ครอบครัว ‘ไผ่’ ผิดหวัง หลังยื่นประกันครั้งที่ 5 ให้ไผ่ออกมาสอบ ศาลขอนแก่นไม่อนุญาต

ทนายความและครอบครัวยื่นประกัน ‘ไผ่’ ครั้งที่ 5 ขอความเมตตาศาลให้ ‘ไผ่’ ได้ออกมาสอบ โดยตั้งค่าส่วนตัวข้อความที่ศาลกังวลว่าประชาชนทั่วไปจะเห็น ศาลยังไม่อนุญาตปล่อย อ้างอิงคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่เคยมีคำสั่งไว้แล้ว ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง

pai1

13 ม.ค.60 ทนายความของ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์อีกเป็นครั้งที่ 5 (อ่านประมวลคดีก่อนหน้านี้ที่นี่ และที่นี่) โดยชี้เหตุผลความจำเป็นเรื่องการสอบ รวมทั้ง ได้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ชั่วคราว ไม่ให้คนทั่วไปเห็นข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีในระหว่างพิจารณาของศาล เพื่อให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยที่ผู้ต้องหาไม่กลายเป็นฝ่าย “ทำลาย” พยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม หลังการพิจารณาคำร้องของผู้พิพากษาเวรชี้ นายรุ่งอรุณ ชนะวีรวรรณ เป็นเวลากว่า 1 ชม. ผู้พิพากษามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ส่งผลให้ความพยายามของครอบครัวและทนายความในการขอประกันตัวให้จตุภัทร์ได้ออกมาสอบวิชาสุดท้ายเพื่อจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีในวันที่ 17-18 ม.ค. ที่จะถึงนี้ ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากการยื่นประกันตัวแล้ว ในช่วงเช้ากลุ่มพลเมืองโต้กลับมีกิจกรรม “หอบรักมาห่มไผ่ รถไฟช้ามาหานะเธอ” นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมและให้กำลังใจ ‘ไผ่’ ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น พบว่า มีกำลังเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย ไปรอสังเกตการณ์และถ่ายรูปที่สถานีรถไฟขอนแก่น และติดตามไปที่ทัณฑสถานฯ นอกจากนี้ มีกำลังทหารและสารวัตรทหารจากมณฑลทหารบกที่ 23 นำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รองหัวหน้ากองยุทธการ กว่า 10 นาย มาเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณด้านหน้าทัณฑสถานฯ ด้วย

pai2 

รายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ยื่นประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์มีดังนี้   

  1. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นและศาลอุทธรณ์เกรงว่า การที่ผู้ต้องหายังไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาออกจากหน้าเฟซบุ๊ก ทำให้หากมีประชาชนพบเห็น อาจจะเกิดภยันตรายหรือเหตุอื่นนั้น  คดีนี้พนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่าผู้ต้องหาโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีในเฟซบุ๊กด้วยตนเอง  ซึ่งความจริงผู้ต้องหาเพียงแค่แชร์บทความข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย เท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ทั้งสองต่างกันในเจตนา ซึ่งจะเป็นข้อต่อสู้ในทางคดี หากผู้ต้องหาลบข้อความนั้นไปจะเป็นการทำลายพยานหลักฐานที่สำคัญ อย่างไรก็ดี  ผู้ต้องหายอมรับในดุลพินิจของศาลฯ ที่กังวลต่อเรื่องนี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้ข้อความดังกล่าวล่วงรู้ถึงประชาชนทั่วไป  ผู้ต้องหายินดีปิดกั้นการเข้าถึงข้อความดังกล่าวไว้ชั่วคราวระหว่างพิจารณาของศาล  โดยตั้งค่าการเข้าถึงข้อความดังกล่าวให้เห็นได้เฉพาะเจ้าของบัญชี  และจะไม่มีการเปิดข้อความนั้นอีกจนกว่าจะถึงขั้นพิจารณาสืบพยานในชั้นศาล  ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาไม่กลายเป็นฝ่าย “ทำลาย” พยานหลักฐานไปเสียเอง ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ต่อสู้คดีตามสิทธิในกฎหมายอย่างเป็นธรรมอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ต้องหาได้แจ้งให้ทนายความดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงข้อความดังกล่าวแล้ว ปรากฏตามภาพถ่ายหน้าเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาที่แนบเป็นเอกสารท้ายคำร้อง
  2. ผู้ต้องหาพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขการกระทำของตน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคต่อกระบวนพิจารณาและเป็นอุปสรรคในระหว่างปล่อยตัวชั่วคราว หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง  ผู้ต้องหาให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่กระทำการใดๆ ทั้งในสื่อออนไลน์และในชีวิตประจำวันอันเป็นการขัดต่อเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดให้เป็นแนวปฏิบัติ  
  3. ผู้ต้องหามีความจำเป็นในการศึกษา โดยมีกำหนดสอบภาคบังคับเป็นวิชาสุดท้ายในภาคเรียนก่อนจบการศึกษาในวันที่ 17-18 ม.ค. นี้  ซึ่งแม้ว่าจะไม่เป็นเหตุจำเป็นทางกฎหมาย แต่ผู้ต้องหาขอความเมตตาจากศาล  ในการที่จะให้ผู้ต้องหาได้รับโอกาสในทางศึกษา อันจะเป็นวิชาชีพของผู้ต้องหาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวสืบไป  

และศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งดังนี้

พิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้ว เพราะหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล กรณีจึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เคยมีความเห็นทางกฎหมายต่อกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นไม่ให้ประกันจตุภัทร์ โดยอ้างอิงคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่เห็นพ้องกับคำสั่งถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่น และไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ว่า การอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นดุลพินิจของศาล ที่จะต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยหลักจะต้องอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่นน่าเชื่อถือเพียงพอตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น และแม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่หากมีการยื่นคำร้องใหม่ ศาลจังหวัดขอนแก่นก็มีดุลพินิจที่จะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเป็นอิสระ ไม่ผูกพันให้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเหมือนคำสั่งเดิมของศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ ซึ่งบัญญัติไว้ตอนท้ายว่า คําสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคําร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่  ซึ่งหากกฎหมายรับรองสิทธิในการยื่นประกันคราวใหม่ แต่ศาลยังยึดถือคำสั่งเดิมที่ได้เคยสั่งไว้แล้ว โดยไม่ได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลใหม่ ก็จะทำให้สิทธิของผู้ต้องหาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่มีผลในทางปฏิบัติ

 

X