คดีฉีกบัตรประชามติ นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 15 ส.ค. 61

 

15 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 3 นักกิจกรรม “ฉีกบัตรประชามติ” ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งสามฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน แต่ลงโทษ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ ฐานทำลายบัตรออกเสียง และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ปรับ 4,000 บาท จำคุก 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้ อัยการจังหวัดพระโขนงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การฉีกบัตรประชามติของจำเลยที่ 1 คือ ปิยรัฐ เป็นการทำความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และการกระทำของจำเลยทั้งสาม คือ ปิยรัฐ, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3 ที่ปิยรัฐตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยมีจิรวัฒน์และทรงธรรมบันทึกภาพและภาพเคลื่อนไหว ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ ไม่ใช่การต่อต้านโดยสันติวิธี จึงเป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  มาตรา 60 ด้วย

ขณะที่ทางฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะกรณีของปิยรัฐ โดยเห็นว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติมีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ไม่ใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งกฎหมายทั่วไป คือ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จึงขัดต่อหลักกฎหมายในกรณีที่มีความผิดระบุไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะ ให้ลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น รวมถึงขออุทธรณ์โทษจำคุกเป็นรอการกำหนดโทษไว้ก่อน

นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยยังแก้อุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เนื่องจากมีแนวคำพิพากษาฎีการะบุไว้ว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายลงไปยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้รบกวนการใช้สิทธิออกเสียงของบุคคลอื่น การลงประชามติยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงเช่นกัน

 

X