ภายหลังรัฐประหาร อุตสาหกรรมชีวภาพถูกผลักดันมาอย่างเงียบเชียบ และมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2518 โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม จนผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ อีสานใหม่ เปิดเผยว่า ปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) เพิ่มพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ ภายในปี 2569 และจะมีการสร้างโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จาก 20 โรงงาน เป็น 30 โรงงาน ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช. และโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังจะก่อสร้าง ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายในโครงการนี้ จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าที่มาของโครงการนี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นในการสร้างโรงงาน ประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน
ดังในกรณีของกลุ่มฮักบ้านเกิด(เมืองเพีย) อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในวันที่ 10-12 ก.ย. 2562 กรณีก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล บนพื้นที่ 4,000 ไร่ ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งทั้ง 3 วัน ได้มีการจัดในสามพื้นที่ ได้แก่ อ.บ้านไผ่, อ.ชนบท และ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัทน้ำตาลมิตรผลทั้ง 3 วัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 250 นาย คอยประจำอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเวที ซึ่งในวันแรกตำรวจและพนักงานของบริษัทได้ขอตรวจบัตรประชาชนบางกลุ่มที่บริเวณทางเข้างาน โดยเฉพาะกลุ่มฮักบ้านเกิด พร้อมกับให้โชว์บัตรประชาชนตรงหน้ากล้องถ่ายวิดีโอ ซึ่งทำให้ประชาชนที่มาเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัย ส่วนคนที่ไม่ได้เอาบัตรประชาชนมา ตำรวจมักจะใช้คำถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” และเมื่อกลุ่มฮักบ้านเกิดทำการประท้วงเวทีรับฟังความเห็นของบริษัทด้วยการทำกิจกรรมนั่งเฉย ๆ ตรงหน้าเวที บริษัทจึงย้ายเวทีมาจัดที่ด้านนอกอาคาร โดยตำรวจกว่า 50 นาย ยืนกั้นไม่ให้กลุ่มฮักบ้านเกิดออกจากห้องประชุมมาแสดงความคิดเห็นในเวทีอีกได้
หลังจากนั้น เวทีรับฟังความคิดเห็นในอีก 2 วัน ที่ อ.ชนบท และ อ.โนนศิลา กลุ่มคนฮักบ้านเกิดไม่สามารถเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนกั้นเป็นกำแพงหลายชั้น เพื่อปิดทางเข้าทุกทาง ทั้งยังมีคำสั่งผ่านวิทยุสื่อสารของตำรวจว่า “ตรึงกำลังร้อยเปอร์เซ็นต์ ห้ามให้เข้ามา” จนชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากพวกตนมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่กลับไม่มีโอกาสเข้าไปในเวที จนทำให้เกิดการผลักดันกันหลายครั้งระหว่างชาวบ้านกับตำรวจที่ตรึงกำลังอยู่ พร้อมกับพนักงานของบริษัทมิตรผลซึ่งยืนอยู่ด้านหลังของตำรวจ แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถเข้าไปร่วมในเวทีได้
https://www.facebook.com/newisan/videos/395574404728176/?v=395574404728176
คลิปวิดีโอจากขบวนการอีสานใหม่
นอกจากชาวบ้านกลุ่มคัดค้านจะถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว กลุ่มฮักบ้านเกิดยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และ กอ.รมน. ติดตามและถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การรวมตัวในช่วงเช้า ระหว่างการเดินทาง และขณะพยายามเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น รวมทั้งสมาชิกบางคนถูกคนแปลกหน้าขับรถวนถ่ายรูปที่หน้าบ้าน และบางคนถูกขู่ว่าจะถูกอุ้มขณะเดินถ่ายภาพบริเวณที่มีการจัดเวที
กรชนก แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม และที่ปรึกษาขบวนการอีสานใหม่ ได้แสดงความเห็นในกระบวนการทำ EIA ในครั้งนี้ว่า ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมทั้งประชาชนคนอื่น ๆ ที่สนใจจะต้องสามารถเข้ารับฟังและแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็น ขณะที่เวที ค.1 ของโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลของโรงงานมิตรผลในครั้งนี้ ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น เพราะจัด 3 เวที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการปิดกั้นกลุ่มที่คัดค้าน เช่น กลุ่มฮักบ้านเกิดและกลุ่มอนุรักษ์แก่งละว้า โดยทางบริษัทได้ให้เหตุผลว่า ถ้าจัดที่ อ.ชนบท ก็จะไม่ให้คนที่ อยู่ อ.บ้านไผ่ หรือ อ.โนนศิลา เข้า เพราะเป็นคนละพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นและไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่แล้ว
นอกจากเวทีรับฟังความเห็นจะไม่เปิดกว้างให้ทุกกลุ่มได้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว หลังการพยายามเข้าร่วมเวทีของชาวบ้านกลุ่มคัดค้าน บริษัทได้รวบรัดกระบวนการ โดยเหลือเฉพาะในช่วงเช้าของสองวันหลัง จากกำหนดการเดิมที่มีเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงงานน้ำตาลช่วงเช้า และเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในช่วงบ่าย
วรรณ์ อุปนิ อายุ 58 ปี ชาวบ้านเมืองเพีย และสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิด เปิดเผยว่า ที่ออกมาคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากกังวลเรื่องฝุ่นละออง ซึ่งจะส่งผลไปถึงเรื่องอากาศที่เป็นพิษ และเรื่องความปลอดภัยในการสัญจรบนท้องถนน ที่จะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่หลายคัน อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายต่อผู้ที่ใช้รถใช้ถนนในละแวกนี้ เพราะโรงงานจะตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน รวมถึงเป็นห่วงเวลาลูกหลานจะใช้ถนนไปโรงเรียน อาจจะเกิดอันตรายได้ง่าย และการที่บริษัทให้โชว์บัตรประชาชน ก่อนเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ตนรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับคนที่จะได้รับผลกระทบ จึงอยากจะฝากถึงผู้มีอำนาจ รวมถึงนายกฯ ว่าให้ดูแลความทุกข์ยากในเรื่องนี้ของประชาชนด้วย ให้เข้าข้างประชาชนบ้าง ไม่ใช่เห็นดีเห็นงามกับทางนายทุนไปทุกเรื่อง เพราะสิ่งที่จะทำให้เกิดผลกระทบก็มี แต่ทำไมไม่พูดถึงมันบ้าง ทำไมพูดถึงแต่เรื่องดี ๆ อีกทั้งในชุมชนบ้านเมืองเพียเป็นชุมชนเก่าแก่ที่พบหลักฐานทางวัตถุโบราณ รัฐควรส่งเสริมให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อเป็นที่ศึกษาให้กับลูกหลาน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีแก่งละว้า ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ และเป็นแหล่งน้ำสำคัญระดับชาติ ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่จะสร้างโรงงาน และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงไม่อยากให้สร้างโรงงาน
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สนับสนุนโดยรัฐ ภายหลังรัฐประหารมีประชาชนหลายพื้นที่ที่ออกมาคัดค้านโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่มักจะถูกคุกคามและถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลและแสดงความกังวลถึงผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็น โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมฯ ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และการขุดเจาะปิโตรเลียม ที่ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ กรณีเหมืองแร่โปแตช ที่ จ.สกลนคร กรณีกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย คัดค้านโรงงานน้ำตาลอำนาจเจริญและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ จ. อำนาจเจริญ เป็นต้น กรณีดังกล่าวประชาชนล้วนไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งยังถูกกีดกันออกจากเวทีรับฟังความคิดเห็น และหากออกมาคัดค้านก็มักจะถูกคุกคามและถูกติดตามอยู่เสมอ เห็นได้ว่า แม้จะมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการขนาดใหญ่ก็ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ทั้งประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านยังคงถูกคุกคาม ไม่ต่างจากในช่วงหลังรัฐประหาร โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน สะท้อนให้เห็นแนวคิดของรัฐที่ไม่ได้มองประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรในท้องถิ่น
ลำดับเหตุการณ์ (ไม่) รับฟังความคิดเห็น
10 ก.ย. 2562 ช่วงเช้า เจ้าหน้าตำรวจได้มีการตรึงกำลังเป็นจุด ๆ เพื่อขอตรวจบัตรประชาชน ก่อนเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจัดอยู่ในห้องประชุมของโรงเรียนบ้านไผ่ศึกษา อ.บ้านไผ่ รวมถึงให้ชาวบ้าน “บางกลุ่ม” เช่น กลุ่มฮักบ้านเกิด เอาบัตรประชาชนชูใส่หน้ากล้องวิดีโอที่ตั้งตรงทางเดินเข้าเวที และหากใครไม่ได้เอาบัตรประชาชนไปด้วย ตำรวจจะถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” จนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และเกิดการผลักดันกันระหว่างชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านเกิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้ยินยอมให้ตรวจบัตรประชาชน และจะขอเดินเข้าประตูอีกทาง เพราะรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้า ส่งผลให้มีหญิงสูงอายุผู้หญิง 2 ราย ได้รับบาดเจ็บ และต้องนำตัวหนึ่งในสองรายส่งโรงพยาบาลในช่วงเย็นเนื่องจากมีอาการเจ็บปวดตามร่างกายจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ หลังจากมีการผลักดันกันจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ กลุ่มฮักบ้านเกิดจึงตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ตรวจบัตร เพื่อเข้าไปที่เวทีรับฟังความคิดเห็น จากนั้นกลุ่มฮักบ้านเกิดได้ทำการประท้วงเวทีดังกล่าวด้วยการทำกิจกรรมนั่งเฉย ๆ ตรงหน้าเวที บริษัทจึงย้ายเวทีมาจัดที่ด้านนอกอาคาร ส่วนกลุ่มฮักบ้านเกิดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นาย ยืนกั้นตรงหน้าประตูทางออกของห้องประชุม เพื่อไม่ให้กลุ่มฮักบ้านเกิดออกมาแสดงความคิดเห็นในเวที
11 ก.ย. 2562 ในช่วงเช้าชาวบ้านเริ่มรวมตัวที่วัดในหมู่บ้านเมืองเพีย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 นาย ขับรถเข้ามาในวัดเพื่อถ่ายรูปสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิด และถามว่าจะไปที่เวทีหรือยัง และมีชายแปลกหน้าสองคนขับมอเตอร์ไซค์มาจอดถ่ายรูปชาวบ้านที่หน้าวัด จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่าไม่ใช่คนในหมู่บ้าน และหลังจากกลุ่มฮักบ้านเกิดเดินทางไปถึงที่ว่าการอำเภอชนบท ซึ่งเป็นที่จัดเวที ค.1 ชาวบ้านได้ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งขบวนเดินตีกลองและร้องเพลง จากกำแพงด้านข้างของที่ว่าการอำเภอเพื่อเข้าไปในเวที โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับชาวบ้านว่า ให้เดินเข้าประตูด้านหน้า แต่พอชาวบ้านเดินเข้าไปถึง กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 250 นาย ยืนเป็นกำแพงกั้นเป็นชั้น ๆ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มฮักบ้านเกิดเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมกับมีการสั่งการผ่านวิทยุสื่อสารของตำรวจที่เปิดเสียงดังว่า “ให้ตรึงกำลังร้อยเปอร์เซ็นต์ ห้ามให้เข้ามา” จนทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากพวกตนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อโครงการนี้ อีกทั้งเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ แต่กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้ารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นบิดเบี้ยว จนนำไปสู่การผลักดันกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีพนักงานบริษัทมิตรผลร่วมผลักดันชาวบ้านอยู่ด้านหลังตำรวจ
ในระหว่างที่มีการผลักดันกัน ชาวบ้านสมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิดเห็นพนักงานบริษัทมิตรผล ขว้างแก้วพลาสติกที่บรรจุน้ำใส่ชาวบ้าน และภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ล้มลงและถูกเตะเข้าที่ลิ้นปี่ อีกทั้งอรวรรณ อุปริ อายุ 60 ปี สมาชิกกลุ่มฮักบ้านเกิดยังถูกคนที่ใส่เสื้อสีฟ้า คล้ายพนักงานบริษัทขู่ว่า “ทำตัวแบบนี้ระวังจะโดนอุ้ม” ขณะที่เดินถ่ายภาพบริเวณที่มีการจัดเวที ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับชาวบ้านว่า นายอำเภอจะลงมาพูดคุยกับชาวบ้าน หลังประชุมกันสามฝ่าย ได้แก่ นายอำเภอ ตำรวจ และบริษัท ในประเด็นปัญหาดังกล่าว แต่นายอำเภอก็ไม่ได้ลงมาพูดคุยกับชาวบ้านอย่างที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งไว้ แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่หน้าตึกของที่ว่าการอำเภอก็ตามที อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ชาวบ้านก็ไม่สามารถเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ แม้จะมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปในเวทีอยู่เรื่อย ๆ ชาวบ้านจึงตัดสินใจอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ โดยมีใจความสำคัญว่า โครงการพัฒนาต้องมาจากสามัญชน และสามัญชนต้องมีสิทธิกำหนดชีวิตของตนเอง ไม่ใช่มาจากรัฐและนายทุนเท่านั้น พร้อมกับยืนยันที่จะสู้ต่อไป หลังจากนั้น กลุ่มฮักบ้านเกิดได้เดินรณรงค์เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รอบที่ว่าการอำเภอ และพบว่า ที่ประตูทางเข้าอีก 2 ประตู ประตูหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนคล้องแขนเป็นสองแถวกันประตูไว้ และอีกประตูมีลวดหนามกั้น พร้อมทั้งมีพนักงานบริษัทมิตรผลยืนเฝ้าอยู่ 2 คน
12 ก.ย. 2562 เวลา 08.17 น. กลุ่มฮักบ้านเกิด เดินทางไปถึงโรงเรียนเปือยใหญ่ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 ของบริษัทมิตรผล จำกัด หลังจากที่ชาวบ้านไปถึง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นทางเข้าทุกทาง พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนกันเป็นกำแพง แบ่งเป็นชั้น ๆ ต่อมามีการผลักดันกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ จนสามารถทลายกำแพงตำรวจไปถึงกำแพงชั้นที่ 2 ได้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปถึงเวทีได้ เนื่องจากมีตำรวจกั้นเป็นชั้นๆ อยู่หลายชั้น จากนั้นเวลา 09.20 น. กลุ่มฮักบ้านเกิดได้ตั้งเวทีคู่ขนานพูดคุยให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จนกระทั่งเวลา 12.20 น. กลุ่มฮักบ้านเกิดได้ทำกิจกรรมชูป้าย “เราไม่ได้เข้าร่วม” ก่อนยุติการพยายามเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น พร้อมกับอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ว่าจะยังสู้ต่อไป
**หมายเหตุ มีการแก้ไขข้อมูลเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2562