ประมวลเส้นทางการพิจารณาคดี RDN: การต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน

“จากการที่เราออกมาเรียกร้องทางการเมือง ทำให้เราต้องขึ้นศาลทหารถึง 3 ครั้งและศาลยุติธรรมอีก 4 ครั้ง ทั้งหมดเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบ แต่เราก็ยังออกมา เพราะเราอยากให้ลูกหลานของเราเติบโตไปในสังคมที่มีความยุติธรรม เป็นสังคมที่มีความหวัง เพราะการเลือกตั้ง เราทุกคนเสมอภาคเพราะมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมด ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เราควรจะมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของประเทศด้วยตัวเราเอง”

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ในกิจกรรม “รวมตัวกัน รวมพลคนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เช้าระหว่างการสืบพยานวันที่ 14 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำให้การอย่างหนักแน่นในชั้นศาลดังกล่าวเป็นของ ‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาชุมนุมกันเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังการชุมนุมครั้งแรกที่บริเวณสกายวอล์กด้านหน้าของศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซนเตอร์เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ปีเดียวกัน การชุมนุมครั้งที่สองนี้เองที่พวกเขาถูกเรียกว่า RDN ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษของถนนราชดำเนิน โดยเรียกร้องไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้งและหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. ในเวลานั้น

ตำรวจแจ้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.3/58 คนอยากเลือกตั้ง (RDN50) นัดส่งอัยการ 27มีนาฯ

อัยการถอนฟ้องผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง RDN 41 คน ส่วนคดี UN62 เลื่อนตรวจพยานอีก

ผลลัพธ์จากการชุมนุมส่งผลให้ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, สุกฤษฏ์ เพียรสุวรรณ, กาณฑ์ พงประภาพันธ์, รังสิมันต์ โรม, อานนท์ นำภา, ‘โบว์’ ณัฎฐา มหัทธนา, และลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหาความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ร่วมกับผู้ชุมนุมรวม 50 คน ซึ่งอัยการได้ถอนฟ้องคดีเฉพาะส่วนผู้ชุมนุม คงเหลือไว้แต่คดีของแกนนำ 7 คน เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง แกนนำทั้ง 7 คนอาจต้องสูญเสียอิสรภาพเป็นเวลาสูงสุดถึง 7 ปี

สืบพยานฝ่ายโจทก์: SLAPPs และความพยายามในการปิดปากนักกิจกรรมและผู้เห็นต่าง

ศาลเริ่มสืบพยานปากแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2562 ก่อนการพิจารณาคดีในช่วงเช้า ศาลสั่งแยกการพิจารณาคดีของรังสิมันต์ โรม จำเลยที่ 1 ออกจากจำเลยที่เหลือ เนื่องจากนัดการพิจารณาคดีอยู่ในระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำเลยจำต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. ของพรรคอนาคตใหม่ คดีที่แยกออกไปนี้จะถูกพิจารณาในช่วงวันที่ 23 – 26 มิ.ย. และ 14 – 17 ก.ค. 2563 จากนั้นสั่งจำหน่ายข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. 3/2558 ข้อที่ 12 อันเป็นความผิดที่ถูกยกเลิกไปแล้ว

พยานฝ่ายโจทก์ปากแรก คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ อดีตฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้รับมอบอำนาจจาก คสช. เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยเป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 ที่ สน.นางเลิ้ง

พ.อ.บุรินทร์ ให้การต่อศาลว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งในขณะที่มีการชุมนุมนั้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังยอมรับว่าประชาชนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและประเด็นเรื่องการทุจริตของคณะรัฐบาลได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 แต่การติชมดังกล่าวต้องไม่เป็นไปเพื่อสร้างความเกลียดชัง ทั้งยังมองว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการจัดเตรียมและแบ่งหน้าที่กันระหว่างกลุ่มแกนนำด้วยกันเอง สะท้อนถึงลักษณะของการจัดตั้งอย่างเป็นแบบแผน

ในประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย. 2561 พยานมองว่าไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) จึงไม่อาจทำให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นได้ภายในปี 2561 การรวมกลุ่มชุมนุมของแกนนำจึงส่อให้เห็นว่ามีพฤติการณ์กล่าวอ้างเพื่อสร้างความเกลียดชัง เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้มีเจตนามุ่งหมายอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

นอกนี้ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ทั้งที่อยู่ในเหตุการณ์ ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน และถอดเทปบันทึกการปราศรัยในที่ชุมนุม ยังได้เข้าให้การต่อศาลเป็นพยานโจทก์ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้

  • ทั้งผู้กล่าวหาและผู้สืบสวนเพื่อหาหลักฐานมายื่นในการพิจารณาคดี ล้วนแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายพยานโจทก์พยายามอ้างเรื่องของเจตนาเบื้องหลังการชุมนุมอันเป็นข้อโต้แย้งหลักที่ถูกนำมาใช้ในชั้นศาล อีกทั้งยังมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่น สะท้อนออกมาผ่านคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา หนึ่งในกลุ่มของจำเลย และการใช้สัญลักษณ์ 3 นิ้ว
  • พยานโจทก์เกือบทั้งหมดยอมรับและเห็นด้วยว่า ประชาชนชาวไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งผู้ชุมนุมยังไม่ได้มีท่าทีกระด้างกระเดื่องแต่อย่างใด
  • นอกจากนี้ ทางพนักงานอัยการได้มีการถามค้านพลโทภราดรโดยระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม
  • อัยการนำหลักฐานนอกสำนวนมาประกอบการสืบพยานในชั้นศาล ทั้งหมดเป็นข้อเขียนของกลุ่มคนที่มีความเห็นไปในทางที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

ท่ามกลางหลักฐานทั้งหมดที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาในชั้นศาล มีเอกสารหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจเป็นพิเศษในแง่ของเนื้อหา เนื่องจากเอกสารชิ้นนี้คือพยานเอกสารโจทก์ที่ถูกส่งมาด้วยในชั้นตรวจพยานหลักฐาน

เนื้อหาของเอกสาร ระบุถึงการใช้การดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อปิดปากนักกิจกรรมและผู้เห็นต่าง เพื่อเป็นการสร้างภาระต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation – อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) และกระบวนการโจมตีด้วยข้อมูล (IO: Information Operation) แม้หลักฐานชิ้นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาในชั้นศาล แต่กลับไม่สามารถสืบสาวได้ว่าใครเป็นผู้จัดทำ เหตุเพราะพนักงานสืบสวนระบุว่าเอกสารดังกล่าวได้รับมาจากทางฝั่งทหาร แต่เมื่อสอบถามกลับไปยังทางฝ่ายทหาร กลับได้รับคำปฏิเสธ ระบุว่าไม่ได้เป็นผู้จัดทำ

สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ : สรุปคำให้การพยานจำเลย

สำหรับการสอบพยานฝ่ายจำเลย เริ่มวันที่ 13, 14 และ 15 ส.ค. นอกจากอ้างตนเองเป็นพยานแล้ว จำเลยยังนำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย รวมถึงการจัดการความขัดแย้งเข้าให้การต่อศาล ได้แก่ ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษด้านการเมืองและกฎหมาย อดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พยานจำเลยทั้งหมดต่างให้การสอดคล้องกัน สรุปใจความได้ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 มูลเหตุในการออกมาชุมนุม คือเพื่อเรียกร้องไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจาก คสช. มีท่าทีพยายามเตะถ่วงกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ล่าช้าออกไป ท้ายที่สุด การเลือกตั้งถูกเลื่อนไปเป็นปี 2562 ทั้งที่หากร่างดังกล่าวไม่ติดขั้นตอนการแก้ไขมาตรา 2 โดย สนช. ประเทศไทยจะสามารถมีการเลือกตั้งได้ภายในเดือน พ.ย. 2561
  • ประเด็นที่ 2 ระหว่างการชุมนุม เห็นได้ชัดว่าไม่มีความรุนแรงหรือการยุยงปลุกปั่น ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังประกาศใช้แล้ว และให้สิทธิแก่ประชาชนในการชุมนุมโดยสงบ นอกจากนี้ การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยังเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อที่ 19 และ 21 ไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อโค่นล้มรัฐบาล แต่คือหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะต้องออกมาปกป้องหลักการประชาธิปไตย
  • ประเด็นที่ 3 พยานผู้เชี่ยวชาญทั้งสองให้ความเห็นแย้งพยานโจทก์ ว่าแม้อานนท์ นำภาจะเชิญชวนให้คนมาชุมนุมเพิ่ม แต่หากเป็นการชุมนุมโดยสงบย่อมสามารถทำได้ เพราะประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องของจำนวน แต่คือท่าทีในการชุมนุม
  • ประเด็นที่ 4 พล.ท.ภราดร ให้การว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะเป็นการชุมนุมที่มุ่งวิพากษ์การทำงานของ คสช. และคณะ ความเข้มข้นของการชุมนุมยังไม่ถึงระดับที่รุนแรงจนเป็นภัยต่อความมั่นคง ส่วนการใช้สัญลักษณ์นิ้ว 3 นิ้วเพื่อแสดงถึงการต่อต้านเผด็จการถือว่าเป็นภาษาสากลที่ผู้ชุมนุมสามารถใช้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะบ้านเมืองในขณะนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
  • ประเด็นที่ 5 พยานจำเลยทั้งหมด ให้ความเห็นตรงกันว่า การดำเนินคดีต่อพวกตนไม่ได้หวังผลทางกฎหมาย แต่เป็นการเพิ่มภาระให้จำเลยที่จะต้องเดินทางมาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนเอง ด้านณัฎฐาให้การในประเด็นนี้เพิ่มเติมโดยอธิบายว่าการถูกฟ้องคดีดังกล่าว ทำให้ต้องขาดงานและสูญเสียรายได้
  • ประเด็นที่ 6 จำเลยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางลบจากการออกมาชุมนุม เช่น สิรวิชญ์ถูกลอบทำร้ายถึง 2 ครั้งภายในเดือน มิ.ย. 2562 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวเพื่อเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอินเดียได้ ด้านอานนท์ เบิกความว่า ตนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 2 คดี ศาลพลเรือนอีก 6 คดี ทั้งหมดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง
  • ประเด็นที่ 7 สิรวิชญ์ ให้การว่า เคยต่อว่า พ.อ.บุรินทร์ บนพื้นที่สื่อออนไลน์เนื่องจาก พ.อ.บุรินทร์ ไม่ยอมมาเบิกความในศาลหลายครั้ง แม้จะไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกัน แต่คาดว่าอีกฝ่ายน่าจะไม่ชอบที่ตนและกลุ่มแกนนำออกมาเคลื่อนไหว เพราะทุกครั้งที่มีคดีความระหว่าง คสช. พ.อ.บุรินทร์ จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก คสช. เพื่อเข้าแจ้งความทุกครั้ง
  • ประเด็นที่ 8 จากคำให้การของณัฎฐา การออกมาชุมนุมกันในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ไม่ให้ คสช. สามารถวางรากฐานทางอำนาจของตัวเองได้ แต่ละวันที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการย่อมได้รับความเสียหาย ทั้งปัญหาการคอรัปชั่นและเศรษฐกิจ เนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการจำกัดเสรีภาพในการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส ในข้อสุดท้าย การเลือกตั้งจะช่วยให้มีฝ่ายค้านในสภา ทำให้เกิดการถ่วงดุลทางอำนาจรวมไปถึงการตรวจสอบรัฐบาล

ข้อสังเกตทางกฎหมายในชั้นศาล

ในการสืบพยานวันสุดท้าย อานนท์เบิกความตั้งข้อสังเกตต่อการที่โจทก์นำหลักฐานนอกสำนวนมาใช้ประกอบการสืบพยาน เช่น การนำบทความที่เขียนโดย “เปลวสีเงิน” มาใช้ถามค้านสิรวิชญ์ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ทนายอานนท์มองว่า ก่อนจะมีการยื่นส่งฟ้องควรจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงจะยื่นฟ้อง ไม่ใช่มาเพิ่มพยานหลักฐานในภายหลัง และแม้จะไม่มีกฎข้อใดที่ห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ในทางตรงข้าม ก็ไม่มีกฎข้อใดที่อนุญาตเช่นกัน หากอัยการสามารถตัดสินใจเลือกเอาหลักฐานใดๆ นอกสำนวนเข้ามาใช้ในการพิจารณาคดี ทนายอานนท์มองว่า นั่นจะทำให้อัยการกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง

อย่างไรก็ตาม อัยการโต้แย้งว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาโดยอิงจากหลักฐานนอกสำนวนของพนักงานอัยการ แต่ทนายความจำเลยเห็นว่า ดุลยพินิจของศาลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัวแต่อย่างใด ที่น่ากังวลคือการพยายามยกคำกล่าวอ้างของคนบางกลุ่มขึ้นมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารมากกว่า

นอกจากข้อสังเกตข้างต้น ทนายอานนท์ยังมองว่า พยานโจทก์แต่ละคนที่เบิกความไปก่อนหน้านี้ ไม่มีพยานคนใดเลยที่ให้การสนับสนุนระบอบเผด็จการ หรือบอกว่าระบอบเผด็จการนั้นดีกว่าระบอบประชาธิปไตย แต่จากหลักฐานที่ทางอัยการได้นำเข้ามาใช้เพื่อถามค้านพยาน เห็นได้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่าเปลวสีเงิน มีท่าทีในการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ศาลไม่บันทึกคำเบิกความประเด็นนี้

สู่ก้าวต่อไป: การต่อสู้หลังการเลือกตั้ง

สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านการดำเนินคดีครั้งนี้มีความชัดเจนว่า การแจ้งข้อหาใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่ได้ถูกกระทำโดยมุ่งหวังให้เกิดผลทางกฎหมาย เพราะหากสังเกตจากหลักฐานต่างๆ ที่ถูกนำมาพิจารณาคดีในชั้นศาล ยังมีข้อถกเถียงที่ยังไม่อาจชี้ชัดได้ บางส่วนมีความเบาบางและยังคงขาดน้ำหนัก อีกทั้งกฎหมายหลายข้อยังมีลักษณะขัดกันเอง เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 แม้ คสช. จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางก็ตาม มากไปกว่านั้น คสช. ไม่ได้พยายามปกปิดเลยว่า ต้องการดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อสร้างภาระให้กับนักกิจกรรม เห็นได้จากหลักฐานที่เป็นเอกสารที่ถูกส่งเข้ามาในสำนวน

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว และชัดเจนว่าหน่อเนื้อของเชื้อร้ายที่เกิดขึ้นจาก คสช. จะยังคงอยู่และได้แพร่กระจายไปจนถึงฐานรากของสังคมไทย ทว่าณัฎฐากลับมองว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ในแง่หนึ่งไม่ใช่เรื่องชอบธรรม แต่ก็ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของตนเองให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้รับรู้

“การที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีการสอบสวนในชั้นอัยการ มีคดีที่พลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารถึง 2,408 คนซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม การมาพิจารณาคดีในวันนี้ถือว่าเป็นโอกาสให้พยานได้มาแถลง พยานยังยืนยันว่าตัวเองต้องการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ถ้าในอนาคต หากมีความจำเป็นก็จะออกมาเรียกร้องอีก”

คดีนี้เริ่มสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1  -2, 13 – 15 ส.ค. 2562 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 13-15 ส.ค. 2562 โดยสืบพยานโจทก์รวมทั้งสิ้น 10 ปากและพยานจำเลยรวมทั้งสิ้น 7 ปาก หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 ก.ย. 2562

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

10 แกนนำ UN62 สู้คดี ศาลให้ปล่อยตัวไม่ต้องวางหลักทรัพย์

ศาลเลื่อนนัดสืบพยานคดี MBK39 แกนนำ เริ่มสืบปากแรก 5 มิ.ย.62

 

 

 

 

 

 

 

X