คุยกับกอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง: แสงแดด-อากาศ-อาหารที่เพียงพอ สิ่งจำเป็นในเรือนจำหญิงสู้โควิด-19

ในยามปกติ เรือนจำเหมือนเป็นแดนสนธยาที่ไม่มีใครอยากไปเยี่ยมเยือน ในยามไม่ปกติที่เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ภายในรั้วเรือนจำยิ่งไม่มีใครจินตนาการได้ว่าหากตัวเองเข้าไปแล้วต้องเจอกับสภาพอะไรบ้าง และจะรับมือกับโรคระบาดใหม่ที่เรียกว่าไวรัสโควิด-19 นี้ได้อย่างไร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนคุยกับอดีตนักโทษหญิงคดีการเมือง ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ “กอฟ” ที่ครั้งหนึ่งเธอต้องแลกอิสรภาพทางกายภาพกับข้อหาร้ายแรงจากการแสดงละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าเพื่อสะท้อนสภาพสังคมไทยในยุคที่มีความเห็นที่หลากหลาย ในขณะที่นานาชาติเห็นว่านี่คือการควบคุมตัวโดยพลการจากคดี 112

หลังจากเธอผ่านโลกหลังลูกกรงมาแล้ว เธอก็เป็นหนึ่งคนที่ฉายภาพของเรือนจำไทยได้สมจริงยิ่งนัก ความเห็นและข้อเสนอของเธอต่อการรับมือภาวะวิกฤตโควิดที่ไม่เว้นแม้ในเรือนจำ ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและการให้คุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์ จึงน่าสนใจและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจนำไปปรับใช้เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้คนในเรือนจำหญิงได้

/

.

นับจากวันที่ได้รับการปล่อยตัวถึงวันนี้ กอฟทำอะไรอยู่

เราเป็นนักเรียน เรียนภาษาและศิลปะที่ประเทศสเปน เรื่องภาษาเริ่มจับทิศทางได้และอยู่ในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ เราว่าเราเป็นคนโง่ที่สุดในห้องเรียน แต่เวลาเรียนและเขียนงานส่งครู ครูจะชมเราว่าเขียนได้ดีและบอกให้ส่งนิทานมาให้ครูอ่านและแก้อีกได้ วัฒนธรรมที่นี่ครูจะชมนักเรียนเพื่อให้เรียนได้ดีขึ้นไปอีก

อีกส่วน เรากำลังทำงานศิลป์และพยายามสมัครเข้าร่วมโปรแกรมศิลปินที่นี่ให้ได้ ก่อนสเปน Lock down ประเทศ 2 วัน ผลงานเราชื่อ “Hello I’m from Prison, version 2” กำลังจะได้จัดแสดงในแกลลอรี่แห่งหนึ่งของเมืองบาร์เซโลน่า คือชื่อเราอยู่ในลิสต์แล้ว ตอนสองของผลงานนี้เป็นชุดภาพถ่ายของผู้หญิงกับชุดเดรสที่ใช้เทคนิคการเบลอภาพ เพื่อเล่าเรื่องผู้หญิงที่ติดคุกจริง ๆ และหญิงที่ถูกพันธนาการในลักษณะอื่นด้วย เช่น ความสัมพันธ์และการแต่งงาน มันเป็นส่วนขยายจากตอนแรกของผลงานชุดนี้ที่เราจัดแสดงเป็น Performance ที่ถนนข้าวสารและจตุจักรในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2562

.

ในสถานการณ์โควิด กอฟคิดว่าสถานการณ์ในเรือนจำหญิงเป็นอย่างไร

สถานการณ์ตอนนี้ก็คงจะมีการหวาดระแวง โดยเฉพาะคนที่เข้าไปใหม่ จะได้รับการหวาดระแวงจากคนที่อยู่เดิม เราคิดว่าข้างในไม่น่าจะมีการให้ความรู้หรือให้ข้อมูลอย่างเพียงพอกับผู้ต้องขังมากนัก ข่าวสารเรื่องโรคระบาดช่วงแรกๆ จะมาจากญาติที่ไปเยี่ยม แต่เมื่อไม่ให้มีการเยี่ยมญาติแล้ว ข่าวสารมันก็น่าจะยิ่งน้อยลง อาจถึงขนาดว่าบางคนไม่รู้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร

หน้ากากผ้าที่ได้รับการแจกจากหลวงไป จะมีคนใส่ตามการบอกกล่าวของเจ้าหน้าที่ หน้ากากจะมีชั้นเดียว ไม่ต้องถามหาช่องกรองฝุ่นหรือเชื้อโรคอะไรมันไม่มี และบางครั้งมันก็สกปรกเพราะเราจะเก็บมันอยู่ในล็อกเกอร์ ไม่ได้ซักบ่อยๆ ยกเว้นมีเงินซื้อเองก็หามาสับเปลี่ยนได้

ไม่ต้องพูดถึงน้ำล้างมือ ขนาดจะเข้าห้องน้ำยังยากเลย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตื่นตัวมาก ก็จะอนุญาตให้ใช้น้ำมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่สวัสดิภาพของผู้ต้องขัง แต่เป็นสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ด้วย หากทางการกลัวก็จะให้ทุกคนใช้น้ำมากขึ้น

พื้นที่ในเรือนจำ และการรักษาพยาบาลที่เป็นอยู่ไม่สมดุลกับนักโทษ ทำให้การตรวจและรักษาไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงและดีพอ ตัวอย่างเช่น นักโทษที่มีอาการวัณโรค กว่าจะตรวจเจอปอดก็หายไปข้างหนึ่งแล้ว และเราไม่มีทางรู้เลยว่านักโทษคนนั้นไปแพร่เชื้อให้ใครมาแล้วบ้าง ถ้าเป็นไปได้ราชทัณฑ์ต้องจัดการการคัดกรองผู้ติดโรคให้ดีพอและต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ในเรือนจำด้วย

.

มีเรื่องอะไรที่กรมราชทัณฑ์จัดการได้ดีในช่วงสถานการณ์โควิด  

นโยบายทำให้เรือนจำเป็นเหมือนวันหยุด คือมี “การเก็บขัง” เร็วขึ้น เมื่อไม่มีช่วงเวลาเยี่ยมญาติแล้วก็เก็บขังผู้ต้องขังขึ้นเรือนนอนเร็วขึ้น ซึ่งปกติถูกเก็บขังเวลาประมาณ 4 โมงครึ่ง ตอนนี้ก็เป็น 4 โมงเย็น หรืออาจเป็นเวลาบ่าย 3 เลย การดีไซน์ให้เป็นวันหยุดแบบนี้ ซึ่งทำได้ทุกเรือนจำทำให้เกิดผลดี คือ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนที่จะสัมผัสกับบุคคลภายนอกมากกว่าผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำน้อยลง

อีกเรื่องคือ การให้คุณสรยุทธออกมาจัดรายการ “เรื่องเล่าชาวเรือนจำ” เพื่อเล่าเรื่องและสร้างความเข้าใจให้นักโทษ กรมราชทัณฑ์ทำได้ดี รายการนี้จะทำให้นักโทษได้รู้ข้อมูลข่าวสารบ้างในเรื่องโรค ถึงแม้ไม่ทั้งหมดแต่ก็เพิ่มข้อมูลได้ เรือนจำหญิงเองยังดูข่าวไม่ได้เหมือนเดิม การได้ดูรายงานนี้ก็จะได้รู้สถานการณ์บ้าง

.

หากกอฟยังถูกจองจำอิสรภาพ จะมีข้อเสนอต่อผู้คุมในเรือนจำหญิงอย่างไร 

เรามีเงินในบุ๊คส่วนตัวเรามากพอ สิ่งแรกที่เราจะทำ คือ เราจะไปซื้อของกินให้เยอะแล้วแบ่งปันอาหารนั้นกับคนที่ไม่มี สภาวะที่ห้ามไม่ให้ญาติเยี่ยมมันมีบางคนที่อาจไม่พอกิน จากนั้นเราจะรวบรวมรายชื่อถึงผู้คุมเรียกร้องให้พวกเราได้สัมผัสแดดและออกกำลังกายอย่างจริงจัง นักโทษหญิงไม่มีโอกาสได้ออกกำลังกาย และไม่มีเวลาอิสระในการสัมผัสแดด ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง การยืนแกว่งแขนที่เรือนนอนคนแก่เพียง 5 นาที ก็ไม่พอเช่นกัน ความเป็นไปได้ คือ นโยบายที่ดีของคุณที่ทำให้เรือนจำเป็นเหมือนวันหยุดและไม่มีการเยี่ยมญาติ จะทำให้ช่วงเช้านักโทษหญิงมีเวลาในตอนเช้ามากขึ้น คุณก็ปรับเวลาให้นักโทษได้ออกกำลังกายครึ่งชั่วโมงหลังอาหารเช้าก็ได้ ในช่วงที่มีแสงแดด การสัมผัสแดดอย่างจริงจังจะทำให้เราแข็งแรงขึ้น  จากนั้นก็ปรับให้นักโทษหญิงได้อยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เชื้อโควิดมันแพ้การถ่ายเทที่สะดวกนี่แหละ สุดท้ายพ่นย่าฆ่าเชื้อให้กับเรือนนอนและอาคารต่างๆ ใช้วิธีการบ้าน ๆ ก็ได้เหมือนกับช่วงที่ตาแดงระบาดตอนที่เราอยู่ในคุก แม่นุชเอาด่างทับทิมผสมน้ำในถังใหญ่ให้พวกเราอาบ เป็นวิธีการบ้าน ๆ แต่ใช้ได้

.

คิดว่าศักยภาพของผู้ต้องขัง/นักโทษหญิงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมีอะไรบ้าง

เรื่องพื้นๆ เลย ทุกคนต้องเตือนกันให้ล้างมือและใส่หน้ากาก ความเป็นจริงคือ ผู้ต้องขังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะโดยกลไกของเรือนจำเป็นหน้าที่ของผู้คุม หากผู้คุมไม่อนุญาตเราก็จะขยับตัวลำบาก

เราทำให้เรือนจำเป็นโรงงานผลิตหน้ากากผ้าในประเทศได้  เอาแค่ความต้องการของทุกเรือนจำก่อน สิ่งที่ต้องการคือ ผ้าและยางยืด ส่วนฝีมือและแรงงานคนในเรือนจำหญิงมีพร้อม และหากเกินความต้องการของทุกเรือนจำในประเทศแล้ว ก็ผลิตให้คนทั้งประเทศได้ เพียงแต่การขนส่งออกจากเรือนจำอาจต้องฆ่าเชื้อ หรือได้รับการยืนยันจากหน่วยงานสาธารณสุขว่าปลอดภัยกับผู้บริโภค มันเป็นการสร้างรายได้ให้กับเรือนจำได้อีกทาง

และตอนนี้ต้องใช้กลไกรัฐเท่านั้นเพราะเรือนจำมันปิด เอกสารเข้าไปติดต่องานไม่ได้ รัฐต้องเดินหน้าปรับนโยบายนี้และปรับ แผนวันหยุดออกก็กลับมาเปิดการผลิตได้

ส่วนเจลล้างมือ เคยมีหน่วยงานคหกรรมมาสอนให้ทำ แต่การเอาสารตั้งต้นเข้าไปในเรือนจำมีเงื่อนไขอย่างไร ต้องพิจารณา หากเรือนจำอนุญาต เรือนจำก็เป็นโรงงานผลิตได้เลย ใช้ในเรือนจำให้เพียงพอ

(ภาพจาก iLAW)

.

มีหลายส่วนออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษ/ ผู้ต้องขัง กอฟมีความเห็นอย่างไร

ในส่วนเรือนจำหญิง กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดมีกลุ่มเด็กเล็กและคนแก่ ซึ่งพวกเขาจะอยู่ด้วยกัน และกลุ่มคนท้อง เราสนับสนุนให้ปล่อยสามกลุ่มนี้ออกมาก่อนเลย

ในส่วนเด็ก ปล่อยออกมาก่อน และจัดพื้นที่รองรับเด็กที่เป็นเด็กติดแม่เมื่อแยกเด็กมาจากแม่แล้ว กลุ่มคนท้องที่ยังไม่ได้ตัดสิน ให้ประกันตัวออกมา ส่วนคนที่ตัดสินแล้วต้องมีพื้นที่พิเศษให้ รวมถึงแม่ลูกอ่อน อย่าเอาไปรวมกันกับคนแก่และคนป่วย และเช็คสุขภาพเป็นระยะในช่วงนี้   ส่วนคนที่ตัดสินแล้ว โทษเหลือไม่เกิน 6 เดือนหรือ 1 ปี ก็ให้เขาออกมาก่อนซึ่งก็ต้องทั้งชายและหญิง แต่หญิงต้องจัดการก่อนเพราะมีกลุ่มเด็กและคนตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุหรือคนแก่ไม่ควรขังแล้ว อายุ 60 ขึ้นไปปล่อยเขาออกมา ใช้มาตรการพื้นที่ควบคุมพิเศษเพิ่มเข้าไป กรมราชทัณฑ์สามารถประสานความร่วมมือกับวัดหรือ สถานปฏิบัติธรรมเพื่อนำผู้สูงอายุไปจองจำเขาต่อในนั้น แล้วก็เอาผู้คุมไปคุม สร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำสมาธิ กวาดลานวัดไป หากเชื่อเรื่องศาสนาลดกรรมชั่วเพื่อไปสวรรค์ก็เสริมกันไป

หากสังคมมองว่า ชีวิตเหล่านี้มีคุณค่าก็ต้องทำให้เขาปลอดภัยและอยู่ในสังคมได้ต่อไป  ข้อสันนิษฐานของคนทั่วไปที่ว่า คนเหล่านี้อาจมีโรคแล้วเอาไปติดคนที่บ้านและครอบครัว เพราะทางเรือนจำไม่มีมาตรการคัดกรองที่น่าเชื่อถือ และยิ่งไปกว่านั้นกับคำถามที่ว่า คนพวกนี้ออกมาจะทำอะไร เรามีข้อเสนอแบบนี้

ให้คิดถึงการแบ่งคนพวกนี้ออกเป็นประเภทเพื่อให้จัดการต่อได้

  1. คนที่อยู่ระหว่างสู้คดี และมีเงินประกันตัว ทั้งมีโอกาสเรื่องงานและครอบครัวอยู่แล้ว ปล่อยคนกลุ่มนี้ออกมา ก่อนปล่อย เรือนจำก็ต้องมีพื้นที่กักตัว 14 วัน และตรวจโรคและอาการ หากพื้นที่ในเรือนจำไม่พอก็จัดให้มีการ กักตัวในพื้นที่พิเศษได้ ทั้งนี้ คนกลุ่มนี้ที่จะได้รับการประกันตัวก็ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ด้วย
  1. คนที่อยู่ระหว่างสู้คดี แต่ไม่มีเงินประกันตัว อาจเสนอให้เขาใช้วิธีการเช่าหลักทรัพย์ได้ (แต่หากไม่มีเงินมาเช่าอีก เราก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร) ก่อนปล่อยตัวก็ใช้มาตรการกักตัวก่อน 14 วัน และตรวจโรค เหมือนกัน กลุ่มนี้ต้องคิดต่อว่า จะสนับสนุนเขาอย่างไรต่อเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการลักเล็กขโมยน้อยหรือถึงขนาดมีสถานะเป็นคนไร้บ้าน
    1. คนที่มีบ้านให้กลับก็ต้องช่วยค่ารถ และมีมาตรการช่วยเหลือให้เริ่มต้นชีวิตใหม่
    2. คนที่ไม่มีบ้านให้กลับต้องจัดการเหมือนเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ เรือนจำต้องประสานวัดและหน่วยราชการในจังหวัดเพื่อสร้างงานให้คนกลุ่มนี้ ให้เขาไปอยู่ในที่นั้นและอาจให้เขาเป็นอาสาสมัครเพื่อให้เขาช่วยคนอื่นต่อได้ เป็นวิธีการวิวัฒน์พลเมือง คืนคนกลับให้สังคม
  2. คนที่ถูกตัดสินว่าผิดแล้ว เป็นคดีลหุโทษ หรือรับโทษแล้วเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือถูกตัดสินใหม่ความผิดไม่เกิน 1 ปี ต้องถูกปล่อยออกมาก่อน ซึ่งก็ต้องจัดการเหมือนกลุ่มที่ 2 คือ แยกเป็นแบบมีที่ไปและไม่มีที่ไป แล้วให้การช่วยเหลือ ทั้งหมดทำไปเพื่อลดผู้ต้องขัง
  3. ไม่ควรให้มีคนติดคุกรายใหม่เพิ่มอีก ใช้มาตรการให้กักตัวอยู่กับบ้าน ไปรายงานตัว บำเพ็ญประโยชน์ หรือถ้าเป็นคดีอาญาก็รอลงอาญาได้

.

โควิด-19 ทำให้กอฟมองโลกเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และในช่วงนี้ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับโควิดบ้าง  

เรามองว่าโควิดไม่ใช่ฮีโรมาช่วยโลกให้ดีขึ้นหรือทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น เรามองโควิดเหมือนเป็นวิกฤตให้มนุษย์ปรับตัวมากกว่า และมันจะเป็นตัวแปรสำคัญในระบบเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเปลี่ยนขั้วอำนาจ ซึ่งเราไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ธรรมชาติที่ว่าดีขึ้นอาจทำให้มนุษย์อยู่ลำบากมากขึ้นก็ได้ และสิ่งที่มนุษย์คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นไปเร็วขึ้น เช่น การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์

ส่วนตัว โควิดทำให้เรามีความกล้าหาญมากขึ้นที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ๆ รู้จักการรอคอยมากขึ้น ที่สำคัญ ทำให้เราได้ใช้ทักษะจากในคุก เพียงแต่ต่างกัน อย่างน้อยได้อยู่บ้าน ได้ทำงาน  ได้คิด มีสมุดให้เขียน มีปากกาให้ใช้ ไม่เหมือนตอนอยู่ในนั้น เราคิดถึงของที่จำเป็นในเรือนจำ พวกผ้าอนามัย สบู่ แชมพู และคิดว่าหน้ากากก็ต้องการในเรือนจำต่างจังหวัดที่ผลิตเองไม่พอ ส่วนกรุงเทพเราเย็บกันเองและเพียงพอ ส่งหรือบริจาคสบู่เข้าไปในเรือนจำให้มากเพื่อให้เขาได้ล้างมือกันบ่อยขึ้น  เจ้าโควิดยังทำให้เราร่วมกับกลุ่ม FAIRLY TELL (แฟร์ลี่ เทล) และ THE PROJECT X องค์กรด้านสิทธิของนักโทษหญิงและอดีตนักโทษทางการเมือง ได้เริ่มทำแคมเปญใน Change.org #ลดความแออัดในเรือนจำลดการระบาดโควิด 19 เป็นการรณรงค์ให้มีการปล่อยนักโทษหญิง เพิ่มมาตรการลดความแออัดในเรือนจำ ไปร่วมลงชื่อกันได้แคมเปญยังอยู่ระหว่างดำเนินการ อยากให้ไปลงชื่อกันเยอะๆ

แม้นักโทษและผู้ต้องขังจะถูกจำกัดอิสรภาพทางกาย แต่สิทธิในชีวิตเป็นสิทธิของพวกเขาที่ไม่อาจงดเว้นได้ คนเหล่านี้ยังมีสิทธิเข้าถึงการมีชีวิตที่ปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี และการรักษาพยาบาลที่ทันท่วงทีและเหมาะสม ข้อเสนอของ “กอฟ” ภรณ์ทิพย์ ที่เสนอให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำได้สัมผัสแสงแดดอย่างจริงจัง ได้อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ ได้รับอาหารที่เพียงพอ และลดความแออัดที่เกินมาตรฐานด้วยการปล่อยเขาเหล่านั้นบางกลุ่มคนออกมา จึงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในเรือนจำหญิงเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกันทุกคน

.

X