ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสมาชิกเครือข่ายนักวิชการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้เขียนบทความขนาดสั้นเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เนื้อหาเป็นข้อแนะนำเรื่องการรับมือและจัดการกับกระบวนการเสียบประจานหรือการไล่ล่าแม่มดนิสิตนักศึกษาผู้แสดงออกทางเมือง ซึ่งกำลังเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ภายหลังการออกมาชุมนุมของนิสิตนักศึกษาและนักเรียนในสถานศึกษาต่างๆ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเนื้อหาของบทความมีน่าสนใจ จึงขอผู้เขียนนำมาเผยแพร่ต่อในที่นี้
—————————————————————-
จะอยู่รอดและชนะได้อย่างไรเมื่อโดนเสียบและล่าแม่มด
จริงๆ แล้วสเตตัสนี้อาจไม่จำเป็น เพราะนิสิตนักศึกษาในตอนนี้ดูจะมีความกล้าหาญและความเข้มแข็งมากกว่าตัวดิฉันเองเสียซ้ำ แต่เมื่อเห็นกระแสการเสียบประจานหรือการล่าแม่มดต่อนิสิตนักศึกษาที่เกิดขึ้น และคาดว่าจะมีตามมาอีกมาก จึงอยากจะส่งกำลังใจไปให้ (อาจพูดในฐานะผู้ที่เพิ่งผ่านการถูกล่าแม่มดแบบจัดเต็มเมื่อไม่นานมานี้)
การเสียบประจานหรือการล่าแม่มดเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการ มีการจัดตั้ง ตั้งแต่การจับตา บันทึกข้อมูลกิจกรรมการชุมนุมและการเสวนาต่างๆ มีการคัดเลือกว่าจะชูเหตุการณ์หรือประเด็นใดขึ้นมาโจมตีในข้อหาว่าบ่อนทำลายความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของชาติ มีการเผยแพร่ข้อมูล ผลิตซ้ำผ่านช่องทางในเครือข่ายสื่อหลัก หนังสือพิมพ์ รายการข่าวต่างๆ และในสื่อโซเชี่ยลที่จัดตั้งขึ้น โดยมีการตัดตอน ตีความเนื้อหาที่ผิดไปเจตจำนงที่แท้จริงของผู้พูดหรือผู้จัดกิจกรรมที่ตกเป็นเป้า มีการขยายความให้เกินจริง บ่อยครั้งเป็นการใส่ความ กล่าวเท็จ และหมิ่นประมาท เพื่อปลุกปั่นกระแสให้สังคมเกิดความเกลียดชัง ด่าทอ โจมตี ประณามผู้ที่ตกเป็นเป้า จนผู้นั้นเกิดความหวาดกลัว หวาดผวา เกิดความเดือดร้อนจนไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้
อย่างไรก็ดี กระบวนการเสียบประจานหรือการล่าแม่มดนี้จะทำอะไรเราไม่ได้เลย ถ้าเราไม่กลัว ไม่ตื่นตระหนกตกใจ ไม่ปล่อยให้มันมาทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวตน ทั้งนี้ ผู้ตกเป็นเป้าจะต้องยึดมั่นในหลักการซึ่งเป็นที่มาแห่งการกระทำของตนให้แน่น ในช่วงวันแรกๆ ที่โดนกระหน่ำโจมตี เราอาจตกใจ หวาดกลัว หวาดวิตกก็จริง แต่ต้องรีบตั้งหลักให้ได้เร็วที่สุด จากนั้นสื่อสารกลับไปยังสังคมเพื่อยืนยันถึงหลักการแนวคิดของเรา อธิบายต่อสังคมว่ากระแสการเสียบประจานหรือการล่าแม่มดนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างไร มีการกล่าวเท็จ มีการขยายความที่บิดเบือนไปจากสิ่งที่เราต้องการสื่อตั้งแต่แรกอย่างไร เราต้องยึดมั่นและเชื่อมั่นในหลักการ “สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันของมนุษย์”
ทั้งนี้ เราไม่จำเป็นต้องพยายามพูดหรือแสดงตนในแบบที่ผู้ที่เสียบประจานหรือล่าแม่มดเราอยากให้เราทำ (ด้วยความหวังว่าพวกเค้าจะยุติการโจมตีเรา) เช่น แสดงความสำนึกผิด แสดงตนเป็น “คนดี” เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด หากมีใครมาถามว่า “ถ้ารู้ว่าทำไปแล้วจะโดนเสียบหรือโดนล่าแม่มดแบบนี้เราจะยังทำอีกไหม” เราก็ต้องยืนยันว่า “ทำอีกแน่นอน” บนฐานของหลักการที่เราให้คุณค่าและบนความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีกว่า
นอกจากการยืนยันในหลักการและชี้แจงต่อสังคมแล้ว หากการเสียบประจานหรือการล่าแม่มดคุกคามเรามากจนเกินขอบเขต ก็อาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายและทางศาลในการปกป้องตนเอง หรือในกรณีที่มีผู้อื่นมาแจ้งความกล่าวโทษเรา เราก็ต้องพร้อมที่จะต่อสู้คดีเพื่อยืนยันหลักการของเราให้เต็มที่ โดยเราสามารถที่จะไปขอความช่วยเหลือในด้านกฎหมายจากกลุ่มองค์กรและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ได้
อนึ่ง เมื่อตกเป็นเป้าของการเสียบประจานและล่าแม่มด ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม เราอาจต้องเผชิญกับท่าทีแบบต่างๆ ของคนรู้จักหรือเพื่อนร่วมงานที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ บางครั้งก็จะมีผู้หวังดี (ประสงค์ร้าย) ที่อ้างตัวว่าทราบข่าว “วงใน” มาคอยเตือนให้ระวังตัวนั่นนี่ (ซึ่งน่ารำคาญมาก) โดยปกติกระแสการเสียบประจานและล่าแม่มดในโซเชียลจะคงอยู่สักระยะหนึ่ง (ราว 2 สัปดาห์) แล้วก็จะซาลง แต่เราก็ยังคงต้องอยู่กับผลกระทบของมันไปอีกยาว เช่น อาจต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่ตลอด
ทั้งหมดคือสิ่งที่เราต้องเผชิญ สู้กับมัน ต้องไม่ยอมแพ้ และต้องชนะเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องดำเนินชีวิตปกติต่อไปให้ได้ อย่าให้การเสียบประจานและล่าแม่มดมาทำให้เรากลัวและสูญเสียความเป็นตัวตน อย่าให้สิ่งนี้มาทำลายชีวิตปกติของเรา ในขณะที่เราเผชิญกับการเสียบประจานและล่าแม่มด เราก็ยังสามารถเรียน ทำรายงาน เตรียมสอบได้อย่างเต็มที่ และยังคงสามารถคัดค้านเผด็จการทรราชย์ได้อย่างเต็มที่ต่อไป
#สู้ไปด้วยกัน