ตร.ติดตามถึงบ้านประชาชนอย่างน้อย 5 ราย หลังไปเที่ยว ‘วัดพระแก้ว’ โยงปม ‘คณะปฏิรูปไทสยาม’

ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการแจ้งข้อมูลจากประชาชนจำนวน 5 ราย ถึงกรณีการถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามถึงบ้าน หลังจากประชาชนกลุ่มนี้เดินทางไปเที่ยวที่วัดพระแก้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 โดยเจ้าหน้าที่เข้าสอบถามรายละเอียดการเดินทางไปเที่ยวดังกล่าว นอกจากนั้นบางกรณียังมีการเชิญตัวบุคคลไปที่สถานีตำรวจเพื่อให้ปากคำ โดยไม่มีหมายเรียกอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ในระหว่างการสอบถามปากคำ เจ้าหน้าที่ยังได้สอบถามประชาชน 3 ใน 5 ราย ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยามซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นเครือข่ายแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อฉ้อโกงประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และกลุ่ม ฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดขอนแก่น หรือไม่ พร้อมทั้งได้มีการทำสำเนาข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกละเมิดบางรายด้วย โดยที่ทั้งหมดไม่ได้ทราบหรือเกี่ยวข้องกับสองกลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด

 

.

มาตรการตรวจคัดกรองก่อนเข้าวัดพระแก้วเป็นไปอย่างเข้มข้น เกินกว่าแค่คัดกรองโรค

“เอ” (นามสมมติ) ผู้ให้ข้อมูลรายแรกระบุว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ได้เดินทางไปเที่ยววัดพระแก้วร่วมกับเพื่อน ซึ่งก่อนที่จะเข้าไปบริเวณตัววัดนั้น มีข้อสังเกตว่าทางเจ้าหน้าที่ได้มีขั้นตอนการตรวจคัดกรองที่ค่อนข้างเข้มข้นเกินกว่าจุดประสงค์ในการตรวจโรคโควิด-19 เหมือนในสถานที่อื่นๆ โดยขั้นแรก ผู้ที่จะเข้าพื้นที่จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ จากนั้นจึงจะตรวจค้นกระเป๋า เจ้าหน้าที่ขอให้ทุกคนถอดหน้ากากอนามัยออก และให้นำบัตรประชาชนออกมาถือเพื่อให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปคู่กับใบหน้า จากนั้นยังมีการนำบัตรประชาชนของผู้เข้าชมไปจดหมายเลขประจำตัวเก็บไว้ และทำการตรวจวัดอุณหภูมิอีกรอบ ก่อนจะให้สแกนแอพพลิเคชั่นไทยชนะ จึงจะสามารถเข้าพื้นที่วัดพระแก้วได้

หลังจากการเที่ยวในวันนั้น ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เอได้รับแจ้งจากญาติว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบระบุว่ามาจากหน่วยสืบสวนกลางจำนวน 3 นาย เดินทางมาที่บ้าน โดยมีการสอบถามเรื่องการเดินทางไปเที่ยวที่วัดพระแก้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 แต่เนื่องจากเอออกไปทำธุระข้างนอก เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับ พร้อมระบุว่าจะมาอีกครั้งเพื่อสอบข้อมูลกับเจ้าตัว เอได้สอบถามเพื่อนที่เดินทางไปเที่ยวด้วยกัน แต่มีแค่ตัวเขาคนเดียวเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมถึงบ้าน

วันต่อมา ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่บ้านของเออีกครั้ง แต่ในครั้งนี้มาแค่นายเดียว เอได้รับชุดคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ไปเที่ยว อาทิเช่น วันนั้นเดินทางไปอย่างไร? ใส่ชุดอะไร? มีใครไปด้วยไหม? ได้ทราบข่าวที่ไปวัดพระแก้วแล้วจะได้เงิน 30,000 บาทหรือไม่? และคำถามเกี่ยวกับคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ว่ารู้จักหรือไม่ และเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่

 

เจ้าหน้าที่ระบุในขอนแก่น มีการติดตามประชาชนถึง 150 ราย

ผู้ให้ข้อมูลรายที่สอง “บี” (นามสมมติ) เปิดเผยข้อมูลสอดคล้องกันในเรื่องมาตรการการตรวจเข้มก่อนเข้าพื้นที่วัด ซึ่งบีได้ไปเที่ยวกับเพื่อนและแม่ของเพื่อน ทั้งสามเป็นคนจังหวัดขอนแก่น แต่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องเหตุการณ์ในวันที่ 29 มิถุนายน ระบุว่าตนสังเกตเห็นกลุ่มคนใส่เสื้อเหลืองจำนวนมากเดินทางไปเที่ยววัดพระแก้วด้วยรถบัสขนาดใหญ่ ในรูปแบบคล้ายกับคณะทัวร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ช่วงราว 10.00 น. บีได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งว่าจะขอเข้ามาเยี่ยมที่บ้าน โดยทีแรกอ้างว่าโทรมาสอบถามเรื่องโควิด-19 แต่ตนไม่สะดวก เพราะต้องทำงาน จึงขอให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาวันอื่นแทน อย่างไรก็ตาม ราว 11.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านของบี ซึ่งเป็นบ้านที่อาศัยอยู่ ไม่ใช่บ้านตามทะเบียนบ้าน ตำรวจได้โทรเข้ามาแจ้งก่อนว่าจะขอถ่ายรูปบ้านของบี สะดวกกลับมาที่บ้านในตอนเที่ยงหรือไม่ ซึ่งบีไม่สะดวก ตำรวจจึงได้ขอเบอร์ติดต่อคนที่อยู่ในบ้าน บีจึงได้ให้เบอร์แม่ของตนไป

ภายหลัง แม่ได้ให้ข้อมูลกับบีว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางมาที่บ้านจริงๆ และได้ถ่ายรูปบ้านกับรูปแม่ไป บีได้ติดต่อกลับไปทางเจ้าหน้าที่เพื่อคาดคั้นว่า เหตุใดถึงต้องถ่ายรูปที่พัก ตำรวจให้ข้อมูลแค่ว่ากำลังปฏิบัติการถ่ายรูปบ้านและคนที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การชุมนุมที่วัดพระแก้ว โดยไม่ให้รายละเอียดว่าเป็นการชุมนุมเกี่ยวกับอะไร แต่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขตที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้รับผิดชอบอยู่นั้น มีรายชื่อบุคคล 4 คนที่ถูกตรวจสอบ ในขณะที่จังหวัดขอนแก่นมีถึง 150 คน ด้วยกัน

บีระบุว่า เพื่อนของตนและแม่ของเพื่อนที่ไปเที่ยวด้วยกันในวันนั้นเอง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดต่อไปเช่นกัน ทางศูนย์ทนายฯ จึงได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง “ซี” (นามสมมติ) เพื่อนของบี ซีได้ให้ข้อสังเกตเสริมว่า ในวันที่ตนและเพื่อนเดินทางไปเที่ยว เจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดถนนบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง ทำให้พวกเขาต้องเดินอ้อมไปอีกทาง เมื่อใกล้ถึงจุดตรวจก่อนเข้าวัดพระแก้ว ซีสังเกตเห็นว่ามีทั้งวัยรุ่นและผู้สูงอายุใส่เสื้อเหลืองยืนออกันบริเวณจุดตรวจ กระบวนการในการตรวจก่อนเข้าพื้นที่มีความเข้มข้น สอดคล้องกับข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูล 2 รายก่อนหน้า ซึ่งขณะอยู่ที่จุดตรวจ ซีได้ยินว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองที่เดินทางมาเป็นคณะนั้น เดินทางมาเพื่อถวายพระพร

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามแม่ของซีตั้งแต่ตอนยังอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยติดต่อกับทางผู้ใหญ่บ้านก่อน เมื่อเดินทางกลับไปยังขอนแก่น แม่ของซีจึงได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจเพื่อให้ปากคำ โดยเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้ออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ระหว่างให้ปากคำ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามเรื่องความเกี่ยวข้องกับกลุ่มยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม และกลุ่มฅนรักบ้านเกิด จังหวัดขอนแก่น ซึ่งแม่ของซีปฏิเสธไปว่าไม่รู้จัก

 

เจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยเชิญตัวประชาชนไปสอบถาม ทั้งๆ ที่ไม่มีหมายเรียก

อย่างไรก็ตาม ซีไม่ใช่กรณีเดียวที่ทางเจ้าหน้าที่ขอให้ไปที่สถานีตำรวจโดยที่ไม่มีหมายเรียก ศูนย์ทนายฯ พบว่า ยังมีกรณีของ “ดี” (นามสมมติ) อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในจังหวัดขอนแก่นเดินทางไปที่บ้าน เพื่อเชิญตัวมาพูดคุยที่สถานีตำรวจ โดยอ้างว่าได้ชื่อมาจากคนที่เดินทางไปเที่ยววัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน

เมื่อเดินทางไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้ถามว่า ดีรู้จักกับกลุ่มคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม และกลุ่มฅนรักบ้านเกิด จังหวัดขอนแก่น หรือไม่เช่นเดียวกับรายอื่นๆ เจ้าหน้าที่ยังได้ให้ดูเอกสารที่มีรูปบุคคลจากบัตรประชาชน แล้วถามว่ารู้จักบุคคลในรูปหรือไม่ แต่ดีไม่รู้จักกับบุคคลที่เจ้าหน้าที่ให้ดูภาพแต่อย่างใด ก่อนที่ดีจะออกจากสถานีตำรวจ ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของดีเอาไว้ด้วย

อีกกรณีหนึ่งที่ทางศูนย์ทนายฯ ได้ทราบข้อมูล คือกรณีของ “อี” (นามสมมติ) ซึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 6 นาย มาเยี่ยมป้าของตนซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกันใน กทม. เนื่องจากป้าได้ไปวัดพระแก้วมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เจ้าหน้าที่มาพร้อมกับเอกสารชุดหนึ่ง แต่เธอไม่สามารถอ่านได้ บอกว่าป้าสามารถอ่านได้คนเดียวเท่านั้น แต่ได้ทิ้งคำถามไว้ว่า “ไปยื่นฎีกาทำไม?” ดีพยายามถามกลับว่ายื่นฎีกาอะไร แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าป้าไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงได้เดินทางกลับไป

เมื่อป้าของเธอกลับมาบ้าน ทั้งคู่พยายามติดต่อสถานีตำรวจที่ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นต้นสังกัด แต่เมื่อโทรไปที่สถานี เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าไม่ทราบเรื่องการไปเยี่ยมบ้านในครั้งนี้ และได้ให้เบอร์ของผู้กำกับมา เมื่อสอบถามไปยังผู้กำกับ กลับได้รับแจ้งว่าไม่ทราบเรื่องการมาเยี่ยมดังกล่าวแต่อย่างใด

.

ว่าด้วยคณะปฏิรูปฯ กับข้อกังวลต่อการติดตามถึงบ้านประชาชนซึ่งไม่เกี่ยวข้อง

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม” พบว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เคยมีรายงานข่าวโดยสำนักข่าวอิศรา ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้แถลงผลการจับกุมแกนนำ 3 ราย ที่อ้างตัวเป็น “คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม” พร้อมตั้งข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน”

เจ้าหน้าที่ระบุว่าบุคคลกลุ่มนี้ได้ร่วมกันใช้ชื่อคณะดังกล่าว กล่าวอ้างถึงโครงการหลวง เพื่อชักชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก มีการหลอกลวงเรื่องการระดมทุนจากสมาชิกเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ และกล่าวอ้างว่ามีเงินทุนของมูลนิธิสูงถึง 6.6 ล้านล้านบาท สำหรับจ่ายเป็นค่าตอบแทนรายเดือนให้กับสมาชิก โดยมีการนำข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกไปใช้ในทางมิชอบด้วย การหลอกลวงดังกล่าวยังเกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคอีสาน

กราฟฟิกโดยกองบังคับการปราบปราม (ภาพจากสำนักข่าวอิศรา)

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ทางเพจของสถานีตำรวจภูธรเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ยังเคยออกข่าวประชาสัมพันธ์ มีเนื้อหาว่า

“เนื่องจากปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ได้หลอกลวงและถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ในห้วงวันที่ 29 มิ.ย. – 4 ก.ค.63 โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมในคำชักชวนในกิจกรรมดังกล่าวจะมีค่าตอบแทนให้ และมีประชาชนในหลายพื้นที่หลงเชื่อ ร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมตามคำชักชวน ซึ่งความเคลื่อนไหวของคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยามดังในลักษณะข้างต้น เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน และอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายฝ่าฝืนการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และความผิดฐานอั้งยี่ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ”

ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มคณะปฏิรูปฯ ดังกล่าว ได้มีการดำเนินการชักชวนประชาชนไปถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่บริเวณวัดพระแก้ว ในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการติดตามความเคลื่อนไหวตามมา แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมีการติดตามไปถึงบ้านประชาชนที่เพียงแต่ไปเที่ยววัดพระแก้วในวันดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่ได้ทราบเรื่องการถวายฎีกา และไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะปฏิรูปฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันจากการสืบค้นข้อมูล ยังไม่พบแน่ชัดว่ากลุ่มที่ชื่อว่า “ฅนรักบ้านเกิด จังหวัดขอนแก่น” เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว

ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นต่อประชาชนอย่างน้อย 5 รายดังกล่าว ยังมีลักษณะเป็นกระบวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปถึงบ้านบุคคลโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ การเชิญตัวไปสอบถามที่สถานีตำรวจโดยไม่มีหมายใดๆ รวมถึงผู้ถูกเชิญตัวไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดด้วยซ้ำในการไปให้ปากคำ แทบทั้งหมดเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกแน่ชัดว่าต้องการอะไร และที่มาที่ไปคืออะไร ทั้งยังมีการละเมิดต่อข้อมูลส่วนตัว เช่น การขอสำเนาบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือถ่ายรูป และยังมีการกล่าวอ้างถึงสถานการณ์คัดกรองโรคโควิด-19 เพื่อเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าชมวัดพระแก้วในวันดังกล่าวอีกด้วย

 

X