เวลา 10.00 น. ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ในคดีที่อัยการทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ชัชวาล ปราบบำรุง ด้วยข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ มียุทธภัณฑ์เอาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาฝ่าฝืนไม่ส่งมอบอาวุธปืนสงครามต่อนายทะเบียนท้องที่ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 59/2557
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 ก.ค.57 ระหว่างที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกาศกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวชัชวาล ปราบบำรุง ไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 57 เขาถูกพาตัวไปยังบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านพฤกษา บี จ.ปทุมธานี เพื่อชี้จุดที่พบอาวุธ โดย[simple_tooltip content=’รายการอาวุธและเครื่องกระสุนที่ถูกอ้างถึง มีดังนี้ อาวุธปืน ปลย.83 จำนวน 1 กระบอก, อาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 1 จำนวน 1 กระบอก, ซองบรรจุกระสุน HK ขนาดบรรจุ 20 นัด, กระสุนปืนขนาด 5.56 มม., ลูกกระสุนระเบิดชนิดยิง ขนาด 40 มม., ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ V-40 จำนวน 2 ลูก, ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหาร (MK2) จำนวน 1 ลูก และลูกระเบิดขว้างชนิดสังหาร (M26) จำนวน 1 ลูก’]เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ตรวจพบอาวุธ[/simple_tooltip] บริเวณพงหญ้าข้างทาง และทำการยึดเอาไว้ จนนำมาสู่การดำเนินคดีในศาลทหารจนถึงวันนี้
คดีนี้จำเลยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อหา ซึ่งคดีนี้มีการดำเนินคดีมาถึง 4 ปี แล้ว ขณะที่มีการนัดสืบพยานโจทก์ แต่ผ่านมากว่า 3 ปี กระบวนการสืบพยานทั้งหมด 7 คน ยังคงไม่เสร็จสิ้น
ความคืบหน้าวันนี้เป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ คือ พ.ต.ท.ยุทธวัฒน์ กล่ำกล่อมจิตร ตำแหน่งพนักงานสอบสวน ทำหน้าที่สอบสวนจำเลยและสั่งฟ้อง
โดยมีประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ พยานไม่ทราบว่ารายการอาวุธที่ทำการส่งฟ้องจำเลยนั้น เป็นรายการเดียวกันกับคดีอาวุธฯ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาฎีกาไปแล้ว และพยานไม่ได้มีการส่งรายการอาวุธไปตรวจสอบเลขทะเบียน รวมถึงพยานไม่ได้มีการตรวจกล้องวงจรปิด ลงตรวจสถานที่เกิดเหตุ ฯลฯ
คสช. ตั้งคณะทำงานฝ่ายความมั่นคง พยานมีตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวน
อัยการฝ่ายโจทก์เริ่มถามนำ โดยพ.ต.ท.ยุทธวัฒน์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานมียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 2 กองปราบปราม มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา
ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายจุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานสืบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งพยานทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนร่วมกับ พ.ต.ท.ชัยวุฒิ เกียรติก้องกำจาย
พยานเบิกความว่า ตนทราบว่าเหตุคดีนี้เกิดในวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.00 น. ที่หมู่บ้านพฤกษา บี ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ขณะที่พยานทำหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน พันเอกวิจารณ์ จดแตง (ยศในเวลานั้น) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์จำเลย พร้อมนำของกลาง 9 รายการ มาส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน พยานจึงได้ทำการสอบปากคำพันเอกวิจารณ์ ได้ความว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการซักถามจำเลยระหว่างที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ส่วนจำเลยได้ยอมรับว่ามีของกลางดังกล่าวอยู่ที่หมู่บ้านพฤกษา บี เมื่อนำกำลังไปตรวจสอบก็พบของกลาง จึงเดินทางมาแจ้งความกับตำรวจ
ต่อมาพยานได้จัดทำบัญชีของกลางเอาไว้ที่ผู้กล่าวหานำมาส่ง จำเลยเป็นผู้นำชี้ และพยานได้ทำการลงบันทึกประจำวัน ก่อนจะสอบปากคำจำเลยเพื่อลงในบันทึกคำให้การ
นอกจากนี้พ.ต.ท.ยุทธวัฒน์ยังได้ทำการสอบ ร้อยโท ณัฐภัทร สีเชียงสา หนึ่งในคณะทำงานที่ลงพื้นที่เกิดเหตุตรวจสอบอาวุธ และเมื่อพยานได้ของกลางมา ก็ได้มีการส่งรายการอาวุธให้แก่กองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดเพื่อทำการตรวจสอบ
ในระหว่างนั้นไม่มีหน่วยงานใดติดต่อมาที่พยานเพื่อรับว่าเป็นเจ้าของของกลาง โดยในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล อีกทั้งในบันทึกสอบปากคำจำเลยยังไม่ลงลายมือชื่อเช่นกัน
พยานรับส่งฟ้อง โดยไม่ได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ และไม่ทราบรายการอาวุธตรงกับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว
ต่อมาทนายความฝ่ายจำเลยขึ้นถามค้าน โดยพ.ต.ท.ยุทธวัฒน์เบิกความตอบทนายความว่า ขณะที่พันเอกวิจารณ์ จดแตง เข้าแจ้งความ พยานทราบว่าระหว่างนั้นได้มีการนำตัวจำเลยไปดำเนินคดีในอีกคดี ที่สน.ลุมพินี โดยพยานรับว่ารายการอาวุธที่ใช้ในการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นรายการเดียวกันกับเอกสาร จ.5 ซึ่งเป็นบันทึกขอส่งวัตถุระเบิด และเครื่องยิงลูกระเบิด เพื่อตรวจพิสูจน์ แต่พยานไม่ทราบว่ารายการอาวุธดังกล่าวถูกนำมาในคดีที่มีคำพิพากษาไปถึงที่สุดไปแล้ว โดยศาลอาญากรุงเทพใต้
ในประเด็นถัดมา พ.ต.ท.ยุทธวัฒน์รับว่าในระหว่างการสอบสวนผู้แจ้งความ คือพันเอกวิจารณ์ พยานไม่ได้รับผลการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายจำเลยระหว่างการซักถาม และไม่ได้รับวีดีโอขณะซักถามจากพันเอกวิจารณ์ ซึ่งหลังจากการสอบปากคำพ.อ.วิจารณ์ให้การว่าไม่ได้ส่งรายการอาวุธให้หน่วยงานที่มีอำนาจในการตรวจทะเบียนอาวุธ ทำให้คดีนี้ไม่มีผลตรวจทะเบียนอาวุธ อีกทั้งไม่มีการส่งอาวุธของกลางไปเพื่อตรวจหา DNA หรือลายนิ้วมือ และไม่ได้ลงตรวจที่เกิดเหตุ
พ.ต.ท.ยุทธวัฒน์เบิกความตอบทนายความอีกว่า ตนไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสถานที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจว่าของกลางถูกซุกซ่อนอยู่บริเวณใด หรือเรียกตัวชาวบ้านละแวกดังกล่าวเพื่อมาสอบปากคำ
หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งโจทก์แถลงขอเลื่อนสืบพยานในวันที่ 22 ก.พ. 62 เป็น 14 พ.ค. 62 โดยศาลจะพิจารณาตัดพยานโจทก์อีก 1 ปากเพื่อนักสืบจำเลยต่อไปในนัดหน้า
ความเป็นมาของคดี
ก่อนหน้านี้ มีการสืบพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร คือ พลโทวิจารณ์ จดแตง หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้แจ้งความกล่าวโทษ และสืบพยานผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจค้นอาวุธและส่งรายการอาวุธฯ แก่พนักงานสอบสวน คือ ร.อ.ณัฐภัทร ศรีเชียงสา ซึ่งขึ้นเบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า ตอนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 9 ก.ค.57 โดยเข้าร่วมค้นบ้านพักที่มีอาวุธ คือบ้านของนายชัชวาล ปราบบำรุง ก่อนจะมีการตั้งข้อหามีอาวุธและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครอง
ร.อ.ณัฐภัทร ให้การว่าเมื่อพบอาวุธดังกล่าว ได้มีการทำบันทึกการตรวจค้นส่งให้ พันเอกวิจารณ์ จดแตง (ยศในขณะนั้น) หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้มีการนำจำเลยออกจากพื้นที่เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยพยานโจทก์ทราบว่ามีจำเลยถูกควบคุมตัวมาจากจังหวัดเชียงรายตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 61 แต่ไม่ทราบว่าจำเลยถูกควบคุมตัวไว้ที่ใด
กรณีการตรวจค้นอาวุธ พยานให้การว่าจำเลยได้นำชี้ที่ซุกซ่อนอาวุธไว้ในบริเวณหมู่บ้านพฤกษา บี แต่พยานยืนยันไม่ได้ว่าอาวุธทั้ง 9 รายการที่ถูกตรวจยึดได้ในวันเกิดเหตุ เป็นรายการเดียวกันกับรายการอาวุธที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่: คดี ‘ชัชวาล’ ชุดจับกุมรับรายการอาวุธตรงกับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว)