4 ส.ค.59 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ชาวบ้านจำนวน 6 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน หลังจากที่ได้ร่วมกันถ่ายภาพกับป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. โดยก่อนหน้านี้มีชาวบ้านถูกแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันนี้แล้ว 17 คน ทำให้รวมแล้วมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหากรณีศูนย์ปราบโกงเด่นชัยแล้ว 23 คน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.59 เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพทหารม้าที่ 12 ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยการขึ้นป้ายดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ระหว่างการทำบุญเปิดร้านน้ำส้มเกล็ดหิมะที่บ้านของนางปริศนา เทพปิตุพงศ์ (ดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้)
พนักงานสอบสวนได้ทยอยเรียกผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้รวมแล้วทั้งหมด 17 คน โดยมี 5 รายแรกที่เข้ารับทราบข้อหาและได้เข้ารับ “การอบรม” กับเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายทหารไปก่อนหน้านี้แล้ว จนเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ชาวบ้านอีก 6 คน ในอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ กลับเพิ่งได้รับหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 4 ส.ค.
ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนจึงได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยให้การได้รับสารภาพและยินยอมเข้ารับการอบรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ชาวบ้านได้ให้การว่าวัตถุประสงค์ที่ไปในงานดังกล่าวเป็นเพียงการไปทำบุญเปิดโรงงานน้ำส้มเกล็ดหิมะ และต้องการนำน้ำส้มดังกล่าวมาขายต่อในศูนย์การเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกอำเภอหนองม่วงไข่ ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปร่วมในการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติโดยตรง เพียงแต่เมื่อเสร็จจากการทำบุญได้มีการชักชวนให้ร่วมกันถ่ายรูป โดยที่ชาวบ้านก็เห็นว่าป้ายที่นำมาถ่ายนั้นไม่ได้มีข้อความรุนแรงหรือจะเป็นความผิด โดยการลงประชามติก็จำเป็นที่จะต้องไม่มีการโกงเพื่อไม่ต้องอายประเทศเพื่อนบ้านตามที่ป้ายได้เขียนไว้ จึงได้ร่วมกันถ่ายรูปและมีการแจกเสื้อให้ใส่ร่วมกัน ไม่คิดว่าจะเป็นความผิดใดๆ
พนักงานสอบสวนสภ.เด่นชัยได้ทำบันทึกประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงบันทึกประจำวันไว้ และปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องประกันตัว ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหลายคนระบุว่าเป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาก่อนด้วย
หนึ่งในผู้ต้องหา เป็นยายอายุ 75 ปี (ขอสงวนนาม) ทำอาชีพเก็บผักขาย ระบุถึงความรู้สึกหลังเข้ารับทราบข้อหาว่าตั้งแต่เกิดมาจนอายุป่านนี้ ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะต้องมีคดีความติดตัวด้วยเรื่องแบบนี้ รู้สึกเป็นกังวลมากในวันที่ได้รับหมายเรียก ทำให้กินข้าวไม่ค่อยได้เลย เพราะเรื่องนี้รบกวนจิตใจตลอดเวลา
ส่วนผู้ต้องหาชายที่ประกอบอาชีพเกษตรกรอีกราย อายุ 45 ปี ระบุความรู้สึกว่าไม่เข้าใจว่าเรื่องแบบนี้เป็นความผิดร้ายแรงจนถึงขนาดต้องออกหมายอาญาต่อประชาชนได้อย่างไร เราเป็นเพียงแค่เกษตรกรธรรมดาๆ ไม่ใช่คนหัวรุนแรงแต่อย่างใด และตลอดชีวิตก็ทำงานช่วยเหลือและเป็นอาสาสมัครให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด
หลังจากนี้ ผู้ต้องหาต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทหารนัดหมายวันที่จะให้ชาวบ้านทั้ง 6 คน เข้าทำการอบรมภายในค่ายพระยาไชยบูรณ์ต่อไป โดยชาวบ้านยังได้ร้องขอกับพนักงานสอบสวนว่าหากเป็นไปได้ อยากให้เจ้าหน้าที่จัดให้มีการอบรมให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว เนื่องจากระยะทางที่ชาวบ้านต้องเดินทางและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบเอง รวมถึงรายได้ที่ต้องเสียไปในวันที่มาทำการอบรมอีกด้วย
ทั้งนี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ได้ระบุว่า ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ภาพขณะมีการขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59
ผลิตภัณฑ์จากโรงงานน้ำส้มเกล็ดหิมะของชุมชนที่ชาวบ้านระบุว่าไปร่วมงานทำบุญเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ตร.แจ้งข้อหาผู้ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติเด่นชัย เพิ่มอีก 9 ราย
ทหารแจ้งความชุมนุมการเมือง 5 หญิงเสื้อแดงเปิดศูนย์ปราบโกงเด่นชัย ก่อนผู้ต้องหายินยอมรับ’การอบรม’
ทหารเรียกคุย-ยึดป้าย-ขู่ใช้ข้อหาชุมนุม คุมเปิด ‘ศูนย์ปราบโกง’ หลายจังหวัดในภาคเหนือ