เปิดเรื่องราว 4 นักวิชาการนานาชาติถูกกักตัวสอบที่ตม.ไทย หลังร่วมลงชื่อแถลงงานไทยศึกษา

จากกรณีปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 62 ว่าดร.แอนดรูว์ จอห์นสัน อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเขาถูกกักตัวโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย (เจ้าหน้าที่ ตม.) ระหว่างกำลังจะเดินทางออกจากประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าสอบถามว่าเขามาพูดคุยกับใครในประเทศ ไปที่ไหนมาบ้าง และยังมีการขอที่อยู่หรือไลน์ไอดีสำหรับติดต่อ ก่อนให้เดินทางออกไป เจ้าหน้าที่ยังบอกกับเขาว่ามีรายชื่อของนักวิชาการจำนวนอีกราว 30 คน ที่ทางการไทยติดตามข้อมูลอยู่

ดร.แอนดรูว์ ยังระบุว่าจากการตรวจสอบจากเพื่อน การติดตามกลุ่มนักวิชาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักกิจกรรมกรณีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 แม้คดีนี้ ศาลแขวงเชียงใหม่จะยกฟ้องไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561 แล้วก็ตาม

ทวิตเตอร์ของดร.แอนดรูว์ ที่บอกเล่าการถูกกักตัวที่ด่าน ตม. 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 62 ทางสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทย ยุติปฏิบัติการกักตัว และการ “สอบถาม” นักวิชาการต่างชาติในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล  โดยในแถลงการณ์ระบุด้วยว่าจากการตรวจสอบมีชาวต่างประเทศหลายคนได้ถูกกักตัวและซักถามทุกครั้งที่เดินทางเข้าและออกประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ ตม. ที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ทาง สสส. ทราบว่าจำเป็นต้องทำ แม้จะมีความลำบากใจและได้พยายามทำอย่างสุภาพที่สุด แต่ที่ต้องทำเพราะเป็นคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงของไทย ให้จับตานักวิชาการและนักกิจกรรมที่อยู่ใน “บัญชีจับตามมอง” หรือ “Watch List”  ทาง สสส. จึงเรียกร้องให้ทางการไทยลบล้างบัญชีดังกล่าวออกไปเสีย และให้ปฏิบัติต่อบุคคลกลุ่มนี้ที่เดินทางเข้าออกประเทศไทยด้วยการให้เกียรติและมีความสุภาพ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนนี้ แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 โดยเกิดกับนักวิชาการระดับนานาชาติหลายรายและหลากสาขาที่เดินทางเข้าออกประเทศไทย และต้องถูกกักตัวไว้ช่วงเวลาหนึ่งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบถามและตรวจเช็คข้อมูล โดยหลายคนได้รับการระบุว่าเป็นเรื่องที่ถูกสั่งการมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล หลายคนเผชิญกับปัญหานี้หลายต่อหลายครั้งตามจำนวนครั้งที่เข้าออกประเทศ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะเคยสอบถามและตรวจเช็คในครั้งแรกไปแล้วก็ตาม

นักวิชาการหลายคนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามสอบถามข้อมูล รู้สึกไม่สบายใจที่จะเปิดเผยชื่อสกุลของตนเอง เนื่องจากกังวลต่อสถานการณ์การอยู่อาศัย การทำงาน หรือการเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทย รวมทั้งยังไม่ทราบว่าสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินไปอีกนานเท่าไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ก็ยินดีบอกเล่าเรื่องราวที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตน ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวบางส่วนของปฏิบัติการที่ทางการไทยกำลังกระทำต่อนักวิชาการในระดับนานาชาติ

(ภาพประกอบจาก Pixabay)

 

นักวิชาการติดด่านที่ตม. 14 ครั้ง โทรถามสันติบาลก็ไม่ได้คำตอบ

ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ท่านหนึ่ง เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2561 จนถึงกุมภาพันธ์ 2562 เขามีประสบการณ์ถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย จำนวนทั้งหมด 14 ครั้งแล้ว เนื่องจากเดินทางเข้าออกเพื่อทำวิจัยและร่วมสัมมนาวิชาการต่างๆ ในต่างประเทศค่อนข้างบ่อย

นักวิชาการรายนี้ระบุว่าเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2561 หลังจากเขาเดินทางกลับจากต่างประเทศ และลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อต้องผ่านการตรวจสอบพาสปอร์ตที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็ปรากฏว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ล็อก และเขาไม่สามารถผ่านด่านตรวจได้ เจ้าหน้าที่ ตม. ได้ให้เขาแยกออกไปรอนอกแถวตรวจ พร้อมถามเขาว่าคุณเป็นนักเคลื่อนไหวหรือเปล่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ ตม. ก็ให้รอพบกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่าเป็นตำรวจสันติบาลเข้ามาพูดคุย

สันติบาลได้สอบถามรายละเอียดส่วนตัวของเขา ทั้งที่อยู่ อาชีพ หน้าที่การงาน และเน้นไปที่ว่าเวลาเขาทำวิจัยหรืออยู่อาศัยในประเทศไทย ได้ไปเจอหรือพบปะกับใครบ้าง แต่ไม่ได้มีการถามเรื่องการเมืองหรือการเคลื่อนไหว และไม่ได้มีการระบุถึงสาเหตุที่ต้องมีการดำเนินการเช่นนี้กับเขา

หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม นักวิชาการรายนี้ได้เดินทางไปร่วมสัมมนาที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ประสบปัญหาพาสปอร์ตถูกล็อกที่ด่าน ตม. ทั้งขาเข้าและออกประเทศเช่นกัน แต่ในครั้งหลังนี้ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่สันติบาลมาสอบถามอีก แต่ต้องรอเจ้าหน้าที่ ตม. โทรติดต่อประสานงานกับฝ่ายตำรวจ เพื่อทำการปลดล็อกให้เดินทางได้

เขาได้พยายามสอบถามว่าปัญหานี้เกิดจากอะไรและจะแก้ไขได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ ตม. ระบุว่าชื่อของเขาไปเกี่ยวข้องกับการ “ร่วมเรียกร้องสิทธิพลเมือง ในนามชุมนุมนักวิชาการ” โดยเป็นการดำเนินการของทางตำรวจสันติบาล ไม่ได้เกี่ยวกับทาง ตม. เจ้าหน้าที่ได้ให้ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของ พ.ต.อ.สมเกียรติ แก้ววิเศษ ซึ่งเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 และถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลผู้ดูแลเรื่องนี้ ให้เขาลองโทรไปสอบถาม

จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ตม. ทำให้เขาคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ในระหว่างการประชุมไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งต่อมา เขายังได้ทราบว่านอกจากตัวเอง ยังมีเพื่อนนักวิชาการอีก 6-7 คน ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวเผชิญกับปัญหาในลักษณะนี้เมื่อเดินทางเข้าออกประเทศไทยเช่นกัน ทั้งยังคาดได้ว่ามีนักวิชาการต่างประเทศอีกหลายคนที่ร่วมลงชื่อ แต่ยังไม่ได้เดินทางเข้าออกประเทศไทย ก็น่าจะอยู่ในรายชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน

ต้นเดือนพฤศจิกายน นักวิชาการรายนี้ได้โทรศัพท์ติดต่อกับพ.ต.อ.สมเกียรติ เจ้าหน้าที่ระบุว่าถ้าเขาสะดวก ให้มาพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่สันติบาลที่กรุงเทพฯ เมื่อเขาปฏิเสธว่าไม่สะดวกไป พ.ต.อ.สมเกียรติจึงแนะนำให้เขียนจดหมายถึงผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อชี้แจงและอธิบายสถานภาพทางวิชาการและการทำงานในประเทศไทย แต่เมื่อเขาได้ดำเนินการตามคำแนะนำ ส่งหนังสือไปที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลแล้ว จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีการตอบกลับหรือความคืบหน้าใดๆ

หลังจากนั้น เขายังเคยติดต่อไปที่พ.ต.อ.สมเกียรติ อีกครั้งหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่เพียงแต่ระบุว่าจะพยายามช่วยดูให้ เนื่องจากตนเองก็ไม่ได้มีอำนาจในเรื่องนี้ พร้อมระบุด้วยว่าเขาอาจจะต้องรอจนหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นก่อน จะทำให้สถานการณ์ประเทศไทยดีขึ้น

ปัญหาการติดล็อกที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของนักวิชาการรายนี้ ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบันทุกครั้งที่เข้าออกประเทศ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตม. ติดต่อสอบถาม และแก้ไขการล็อกออกก่อน แต่ละครั้งใช้เวลาราว 15-30 นาที แม้เจ้าหน้าที่ ตม. จะปฏิบัติด้วยดี และบางครั้งก็มีการขอโทษที่ต้องให้รอการดำเนินการ แต่ปฏิบัติการเหล่านี้ก็สร้างความกังวลให้กับเขาในการเดินทางเข้าออกสนามบินแต่ละครั้ง และไม่มีใครที่ให้คำตอบได้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

นักวิชาการรายนี้ระบุว่าถึงปัจจุบันผ่านมาหลายเดือน เขาก็ยังไม่ทราบว่าปฏิบัติการนี้ เจ้าหน้าที่รัฐไทยมีเป้าประสงค์อะไร และไม่ทราบว่าเหตุใดการดำเนินการนี้ถึงเริ่มขึ้นหลังจากแถลงการณ์ในงานประชุมไทยศึกษาผ่านไปแล้วเกือบหนึ่งปี และในส่วนของคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ศาลก็ยกฟ้องคดีไปแล้ว โดยเขาเองเห็นว่าอาจจะเป็นการเตือนว่ากำลังจับตากลุ่มนักวิชาการต่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับประเทศ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์คสช. หรือกองทัพ

ภาพการอ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” ซึ่งมีนักวิชาการทั้งไทยและเทศ 176 คน ร่วมลงชื่อ ในระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60

 

นักวิชาการไทยสอนที่มาเลเซีย ถูกตม. กักนับ 10 ครั้ง อ้างเกี่ยวกับความมั่นคง

รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการสัญชาติไทย ทำงานสอนด้านภาษาศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เธอถูกกักตัวเพื่อสอบถามที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง รวม 10 ครั้งแล้ว ทั้งที่สนามบินและด่านตรวจต่างๆ ทางภาคใต้ ทั้งในขาเข้าและขาออกจากประเทศ

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 61 ในการเดินทางกลับมายังสนามบินหาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ ตม. แจ้งกับเธอหลังเข้าด่านตรวจว่าได้รับเรื่องจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 61 ว่ารายชื่อนี้ให้ตรวจสอบเมื่อเข้าออกประเทศ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามเธอว่าไปทำผิดกฎหมายมาหรือไม่ เคยไปร่วมชุมนุมประท้วงหรือไม่ หรือมีคดีติดตัวอะไรไหม จากนั้นเจ้าหน้าที่ ตม. ได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับหัวหน้าอยู่เป็นเวลานาน และต้องให้รอเกือบหนึ่งชั่วโมง ก่อนจะให้ทำบันทึกไว้ และให้เข้าประเทศได้

ในครั้งถัดมา ช่วงเดือนกันยายน เมื่อรุสนันท์ผ่านเข้าออกทางเครื่องตรวจพาสปอร์ตอัตโนมัติ แต่เครื่องกลับล็อกทันที ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบให้ และทำให้ผู้เข้าคิวคนอื่นๆ ต้องรอ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นระดับผู้กองมาตรวจสอบ ได้ระบุกับรุสนันท์ว่าเธอมีชื่อในกลุ่มชุมชนนักวิชาการนานาชาติเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง จึงให้เธอเข้าไปพูดคุยในห้องของ ตม. เพื่อสอบถามรายละเอียด และรอเจ้าหน้าที่ประสานทางสันติบาล เพื่อให้ผ่านเข้าออก โดยเจ้าหน้าที่ได้เซ็นบันทึกในพาสปอร์ตว่าให้เข้าออกได้

หลังจากนั้นก็จะเกิดกรณีลักษณะเดียวกันนี้ทุกครั้ง เจ้าหน้าที่มักซักถามว่าไปทำอะไรมา ทำไมถึงมีชื่อขึ้นล็อก ไปก่อคดีอะไรมาหรือไม่ มีครั้งหนึ่งเมื่อต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่ ตม. บางคนย้ำกับเธอว่ามันต้องมีคดี ถ้าไม่มีทำไมชื่อถึงติดล็อก ให้เธอบอกความจริงว่าไปทำอะไรมา ทั้งที่เธอยืนยันว่าไม่ได้มีคดีใดๆ และช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็เจอปัญหาแบบนี้ตลอด  ทั้งมีครั้งหนึ่งที่ด่านสะเดา เจ้าหน้าที่ยังแจ้งเธอว่าขอให้เข้าใจว่าบ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ การกระทำบางอย่างก็อาจจะไปกระทบต่อเรื่องความมั่นคงได้

ทุกครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ ตม. ก็ไม่เคยสามารถบอกได้ชัดเจนว่าเรื่องที่เป็นปัญหาคือเรื่องแถลงการณ์หรือการเคลื่อนไหวใด เพียงแต่บอกแค่ว่าเกี่ยวกับกลุ่มชุมชนนักวิชาการนานาชาติ ทั้งแต่ละครั้งต้องใช้เวลารอมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นกับแต่ละด่าน บางด่านไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร อาจต้องใช้เวลารอการประสานงานถึงราว 30 นาที

เมื่อประสบปัญหาบ่อยครั้ง ในช่วงหลังๆ รุสนันท์จะบอกที่เคาท์เตอร์ด่านตรวจ ตม. ไว้ก่อนว่าเธอมีปัญหาเช่นนี้ และได้ขอไปตรวจพาสปอร์ตให้เรียบร้อยที่ออฟฟิศของ ตม. เอง เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาให้กับคนที่เข้าคิวรอการตรวจพาสปอร์ตตามช่องทางปกติ

รุสนันท์ระบุว่าก่อนหน้านี้เธอเคยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองหลายฉบับ เช่น แถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหาร แถลงการณ์กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รวมถึงแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในสามจังหวัดภาคใต้ แต่ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนและไม่เคยมีปัญหาในการเข้าออกประเทศ  จนได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์กรณีเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ ในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา เมื่อช่วงเดือนก.ค. 2560

เธอไม่ทราบว่ามีนักวิชาการไทยมีปัญหานี้ด้วยหรือไม่ แต่ทราบว่ามีนักวิชาการต่างประเทศหลายคนประสบปัญหาเช่นกัน และคิดว่าเป็นความพยายามของทางการไทยในการสร้างความกลัว ไม่ให้นักวิชาการต่างประเทศพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคสช.

ภาพบรรยากาศการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค. 60 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 1,224 คน ภายในงานมีผู้พบเห็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาตรวจตราสอดส่องในงาน เป็นที่มาของการแสดงออกผ่านการชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในวันสุดท้ายของงานประชุม

.

นักสังคมศาสตร์ชาวสหรัฐ เข้ามาทำวิจัย แต่ถูกกักที่ตม. เกือบชั่วโมง

นักวิชาการวิชาการสังคมศาสตร์ชาวอเมริกันอีกรายหนึ่ง เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเธอถูกกักตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในการเดินทางเข้าออกประเทศไทย รวม 5 ครั้ง

เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นในการเดินทางออกนอกประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 61 เมื่อเจ้าหน้าที่ ตม. ไม่ให้เธอผ่านด่านตรวจ และให้ไปนั่งรออยู่บริเวณชาวต่างชาติที่ต้องจ่ายค่าปรับเมื่ออยู่เกินเวลา เป็นเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง จึงมีเจ้าหน้าที่ ตม. ระดับสูง พร้อมกับเจ้าหน้าที่สันติบาลสองคนเข้ามาพบเธอ เมื่อทราบว่าเธอเป็นนักวิชาการสอนหนังสือ เจ้าหน้าที่ได้ขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ พร้อมชื่อและเบอร์โทรของเพื่อนในประเทศไทยเอาไว้ เมื่อเธอแจ้งว่าต้องรีบไปขึ้นเครื่อง เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ไป พร้อมระบุว่าไม่ต้องห่วง เป็นเรื่องเล็ก แต่น่าจะเกิดขึ้นทุกครั้งเวลาที่เข้าออก

ในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมที่ผ่านมา เมื่อเธอกลับเข้ามาทำวิจัยในประเทศไทย ก็ยังคงมีปัญหาที่ด่าน ตม. โดยเจ้าหน้าที่สอบถามว่าเธอเป็นนักวิชาการที่เคลื่อนไหวใช่หรือไม่ หลังจากนั้นต้องรอเจ้าหน้าที่ประสานงานประมาณ 10-15 นาที จึงให้ผ่านเข้าออกได้

แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจเหมือนกับไม่ทราบเรื่อง พยายามสอบถามว่าเธอถูกหมายของตำรวจสากลหรือไม่ และพยายามประสานงานกับเจ้าหน้าที่สันติบาลที่มีชื่อไว้ให้ติดต่อ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ต้องใช้เวลารอคอยค่อนข้างนาน เกือบหนึ่งชั่วโมง เพราะเจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ต้องดำเนินการอย่างไร เจ้าหน้าที่ ตม. บางรายมีการขอโทษที่ต้องให้รอ พร้อมระบุว่าถ้าเขาไม่ทำ “นาย” จะด่าเอาได้

นักวิชาการรายนี้ระบุว่าเหตุการณ์นี้สร้างความตกใจให้กับเธอมาก โดยเฉพาะในครั้งแรกสุด ซึ่งไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และมีการพยายามขอชื่อเพื่อนที่อยู่ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เธอก็ไม่เคยมีปัญหาในการเดินทางเข้าออกประเทศมาก่อน แม้จะเคยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยต่างๆ มาก่อนก็ตาม

5 นักวิชาการ-นักศึกษา ผู้ถูกทหารกล่าวหาในคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ก่อนศาลแขวงเชียงใหม่ยกฟ้องเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61 

 

นักวิชาการชาวสหรัฐ ถูก จนท.สตม. ถามมีคดี-มีหมายศาลมาหรือเปล่า

นักวิชาการหญิงชาวสหรัฐอีกรายหนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทย เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าเธอเริ่มมีปัญหาในการเดินทางครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 61 หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศมายังประเทศไทย ในการตรวจพาสปอร์ตที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ ตม. ได้ระบุว่ามีปัญหาบางอย่าง และเชิญให้เธอไปนั่งรอ โดยไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร

สักพักก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุย โดยคิดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของ ตม. สอบถามเกี่ยวกับว่ารู้จักใครในเมืองไทยบ้าง มีเพื่อนหรือไม่ หรือมีที่อยู่ของคนไทยที่อยู่ด้วยหรือไม่ เธอได้ชี้แจงว่าตนมีสามีเป็นคนไทย และมีที่อยู่ในประเทศไทยชัดเจน เจ้าหน้าที่ยังขอตรวจดูวีซ่า และมีการนำเอกสารมาให้กรอก เป็นข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อสกุล ที่อยู่ในเมืองไทย ที่อยู่ที่ทำงาน เบอร์ติดต่อ หรือสถานที่ติดต่อต่างๆ การพูดคุยและการให้กรอกเอกสาร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไปได้

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ เธอได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักวิชาการ ก็พบว่าบางคนเริ่มมีปัญหานี้เช่นกัน และน่าจะเกี่ยวกับการร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ ในงานประชุมไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมา ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 เมื่อสามีของเธอไปทำเรื่องแจ้งการพักอาศัยในประเทศไทยทุก 90 วันตามกฎหมายแทนเธอ ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก็พบว่าเจ้าหน้าที่มีการสอบถามว่าเธอมีคดีอะไรมาหรือไม่ หรือมีหมายศาลอะไรไหม เมื่อสามีเธอบอกว่าไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด พร้อมสอบถามว่ามีเรื่องอะไรจากเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ระบุว่าชื่อของเธอไปอยู่ในกลุ่มนักวิชาการเกี่ยวกับสิทธิพลเมือง แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าต้องทำอะไร หรือจะแก้ไขอย่างไร

หลังจากนั้น เธอยังมีปัญหาที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม 2562 เมื่อเธอและสามีเดินทางเข้าออกประเทศ แต่ไม่สามารถผ่านด่าน ตม. ได้ และต้องรอให้หัวหน้าของ ตม. มาพูดคุย โดยเจ้าหน้าที่มีการสอบถามเกี่ยวกับใบอนุญาตการทำงาน ขอตรวจดูเอกสารการเดินทางและตั๋วเครื่องบิน ทั้งยังขอดูบัตรประชาชนไทยของสามีเธอด้วย แต่ไม่ได้มีเอกสารให้กรอกเพิ่มเติม

นักวิชาการายนี้เห็นว่าการดำเนินการนี้เป็นความต้องการทำให้กลุ่มนักวิชาการเกิดความหวาดกลัว มีลักษณะเป็นการข่มขู่คุกคาม และทำให้ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย เป็นไปได้ว่าอาจมีการดูตัวอย่างของประเทศจีนหรือเวียดนาม ที่รัฐพยายามทำให้คนต่างชาติพูดหรือแสดงออกในทางวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลไม่ได้

 

*แก้ไขข้อมูล วันที่ 22 ก.พ. 62 เวลา 16.00 น.

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา

ยกฟ้องคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ศาลวินิจฉัยไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินคดีจำเลยทั้ง 5 แล้ว

 

X