10 ส.ค.59 อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 24 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาววาสนา เคนหล้า, นางสาวภริตพร หงษ์ธนิธร, นายสุรินทร์ พิบูลสุขสิน และนายสิขณินภ์ รัศมีธรรม แกนนำจัดกิจกรรมเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ จังหวัดอุดรธานี ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 24 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 70/2559 โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หลังอัยการทหารนัดผู้ต้องหาทั้ง 4 คน มารับฟังผลการพิจารณาสั่งคดี นับเป็นคดีศูนย์ปราบโกงฯ คดีแรกที่อัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลทหาร โดยยื่นฟ้องหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นไปแล้ว
คำฟ้องโจทก์ระบุฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 4 กับพวกรวม 23 คน ได้ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมกับบุคคลอื่นอีกหลายคน บริเวณภายในบ้าน ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี โดยมีการจัดตั้งและเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
หลังอัยการทหารยื่นฟ้อง จำเลยทั้ง 4 คน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดคนละ 10,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. ทั้ง 4 คน ถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำกลางอุดรธานี ขณะรอฟังคำสั่งศาลว่าจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่
ต่อมา เวลาประมาณ 16.30 น. ศาลมณฑลทหารบกที่ 24 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คน โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม พร้อมนัดหมายจำเลยมาถามคำให้การในวันที่ 14 ต.ค.59 ก่อนที่จำเลยทั้ง 4 คน ได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำกลางอุดรฯ ในเวลาประมาณ 19.00 น.
หลังได้รับการปล่อยตัว นางสาววาสนา เคนหล้า เปิดเผยความรู้สึกว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอประกันตัว จนศาลอนุญาตปล่อยตัว สามารถดำเนินการและปล่อยตัวเราที่ศาลได้เลย ไม่ทราบว่าทำไมต้องเอาตัวเข้าเรือนจำ เจ้าหน้าที่ทหารอ้างแต่ว่าเป็นระเบียบของศาล ที่เรือนจำก็เหมือนกัน ปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นนักโทษคดียาเสพติด หรือคดีอาชญากรรม ต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด เปลี่ยนเสื้อผ้า และให้ขึ้นเรือนนอน แจกอุปกรณ์จำเป็นด้วย ทั้งๆ ที่เราบอกว่า เราถูกคดีการเมืองและยื่นประกันแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่สนใจ อ้างว่าเป็นกฎของเรือนจำ
แกนนำจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.อุดรธานี 4 คน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ 3 คน เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน (พ่อ แม่ ลูก) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาเชิญตัวทั้ง 4 คน ไปสถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด และแจ้งข้อกล่าวหาหลังชาวบ้านที่มาร่วมถ่ายรูปเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงฯ ทยอยกลับแล้ว
ทั้งนี้ เหตุที่คำบรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้ง 4 กับพวกรวม 23 คน ร่วมกันกระทำความผิด เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตำรวจได้เรียกให้ชาวบ้านจำนวน 19 คน ที่ร่วมถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกงฯ มาสอบปากคำในฐานะพยาน โดยไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ภายหลังจึงติดตามทั้ง 19 คน ให้เข้ารับ “การอบรม” หรือ “ปรับทัศนคติ” กับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ในวันที่ 14 ก.ค. 59 ที่สถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด และทำการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้าการอบรมจะเริ่มขึ้น โดยให้เซ็นรับสารภาพและแจ้งว่าอบรมเพียงครึ่งวันแล้วคดีจะยุติ ซึ่งเท่ากับมีลักษณะการดำเนินการที่บีบให้ชาวบ้านยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว โดยรับสารภาพว่าตัวเองผิดก่อน
กิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในหลายจังหวัด ถูกดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 8 จังหวัด ทั้งในภาคอีสาน เหนือ รวมทั้งที่กรุงเทพมหานคร รวม 142 คน แต่ผู้ต้องหารับเงื่อนไขสารภาพ แล้วเข้าอบรมให้คดียุติไปแล้ว จำนวน 56 คน และคดีศูนย์ปราบโกงฯ จังหวัดอุดรธานี เป็นคดีแรกที่อัยการศาลทหารยื่นฟ้อง
ภาพการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59 (ภาพจากเพจ ศูนย์ปราบโกงประชามติ)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แจ้งข้อกล่าวหา 19 เสื้อแดงอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกง หลังเรียกมาอบรม
ทหารเรียกอีก ชาวบ้านอุดรฯ เปิดศูนย์ปราบโกง
Not Free and Fair การรณรงค์ที่ต้องจ่ายด้วยเสรีภาพ: ประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิก่อนออกเสียงประชามติ