“วิจิตร”: เมื่อเด็กชายในสงครามคอมมิวนิสต์ ผู้สร้างโบสถ์วิหาร ต้องเผชิญคดีการเมือง

เส้นแบ่งพรมแดนที่ลากระยะทางจากอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยังชายแดนสายตะกู-จุ๊บโกกี จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ระยะทางเพียง 15 กิโลเมตร คือพื้นที่แห่งชีวิตที่ “วิจิตร” (นามสมมติ) ได้ถือกำเนิดขึ้น ในครอบครัวที่ครั้งหนึ่งเคยมีฐานะพอกินพอใช้ แต่ทว่าได้ทรุดโทรมลงหลังจากที่พ่อของเขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยสีสันและความขัดแย้ง

ชีวิตในวัยเยาว์ของวิจิตรไม่ได้มีเพียงความยากไร้ที่ต้องเผชิญ แต่ยังต้องอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่แทรกซึมเข้ามาในทุกอณูของการใช้ชีวิต ช่วงปี 2518 ขณะอายุ 9 ปี ดินแดนชายแดนไทย-กัมพูชา กลายเป็นสมรภูมิที่รุ่มร้อนของสงครามอุดมการณ์ ที่ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยร่วมกับกัมพูชา (เขมรแดง) ทำการต่อสู้กับกำลังของรัฐบาลไทย

ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เสียงปืนและเสียงระเบิดกลายเป็นเสียงปลุกยามเช้าที่คุ้นชิน ภาพของหมู่บ้านที่ถูกเผา หรือบ้านที่ร้างผู้คนเพราะหนีภัยสงคราม กลายเป็นภาพจำที่เขาต้องเติบโตมาด้วย ในขณะที่เด็ก ๆ ที่อื่นได้วิ่งเล่นอย่างไร้กังวล วิจิตรและเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านกลับต้องเรียนรู้ที่จะระวังไม่เหยียบกับระเบิดที่วางดักไว้ตามเส้นทาง บ้านของวิจิตรและครอบครัวจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันประเทศที่มีชีวิตประจำวันผสมผสานกับการเฝ้าระวังภัยคุกคาม

จนกระทั่งปี 2525 เมื่อสถานการณ์เริ่มสงบลง อำเภอบ้านกรวดค่อย ๆ ได้รับการพัฒนาตามลำดับ แต่บาดแผลและรอยแผลเป็นทางจิตใจยังคงอยู่ วิจิตรเติบโตขึ้นมาพร้อมกับคำถามมากมายเกี่ยวกับความยุติธรรม อำนาจรัฐ และอิสรภาพ

เด็กชายที่เติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ได้เห็นทั้งความรุนแรงและความเสียสละของผู้คนเพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อ เดินทางผ่านชีวิตสมณเพศเกือบสองทศวรรษ ออกมาทำงานรับเหมาก่อสร้างโบสถ์วิหารให้วัด ก่อนในวัย 59 ปี นี้ จะกลายมาเป็นจำเลยคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ข้อความ เพียงเพราะต้องการระบายความอัดอั้นจากเหตุทางการเมืองยุคทหารครองอำนาจช่วงปี 2557-2558 ที่ส่งผลเสียต่อการงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตอยู่

วิจิตรถูกตำรวจเข้าจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ตามหมายจับของศาลอาญา ที่สร้างความฉงนให้เขากับครอบครัวพอสมควร เพราะเรื่องราวที่โพสต์เกิดขึ้นเมื่อ 8-9 ปีก่อนหน้า เมื่อถูกแจ้งข้อหาและได้รับการประกันตัวในภายหลัง  

จากเดิมที่ต่อสู้คดี ภายหลังในชั้นศาล วิจิตรตัดสินใจให้การรับสารภาพ เพราะอยากให้เรื่องราวจบลงโดยเร็วไว พร้อมคำยืนยันหนักแน่นว่า “ผมทำจริงครับ ทั้งหมดเนี่ยแหละ ผมทำเองทั้งนั้นเลย แต่ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่ผมทำเนี่ยมันจะทำให้ความมั่นคงของประเทศนี้ต้องมีอะไร” 

18 มี.ค. 2568  วิจิตรเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นไป ศาลอาญาเพื่อฟังคำพิพากษา โดยศาลอ่านคำพิพากษาระบุวิจิตรมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 10 กรรม เป็นจำคุก 20 ปี ให้การรับสารภาพ มีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา 

หลังจากยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันตัว เป็นผลให้วิจิตรถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่ง

.

ห้วงเวลาแห่งสงครามและคอมมิวนิสต์

“ผมเคยเห็นคนที่โดนอาวุธทั้งกับระเบิด ทั้งปะทะกัน ร่างแหลกกระจาย เก็บใส่ถุงพลาสติกหิ้วมาเผากัน ผมเห็นจนชินตา”

ในพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง เท่าที่วิจิตรประเมินที่นี่มีผู้คนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ที่เป็นคอมมิวนิสต์ ในยุคที่การสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐและผู้ร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ยังคงรุนแรง

“ทหารเข้ามากี่คน คอมมิวนิสต์รู้หมด” เสียงเล่าของคนที่เติบโตท่ามกลางความรุนแรง สะท้อนถึงความได้เปรียบของผู้รู้ภูมิประเทศ “ช่วงเวลานั้นชาวบ้านเขาพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เลย เจ้าหน้าที่รัฐเป็นเหมือนเจ้านาย ชาวบ้านถูกมองว่าต่ำต้อย” วิจิตรกล่าวไว้อีกตอน

ภาพที่จดจำไม่ลืมคือวันที่กระสุนปืนใหญ่ตกใส่บ้านเรือนผู้คน “เพื่อนผมตายยกครัว กำลังนั่งกินข้าวอยู่ ลูกปืนใหญ่ตกใส่” ความทรงจำเหล่านี้หล่อหลอมให้เขาเกลียดความรุนแรงและความอยุติธรรม

“ผมเห็นสภาพศพทั้งตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งทหารพราน ทั้งอะไรโดนกับระเบิด ร่างแหลกราญ โอ้โห ลูกหลานเราทั้งนั้น” เสียงที่เล่าถึงความสูญเสีย ไม่ได้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่มองเห็นความเป็นมนุษย์ร่วมกัน

ถึงที่สุดหลังจากสงครามยุติลง ภาพที่ยังคงติดตาคือ “คนหิ้วศพมาเผาในถุงพลาสติกใหญ่ ๆ แขนขาขาดกระเด็น”  ในเวลานั้นความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างรัฐกับผู้ที่ถูกเรียกว่า “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ยิ่งเพิ่มความเกลียดชังให้หนักขึ้น

จนกระทั่งมีนโยบายของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เรียกคนที่อยู่ในป่ามาพูดคุย จึงเกิดการจัดสรรที่ดินนิคมสร้างตนเอง ให้คนที่เรียกว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ได้มีที่ทำกิน ได้บ้าน ได้วัวควาย สงครามจึงจบลง

“ที่ผมเรียนรู้จากสงคราม คือ หนึ่ง ความสามัคคีสำคัญที่สุดในความเป็นรัฐ  สอง ความสามัคคีเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดหลักนิติธรรมแห่งรัฐ”  วิจิตรอธิบายอีกว่าความยุติธรรมต้องมาก่อนความสามัคคี และความเจริญตามมาจากความสามัคคี

ปัจจุบัน แม้ต้องเผชิญกับคดีที่อาจต้องโทษจำคุกยาวนาน แต่สิ่งที่เขาห่วงไม่ใช่ตัวเอง แต่เป็นครอบครัวและงานที่ยังค้างคาอยู่ “คุณจะพิพากษาผมจำคุก 200 ปี ผมก็ไม่ห่วงตัวเอง แต่ห่วงลูก ห่วงครอบครัว และห่วงงานที่กำลังทำค้างอยู่” ประสบการณ์ชีวิตจากดินแดนแห่งสงคราม ได้สอนให้เขารู้ว่า ไม่ชอบความรุนแรง เพราะความรุนแรงคือความสูญเสีย คนไทยด้วยกัน ทำไมไม่คุยกัน

.

16 ปี ในร่มกาสาวพัสตร์

เมื่อวิจิตรเติบโตพ้นวัยเด็ก หลังจากจบชั้น ป.4 ชีวิตของเขาก็เริ่มต้นกับการทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ย้ายไปช่วยพ่อแม่รับจ้างในไร่มันที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะกลับมาช่วยปู่เลี้ยงควายอยู่ 2-3 ปี

จุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อเขาได้บวชเป็นสามเณร นับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ที่ยาวนานถึง 16 ปี โดยเป็นสามเณรอยู่ 7 ปี และเป็นพระภิกษุอีก 9 ปี ชีวิตในร่มผ้าเหลืองเป็นเส้นทางของการศึกษาเล่าเรียนทางธรรม

เขาเริ่มต้นบวชที่บ้านเกิด ในตัวอำเภอบ้านกรวด สอบได้นักธรรมชั้นโทที่นั่น ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อที่วัดพร้อมโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ในปี 2524  ก่อนปีถัดมา จะย้ายมาที่พิจิตร และสอบได้เป็นมหา ประโยค 2-3 ที่นี่ จนสอบประโยค 4 ผ่าน ก็ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนในนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่วัดนิมมานรดี เขตบางแค และสอบจนได้ประโยค 7 

“ผมได้รับพัดยศจากในหลวง ร.10 องค์ปัจจุบันเนี่ย ตอนนั้นท่านเป็นพระบรมโอรสาธิราช เป็นฟ้าชาย นี่แหละคือที่เราได้คิดถึงท่านเวลาเห็นหน้าท่านเนี่ย เรานึกถึงความสัมพันธ์ที่ท่านเมตตากับผม ตั้งแต่ผมเป็นเณร” วิจิตรเล่าด้วยแววตาที่เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ

เมื่ออายุ 30 ปี วิจิตรตัดสินใจลาสิกขา ด้วยคำถามที่มาจากเพื่อนพระรูปหนึ่งที่เคยบวชด้วยกัน และได้สึกออกไปเป็นครูที่ศรีสะเกษ “ท่านมหา ท่านจะเอายังไงกับชีวิต” คือคำถามที่เพื่อนถามเขา 

“ถ้าเกิดว่าผมศรัทธาในศาสนามั่นคงอยู่ในผ้าเหลืองอยู่อย่างนี้ เขาอนุโมทนาด้วย นิมนต์อยู่เป็นเจ้าคุณเลย ช่วยศาสนาไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองจะได้อยู่ตลอด ปีนี้อายุ 30 แล้วนะ เราอายุเท่ากัน สึกได้แล้ว เพราะชีวิตมันมีเวลา ถ้าเราไปสึกตอนอายุ 50 มันจะทำอะไรไม่ได้”

นี่คือคำพูดที่กระตุกความคิดของวิจิตร เปรียบดั่งการเข้าป่าดงในภาษาเขมรบ้านเกิดของเขา “ต้องไปแต่เช้า ถ้าเข้าตอนเที่ยงตอนบ่าย แล้วเข้าไปได้ไม่ไกล พอมืดก็ต้องกลับบ้าน อาจจะไม่ได้อะไรกลับมา”

หลังจากสึกออกมา วิจิตรเริ่มต้นชีวิตด้วยการทำงานเป็นยามที่โรงงานขนมปังของบริษัทเจ้าดัง และต่อมาก็ไปขายหมูที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แต่ในใจลึก ๆ เขาแอบฝันถึงการได้ทำงานที่ตนรัก นั่นคืองานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นความฝันที่มีมาตั้งแต่เด็ก

“มันเริ่มจากตั้งแต่เกิดนั่นแหละ” วิจิตรเล่า “ผมเนี่ย ตอนเด็ก ๆ จะไปหากิ่งไม้มาทำบ้าน มาสร้างตึกสูง ๆ เป็นหลาย ๆ ชั้น หากระดาษลังมาทำ มันมีมาตั้งแต่วิญญาณ และตั้งแต่เกิด ไอ้ความรักงานวิศวะ สถาปัตย์”

ย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นพระ วิจิตรได้ดูแลเด็กวัดหลายคนที่มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม ที่ซึ่งเขาไปสอนวิชาพุทธศาสนา เด็กเหล่านี้หลายคนเติบโตขึ้นมาเป็นวิศวกรและสถาปนิก

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2551 เมื่อวิจิตรได้กลับไปเยี่ยมลูกศิษย์คนหนึ่งที่จบวิศวกรรมและทำงานอยู่กับบริษัทที่ผลิตเหล็กกันสนิม โครงสร้างเหล็กขาว “พอได้คุยกับเขาเท่านั้นแหละ สิ่งที่มันอยู่ในใจมันก็ปิ๊งออกมาเลยว่า เราเนี่ยบวชนานแล้ว ได้เห็นปัญหาการก่อสร้างของหลวงพ่อเยอะมาก คือหลังคารั่ว โบสถ์ วิหาร ศาลารั่ว นี่ปัญหาใหญ่โตมาก ถ้าเราเอาเหล็กตัวนี้ไปเสนอขายให้หลวงพ่อ น่าจะทำให้ธุรกิจไปได้”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้างของวิจิตร โดยเฉพาะการสร้างโบสถ์วิหารของวัด แม้จะเป็นเส้นทางที่ยากลำบากในช่วงแรก แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ธุรกิจของเขาก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น จนกระทั่งเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการเมืองในเวลาต่อมา

.

ในช่วงเผด็จการที่กิจการรับเหมาฯ เซาซบ 

“ผมทั้งหางานเอง พรีเซนต์งานเอง ทั้งตรวจงาน ออกแบบ เขียนแบบเอง” ด้วยผ่านประสบการณ์ทั้งทางโลกทางธรรม เมื่อไปจับงานรับเหมา เขาได้รับการยอมรับในผลงานการออกแบบและสร้างอาคารในวัดกว่า 200 หลัง อาจถึง 300 หลัง นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กระทั่งเริ่มส่อเค้าลางวิกฤตช่วงหลังรัฐประหาร 2557 

ยิ่งเมื่อโดนคดีความ งานสร้างโบสถ์ วิหาร ที่คาอยู่ยังมีอีกหลายที่ หากเขาสะดุด จะไม่มีใครมาต่อมือได้ “สมมติผมสะดุดปุ๊บ มันไม่มีใครต่อ มันต่อมือไม่ได้ แต่ถ้าไปสร้างบ้านอย่างนี้นะ ใครก็ทำได้” ความเชี่ยวชาญชนิดนี้ไม่อาจถ่ายทอดได้ในชั่วข้ามคืน 

วิจิตรบอกว่า เขาเริ่มสนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองจากช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 โดยเฉพาะการสลายการชุมนุมจนมีประชาชนเสียชีวิต และไม่มีผู้รับผิดชอบ ทำให้เขาเกิดคำถามต่อการเมืองไทย แม้ไม่เคยไปร่วมการชุมนุมที่ไหนก็ตาม 

เมื่อเกิดการรัฐประหารครั้งที่ทหารอยู่ในอำนาจยาวอย่างช่วงปี 2557 งานที่เขาได้เคยตกลงกันไว้กับผู้ว่าจ้างต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ และการจ้างคนงานอีกหลายชีวิตในงานก่อสร้าง ปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ยังถูกซ้ำเติมจากการระบาดของโควิด-2019 จนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เขาสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง “ตอนนี้ผมงานน้อย ยกตัวอย่างสมัยก่อนโยมขาวช่วยเสาโบสถ์หลังนึงนะ ต้นนึงนะ 50,000 ‘ได้เลยหลวงพ่อ’ โยมเขียวช่วยหน้าต่างช่องนึงนะ เท่าไหร่หลวงพ่อ? ‘80,000’ ‘โอ๊ะได้เลยครับ’”  ภาพของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

แต่ปัจจุบัน “หลวงพ่อบอกว่า อย่าว่าแต่ไปหาเจ้าภาพเป็นแสนเป็นหมื่นเลย หาแต่ปูน 20 ลูกนี่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้เลย” ภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งเขามองว่ามีสาเหตุจากความไม่มั่นคงทางการเมือง

ในมุมมองของชายวัย 59 ปี  “ตอนเนี้ยคือประเทศเรา ไม่ใช่ประเทศที่สร้างนวัตกรรมด้วยตัวเอง เราอาศัย innovation จากต่างชาติที่เขามาลงทุน” เขาวิเคราะห์ว่า เมื่อนักลงทุนถอนทุนกลับ พวกเขาเอาเทคโนโลยีและความรู้กลับไปด้วย ไม่ได้ถ่ายทอดให้คนไทย

ยิ่งความไม่มั่นคงทางการเมือง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุน “ที่นี้เมื่อนักลงทุนเหล่านี้ เขาเจอกฎอัยการศึก เขาจะอยู่เหรอ เดี๋ยวกฎอัยการศึก เดี๋ยวก็รัฐประหาร”  ความเปรียบเทียบที่เขาให้คือ ประเทศที่พัฒนาขึ้นอย่างอินโดนีเซีย เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังจากทหารถอนตัวออกจากอำนาจ “คนที่ไปอินโดนีเซียบอกว่า คุณต้องไปดู เขาเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว”

“ประชาธิปไตยสำคัญมาก” เขากล่าว “FDI (การลงทุนจากต่างประเทศ) มันก็ดี เงินก็สะพัด ถ้าการเมืองไม่ดี ก็แห่กันหนีไปหมด” ความเชื่อที่ว่าการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมั่นคงจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เป็นสิ่งที่คนทำงานในวงการก่อสร้างมาหลายปีรับรู้ได้ 

.

วันตกเป็นผู้ต้องหา พ.ร.บ.คอมฯ

เช้าวันหนึ่งของเดือนกันยายนปี 2566 ขณะกำลังจะก้าวออกจากบ้านในตัวเมืองขอนแก่น เมืองที่เขาปักหลักใช้ชีวิตทำงานและดูแลครอบครัว โดยเฉพาะลูกที่กำลังอยู่ในวัยมหาวิทยาลัยถึง 3 คน  วันนั้นชีวิตที่เคยเป็นปกติกลับพลิกผันในพริบตา เมื่อรถตู้คันหนึ่งแล่นเข้ามาจอดที่หน้าหมู่บ้าน ชายหลายคนในชุดที่ทำให้ภรรยาของเขารู้สึกแปลก ๆ ก้าวลงมา

“มีคนมาหา แต่ไม่รู้ว่าเขาจะเอาอะไร”  ภรรยาโทรบอกเขา ในเวลานั้นวิจิตรไม่ได้คิดจะหนี เขาเปิดประตูให้พวกเขาเข้ามา กระทั่งได้รู้ว่าตัวเองมีหมายจับของศาลอาญาในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ออกตั้งแต่ปี 2561 โดยเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน กล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2557-2558 ข้อความที่เขาเองก็ลืมไปแล้ว โดยพบว่าโพสต์ต่าง ๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารในขณะนั้น และมีบางโพสต์พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์

“ไม่รู้ว่าตัวเองมีคดีมา 8 ปี” วิจิตรเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผสมปนเประหว่างความงุนงงและการยอมรับ “ตอนนี้ปี 68 ครบ 10 ปีพอดี”

ย้อนกลับไปในปี 2558 ชีวิตของวิจิตรอยู่ในช่วงวิกฤต เขาเผชิญกับปัญหาหนี้สินมหาศาล 30-40 ล้านบาท เจ้าหนี้โทรมาทวงหนี้ทั้งวันทั้งคืน บ้านที่กรุงเทพฯ มีหมายศาลมาปิดเพื่อยึดทรัพย์ ทรัพย์สินที่ลงทุนกับหุ้นส่วนถูกธนาคารยึด “ผมเกือบฆ่าตัวตายนะตอนนั้น”  วิจิตรเล่าด้วยแววตาที่หม่นหมอง 

“ลูกน้องโทรมาบอกว่าได้ตังค์มายังพี่ จะตายแล้ว ลูกน้องมันจะฆ่าผมนะ” ภรรยาของเขาเสริมว่า “อาจจะฆ่าตัวตายไปแล้วก็ได้ ถ้าไม่ได้บวชมาก่อนนะ ไม่ใช่แค่ปากท้องครอบครัวตัวเองเลย ทั้งลูกน้อง ทั้งหลายอย่าง” ในความเครียดและความสิ้นหวัง วิจิตรได้ระบายความในใจผ่านการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ข้อความที่เขาไม่เคยคิดว่าจะกลายเป็นคดีความร้ายแรงในภายหลัง 

วันที่ถูกจับกุม เขากล่าวกับเจ้าหน้าที่ด้วยความสงบ “คุณไม่ต้องลำบากขนาดนี้หรอก คุณแค่มีสักคนนึงมาบอกผม ผมก็ไปหาได้แหละ ไม่ต้องมาผมไม่ใช่เป็นฆาตกร ชีวิตนี้ไม่เคยมีอาวุธ ชีวิตนี้ไม่เคยมีปืน ผมเกลียดชังความรุนแรง” 

เขาถูกนำตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น จากนั้นจึงถูกส่งตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่กรุงเทพฯ ต่อมาทราบว่าคดีของเขามี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เป็นผู้ไปกล่าวหาค้างเอาไว้

น่าแปลกที่วิจิตรไม่ได้รู้สึกกลัว แต่กลับรู้สึกว่าเหมือนกำลังเดินทางไปเที่ยว “ผมรู้สึกว่าเหมือนเขาพาผมไปเที่ยว บรรยากาศมันเป็นอย่างงั้นนะ” เขาเล่า “ผมก็นั่งสมาธิสบาย มันคือชีวิตเราเอง เราเห็นความตายมาเยอะจนผมปลงชีวิต” เขาใช้เวลาในห้องขังด้วยการสนทนาธรรมะกับเจ้าหน้าที่ 

กระทั่งหลังจากได้รับการประกันตัว วิจิตรตัดสินใจสารภาพในชั้นศาล “ผมทำจริงครับ ทั้งหมดเนี่ยแหละ ผมทำเองทั้งนั้นเลย แต่ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่ผมทำเนี่ย มันจะทำให้ความมั่นคงของประเทศนี้ต้องมีอะไร” 

เมื่อมองย้อนกลับไปที่ข้อความที่เขาโพสต์ วิจิตรอธิบายว่า “ผมยืนยันว่าผมยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่ผมต้องการจะเห็น” เขาเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์เหมือนต้นไม้ใหญ่ริมทางที่เคยให้ร่มเงาแก่ผู้คนในยุคที่การเดินทางยังใช้เกวียนวัว แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทางเล็ก ๆ ต้องขยายเป็นทางหลวง 

“เขาต้องการจะย้ายต้นไม้ออกจากที่นี้ไปไว้อีกที่นึง เพื่อไม่ให้มันเกะกะการจราจร แต่ไม่ยอมไป เนี่ยผมไม่เชื่อเขาไม่ต้องการจะโค่นล้มทิ้ง เขาต้องการย้ายต้นไม้ที่มีคุณค่าในประวัติศาสตร์ในอดีต”

ก่อนฟังคำพิพากษา วิจิตรมองความคาดหวังของตนเองอย่างสงบ “ความคาดหวังก็คือ 50/50” เขากล่าว พร้อมยืนยันว่าเขาจะไม่ทำอะไรที่ทำให้สถาบันฯ มัวหมองอีก 

“เราไม่จำเป็น คนแก่คนนี้ไม่จำเป็น เดี๋ยวจะ 60 แล้วปีนี้ เพราะรุ่นนี้เขารับไม้ต่อเราไปนานแล้ว ต่อไปไกลแล้ว” เขามองว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่มีความคิดที่แตกต่าง และการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

หากมีบทเรียนที่วิจิตรยากฝากถึงคนรุ่นหลัง นั่นคือ “สังคมไทยเราเป็นสังคมแห่งการประนีประนอม ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด บาลานซ์ถ่วงดุลกันอย่างงี้ได้ไหม เท่านี้ได้ไหม ประมาณนี้ได้ไหม อยากให้คนรุ่นใหม่เอาไปคิด”

X