ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติคำร้องขอให้ส่งศาลรธน. วินิจฉัยการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดรธน.

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค นำโดย ส.รัตนมณี พลกล้า และจำนงค์ หนูพันธ์ เป็นตัวแทนนำรายชื่อประชาชน 390 รายชื่อ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 63 นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการ ปฏิบัติการแทนเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีหนังสือแจ้งผลคำวินิจฉัยต่อตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค พิจารณายุติคำร้องดังกล่าว ไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยระบุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นไปตามความจำเป็นของสถานการณ์แล้ว มีกำหนดระยะเวลาชั่วคราว และมีมาตรการผ่อนคลายตามลำดับแล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน

ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 (ภาพจากประชาไท)

ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้คุกคามเสรีภาพ ปชช. สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเกินขอบเขต

ในคำร้องของเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคนั้น เห็นว่าแม้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการดำเนินการตามข้อกำหนดต่างๆ จะมีผลในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเร่งด่วนในระยะแรก แต่สถิติของผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับ จนแทบไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายใหม่ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่ไม่สามารถควบคุมโรคได้อีก และรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจไว้อย่างครอบคลุมและมีวัตถุประสงค์โดยตรงในการควบคุมโรคติดต่อ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และการประสานความร่วมมือกับประชาชน ก็เป็นแนวทางในการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เครือข่ายประชาชนฯ ยังเห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง เป็นรูปแบบการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองใช้อำนาจทางอาญาได้ โดยมีบทยกเว้นความรับผิดทางละเมิด ตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง รัฐจึงต้องใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ด้วยความระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานความมั่นคง กำลังใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปในทางจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน มิได้มีนัยยะเกี่ยวข้องกับการยับยั้งโรคระบาดแต่อย่างใด เช่น การจับกุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่จากกิจกรรมการสื่อสารสาธารณะในพื้นที่บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ, การยับยั้งการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนในการคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา, กรณีการข่มขู่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ไปยื่นร้องเรียนเรื่องการลดค่าเทอม, การสกัดกั้นและดำเนินคดีต่อประชาชนที่จัดกิจกรรมรำลึก 6 ปี การรัฐประหาร โดยอ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, การปฏิบัติตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ทั้งการตรวจพื้นที่ ไถทำลายผลอาสิน และฟ้องดำเนินคดี

รวมทั้งความพยายามผลักดันนโยบายสาธารณะที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในห้วงเวลาที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกได้ตามปกติ เช่น กรณีการเข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนภาคเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) หรือการเร่งรัดกระบวนการรับฟังคำความคิดเห็นต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

ภาพการนำประกาศห้ามการชุมนุมมาติดที่หาดม่วงงาม จ.สงขลา และชาวบ้านเตรียมทำกิจกรรมคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่น

นอกจากนี้ การออกข้อกำหนดต่างๆ ที่ผ่านมายังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้ และโอกาสในการประกอบอาชีพโดยปกติของทุกผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนจน ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการอิสระ ในขณะที่กลุ่มทุนใหญ่กลับยังสามารถดำเนินโครงการเพื่อใช้ทรัพยากรและแสวงหาประโยชน์ท่ามกลางความยากลำบากแร้นแค้นของคนส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและจุดยืนของรัฐบาลในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน

ทางเครือข่ายประชาชนฯ จึงเห็นว่าการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก จะเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากเกินจำเป็น และสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจอย่างคลุมเครือไปในทางที่ไม่เกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 26 ที่บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ผู้ตรวจการฯ ยุติคำร้อง อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นไปตามความจำเป็นของสถานการณ์แล้ว

จากคำร้องดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิเคราะห์เห็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ในการบริหารสถานการณ์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศ ตกอยู่ในภาวะคับขัน เพื่อให้สามารถรักษาความมั่นคงของรัฐ และรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว

ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่าตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น โดยการใช้อำนาจดังกล่าว จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรง หรือระงับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อเป็นคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนร่วม อันมีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ มิได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ ทั้งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง

ปัจจุบันปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จนถึง ณ วันที่มีการประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (คราวที่ 2) ว่ายังคงมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย จึงยังมีความจำเป็นต้องที่ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ซึ่งประกาศและมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามความจำเป็นของสถานการณ์ มีกำหนดระยะเวลาชั่วคราว ประกอบกับได้มีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่เชื้อตามลำดับขั้นตอนแล้ว

การที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 46 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กรณีตามเรื่องร้องเรียนจึงเป็นเรื่องที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายอื่น ตามประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 37 (8) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องเรียน

ในส่วนกรณีการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ให้ยกเลิกหรือไม่ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน

 

อ่านปัญหาการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม

ส่องการผลักดันโครงการรัฐที่กระทบประชาชน ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม

5 เหตุผล “ไม่ควร” ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป

ก่อนการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รอบ 2 ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยงประชาชน: ข้อสังเกตทางกฎหมายฯ

 

X