกฎหมายอาญา ซึ่งมีหลักเกณฑ์การตีความเคร่งครัด
15
กรณีละเมิด: เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการนอกฎหมายจัดการกับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกเข้าหวังควบคุมตัวผู้ชุมนุมในขณะที่ชุมนุม
ตัวอย่างกรณี:
- จ.ยโสธร ผู้ถูกดำเนินคดีในฐานไม่แจ้งการชุมนุม จากการจัดงานวิ่งไล่ลุง ให้ข้อมูลว่าตนถูกตำรวจติดต่อให้ไปพบที่สถานีตำรวจทั้งที่ไม่มีหมายเรียก และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยตำรวจอ้างว่ามีเรื่องจะคุยด้วย แต่เมื่อไปถึงกลับมีการแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งๆ ที่ตนไม่มีทนายความอยู่ เจ้าหน้าที่ยังพูดคุยหว่านล้อมให้รับสารภาพ เพื่อเปรียบเทียบปรับให้เรื่องสิ้นสุดด้วย ซึ่งเจ้าตัวได้ยินยอมตามเจ้าหน้าที่
- กรุงเทพมหานคร ในการชุมนุมของกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก ในขณะที่กำลังมีการชุมนุม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามบุกเข้าควบคุมตัวหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ชูป้ายซึ่งมีข้อความสุ่มเสี่ยงในทัศนะของรัฐ อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมที่อยู่รายรอบได้ช่วยกันชิงตัวผู้ชุมนุมคนดังกล่าวออกมาได้
วิธีรับมือ:
หากเจ้าหน้าที่ติดต่อให้ไปพบ ไม่ว่าจะมีหมายหรือไม่มีหมาย ให้ติดต่อทางทนายความก่อน ไม่ควรไปโดยที่ไม่รู้อะไรเลย
หากเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ขั้นตอนตามกฎหมายต้องมีการแจ้งก่อนว่าจะถูกควบคุมตัว และต้องแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดอะไร มีสิทธิอะไรบ้าง ในกรณีนี้ผู้ถูกควบคุมตัวควรรีบติดต่อทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจติดตามไปด้วย อย่างไรก็ตามหากเป็นการบุก “รวบตัว” ระหว่างการชุมนุม โดยไม่รู้ว่าคนที่ควบคุมตัวเป็นใคร ควบคุมตัวจากเหตุอะไร ควรรีบขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้างเพราะอาจเป็นกระบวนการนอกกฎหมาย
16
กรณีปิดกั้น: เจ้าหน้าที่ข่มขู่ผู้จัดการชุมนุมว่า หากมีผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้ข้อความหมิ่นสถาบัน ทางผู้จัดการชุมนุมจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย
ตัวอย่างกรณี:
- การชุมนุมของกลุ่มเพศหลากหลาย #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ผู้จัดฯ ได้รับการแจ้งเตือนจากทางเจ้าหน้าที่ว่า หากผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้ข้อความหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบัน ผู้จัดฯ จะถูกดำเนินคดีด้วย
วิธีรับมือ:
โดยหลักแล้วผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย แต่เสรีภาพในการแสดงออกเป็นของบุคคลการแสดงออกอย่างอื่นของผู้ชุมนุมที่นอกเหนือไปจากจุดประสงค์ของผู้จัดการชุมนุม ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัด