23 เม.ย. 62 เวลา 9.00 น. อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อหาเผยแพร่ข้อความลามกอนาจาร ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) ซึ่งศาลอาญา ถนนรัชดา ได้สอบคำให้การ ก่อนที่เอกชัยจะให้การปฏิเสธพร้อมต่อสู้คดี ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 17 มิ.ย. 62 เวลา 9.00 น.
ในคำฟ้องของอัยการระบุว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 60 ในเวลากลางวัน จำเลยได้โพสต์ข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเฟสบุ๊ค โดยมีข้อความว่า “พี่โม๊คให้หน่อย”, “พี่ดูดหัวนมให้หน่อย”, “พี่อยากเย็ดตูดพี่นะ”, “เขายื่นหัวนมด้านซ้ายของเขาให้ผม”, “ผมดูดหัวนมข้างซ้าย พร้อมกับสำเร็จความใคร่ให้กับเขา เขาส่งเสียงครวญครางเบา ๆ สักพักเขาจูบปากของผม เขาสอดลิ้นเข้ามาในปากของผม”
ข้อความดังกล่าวถือเป็นการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีลักษณะลามก และข้อมูลนั้นประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงมีความเห็นสั่งฟ้องตามความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) และ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) มาตรา 8
สำหรับคดีนี้เอกชัยได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 61 และได้ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน
.
เคยมีการขอหมายจับระหว่างที่เอกชัยรุกตรวจสอบทุจริตอย่างหนัก
ในบันทึกคำให้การเอกชัยในชั้นสอบสวนระบุไว้ว่า การดำเนินคดีต่อเขาเกิดขึ้นในช่วงที่เขาทำกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เกี่ยวกับนาฬิกาหรูและแหวนเพชร โดยไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ต้องยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เอกชัยเห็นว่ากรณีนี้ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคมว่าเหตุใดจึงไม่มีการยื่นในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือได้มาโดยเกี่ยวพันกับการทุจริตคอรัปชั่นจากการบริหารประเทศหรือไม่ ดังนั้น ในฐานะพลเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งต้องการให้สังคมและประชาชนเกิดความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว จึงเริ่มทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ป.ป.ช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดความกระจ่างแก่สังคมโดยเร็ว
จนกระทั่งถึงวันที่ 9 ม.ค.61 ได้พยายามเดินทางไปแสดงสัญลักษณ์มอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาปิดกั้นไม่ให้แสดงออก และได้ประกาศว่าจะมามอบนาฬิการวมถึงแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับนาฬิกาหรูอีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค. 61 ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติ แต่แล้วก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ในวันที่ 12 ม.ค.61 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมคณะก็ได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอศาลอาญาออกหมายจับ ในข้อหาความผิดที่ถูกกล่าวหานี้ โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อนแต่อย่างใด ทว่าศาลอาญาก็ได้ยกคำร้องไม่อนุญาตให้ออกหมายจับ
ต่อมาจึงมีการแจ้งความกล่าวหาเอกชัยจากโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหานี้ ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 60 เอกชัยเห็นว่าการดำเนินคดีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามีการพยายามเข้าไปค้นข้อมูลในเฟซบุ๊กของเขา ย้อนหลังเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้วนำข้อความดังกล่าวมาเพียงโพสต์เดียว ไม่นำข้อมูลข้อความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโพสต์ดังกล่าวมาด้วย
.
ข้อความที่ใช้ฟ้อง มาจากซีรีย์ประสบการณ์ในเรือนจำ
เอกชัย เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ระหว่างที่เขาถูกคุมขังในเรือนจำจากการถูกตัดสินให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เห็นว่าในการใช้ชีวิตประจำวันในเรือนจำนั้นผู้ต้องขังทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบที่เรือนจำกำหนด ทำให้ได้ทราบถึงสภาพปัญหาและประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรือนจำทั้งในด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์และเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลทั่วไป
จึงได้ตัดสินใจเล่าเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงโดยใช้ชื่อบ่งบอกชัดเจนในหัวข้อแต่ละโพสต์ว่า “ชีวิตในเรือนจำครั้งแรกของผม” โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็นทั้งหมด 14 ตอน แต่ละตอนก็จะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปตามชีวิตประจำวันที่ได้ประสบมา ซึ่งหากพิจารณาข้อความทุกตอนแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำเพื่อให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เอกชัยเห็นว่าข้อความที่ถูกนำมาฟ้องร้องในวันนี้ เป็น 1 ในซีรี่ย์ 14 เรื่อง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์ในเรือนจำที่เขาเคยประสบมาระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นกว่า 2 ปี 8 เดือน เนื้อหาของการโพสต์ในซีรีย์นี้คือการเล่าเรื่องราวการมีเซ็กส์ของผู้ต้องหาในเรือนจำว่าสภาพอย่างไร
ส่วนทัศนะต่อเซ็กส์ในเรือนจำของเอกชัย เขาเห็นว่า หลายกรณีเป็นเรื่องย้อนแย้ง เช่น มีกฎห้ามมีไฟแช็กในเรือนจำ แต่ก็มีการสูบบุหรี่ได้ หรือขณะที่ห้ามมีเซ็กส์ในเรือนจำ ก็มีการแจกถุงยาง ในความเห็นส่วนตัวของเอกชัยแล้วเห็นว่า เพื่อสุขภาวะที่ดีในเรือนจำอาจจะมีสถานที่มิดชิดหรือมีผ้าปิด ให้ถูกสุขลักษณะ หรืออาจจะมีการแจกถุงยางหรือวาสลีน เพราะนักโทษส่วนใหญ่เมื่อไม่มีแล้วต้องใช้วิธีอื่นที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งนักโทษในเรือนจำไม่นิยมใช้ถุงยางกัน เนื่องจากต้องไปขอเจ้าหน้าที่และให้มีลงชื่อ และอาจจะทำให้ผู้อื่นทราบได้ ซึ่งบางคนเลือกชดเชยความต้องการด้วยการทำออรัลเซ็กส์แทนซึ่งง่ายต่อการสำเร็จความใคร่
ส่วนเป้าหมายของการโพสต์ ต้องการเปิดเผยเรื่องราวภายในเรือนจำให้คนภายนอกได้รับรู้ว่ามันมีทั้งสิ่งที่ไม่น่าเชื่อไปจนกระทั่งหักล้างความเข้าใจเดิมของคนภายนอก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กส์เท่านั้น เอกชัยยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อตีแผ่ทั้งเรื่องอื่น ๆ เช่น อาหารการกินที่ไม่ได้ย่ำแย่ตามการทึกทักทั่วไป เพราะคนที่มีทรัพย์มากพอก็สามารถสั่งอาหารมารับประทานได้ปกติ
“คดีนี้ไร้สาระมาก ตอนแรกที่คดีนี้เริ่มมีการตั้งข้อหา ตำรวจจะสั่งไม่ฟ้องด้วยซ้ำ เพราะไม่มีมูลสุดท้ายก็เลยต้องฟ้อง มาฟ้องหลังจากที่เคลื่อนไหวตรวจสอบการทุจริตเรื่องนาฬิกา ของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะมีนายทหารระดับสูงมาเกลี้ยกล่อมให้มอบนาฬิกาผ่านเจ้าหน้าที่ แต่ผมยืนยันว่าจะมอบให้กับพลเอกประวิตรโดยตรง หลังจากนั้นก็มีคดีนี้ฟ้องเข้ามาเลย” เอกชัยกล่าว
ตลอดเวลาหลังจากพ้นโทษออกมา เอกชัยถ่ายทอดประสบการณ์ในเรือนจำในหลายเรื่อง และจะแบ่งเป็นตอนๆ ผ่านเฟสบุ๊คตั้งค่าสาธารณะของเขา โดยเริ่มเขียนตั้งแต่ปี 59 เป็นปกติ ทว่าจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงต้น ปี 60 โดยเริ่มจากกิจกรรมทวงคืนหมุดคณะราษฎร เขาถูกเจ้าหน้าที่นำตัวเข้าค่าย มทบ.11 ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่ทำให้เอกชัยต้องเผชิญสถานการคุกคามทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และคดีความ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน