รู้จักข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เครื่องมือจัดการประชาชนยุค คสช.

การแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานยุยุงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นโดยทั่วไปตลอดหลังการรัฐประหาร 22 พ.. 2557 จนถึงปัจจุบัน กฎหมายนี้บัญญัติว่าการกระทำของบุคคลใดจะเป็นความผิดฐานนี้ได้ต้องมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

ในการดำเนินคดีอย่างน้อย 14 กรณีจากทั้งหมด 169 คดี ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย พบว่าเนื้อหาของข้อกล่าวหานี้ มีการตีความคลุมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในคณะรัฐบาล และ คสช. ทั้งการเผยแพร่ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการทุจริต ในกรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หรือแม้กระทั่งการแสดงออกโดยสันติด้วยการเดินเพื่อขอให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร รวมไปถึงการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งตามที่กำหนด ข้อหานี้ก็ล้วนถูกนำมาใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้าม คสช. ทั้งสิ้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอแนะนำบทความวิชาการเรื่อง “เมื่อผู้ปกครองสถาปนาตนเป็นรัฐ: ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” กับการบังคับใช้กฎหมายแบบอำนาจนิยมในประเทศไทย” (When the rulers become the state: Sedition Law and  Authoritarian Regime in Thailand) (อ่านบทความฉบับเต็มที่นี่) บทความนี้ตีพิมพ์ใน วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 หน้า 25-54 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  1. ข้อหายุยงปลุกปั่น เป็นมรดกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: บทความนี้เสนอว่า ข้อหายุยงปลุกปั่น (Sedition Law) สามารถสืบสาแหรกไปได้ถึงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันมีมรดกตกทอดมาจากกฎหมายประเทศอาณานิคม ภายใต้ช่วงเวลานั้นกรอบคิดเรื่องรัฐ รัฐบาล และผู้ปกครองรัฐยังไม่ได้แยกออกจากกัน ทำให้พบว่า ความผิดข้อหายุยงปลุกปั่นเดิมนั้น ได้ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกใน “พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษนาการ ร.ศ.118” (พ.ศ.2443 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ตามมาตรา 5 ระบุเรื่องการกล่าววาจาหรือโฆษณาข้อความที่ปรารถนาจะให้เป็นเหตุ “อันร้าย” 3 ประการ
  2. ข้อหายุยงปลุกปั่นสัมพันธ์กับคนถืออำนาจรัฐ: การเปลี่ยนแปลงของตัวบทและความเข้มข้นของการบังคับใช้ข้อกล่าวหานี้ ยังสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและลักษณะของผู้ถืออำนาจรัฐด้วย ดังจะเห็นว่าเมื่อมีการจัดทำ “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127” (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2451 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ได้ถูกนำไปบัญญัติอยู่ในมาตรา 104 ซึ่งอยู่ในภาคที่ 2 ว่าด้วยลักษณะความผิดว่าด้วยลักษณะความผิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาณาจักร หมวดที่ 2 ความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร ทว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้มีการลดอัตราโทษจำคุกลงจากไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี, มีการเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดเข้าไปในวรรคท้ายของอนุมาตรา 1 กล่าวคือ “การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและติชมตามปกติวิสัย หรือกระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ถือว่าเป็นความผิดในข้อหานี้” ขณะเดียวกันศาลเองก็มีแนวโน้มที่จะพิจารณาและตีความกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนมีสิทธิที่จะ “ติชม” วิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองข้าราชการหรือกฎหมาย
  3. ความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” กลายเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหารทุกสมัย: กรณีนี้บทความได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อประเทศเปลี่ยนมาสู่ยุคเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การบังคับใช้ มาตรา 116 ถูกใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น มีการจับกุมคุมขังประชาชนจำนวนมาก ในหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนฝ่ายซ้าย ในบางกรณีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาคอมมิวนิสต์ยังถูกประกาศคณะปฏิวัติกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอบสวนทำให้เกิดภาวะที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวไว้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาเป็นปี ๆ โดยไม่มีการสั่งฟ้องคดี
  4. ในยุคการเมืองสีเสื้อ (เหลืองแดง) มักเกี่ยวเนื่องกับการปราศรัยบนเวทีชุมนุม บทความชิ้นนี้ยังพบว่า การดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองสีเสื้อปะทุขึ้น (2549-2557) มีอย่างน้อย 12 คดี ที่มาตรา 116 ถูกนำมาใช้ ขณะที่รูปแบบการแจ้งความดำเนินคดีก็มีความหลากหลายอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมหรือปราศรัยใหญ่ เช่น กรณีประชาชนปีนรั้วรัฐสภาเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติของคณะรัฐประหาร คมช., การแจ้งความเอาผิดกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บางกรณีพบว่าข้อหานี้ยังถูกฟ้องร่วมกับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ม.112)
  5. หลังการรัฐประหารของ คสช. ม.116 แพร่ขยายไปทุกอณูสังคม: ในช่วงเวลาร่วมสมัยนี้เอง บทความนี้เสนอว่า การกล่าวหาและดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นแนวโน้มสำคัญที่ชัดเจนคือ มีการใช้ข้อหานี้ล่วงล้ำไปถึงเนื้อหาการแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูล การคัดค้าน การวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของคสช. ผลคือลักษณะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนถูกดำเนินคดีมากที่สุด ผู้เขียนเสนอว่า หากดูในรายละเอียดข้อกล่าวหานั้น ยังสะท้อนให้เห็นแนวทางการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่มุ่งปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมโดยสงบ การเสียดสีล้อเลียน หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่ให้ผลทางลบต่อผู้ถืออำนาจ

ถึงที่สุดบทความแสดงให้เห็นว่า นอกจากกฎหมายยุยงปลุกปั่นนี้ จะไม่แยกพ้นไปจากบริบทการเมืองได้แล้ว อีกประเด็นที่ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญเอาไว้คือ ความคลุมเครือของตัวบทและความร้ายแรงของข้อหานี้ ได้กลายเป็นช่องว่างที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละช่วงเวลาฉวยใช้มาตรา 116 เป็นเครื่องมือทางการเมืองดำเนินคดีกับประชาชน ดังนั้นการปล่อยให้การตีความและการใช้กฎหมายลักษณะนี้ดำเนินต่อไปจะยิ่งทำให้ “กฎหมายความมั่นคง” มาตรานี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและส่งผลผลถึงหลักนิติรัฐของประเทศในระยะยาวต่อไป

X