สมัชชาคนจนบึงกาฬยืนยันใช้เสรีภาพการชุมนุม ชี้คำสั่งห้ามชุมนุมของตำรวจไม่ชอบด้วย กม.

7 ก.พ. 62 กลุ่มสมัชชาคนจนจังหวัดบึงกาฬยืนยันใช้เสรีภาพจัดการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหากรณีที่สาธารณประโยชน์หนองกุดทิงและหนองบะหล่มทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ต.โนนสมบูรณ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ หลังตัวแทนของกลุ่มฯ เข้าแจ้งการชุมนุมกับสถานีตำรวจภูธรเมืองบึงกาฬ (สภ.เมืองบึงกาฬ) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 62 แต่ผู้กำกับการ สภ.เมืองบึงกาฬกลับ มีคำสั่ง “ห้ามชุมนุม” อ้างการชุมนุมรบกวนการปฏิบัติงานหรือใช้บริการหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 8(1)  พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และผู้ชุมนุมมีเจตนาไม่สุจริต ต้องการชุมนุมให้ยาวนาน

ภาพเตรียมการชุมนุมในเช้าวันที่ 7 ก.พ. 62 (จากเพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor)

ทั้งนี้ ในการแจ้งการชุมนุมเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 62 นั้น มีตัวแทนกลุ่มฯ รวม 14 คน เข้าแจ้งการชุมนุมคนละ 2 วัน  เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 ของวันที่ 7 ก.พ. 62 ต่อเนื่องกันไป ระบุสถานที่ชุมนุมบริเวณศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน มีการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์รวม 13 คัน มีการใช้เครื่องเสียงและลำโพง รวมทั้งธงและป้าย

ต่อมา วันที่ 6 ก.พ. 62 พ.ต.อ.อนุกูล ดาวลอย ผกก.สภ.เมืองบึงกาฬ ได้ตอบกลับเป็นคำสั่ง “ห้ามชุมนุม” ระบุว่า การแจ้งการชุมนุมสาธารณะเป็นการแจ้งขอชุมนุมแบบต่อเนื่องรายละ 2 วัน รวม 30 วัน เป็นการชุมนุมต่อเนื่องและยาวนาน อีกทั้งเป็นเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบสิทธิ และรอคำสั่งศาลปกครอง ประกอบกับสถานที่ชุมนุมเป็นศูนย์ราชการและเป็นสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ในการชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียง เป็นการรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา 8(1) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และเป็นช่วงระยะเวลาของการประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.อาจมีบุคคลผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้นได้ จึงมีคำสั่ง “ห้ามชุมนุม”

นอกจากนี้ ในบันทึกประจำวันของ สภ.เมืองบึงกาฬยังระบุด้วยว่า พ.ต.อ.อนุกูล ดาวลอย เห็นว่า การแจ้งการชุมนุมแบบต่อเนื่องรายละ 2 วัน ส่อเจตนาที่ไม่สุจริต ต้องการชุมนุมให้ยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนฯ เห็นว่า คำสั่งห้ามชุมนุมดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เนื่องจากกลุ่มฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะจัดการชุมนุมที่กีดขวางทางเข้าออกศาลากลางจังหวัด หรือรบกวนการปฏิบัติงานและการใช้บริการ อีกทั้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ  ผกก.สภ.เมืองบึงกาฬ ผู้รับแจ้งการชุมนุม ไม่มีอำนาจห้ามการชุมนุมในขั้นตอนนี้ ตัวแทนกลุ่มฯ จึงได้ทำหนังสือถึง ผกก.สภ.เมืองบึงกาฬอีกครั้งในเย็นวันที่ 6 ก.พ. 62 เพื่อยืนยันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของตนเอง

หนังสือดังกล่าวระบุว่า  ยังไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีเจตนาหรือพฤติการณ์ที่จะจัดการชุมนุมในลักษณะกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ จึงยังไม่เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบตาม[simple_tooltip content=’มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน
หรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
(1) สถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ
(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ
(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด’]มาตรา 8 (1) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ[/simple_tooltip] นอกจากนี้ หากผู้รับแจ้งการชุมนุมเห็นว่า การชุมนุมที่มีการแจ้งอาจขัดต่อมาตรา 8(1) ดังกล่าว ต้องมีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด และหากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ผู้รับแจ้งจึงจะมีคำสั่งห้ามชุมนุมได้ โดยทำเป็นหนังสือถึงผู้แจ้งการชุมนุม [simple_tooltip content=’มาตรา 11 เมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้ผู้รับแจ้งส่งสรุปสาระสําคัญในการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้แจ้งทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง
ในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ให้ผู้รับแจ้งมีคําสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กําหนด
หากผู้แจ้งการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามวรรคสอง ให้ผู้รับแจ้งมีคําสั่งห้ามชุมนุมโดยแจ้งคําสั่งเป็นหนังสือไปยังผู้แจ้ง
กรณีผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นชอบด้วยกับคําสั่งตามวรรคสามให้ยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้รับแจ้งขึ้นไปหนึ่งชั้น และให้ผู้รับอุทธรณ์วินิจฉัยและแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงคําวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นให้เป็นที่สุด
ในระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้งดการชุมนุมสาธารณะ’]ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ[/simple_tooltip] ดังนั้น คำสั่งห้ามชุมนุมของ ผกก.สภ.เมืองบึงกาฬ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมก่อน

หนังสือของตัวแทนกลุ่มฯ ยังชี้แจงด้วยว่า การชุมนุมที่จะจัดขึ้นตามที่มีการแจ้งนั้นไม่ได้จัดบริเวณทางเข้าออกศาลากลาง ทั้งการใช้เครื่องขยายเสียงก็อยู่ในระดับเสียงตามที่กฎหมายกำหนด จึงย่อมไม่เป็นการรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และประชาชนย่อมใช้บริการได้ตามปกติ จึงขอยืนยันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามที่ได้แจ้งการชุมนุมแล้ว หากเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการใดที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หรือกฎหมายอื่นๆ หรือมีการสลายการชุมนุม ผู้แจ้งการชุมนุมจะขอใช้สิทธิดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือเป็นกระทำละเมิดต่อกลุ่มชาวบ้าน

ทั้งนี้ เพจ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor ยังระบุด้วยว่า ขณะตัวแทนกลุ่มฯ ไปยื่นหนังสือยืนยันสิทธิการชุมนุม ผกก.สภ.เมืองบึงกาฬ ไม่ออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง และสั่งให้ร้อยเวรห้ามเซ็นรับหนังสือ ตัวแทนกลุ่มฯ จึงลงบันทึกประจำวันไว้ว่าได้มาส่งหนังสือ พร้อมทั้งได้ส่งหนังสือผ่าน sms ไปถึง ผกก. แล้วด้วย

X