ศาลทหารสั่งโอนย้ายอีก 6 คดีการเมืองไปศาลพลเรือน หลายคดีสืบพยานนานหลายปียังไม่จบ

ภายหลังจากก่อน คสช. ยุติบทบาท  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 62 โดยส่วนหนึ่งของคำสั่งนี้ให้โอนย้ายคดีทางการเมืองต่าง ๆ ที่ คสช. เคยประกาศให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ให้ไปอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน โดยไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาใดๆ ที่ได้กระทำไปแล้วในศาลทหาร ทำให้ในรอบเดือนที่ผ่านมาศาลทหารทยอยมีคำสั่งจำหน่ายคดีต่าง ๆ ที่ยังดำเนินอยู่ในศาลทหาร และโอนย้ายให้ไปพิจารณาในศาลพลเรือน

ศาลทหารทยอยโอนคดีไปยังศาลพลเรือน

ในวันนี้ (9 ส.ค. 2562) ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งโอนย้ายคดีอีก 2 คดีไปยังศาลพลเรือน ได้แก่ คดีของฐนกร (สงวนนามสกุล) ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 จากการแชร์ผังทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และข้อหาตามมาตรา 112 จากการกดไลค์เพจที่มีข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ และโพสต์เสียดสีคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ประกอบกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลทหารได้สั่งให้งดการสืบพยานและจำหน่ายคดีออกจากสารบบ พร้อมโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม โดยให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และให้สัญญาประกันตัวจำเลยมีผลอยู่ต่อไป

คดีนี้มีการยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2559 นับเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือนเศษแล้ว สามารถสืบพยานโจทก์ในศาลทหารไปได้จำนวนเพียง 5 ปาก

อีกคดีหนึ่งที่ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งโอนย้ายคดีในวันนี้ ได้แก่ คดีประชามติบางเสาธง ซึ่งจำเลย 11 ราย ถูกกล่าวหาจากการแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ โดยก่อนหน้านี้ศาลทหารสั่งให้จำหน่ายคดีในข้อหาความผิดเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า  คสช. ที่ 3/2558 เนื่องจากคำสั่งยกเลิกไปแล้ว แต่คดียังเหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 ทำให้ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล เนื่องจากข้อกล่าวหานี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ศาลทหารจึงให้พักการพิจารณาไว้ก่อน จนกระทั่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี และโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือนในวันนี้

ในวันเดียวกันที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย ศาลทหารได้นัดหมายฟังคำสั่งในคดีของนายสราวุทธิ์ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดแว่นตา ข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 ภายหลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลทหารได้มีคำสั่งให้งดการสืบพยานลง แต่ยังไม่ได้มีคำสั่งโอนคดี จนกระทั่งกระทั่งเพิ่งมีคำสั่งในวันนี้ และสั่งให้สัญญาประกันตัวยังคงมีผลต่อไป

สำหรับคดีนี้ตั้งแต่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหาร นับเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือนแล้ว โดยคดียังสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 7 ปาก จึงต้องมีการไปสืบพยานโจทก์และจำเลยในศาลพลเรือนต่อไป (ดูรายงานข่าวคดีนี้)

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศาลทหารกรุงเทพก็ได้มีคำสั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือน 2 คดี ได้แก่ คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากข้อความที่สมบัติโพสต์ลงในบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตนเองชักชวนให้คนออกมาชูสามนิ้ว แสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารโดย คสช. หลังวันที่ 22 พ.ค. 2557

คดีนี้ตั้งแต่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหาร เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 เพิ่งสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จไปเมื่อปี 2561 และขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดสืบพยานจำเลย ทำให้คดีนี้ดำเนินมากว่า 5 ปี เศษแล้วหลังเกิดเหตุ การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ

อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของพัฒน์นรี ชาญกิจ หรือ “แม่จ่านิว” ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชท “จ้า” ตอบข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในกล่องข้อความแชทในเฟซบุ๊ก คดีนี้มีการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 59 และจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 ปีเศษ สืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมด 6 ปาก จากทั้งหมด 17 ปาก และยังมีบัญชีพยานจำเลยอีก 5 ปาก

คดีสุดท้าย ที่มีการสั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือน เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของฤาชา (สงวนนามสกุล) อดีตทหารยศจ่าสิบเอก และเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาอาการจิตเภท ซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากข้อความที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กจำนวน 5 ข้อความ โดยจำเลยระบุว่าตนโพสต์เพราะเป็นความต้องการของพระแม่ธรณีด้วย

คดีนี้จากการไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการของนายฤาชาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่าจำเลยยังมีอาการวิกลจริตอยู่ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ให้ส่งตัวจำเลยเข้ารักษาจนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้ จนกระทั่งศาลทหารได้สั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลพลเรือนในที่สุด

หลังจากนี้ ยังต้องติดตามขั้นตอนการดำเนินการเมื่อศาลทหารมีหนังสือไปยังศาลพลเรือน การโอนย้ายสำนวน และขั้นตอนการเริ่มกระบวนการในศาลยุติธรรมต่อไป เนื่องจากการโอนย้ายคดีในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

 

อ่านความเห็นของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562

ทหารยังคงอำนาจควบคุมตัวพลเรือน : ข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น

อ่านปัญหาการพิจารณาในศาลทหาร

20 เหตุผลที่คดีพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร

ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.

 

X