“สิชล” ผู้ป่วยจิตเภท และจำเลยในคดีโพสต์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โดนตั้งข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ (5) ย้อนรอยตั้งแต่ เขาถูกจับและแจ้งข้อกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2561 จนถึงวันนี้ (12 ธันวาคม 2562) เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน กับการหนีออกจากบ้าน ถูกจับ ฝากขังในศาลทหาร คุ้มคลั่งด้วยโรคจิตเภท และเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน ก่อนจะมาถึงคำพิพากษาในวันนี้ ที่พวกเขา – สิชลและพ่อ — หวังว่าคดีความที่บั่นทอนพวกเขามานานนั้น จะจบลงด้วยดี
ทว่า ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง
กว่าจะถึงวันนี้ พวกเขาต้องพิสูจน์อะไรมาบ้าง ผ่านกระบวนการยุติธรรม และมาถึงคำพิพากษาจำคุก 3 ปีได้อย่างไร
จับ-แจ้ง
สิชล (นามสมมติ) อายุ 29 ปี เป็นผู้ป่วยจิตเภท หลังเรียนจบ เขาทำงานไม่เคยผ่านช่วงทดลองงาน เพราะคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ต่างดาว ที่มาสวมร่างมนุษย์และเป็นพระพุทธเจ้า ชอบมีความคิดเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว โครงการลับของสหรัฐอเมริกาคิดมากจนปวดหัว จึงไปหาหมอ และได้รู้ว่าตนเองเป็นโรคจิตเภท แต่รักษาขาดๆ หายๆ เพราะ “กลัวหมอมัดมือมัดเท้า”
เมื่อวันที่ 10 และ 25 มีนาคม 2559 สิชลได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ 2 ข้อความ พร้อมภาพประกอบ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนจะถูกออกหมายจับ ข้อความทั้งสองไม่ได้เป็นถ้อยคำหยาบคาย แต่มีลักษณะการให้ข้อเสนอแนะ และถ้อยคำเกี่ยวกับสถานะของพระเจ้าแผ่นดิน
“หลังจากโพสต์ข้อความไปไม่กล้าออกจากบ้าน กลัวว่าจะมีคนตามจับ เพราะมีคนส่งภาพหมายจับมาทางเฟซบุ๊ก ก็กลัว เลยหนีออกจากบ้าน ไปเรื่อยไม่มีจุดหมาย จนถูกตำรวจจับ แต่จำไม่ได้ว่าถูกจับในปีไหน”
“เจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร ถูกขังที่เรือนจำ 48 วัน ภายหลังศาลทหารปล่อยตัว เพราะมีคำสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 112 อาการขณะอยู่ในเรือนจำ คือกลัว ก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตอนอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เขาจับมัดมือมัดเท้าเป็นซอมบี้ แล้วก็ให้ยากิน พอได้กลับบ้าน แล้วก็ไปที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แล้วเขาก็ส่งตัวไปที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา มีอาการควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ทรมาน”
เป็นคำเบิกความที่สิชล ซึ่งอ้างตัวเองในฐานะพยานจำเลย เล่าต่อหน้าบัลลังก์ศาล
หมายจับดังกล่าวออกโดยศาลทหารกรุงเทพในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 แต่อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ
สำนวนคดีดังกล่าวจึงถูกโอนย้ายมาให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาเป็นผู้สั่งคดี ที่สุดอัยการพลเรือนสั่งฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561
ความน่าสนใจคือ ในชั้นสอบสวน สิชลถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 แต่ในชั้นอัยการกลับเปลี่ยนเป็นฟ้องในข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) แทน
สืบ 1 (พยานโจทก์)
การสืบพยานโจทก์เกิดขึ้นในวันที่ 8-10 ตุลาคม 2562 โดยสืบพยานโจทก์ทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ บิดาจำเลย พยานคนกลางผู้อ่านข้อความจำนวน 2 คน และพนักงานสอบสวน 3 คน
ส่วนการสืบพยานจำเลย วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ฝ่ายจำเลยสืบพยาน 4 ปาก โดยมีจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน, บิดาจำเลย ซึ่งถามค้านในคราวเดียวกันกับโจทก์ และแพทย์ผู้ตรวจรักษาพยาบาลจำเลยจำนวน 2 คน
พนักงานสอบสวน
การสืบพยานพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์, ร.ต.อ.สุธีรพงศ์ ชัยศิริ และ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พยานทั้งสามต่างให้ความเห็นสอดคล้องกันเมื่อทนายจำเลยถามค้านในเรื่องของข้อความที่โพสต์ว่า ในฐานะพนักงานสอบสวน หลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้ง 2 โพสต์ ไม่มีใครโพสต์แบบจำเลย หรือแชร์ออกไป มีแต่การแสดงความคิดเห็นไม่พอใจตัวผู้โพสต์ และไม่มีการสอบสวนในแง่ที่ว่าการก่อความไม่สงบจากการที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งสอง
พยานทั้งสามต่างรับตรงกันว่า ในชั้นสอบสวน คดีนี้มีสอบสวน แค่องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 เท่านั้น พยานไม่ทราบว่า ภายหลังอัยการพิจารณาแล้วไม่มีความผิดตามมาตรา 112 และไม่ทราบว่าอัยการฟ้องจำเลยข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5)
พยานคนกลางผู้อ่านข้อความ
ในขณะที่พยานคนกลางผู้อ่านข้อความ ได้แก่ ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล และนายกำธร ตรีรัตนาพิทักษ์ กล่าวตรงกัน ผศ.ทวีกล่าวว่า ตน “เห็นข้อความแล้วไม่สบายใจ” และเบิกความต่อว่า “ภาพที่เจ้าหน้าที่ให้ดูจำนวนสองภาพสร้างกระแสความรู้สึกที่ไม่ดีต่อพระมหากษัตริย์” ส่วนนายกำธร กล่าวว่า ข้อความทำให้ตนรู้สึกโกรธ “เห็นว่าเป็นการโพสต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้เสื่อมเสีย และอาจทำให้คนไม่พอใจ”
บิดาของจำเลย
ต่อมา อัยการได้สืบพยานบิดาของสิชล เขาเบิกความว่าขณะเกิดเหตุลูกชายของตนอายุราว 29 ปี เมื่อเรียนจบปวส.แล้วก็ไปทำงาน แต่ไม่เคยผ่านช่วงทดลองงาน หลังจากผ่านมาสองสามงานแล้วจึงอยู่บ้านตลอด ตอนที่อยู่ที่บ้านเขาก็พูดไม่หยุดแล้ว ก็ยังมีความคิดเห็นว่าทุกศาสนาบนโลกนี้ไม่ดี และตัวเขาเองก็อยู่เหนือทุกศาสนา ตนเองก็รู้สึกว่าลูกชายมีความคิดผิดปกติ
พ่อขอสิชลเบิกความต่อว่า ต้นปี 2559 สิชลก็หนีออกจากบ้านไป แต่ก็ยังส่งข้อความมาหาเป็นระยะ ทำให้ตนไม่ได้พาลูกชายไปรับการรักษาอีก และเล่าว่าตนเองก็เพิ่งทราบเรื่องที่สิชลก่อเหตุ ตอนที่มีตำรวจมาที่บ้านแล้ว แต่ตอนที่ตำรวจมาที่บ้านก็มีเพียงหลานชายอยู่เท่านั้น ภายหลังตนจึงได้พาตัวลูกชายไปพบกับตำรวจที่ บก.ปอท. พนักงานสอบสวนจึงได้นำเอกสารสำนวนให้พยานดูและแจ้งว่าภาพโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของสิชล ซึ่งตนเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะเคยเตือนสิชลเอาไว้แล้ว ว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีก
“ทั้งนามสกุลของครอบครัวก็เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานมา อีกทั้งครอบครัวก็จงรักภักดีต่อสถาบันมาโดยตลอด” บิดาสิชลกล่าวต่อศาล
สืบ 2 (พยานจำเลย)
การสืบพยานจำเลยเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นัดเพิ่มจากวันที่ 10 ตุลาคม 2562 เนื่องจากศาลเห็นว่า สิชลควรจะได้เบิกความในช่วงเช้ามากกว่าที่จะรอเบิกความในช่วงบ่ายของวันที่ 10
จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน สิชลมีท่าทางตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัด หน้าซีด ตัวสั่นเทาเล็กน้อย พูดเสียงสั่น ค่อนข้างเบาขณะเบิกความต่อศาล
เขารับว่าได้โพสต์ข้อความทั้งสองโพสต์จริง เพราะเห็นภาพแล้ว “ควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนมีพลังงานบางอย่างมาครอบงำ” เช่น ในปี 2557 พยานเคยโพสต์คลิปขอโทษที่โพสต์ดูหมิ่น พยานเคยโพสต์ข้อความดูหมิ่นหลายครั้ง พอได้สติขึ้นมาก็พยายามไล่ลบ โพสต์วันที่ 20 มีนาคม 2559 ก็ทำไปโดยไม่รู้สึกตัวเหมือนกับปี 2557
นอกจากนี้จำเลยยังรับว่าตนเองเป็นคนเขียนบททดสอบเปรียญธรรม 10 ประโยคเอง เพราะพยานเล่าว่า “การวัดสติปัญญาสมัยนั้น ใครตอบแบบสอบถามถูกต้องก็จะเป็นพระอรหันต์ พยานทำขึ้นมาเอง ทดสอบแล้วก็ได้คะแนนเต็ม ก็คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า” หรือมีการโพสต์ว่า นายสิชลตายไปแล้ว ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีมนุษย์ต่างดาวมาสวมรอย เป็นต้น
จำเลยเริ่มมีอาการป่วยหลังจากเรียน รด. จบแล้ว ปัจจุบันก็ยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กินยาอยู่ พบหมอเพื่อรับยาทุก 2 เดือน ยังไม่เคยไม่กินยา
สืบพยานจำเลย แพทย์ผู้รักษาพยาบาลสิชล
พยานจำเลยปากที่ 2 แพทย์หญิงชูนุช เจริญพร แพทย์ ณ เรือนจำบางขวาง ทำงานที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผู้รับตัวสิชลจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เอาตัวจำเลยมาเนื่องจากจำเลยมีอาการร้องไห้ตลอดเวลา โวยวายจะทำร้ายตัวเอง พยานดูอาการอยู่ 1 วัน วันรุ่งขึ้นจำเลยไปศาล ภายหลังจึงได้ทราบว่าได้รับการปล่อยตัว
เบื้องต้นวันที่ได้รักษาจำเลย เป็นอาการป่วยทางจิตฉับพลัน โดยความเห็นของพยานจำเลยมีอาการป่วยทางจิต หรือจิตเภท ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับพยานปากที่ 3 นายแพทย์วิญญู ชะนะกุล แพทย์ผู้รักษาสิชล ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ที่เห็นว่า อาการของสิชล ในทางการแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต อาการทางจิตมีหลายประเภท ตรงนี้เรียกว่า อาการจิตเภท โดยมากก็เป็นโรคเรื้อรัง ในรายนี้ ญาติบอกว่ามีอาการดังกล่าวก่อนมาพบพยานประมาณ 4 ปีก่อน
วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคจิตเภท สาเหตุของอาการจิตเภทยังไม่สามารถหาเหตุผลที่แท้จริงได้ หลังจากนั้นจำเลยก็มาพบแพทย์ตามที่กำหนด ช่วงแรกทุกๆ เดือน ปัจจุบันทุก 2 เดือน
พยานจำเลยปากที่ 3 ตอบอัยการถามค้านว่า พยานยืนยันไม่ได้ว่าตอนเกิดเหตุจำเลยมีอาการทางจิตเภทหรือไม่ และตอบทนายจำเลยถามติงว่า ขณะปี 2559 สันนิษฐานว่าก็มีอาการที่คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า เป็นอาการของโรคจิตเภท เขาเชื่อว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ จากการสอบถามบิดาว่าจำเลยมีอาการก่อนมาพบพยาน 4 ปี จึงเชื่อได้ว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยก็มีอาการ.
หลังจากสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษา 12 ธันวาคม 2562
จบ ?
ในวันนัดคำพิพากษา สิชลและบิดาเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยกัน ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 811 ศาลอาญา รัชดา ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ทั้งคู่ต่างมีรอยยิ้มเล็กน้อยของความหวัง หวังว่าจะศาลจะยกฟ้อง ต่อมา เวลา 09.45 น. มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาในห้องพิจารณาคดี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของศาลว่าในคดีที่มีโทษจำคุกจะต้องมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่ด้วย และต้องใส่กุญแจมือไว้ในขณะที่ฟังคำพิพากษา ต่อมาเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้ติดต่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลมานั่งในห้องพิจารณาคดีระหว่างศาลอ่านคำพิพากษาด้วย
เวลา 09.53 น. ผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์ สิชลลุกขึ้นยืน แต่ผู้พิพากษากล่าวว่าให้นั่งได้ โดยไม่มีการใส่กุญแจมือ และอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่ค่อนข้างเบา กับทนายความจำเลย จับใจความได้ว่า ความผิดมาตรา 116 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 116 และพนักงานสอบสวนก็เบิกความรับว่าคดีนี้ตั้งเรื่องโดยใช้มาตรา 112
เหลือส่วนความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากจำเลยรับว่าจำเลยโพสต์ข้อความทั้งหมด อันเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อจำเลยโพสต์และแชร์ ก็เข้าองค์ประกอบตาม 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (3) พิพากษาจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยเป็นจิตเภท อ้างเหตุลดโทษตาม[simple_tooltip content=’ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้’]มาตรา 65[/simple_tooltip] พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ลดหนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี
เนื่องจาก ถึงแม้ว่าศาลเห็นว่าจำเลยป่วยเป็นจิตเภทจริง เพราะมีแพทย์เจ้าของไข้มาเป็นพยาน แต่ขณะที่โพสต์ จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าขณะนั้นไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีหรือไม่
ขณะนั่งฟังการอ่านคำพิพากษา สิชลตัวสั่นเป็นระยะๆ และทวีความสั่นขึ้นเรื่อยๆ จนผู้พิพากษาอ่านจบ
หลังจากอ่านคำพิพากษาแล้ว ผู้พิพากษาบอกต่อทนายจำเลยเรื่องการไปยื่นประกันตัวชั้นอุทธรณ์ และกล่าวถ้อยคำปลอบสิชลหลายครั้ง
จากนั้นเมื่อจำเลยและผู้เกี่ยวข้องลงชื่อในเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงพาตัวสิชลลงไปในห้องขังใต้ถุนศาลทันที โดยที่สิชลและพ่อยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกันแม้แต่น้อย
ในขณะที่ทนายจำเลยและพ่อของสิชล เร่งดำเนินเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิม ในเวลา 15.21 น. โดยทนายจำเลยจะดำเนินเรื่องอุทธรณ์คดีต่อไป.