เมื่อ “ความมั่นคง” เข้ามาแทรกแซง “วัด” พื้นที่เสรีภาพของชุมชนจึงหายไป

เมื่อ “ความมั่นคง” เข้ามาแทรกแซง “วัด” พื้นที่เสรีภาพของชุมชนจึงหายไป

นับตั้งแต่มหาเถรสมาคมได้ออกประกาศ “ห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุมหรือสัมมนาหรือจัดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคม” เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 61 ดูเหมือนว่าพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองจะถดถอยลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทตามหมู่บ้าน ซึ่งวัดวาอารามถือเป็นอาณาบริเวณที่สำคัญไม่เพียงแค่ใช้สำหรับปฏิบัติศาสนพิธีเท่านั้น ในหนังสือของมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าวระบุว่า

ห้ามพระภิกษุสงค์สามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง ตามคำสั่งมหาเถรสมาคม และห้ามเจ้าอาวาสใช้ ยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้วัดเป็นสถานที่จัดชุมนุม ประชุม สัมมนา เสวนา หรือกิจกรรมที่มีลักษณะ หรือเนื้อหาที่อาจเป็นการละเมิดกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือใช้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นการขัดคำสั่งมหาเถรสมาคม ลงวันที่ 2 ม.ค. 2538 เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 อันเป็นการใช้สถานที่วัดผิดไปจากวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ในการทำสังฆกรรม กิจกรรทางพุทธศาสนา การคณะสงฆ์ การสาธารณะสงเคราะห์ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการเสริมสร้างความสามัคคีของประชาชน”

ประกาศเถรสมาคมข้างต้นส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนชนบทที่เคยอยู่ร่วมกับวัดอย่างเอื้อประโยชน์ต่อกันมายาวนาน โดยลดทอนให้วัดเป็นเพียงพื้นที่ทางศาสนา ก่อนหน้านี้ “วัด” คือพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่คนในชุมชนใช้เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งประกอบพิธีกรรมทางศาสนา, เป็นสถานศึกษา,  เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมตามประเพณีท้องถิ่น อาทิ หนังบักป่องบักแก้ว หรือหนังตะลุงลาว หมอลำ งานบุญผ้าป่า บุญเดือนสี่ ในภาคอีสาน นอกจากนี้ วัดยังเป็นสถานที่ประชุมปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้าน ตั้งแต่จัดอบรมถ่ายทอดความรู้โดยหน่วยราชการต่าง ๆ , จัดเสวนาเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ไปจนถึงเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงทั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  โดยไม่เคยกระทบต่อ “ความมั่นคงของรัฐ” แต่อย่างใด

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 วัดค่อย ๆ ถูกขีดเส้นกันออกจากการเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน มีประชาชนที่ถูกกดดันและถูกคุกคามจากทหารและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไม่ให้ใช้วัดในการจัดกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง เช่น กิจกรรม Walk for Rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน  และกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ซึ่งทั้งสองกิจกรรมเป็นการเดินเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะในประเด็นสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดอนาคตของตนเอง อาทิ  เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น สิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอดเส้นทาง ทหาร ตำรวจ ได้เข้ากดดันวัดไม่ให้วัดให้สถานที่แก่ผู้เข้าร่วมขบวนเดินพักค้างคืน หรือกดดันขบวนเดินไม่ให้พักในวัด โดยอ้างว่า ขบวนเดินทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่สงบ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

ภายใต้รัฐบาล คสช. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคงของ คสช.” ถูกแปะป้ายให้กลายเป็นเรื่องที่ผิดต่อกฎหมายที่ คสช. เขียนขึ้นเอง ทั้งที่การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดและตรวจสอบนโยบายสาธารณะ จะทำให้รัฐบาลรับรู้ปัญหาของประชาชน และเป็นเครื่องประกันว่า ประชาชนจะเข้าถึงทรัพยากรและบริการของรัฐโดยทั่วถึง

ไม่เพียงเท่านั้นองค์กรพุทธศาสนาซึ่งถือตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยก็เดินตามอำนาจของรัฐบาล คสช. ด้วยการแยกวัดและประชาชนออกจากความเป็นการเมือง ปรากฏเป็นประกาศมหาเถรสมาคมฉบับดังกล่าว ดังนั้น ในบรรยากาศการเลือกตั้งที่ประชาชนกระตือรือร้นที่จะได้ฟังการปราศรัยหาเสียงของพรรคการเมืองเพื่อรับทราบนโยบายก่อนการใช้สิทธิเลือกตั้ง วัดกลับไม่รับรู้ถึงสิ่งนี้

ดังที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับอนุญาตจากวัดป่ารัตนาราม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ให้ใช้สถานที่เปิดเวทีปราศรัยหาเสียง จนต้องย้ายเวทีปราศรัยออกจากบริเวณวัดดังกล่าวในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 29 ธ.ค. 61 (อ่านเพิ่มเติม:  “อดิศร เพียงเกษ” โวย เพื่อไทยขอนแก่นโดนกดดัน ต้องย้ายเวทีปราศรัย) เช่นเดียวกัน ตามประตูศาลาวัดหลายแห่งต่างติดประกาศมหาเถรสมาคม ห้ามใช้วัดทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน และไม่เข้าไปใช้พื้นที่วัดทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เหมือนที่เคยเป็นมา

จากการสัมภาษณ์สงกาฬ ศรีนุเดช ชาวบ้านหนองแซง สมาชิกกลุ่มคัดค้านการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ที่ อ.หนองแซง จ.กาฬสินธุ์  พบว่าว่า ก่อนรัฐประหาร  ชาวบ้านใช้พื้นที่วัดในการทำกรรมต่าง ๆ เช่น ประชุมชาวบ้าน จัดงานบุญ งานกิจกรรมนักเรียน เป็นพื้นที่พูดคุยระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน หรือแม้แต่คนผ่านทางไม่มีที่พักค้างแรมก็สามารถมานอนค้างคืนพักที่วัดเพื่อเดินทางต่อได้ หากจะมีการห้ามไม่ให้ใช้พื้นที่วัดทำกิจกรรมอะไร ต้องมาจากเจ้าอาวาสและคนในชุมชนตัดสินใจร่วมกัน

สงกาฬเห็นว่า วัดควรเป็นสถานที่สาธารณะอีกแห่งหนึ่ง นอกจากศาลาประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่ทำกิจกรรมทุกอย่างได้ หากเกิดประโยชน์ต่อชุมชน เนื่องจากวัดมีพื้นที่กว้างขวางสามารถรองรับคนได้เยอะ และมีห้องน้ำ ทำให้สะดวกสบายต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และหากไม่ให้ใช้พื้นที่วัดในการทำกิจกรรมที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือกิจกรรมที่จะกระทบความมั่นคง คำถามคือรัฐจะใช้ตัวชี้วัดว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือกระทบความมั่นคง ดังนั้น ทุกกิจกรรมที่ เป็นประโยชน์ต่อชุมชนก็ควรใช้พื้นที่วัดได้

เป็นพื้นที่ส่วนรวมไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนตนของรัฐราชการ

หากจะย้อนกลับไปดูถึงความเป็นมาของวัดในชุมชน จะพบว่าวัดเกิดจากแรงศรัทธาของคนในชุมชน ซึ่งบริจาคพื้นที่ส่วนตัวให้กับพระที่บวชประจำอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อเป็นศูนย์รวมกิจกรรมสาธารณะของชุมชน และเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้าน รวมถึงบางพื้นที่นอกจากชาวบ้านจะบริจาคที่ดินเพื่อทำสำนักสงฆ์แล้ว พระยังมีบทบาทนำในการแผ้วถางที่สาธารณะเสื่อมโทรม เพื่อก่อสร้างสำนักสงฆ์อีกด้วย ทั้งนี้หากชาวบ้านอยากให้สำนักสงฆ์เป็นวัด จะใช้วิธีระดมทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เงิน สิ่งของ หรือแรงงาน จากการจัดงานบุญ เช่น ผ้าป่าสามัคคี หรือหรือการจัดงานบุญต่างๆ เพื่อระดมทุนมาซื้อที่ดินเพิ่มให้กับสำนักสงฆ์เพื่อให้ครบ 6 ไร่ หรือไม่น้อยกว่าหกไร่ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 หมวด 2 ว่าด้วยการตั้งวัด และจดจัดตั้งวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้นรัฐจึงจะเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยจัดสรรงบประมาณในด้านต่าง ๆ มาอุดหนุนวัด เพื่อการพัฒนาศาสนสถานทางพุทธศาสนา และการศึกษาพระธรรมของพระสงฆ์

เห็นได้ว่า วัดในชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐหรือจากงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่แรก แต่เกิดจากชาวบ้าน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่วัดและชาวบ้านพึ่งพาอาศัยกันมาโดยตลอด แต่ในวันนี้วัดกำลังเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับชุมชนที่พึ่งพาอาศัยกันมาอย่างยาวนาน และ กลายเป็นคนอื่นที่ไม่รู้จักกัน

มหาเถรสมาคมเคยเป็นประชาธิปไตย ก่อนกลายเป็นกลไกของรัฐรวมศูนย์

วิทยากร โสวัตร อดีตเคยบวชจนจบนักธรรมชั้นเอก และปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ อธิบายถึงมุมมองต่อการที่มหาเถรสมาคมออกประกาศไม่ให้ใช้วัดทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเริ่มต้นเล่าถึงความเป็นมาของมหาเถรสมาคม ว่ามหาเถรสมาคมก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ.121) มีฐานะเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทย เปรียบเสมือนเป็น องค์กรทางการเมืองของพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตำแหน่งต่าง ๆ ให้เรียกว่า “มหาเถระ” มีหน้าที่ประชุมกันเพื่อถวายความเห็นแก่พระมหากษัตริย์ในเรื่องพุทธศาสนา เรียกองค์ประชุมนี้ว่า “มหาเถรสมาคม” โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์ประธานการปกครองคณะสงฆ์

ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 “คณะราษฎร” ได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 ขึ้นใช้แทน โดยเปลี่ยนจาก “มหาเถรสมาคม” มาเป็น “สังฆสภา” เพื่อให้คณะสงฆ์ไทยเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และมีกระบวนการส่งเสริมให้พระสงฆ์ได้เรียนหนังสือ เข้าถึงระบบการศึกษาสมัยใหม่ได้ง่ายขึ้น  ทั้งนี้ “สังฆสภา” ทำหน้าที่ในทำนองเดียวกันกับ  “รัฐสภา”  คือมีอำนาจออกกฎข้อบังคับของคณะสงฆ์ หากสมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงเห็นด้วยหรือไม่ทรงลงพระนามตามกำหนด สังฆสภาก็สามารถยืนยันด้วยการลงมติเห็นชอบอีกได้ จึงเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสมเด็จพระสังฆราชและสังฆสภา

ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 และให้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แทน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ได้นำ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ.121) กลับมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ หลังคณะราษฎรเคยยกเลิกไปแล้ว และใช้ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน  โดย พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 ดึงอำนาจกลับไปไว้ที่มหาเถรสมาคม

ดังนั้น การที่มหาเถรสมาคมออกประกาศดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของวัด วิทยากรก็มองว่าสามารถทำได้ เพราะเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม แต่เขาก็ตั้งคำถามว่า หากมหาเถรสมาคมเกรงว่าวัดจะถูกประชาชนใช้ประโยชน์ทางการเมือง แต่กรณีที่พรรค ซึ่งในป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคมีข้อความว่า “น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชน คืองานของพรรคประชาชนปฏิรูป” ทำไมมหาเถรสมาคมไม่มีปฏิกิริยาอะไร เพราะเป็นการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ประโยชน์ทางการเมืองเช่นกัน

คืนความเป็นการเมืองให้พระสงฆ์

ในอีกมุมหนึ่งวิทยากรเห็นว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ทำให้พระพุทธเจ้าในความรับรู้ของคนไทย จากที่แต่เดิมเป็นบุคคลเสมือนเทพ กลายเป็นบุคคลธรรมดาสามัญชน สามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือล้อเลียนได้

วิทยากรมองว่า การแก้ปัญหาที่วัดถูกแยกออกจากชุมชน เป็นคนแปลกหน้าต่อกัน ต้องทำให้คณะสงฆ์เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยกลับไปใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งจะ เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คณะสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมได้กว้างขวาง และต้องทำให้พระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้งได้เหมือนบุคคลทั่วไป

ในขณะที่สังคมกำลังเดินเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง (24 มี.ค.62) ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของการก้าวออกจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ปกครองประเทศไทยมานานเกือบ 5 ปี แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์และสถานที่ทางการเมืองจะยังถูกปิดกั้นและดูไม่เอื้อต่อการปลดล็อคประเทศ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต่างมีความหวังที่ประเทศจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้พื้นที่ทางการเมืองของประชาชนเปิดกว้างมากขึ้น เมื่อนั้นวัดกับชุมชนจะได้อยู่ร่วมกันในแบบที่เกื้อหนุนกันและกันในทุกมิติ

X