แขวนพริก เกลือ กระเทียม และอ่านจดหมายไล่ประยุทธ์ เป็นการชุมนุม ศาลปรับ ‘เพนกวิน-บอล’ คนละ 2,000 บาท

21 ส.ค. 2562 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาปรับ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘บอล’ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย คนละ 2,000 บาท ฐานจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากการแขวนพริก เกลือ กระเทียมที่รั้วทำเนียบรัฐบาล และอ่านจดหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี

13.30 น. ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษา คดีที่พริษฐ์ ชิวารักษ์ และธนวัฒน์ วงศ์ไชย จำเลยที่ 1-2 ตามลำดับ ถูกฟ้องฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562 จำเลยทั้งสองโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมอ่านจดหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ต่อมา วันที่ 2 ก.พ. 2562 ประมาณ 13.00 น. จำเลยทั้งสองเดินทางมาที่ประตูทำเนียบรัฐบาล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแจ้งว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ ในที่นี้คือผู้กำกับการ สน.ดุสิต ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จำเลยทั้งสองจึงยกเลิกกิจกรรมที่เดิมจะจัดขึ้นหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล และย้ายไปประตู 3 โดยอ่านจดหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก่อนนำพริกแห้ง เกลือ และกระเทียมไปแขวนที่รั้วทำเนียบรัฐบาล

ปัญหาที่ต้องพิเคราะห์มีว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ และจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ ศาลแขวงดุสิตเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ยกเลิกกิจกรรมที่จะจัดขึ้นหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล และย้ายไปประตู 3 แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าไม่มีบุคคลอื่นเข้าร่วม มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สื่อข่าว เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ได้กีดกันพื้นที่เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเข้าร่วมอย่างชัดเจน รวมถึงยังแจกใบปลิวให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้สื่อข่าว เป็นการเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม ถือเป็นการกระทำตามเจตนาเดิมที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะไม่ขาดตอน เพื่อแสดงออกถึงความต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ประเด็นต่อมาคือ การชุมนุมดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หรือไม่ จำเลยอ้างว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมตามศาสนาและวัฒนธรรมล้านนา ที่ใช้พริกแห้ง เกลือ และกระเทียมขับไล่สิ่งชั่วร้าย แต่ศาลแขวงดุสิตเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีการประกอบกิจกรรมทางศาสนาหรือวัฒนธรรมอย่างชัดเจน เนื่องจากจำเลยร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึก และเพียงแค่แขวนพริกแห้ง เกลือ และกระเทียมที่รั้วทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมใดตามอย่างชัดเจน

ทางนำสืบพยานโจทก์รับฟังได้ว่า พริษฐ์และธนวัฒน์เป็นผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม เมื่อจำเลยทั้งสองไม่แจ้งการชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามมาตรา 10 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท ของกลางคือพริกแห้ง เกลือ และกระเทียมให้ริบ

ที่ผ่านมามีคำพิพากษาคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางคดี ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว 4 คดี ได้แก่ คดีทนายอานนท์ นำภา ยืนเฉยๆ 2 คดี ลงโทษปรับคดีละ 1,000 บาท, คดีคนอยากเลือกตั้งพัทยา PATTAYA12 ลงโทษปรับ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และเพื่อนรวม 3 คน คนละ 4,000 บาท แต่ลดโทษเนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เหลือโทษปรับคนละ 3,000 บาท, และคดี ‘แม่น้องเกด’ พะเยาว์ อัคฮาด เล่นละครใบ้รำลึกถึงลูกสาว พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ศาลลงโทษปรับ 1,000 บาท

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็น พ.ร.บ. ที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ประกาศใช้เมื่อปี 2558 และถูกใช้ตั้งข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองควบคู่กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ยกเลิกความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แนวโน้มการตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จึงพุ่งสูงขึ้น และถูกนำมาใช้ตั้งข้อหาแทนคำสั่งที่ถูกยกเลิกไป

 

X