ศาลฎีกานัดพิพากษา ‘ทนายอานนท์’ ยืนเฉยๆ สู้ถูกจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พรุ่งนี้(27 ส.ค.2562) เวลา 9.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีของอานนท์ นำภา ทนายความและสมาชิกพลเมืองโต้กลับ ในคดีที่อัยการฟ้องเขาด้วยข้อหาจัดชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม จากเหตุทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่ลานวิคตอรี่พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวแอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” จำนวน 8 คน ที่ถูกคุมตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 ทนายอานนท์จึงโพสต์ชักชวนคนมาร่วมทำกิจกรรมในเย็นวันเดียวกัน

คดีนี้ทั้งศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับเงินจำนวน 1,000 บาทกับทนายอานนท์มาก่อนแล้ว ซึ่งทนายอานนท์ได้ยื่นฎีกาไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2561

คดีนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการจับกุมทนายอานนท์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งยังเห็นว่าประเด็นที่ทนายอานนท์เห็นว่าการต้องแจ้งจัดชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมงการจัดชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและยังเป็นการจำกัดเสรีภาพ ยังไม่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งเพิกถอน ดังนั้นจึงถือว่ากฎหมายยังบังคับใช้อยู่ (อ่านสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามศาลชั้นต้นปรับทนายอานนท์พันบาท คดี “ยืนเฉยๆ”)

ทนายอานนท์จึงได้สู้คดีต่อจนถึงชั้นศาลฎีกาในประเด็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง โดยมีข้อต่อสู้ใน 2 ประเด็นหลัก กล่าวคือ

1.สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงเจตจำนงเสรีของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยและเพื่อกระตุ้นเตือนรัฐบาลที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่เข้ามาปกครองประเทศด้วยวิธีใดก็ตาม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรและเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองเอาไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ด้วย

แต่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุเข้าจับกุมทนายอานนท์โดยไม่มีเหตุที่จะจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 อีกทั้งตำรวจที่ทำการจับกุมยังไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 21,23 และ 24 การจับกุมทนายอานนท์ครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดกรอบกลไกการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม(ตำรวจ) ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกติการะหว่างประเทศ โดยให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานเพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

โดยจะเห็นได้จากการที่ตำรวจอ้างว่าการทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” นี้ไม่เป็นไปตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าพนักงานจะต้องประกาศเลิกชุมนุมหรือให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการชุมนุม หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามก็ให้เจ้าพนักงานร้องต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดเพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แล้วถ้าหากผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกการชุมนุมก็ให้เจ้าพนักงานประกาศพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุมและให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมตามเวลาที่กำหนด หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าเป็น “การกระทำผิดซึ่งหน้า” และให้เจ้าพนักงานดำเนินการจับกุมได้

อีกทั้งกฎหมายยังกำหนดให้เจ้าพนักงานสามารถดำเนินการจับกุมได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามที่กล่าวไปข้างต้นได้ในกรณีที่ผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือทรัพย์สินและเจ้าพนักงานได้สั่งให้ยุติการชุมนุมแล้วไม่ปฏิบัติตาม แต่จำเลยเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดเป็นสิ่งที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ปรากฏความรุนแรงหรือก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงอีกด้วย

จำเลยจึงเห็นว่าตำรวจได้ทำการจับกุมจำเลยโดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมาย อีกทั้งยังจับโดยไม่มีหมายจับและไม่มีเหตุที่จะจับกุม ซึ่งจะเห็นได้จากคำเบิกความของพยานที่เป็นตำรวจผู้จับกุมที่เบิกความต่อศาลว่าเมื่อจำเลยถึงสถานที่เกิดเหตุพยานได้เข้าสอบถามและทำการจับกุมจำเลย โดยพยานไม่ได้ประกาศให้เลิกการชุมุนมก่อนและไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุมและไม่ได้ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุม จึงเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

2. นอกจากนั้นการจับกุมทนายอานนท์ครั้งนี้ ตำรวจไม่มีการแจ้งสิทธิและข้อหาต่อจำเลยในขณะที่ถูกจับกุม โดยทางตำรวจผู้จับกุมได้เบิกความในประเด็นนี้ว่าหลังจับกุมทนายอานนท์แล้วจึงได้ไปแจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาให้เขาทราบเมื่อไปถึงสน.พญาไทแล้ว ซึ่งเป็นการจับกุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรค 2

สามารถอ่านที่มาคดีและการสืบพยานเพิ่มเติมได้ที่ พรุ่งนี้ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีทนายอานนท์นัด “ยืนเฉยๆ”

X