22 พ.ค. 62 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 นัดสั่งฟ้อง 2 ผู้ต้องหาในคดีสหพันธรัฐไท ได้แก่ นายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา 209 ทั้งสองคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 8 ก.ค. 62
ในวันนี้ ่นายเทอดศักดิ์ ซึ่งได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนได้เดินทางมาตามนัดของอัยการ ส่วนนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำนำตัวมาฟ้องต่อศาล
อัยการบรรยายฟ้องว่า วันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง บังอาจร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนิน มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อการอันมิชอบโดยกฏหมาย
จำเลยทั้งสองกับพวกนัดหมายสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายและมีอักษรสีขาวข้อความภาษาอังกฤษ “Federation” อยู่กลางหน้าอกด้านหน้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท เดินบริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร
จำเลยทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายเทอดศักดิ์ โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในการประกันตัว พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีในวันที่ 8 ก.ค. 62 เวลา 13.30 น.
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ทั้งนายเทอดศักดิ์ และนางประพันธ์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากด้านหน้าร้านแมคโดนัลด์สาขาเดอะมอลล์ บางกะปิ ไปที่สน.ลาดพร้าว ตำรวจอ้างเหตุว่าพบการนัดชุมนุมที่บริเวณห้าง จึงควบคุมตัวไปเพื่อซักถาม ก่อนปล่อยตัวในเวลาประมาณ 19.00 น. โดยในการซักถามนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารมาเข้าร่วมการซักถามอยู่ด้วย
แต่ก่อนหน้ากิจกรรม “ปั่นอุ่นไอรัก” ทั้งสองคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยัง มทบ.11 ร่วมกับบุคคลอื่นๆ อีก 8 คน ก่อนที่ทหารจะปล่อยตัวเธอในวันที่ 14 ธ.ค. 61 โดยไม่มีการดำเนินคดี
ก่อนที่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 62 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดตามจับกุมนายเทอดศักดิ์จากที่ทำงานในจังหวัดภูเก็ต มาแจ้งข้อกล่าวหาที่กองปราบปรามฯ จากกรณีเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ก่อนเขาจะได้รับการประกันตัวออกมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 62 นางประพันธ์ได้ถูกจับกุมตัวจากประเทศมาเลเซีย มายังกองปราบปรามเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเช่นกัน โดยเธอระบุว่าได้เดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อเดือนมกราคม 2562 และไปขอสถานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกับ UNHCR ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ระหว่างที่กำลังรอประเทศที่สามรับเป็นผู้ลี้ภัย เธอถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมในวันที่ 24 เม.ย. 62 และคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจ 14 วัน จากนั้นถูกส่งไปคุมขังอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียอีก 4 วัน ก่อนถูกควบคุมตัวกลับมาที่ประเทศไทย
นางประพันธ์ได้ถูกฝากขังที่เรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 62 โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 62 ญาติได้เตรียมหลักทรัพย์ไปยื่นขอประกันตัว แต่เจ้าหน้าที่ศาลอาญายังไม่ให้ยื่น เนื่องจากอ้างว่าอุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหา หรือ “EM” (Electronic Monitoring Center) หมด ทำให้เธอยังถูกคุมขังในเรือนจำมาจนถึงวันนี้
ทั้งนายเทอดศักดิ์ และนางประพันธ์ ยังตกเป็นจำเลยในคดีสหพันธรัฐไทอีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีการครอบครองเสื้อลายธงสหพันธรัฐไทในช่วงเดือนกันยายน 2561 โดยถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาในข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอั้งยี่ เช่นเดียวกัน คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล