แม้การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 และการแสดงมหรสพสมโภชเฉลิมฉลองการพระราชพิธี ระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2562 จะผ่านไปด้วย “ความสงบเรีบบร้อย” แต่ระหว่างการดำเนินไปบนผิวน้ำของพิธีการต่างๆ กลับได้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ผ่านการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเงียบงันอย่างต่อเนื่องอยู่ภายใต้ผืนน้ำ ซึ่งแทบไม่ได้มีการติดตามรายงานข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ปรากฏกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงาน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และสันติบาล เข้าจับตาประชาชนที่ถูกจัดให้อยู่ใน “กลุ่มเป้าหมาย” หรือ “กลุ่มเฝ้าระวัง” อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว และห้ามปรามการแสดงออกทางการเมืองใดๆ ในช่วงพระราชพิธี โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานการเข้าติดตาม-คุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ จำนวนอย่างน้อย 38 ครั้ง มีจำนวนคนที่ถูกคุกคามติดตามรวมอย่างน้อย 27 ราย
ในกลุ่มผู้ถูกติดตามดังกล่าว มีทั้งอดีตผู้ต้องหาและผู้ต้องขังซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งจากคดีมาตรา 112 ในอดีต, กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีหรือแสดงออกเกี่ยวข้องกับเรื่องสหพันธรัฐไท, อดีตผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่ากลุ่มนักกิจกรรมบางส่วนก็ได้ถูกติดตามคุกคามด้วย เช่น นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, ศิลปินที่เคยแสดงออกทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรืออดีตคนทำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นต้น ทำให้กลุ่มที่ถูกติดตามจับตามีค่อนข้างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเคยแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาก่อน
เจ้าหน้าที่เดินทางไปที่บ้าน เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหว
การติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธี เริ่มมีรายงานตั้งแต่ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นมา และมีความถี่มากขึ้นในช่วงระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จนแม้หลังพระราชพิธีผ่านพ้นไปแล้ว ก็ยังมีรายงานการเข้าติดตามและสอบถามความเคลื่อนไหวโดยเจ้าหน้าที่อยู่
กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าติดตาม มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำท้องที่ในชุดนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ และหน่วยงานด้านความมั่นคง
รูปแบบการคุกคามและการติดตามตัวของเจ้าหน้าที่ ที่พบมากที่สุด คือการเดินทางไปพบที่บ้าน เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหว โดยเน้นสอบถามว่าในช่วงพระราชพิธีนั้น บุคคลดังกล่าวจะเดินทางไปไหนหรือไม่ มีการเตรียมทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ รวมทั้งขอถ่ายภาพเพื่อส่งรายงานผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่มักจะไม่แจ้งชื่อและหน่วยงานของตน เพียงบอกว่าเป็นตำรวจหรือทหาร รวมทั้งส่วนใหญ่ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าถึงการจะเดินทางมาพบของเจ้าหน้าที่
หลายรายได้ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนไม่ให้แสดงออกใดๆ ในช่วงงานพระราชพิธี โดยบางรายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าหากไม่ให้ความร่วมมือจะส่งต่อเรื่องให้ทหาร และอาจโดยทหาร “อุ้ม” ได้ ในบางรายแม้บุคคลนั้นจะไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่จะพูดคุยกับครอบครัวของพวกเขาแทน เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวเช่นกัน
ติดตามจับตากลุ่มเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องแทบทุกอาทิตย์
ในกลุ่มประชาชนผู้ถูก “เฝ้าระวัง” หลายคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามอยู่อย่างต่อเนื่องแทบทุกอาทิตย์ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา จนกระทั่งหลังช่วงพระราชพิธีไปแล้ว
ยกตัวอย่างเช่นกรณีเจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้ที่เคยออกมาชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจ จนถูกดำเนินคดีเรื่องการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว และยังเคยถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารในระหว่างกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” ช่วงเดือนธ.ค. 61 เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่ามีการครอบครองเสื้อสีดำของกลุ่มสหพันธรัฐไท ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย เดินทางมาพบตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยทางเจ้าหน้าที่เข้าสอบถามว่าในช่วงพระราชพิธีที่จะมาถึง เธอจะมีกิจกรรมใดหรือไม่ พร้อมกับเข้าพูดคุยเรื่องปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจต่างๆ ด้วย
จากนั้นในอาทิตย์สิ้นเดือนเมษายน ยังได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 2 นาย และเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร 1 นาย เข้ามาพบเธออีก โดยนำรถทหารเข้ามายังรีสอร์ต สร้างความตกใจให้กับลูกค้าอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามความเคลื่อนไหวสั้นๆ ว่าสบายดีไหม กำลังทำอะไร ก่อนจะเดินทางกลับ
จนในช่วงพระราชพิธี เธอได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็ได้ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยติดตามไปยังลูกชายและญาติใกล้ชิดของเธอ เพื่อสอบถามว่าเธอได้เดินทางไปต่างประเทศจริงหรือไม่ ไปที่ไหน และเดินทางกลับเมื่อไร อย่างไร
ก่อนที่เมื่อเธอเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 8 พ.ค. 62 ก็พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่สันติบาลมารอพบอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าต้องมาติดตาม เพราะเกรงว่าเธอจะออกไปทำกิจกรรมแสดงออกอะไรหรือไม่ พร้อมกับขอถ่ายภาพไว้รายงานต่อ “นาย” ว่าได้มาพบแล้ว แต่เธอปฏิเสธไม่ให้ถ่ายภาพ การดำเนินการติดตามของเจ้าหน้าที่ นั้นเกิดขึ้นโดยเธอแจ้งตลอดว่าไม่ได้มีแผนการทำกิจกรรมใด หรือไม่ได้จะแสดงออกใด แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมาติดตามจับตาอย่างต่อเนื่อง
ติดตามจับตาโดยให้รายงานความเคลื่อนไหวต่อเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
อดีตผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 รายหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลว่าเธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน จนถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์ได้มีเจ้าหน้าที่สันติบาล 3 นาย เดินทางไปที่บ้านในต่างจังหวัดของเธอ โดยได้เข้าพูดคุยกับครอบครัวของเธอ เจ้าหน้าที่สอบถามถึงตัวเธอ ว่าทำงานอะไรอยู่ อยู่ที่ไหน อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่ พร้อมกับแสดงให้เห็นว่ามีข้อมูลจากเฟซบุ๊กของเธอมาระดับหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่ยังบอกกับครอบครัวต่อมาด้วยว่าทางฝ่ายรัฐมีความกังวลในเรื่องของงานพระราชพิธี ว่าตัวเธออาจมีการทำให้เกิด “ความวุ่นวาย” ขึ้นได้ จึงกำชับให้ครอบครัวดูแลความประพฤติเธอด้วย ก่อนกลับเจ้าหน้าที่ยังขอถ่ายรูปกับครอบครัวเธอไว้หลายๆ มุม เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางมาบ่อยๆ และขอเบอร์โทรศัพท์เธอเอาไว้
ต่อมา วันที่ 24 เม.ย. 62 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อทางโทรศัพท์มาที่เธอ พร้อมพยายามสอบถามที่อยู่ของเธอในกรุงเทพฯ พร้อมกับยืนยันว่าอยากขอพบตัวเธอเพื่อพูดคุย เพราะเจ้าหน้าที่มีความกังวลในเรื่องการแสดงออกในช่วงพระราชพิธีที่จะมาถึง เมื่อเธอแจ้งว่าจะเดินทางไปทำธุระเกี่ยวกับเอกสารที่สถานที่ราชการแห่งหนึ่งในวันพรุ่งนี้ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่แจ้งความประสงค์ว่าจะติดตามไปพบ โดยขอให้เธอโทรแจ้งเมื่อเดินทางไปถึงแล้ว แต่เมื่อเธอติดต่อแจ้งไปเองในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาพบแต่อย่างใด
หากอีก 4 วันต่อมา ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกรายหนึ่งติดต่อมาที่เธออีก แจ้งว่าฝ่ายความมั่นคงมอบหมายให้ติดตามเธอเป็นพิเศษ ไม่ต้องสนใจเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ติดต่อมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยพยายามสอบถามถึงที่ทำงานของเธอ เจ้าหน้าที่ยังกำชับให้เธอติดต่อกับเขาตลอด ห้ามปิดโทรศัพท์ และห้ามไปไหนโดยไม่แจ้ง เพราะอาจจะโดน “อุ้ม” ได้ รวมทั้งไม่ให้เข้าในบริเวณการจัดพระราชพิธีเด็ดขาดจนกว่างานจะผ่านพ้นไป เจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ได้อยากมาควบคุมสิทธิเสรีภาพของเธอ แต่ขอร้องให้ให้ความร่วมมือ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปเสียก่อน
ขณะที่อดีตผู้ต้องขังมาตรา 112 อีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่าในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบหน่วยสังกัด เดินทางไปที่บ้านในจังหวัดทางภาคอีสานของเขา โดยได้เข้าสอบถามผู้ใหญ่บ้านถึงตัวเขา เพื่อให้พาเจ้าหน้าที่ไปที่บ้าน แล้วเจ้าหน้าที่จึงได้พบกับพี่สาวของเขา โดยอ้างว่ามาเกี่ยวกับเรื่องคดี จะมาช่วยปิดคดีให้ ทั้งที่คดีของเขาสิ้นสุดลงไปแล้ว จึงไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่หมายถึงอะไร ตำรวจยังได้สอบถามกับพี่สาวว่าเขาทำอะไรอยู่ พร้อมขอที่อยู่ในกรุงเทพฯ ของเขาไว้
อดีตนักโทษการเมืองรายนี้ระบุว่าก่อนหน้านี้ที่เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม ก็ไม่เคยถูกเดินทางไปที่บ้านต่างจังหวัดมาก่อน เพราะเจ้าหน้าที่เดินทางมาพบเขาโดยตรงในกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่ก็ทราบที่อยู่ของเขาอยู่แล้ว จึงไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางไปในครั้งนี้
ติดตามจับตาแม้แต่บุคคลที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์
อีกกรณีหนึ่งเป็นอดีตกองบรรณาธิการวารสารการเมืองเมื่อหลายปีก่อน แม้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ แต่ในช่วงเดือนเมษายน ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ได้มีเจ้าหน้าที่สันติบาลนอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางไปที่พักของเขา และขอพูดคุยด้วย โดยแจ้งว่าเจ้าหน้าที่มีความกังวลเรื่องการแสดงออกในช่วงพระราชพิธีที่จะมาถึง จึงขอไม่ให้มีการดำเนินใด พร้อมกับขอถ่ายรูปกับเขาเพื่อส่งรายงาน “นาย” เช่นกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ยังมีเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นาย เดินทางไปพบเขาอีกครั้ง เจ้าหน้าที่สอบถามในลักษณะเช่นเดิมว่าทำอะไรอยู่ และขอให้ไม่มีการแสดงออกใดในช่วงพระราชพิธี พร้อมกับขอถ่ายรูปเอาไว้
ด้านศิลปินรายหนึ่ง ซึ่งเคยออกมาทำงานศิลปะล้อเลียนการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหาร แต่ไม่เคยแสดงออกใดเกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ ก่อนหน้าพระราชพิธีเพียง 1 วัน คือเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 62 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ไม่ระบุสังกัดเดินทางมาพบที่บ้าน โดยมีการสอบถามว่าในช่วงพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ เขาจะมีกิจกรรมใดหรือไม่ และเขาทำอะไรอยู่ในช่วงนี้ พร้อมสอบถามว่าเขาเป็นกลุ่มเดียวกับนักกิจกรรมคนนั้นคนนี้หรือไม่ ซึ่งเขายืนยันปฏิเสธว่าไม่ได้มีการทำกิจกรรมใด และไม่ได้สังกัดกลุ่มกิจกรรมใด เจ้าหน้าที่ยังมีการเปิดเอกสารข้อมูลใบหน้าบุคคลที่ต้องไปติดตาม ซึ่งศิลปินรายนี้เป็นหนึ่งในนั้น และเขายังสังเกตเห็นว่ามีภาพบุคคลอื่นๆ อีกหลายราย แต่เขาไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง
เฝ้าจับตาที่บ้านระหว่างพระราชพิธี
ในช่วงระหว่างพระราชพิธี การเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมีการติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนักเคลื่อนไหวบางรายยังถูกเจ้าหน้าที่เฝ้าบริเวณบ้านไว้ตลอด 24 ชั่วโมง อาทิกรณีของสมยศ พฤษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องขังมาตรา 112 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจคอยเฝ้าติดตามอยู่บริเวณบ้านระหว่างช่วงพระราชพิธี ทำให้ต้องตัดสินใจยกเลิกนัดหมายต่างๆ ในช่วงระหว่างวันที่ 4-7 พ.ค. และไม่ได้ออกไปไหนจากบ้าน
ในรายของ เอกชัย หงส์กังวาน ในวันที่ 5 พ.ค. ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามเฝ้าระวัง โดยมีการพาเอกชัยไปดูภาพยนตร์เพื่อให้นักกิจกรรมรายนี้อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่โดยตลอดทั้งวันอีกด้วย
ลักษณะการติดตามของเจ้าหน้าที่แบบเฝ้าที่พักตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงระหว่างพระราชพิธี ยังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวเท่าที่ทราบอย่างน้อย 3 ราย นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกติดตามคุกคามบางราย ที่ทางเจ้าหน้าที่มีการขอให้ถ่ายรูปตนเอง ส่งให้กับเจ้าหน้าที่ทราบว่าขณะนี้อยู่ที่ใดและกำลังทำอะไรอยู่อีกด้วย
ติดตามจับกุมดำเนินคดีกรณีเกี่ยวกับสหพันธรัฐไทเพิ่มเติมอีก
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังมีการติดตามจับกุมดำเนินคดีบุคคลจากกรณีเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไทเพิ่มเติม อีกอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ กรณีนายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) พนักงานขับรถบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ถูกเจ้าหน้าที่นำหมายจับเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงานในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 62 ก่อนนำตัวเข้ามายังกรุงเทพ และแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามมาตรา 209 โดยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาเกิดจากกรณีนายเทอดศักดิ์ใส่เสื้อดำไปอยู่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ ในช่วงวันที่ 5 ธ.ค. 61 โดยหลังจากวันนั้น เทิดศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปซักถาม ทั้งที่สถานีตำรวจและค่ายทหารมาแล้ว ก่อนถูกปล่อยตัวโดยยังไม่ได้มีการดำเนินคดีใดในช่วงดังกล่าว
อีกรายหนึ่งได้แก่ กรณีของรานี (สงวนนามสกุล) ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมระหว่างงานรับปริญญาของลูกชาย เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 62 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันกับกรณีของเทอดศักดิ์ จากกรณีใส่เสื้อยืดสีดำ ซึ่งไม่ได้มีสัญลักษณ์ธงสหพันธรัฐไท เดินที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทรา ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาพูดคุย แม้เธอไม่ยินยอมไปกับเจ้าหน้าที่ แต่ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปที่บ้านในเวลาต่อมา โดยในช่วงนั้นก็ยังไม่ได้การดำเนินคดีใด แต่กลับมีการขอออกหมายจับ และจับกุมดำเนินคดีในเวลาต่อมา หลังผ่านไปราว 4 เดือน
ไล่ล่าแม่มดผู้แสดงความเห็นออนไลน์
นอกจากการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงพระราชพิธีแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบกรณีของ “การไล่ล่าแม่มด” โดยมีเพจทางการเมืองบางเพจคอยโพสต์ไล่ล่าบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชพิธี มีการนำชื่อและข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย มีรายงานว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งในจังหวัดทางภาคใต้ ถูกไล่ล่ากดดัน และส่งเรื่องให้กับทางเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้มีสันติบาลเดินทางไปพบผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายนี้ และกดดันให้มีการออกมาทำคลิปขอโทษในสิ่งที่โพสต์เกี่ยวกับการเมืองอีกด้วย
หรืออีกกรณีหนึ่ง มีเพจทางการเมือง นำภาพของนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง มาตัดต่อเพื่อเชื่อมเข้ากับประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ พร้อมกล่าวหาว่านักกิจกรรมไม่รักสถาบัน ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ตัวอย่างเหล่านี้คือบางส่วนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเดือนเศษที่ผ่านมา ภายใต้พระราชพิธีที่ผ่านพ้นไป ได้ปิดซ่อนเรื่องราวการติดตามคุกคามประชาชน ทั้งที่จำนวนมากก็ไม่ได้มีแผนการที่จะจัดกิจกรรมใดๆ เพียงแค่มีประวัติที่เคยออกมาแสดงความคิดเห็นหรือชุมนุมทางการเมืองมาก่อน ก็กลับถูกเจ้าหน้าที่ติดตามกดดันแล้ว
การใช้อำนาจคุกคามข่มขู่เหล่านี้ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยจะมีผลการเลือกตั้งทั่วไป และมีการเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่แล้วก็ตาม การละเมิดเหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง