ศาลยุติธรรมยอมรับการรัฐประหาร ให้ความเห็นคดีพลเมืองรุกเดินขึ้นศาลทหาร

1 เม.ย. 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลอาญาเรื่องเขตอำนาจศาล กรณีทนายจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลใน คดีของ ‘พ่อน้องเฌอ’ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จากกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ซึ่งศาลอาญามีความเห็นว่า คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ จากนั้นศาลทหารกรุงเทพได้อ่านคำฟ้องและสอบคำให้การ พันธ์ศักดิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 ก.ค. 2559

คดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 175 ก./2558  มีนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพเป็นจำเลยในคดี โดยถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพในความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการทำกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน ซึ่งทนายจำเลยเห็นว่า คดีดังกล่าวอยู่ในควรอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม จึงได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล เมื่อ วันที่ 5 พ.ย. 2558

เวลา 8.30 น. ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำวินิจฉัยของศาลอาญาในเรื่องเขตอำนาจ ตามคำวินิจฉัยที่ 1/2559 ลงวันที่ 29 ม.ค. 2559 โดยสาระสำคัญดังนี้

การที่ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทำให้ประกาศและคำสั่งที่ออกโดย คสช. มีสถานะเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทั่วไป ทั้งนี้ คสช. จำต้องเข้าควบอำนาจเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การประกาศห้ามนุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. ที่ 7/2557  ประกาศ คสช. ที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร  และประกาศ คสช. ที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบการหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ประกาศดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ ในระยะเวลาดังกล่าวได้มีประกาศกฎอัยการศึก แม้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ก็ตาม แต่ตามกติการระหว่างประเทศดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 4 ที่ให้รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีได้ในบางประการ คือ ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งรวมถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยรัฐภาคีจะต้องแจ้งการเลี่ยงพันธกรณีดังกล่าวให้แก่รัฐภาคีอื่นได้ทราบโดยยื่นเรื่องผ่านสหประชาชาติ

ในการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว ประเทศไทยโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว โดยไทยขอเลี่ยงพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเละสิทธิทางการเมืองบางประการ รวมถึงข้อ 14 (5) (สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม) เฉพาะส่วนที่ได้มอบหมายให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีแล้ว ดังนั้นประกาศ คสช. ที่ 7/2557, 37/2557 และ 38/2557 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเละสิทธิทางการเมือง

นอกจากนี้ ตามมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของ คสช. หรือ คำสังหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ามารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าประกาศหรือคำสั่งให้มีผลบังคับใช้ในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณีแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว อันเป็นการรับรองว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, 37/2557 และ 38/2557 ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฝ่าผืนประกาศ คสช. ที่  7/2557 กรณีการชุมนุมทางการเมือง และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  อันเป็นความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ที่ 37/2557 และ 38/2557  ศาลอาญาจึงมีความเห็นว่า คดีของจำเลยอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร

ทั้งนี้ ศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีของจำเลยอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อทั้งสองศาลเห็นพ้องกัน ศาลทหารกรุงเทพจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยคดีนี้อยู่ระหว่างนัดถามคำให้การจำเลย ศาลจึงถามคำให้การจำเลยวันนี้ โดยศาลได้อ่านคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยฟัง จำเลยได้ฟังแล้วให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 กรกฎาคม 2559

X