รับรองทหารมีอำนาจควบคุมตัวเต็มที่ ศาลอาญาวางโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาทกรณี ฮ.กองทัพภาค 3 ตก

รับรองทหารมีอำนาจควบคุมตัวเต็มที่ ศาลอาญาวางโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาทกรณี ฮ.กองทัพภาค 3 ตก

8 ธ.ค. 2559 ศาลอาญาพิพากษาคดีหมิ่นประมาทผู้ตายของธนพร อุดมสิน ที่ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีที่เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพภาคที่ 3 ตกที่ จ.พะเยา มีนายทหารเสียชีวิตรวม 9 นาย  ให้จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี โดยวินิจฉัยให้การควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกของทหารชอบด้วยกฎหมาย แม้ความผิดของธนพรจะไม่ใช่ความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กฎอัยการศึกก็ตาม

Thanaphorn

เหตุแห่งคดี

17 พ.ย. 2557 เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพภาคที่ 3 ตกที่ จ.พะเยา มีนายทหารเสียชีวิตรวม 9 นาย ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน และสำนักข่าวออนไลน์ ธนพร อุดมสิน พนักงานธนาคาร ซึ่งเคยอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เคยเห็นทหารยิงใส่ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจนเป็นภาพติดตา และตัวเข้าเองถูกกระสุนยางยิงใส่จนเป็นแผลเป็น ได้แชร์ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์พร้อมแสดงความเห็นว่า “เสียดายตายแค่เจ็ดน่าจะตายสักห้าพันแผ่นดินจะได้สูงขึ้น” ทำให้มีคนเข้ามาแสดงความเห็นด่าทอ จนเขาต้องปิดบัญชีเฟซบุ๊ก

ควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก

3 ธ.ค. 2557 ธนพรถูกทหารควบคุมตัวจากที่ทำงานไปที่ค่ายทหาร โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก ยึดโทรศัพท์มือถือไม่ให้ติดต่อญาติ หรือบุคคลที่ไว้ใจ หลังจากธนพรถูกทหารควบคุมตัว มีนายทหารนำญาติของทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในวันที่ 6 ธ.ค. 2557

9 ธ.ค. 2557 หลังทหารควบคุมตัวธนพรครบ 7 วัน ทหารนำตัวเขาไปที่ บก.ปอท. เพื่อแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายด้วยการโฆษณาฯ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก่อนพนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

คดีขึ้นสู่ศาล

29 ต.ค. 2558 คดีของธนพรถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา หรือทำโดยการกระจายภาพ หรือโดยป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  327, 328, และ 332 โดยเหลือเพียงข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณาฯ ไม่มีข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคำฟ้องแต่อย่างใด ก่อนศาลจะนัดสืบพยานวันที่ 11-13 ต.ค. 2559

ก่อนการสืบพยานจะเริ่มต้น ผู้พิพากษาได้เรียกธนพรเข้าไปพูคุยพร้อมทนายความเพื่อให้จำเลยรับสารภาพ แต่ธนพรยืนยันที่จะต่อสู้คดี อัยการจึงนำพยานผู้เสียหาย 6 ราย ได้แก่ นายสรสิช ทองจีน, นางพิมพ์สุรางค์ สุวรรณเจริญ, นางนิตยา เพื่อนฝูง, ร.ต.กุลภาณุ สุระเสนา, นางสาวพินันดา ชมเชียงคำ, และนายจิรัฎฐวัฒน์ มาลัยวงศ์ ซึ่งเป็นญาติของนายทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพภาคที่ 3 เกิดอุบัติเหตุตกที่ จ.พะเยา

พยานทั้งหกปากให้การในทำนองเดียวกันว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการเมื่อ 17 พ.ย. 2557 ทราบว่าเฟซบุ๊กของธนพรได้แชร์ข่าวอุบัติเหตุดังกล่าวจากเพจเฟซบุ๊กไทยรัฐออนไลน์ พร้อมแสดงความเห็นประกอบว่า “เสียดายตายแค่เจ็ดน่าจะตายสักห้าพันแผ่นดินจะได้สูงขึ้น” ซึ่งข้อความดังกล่าวตั้งค่าเป็นโพสต์สาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเข้ามาอ่านได้ เมื่อบุคคลทั่วไปมาอ่านก็อาจเข้าใจไปว่าผู้ตายเป็นคนเลวและสมควรตาย

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายทั้งหกคนตอบคำถามค้านของทนายความว่า จนถึงปัจจุบันนายทหารที่เสียชีวิตต่างก็ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นนายทหารที่ปฎิบัติหน้าที่ด้วยดีเสมอมา ผู้เสียหายและครอบครัวไม่ได้ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังจากบุคคลอื่น รวมถึงโพสต์ของธนพรมีแต่คนแสดงความเห็นเชิงต่อว่าธนพร และให้กำลังใจญาติผู้ตาย และบางความเห็นยังยกย่องให้ผู้ตายเป็นฮีโร่ นอกจากนี้ จำเลยยังได้พยายามติดต่อไปยังผู้เสียหายเพื่อแสดงความสำนึกผิด ขอขมา และขออโหสิกรรมต่อผู้ตายและครอบครัวของผู้ตายอีกด้วย

พยานนายทหารผู้ควบคุมตัว

จากนั้นอัยการจึงนำ ร.ต.ปรัชญา จันรอดภัย นายทหารที่เชิญตัวจำเลยไปกักตัวตามกฎอัยการศึก มาให้การต่อศาล

ร.ต.ปรัชญาให้การว่า 2 ธ.ค. 2557 ได้รับข้อมูลจากผู้บังคับบัญชา ว่ามีบุคคลโพสต์ข้อความเหยียดหยามเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่ จ.พะเยา ผู้บังคับบัญชาจึงมอบภาพถ่ายหน้าจอเฟซบุ๊กดังกล่าว ข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ที่ทำงานของเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก แล้วนำไปคัดถ่ายทะเบียนราษฎร์พบว่าเป็นคนเดียวกัน

ร.ต.ปรัชญา พร้อมทหาร 5 นายในเครื่องแบบ เดินทางไปทำงานของธนพรในเวลาประมาณ 9.00 น. ของวันที่ 3 ธ.ค. 2557 ได้เชิญตัวธนพรมาซักถามที่กองพลทหารม้าที่ 2 สนามเป้า โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนจะยึดโทรศัพท์ของธนพรและไม่อนุญาตให้ติดต่อใคร ในตอนแรก ร.ต.ปรัชญา เบิกความว่า เขาและพวก 5 นายไม่มีอาวุธ แต่เมื่อทนายความจำเลยให้ดูภาพถ่ายจึงยอมรับว่ามีอาวุธปืนอยู่ในรถ

นอกจากนี้ เมื่อทนายความจำเลยให้ ร.ต.ปรัชญา ดูบัญชีท้ายกฎอัยการศึก และถามว่า กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จหรือหมิ่นประมาทใช่หรือไม่ ร.ต.ปรัชญา ตอบว่าไม่ทราบ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาซึ่งเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งให้ ร.ต.ปรัชญาไปเชิญตัว ไม่ใช่การจับกุม ทั้งศาลยังไม่บันทึกคำให้การพยานในส่วนที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในปี 2553 ด้วย

พนักงานสอบสวนให้การ

ต่อมา พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน ปอท. ได้ให้การเป็นพยานต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปรามปรามได้นำตัวธนพร และโทรศัพท์ของกลางมามอบให้พร้อมหนังสือส่งตัวจากเจ้าหน้าที่ทหารในวันที่ 9 ธ.ค. 2557 หลังจากมีการสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมด 7 ปาก ที่มาร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตาย และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไปแล้ว

หลังจากได้รับตัวธนพรแล้ว พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรได้แจ้งข้อกล่าวหา ข้อเท็จ และสิทธิของผู้ต้องหา แต่ธนพรให้การปฏิเสธ ไม่ประสงค์จะให้การในชั้นสอบสวน และขอปรึกษาทนายความก่อนจะมาให้การภายหลัง พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร จึงส่งโทรศัพท์ของกลางไปพิสูจน์ มอบหมายเจ้าหน้าที่ให้สืบสวนหาข้อมูลประกอบคดี และสอบปากคำพยานเพิ่มเติม เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีในข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตาย แต่ไม่ฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากธนพรแชร์ข่าวมาจากไทยรัฐออนไลน์โดยไม่ได้ปลอมแปลงข้อมูล

พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร ตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยว่า พนักงานสอบสวน ปอท. มีอำนาจสอบสวนทั่วราชอาณาจักร และมีการแจ้งความในข้อหาที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แม้ในที่สุดจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้องในข้อหาดังกล่าวก็ตาม และจากการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่ามีผู้มาแสดงความเห็นในทำนองไม่เห็นด้วย และสาปแช่งการกระทำของธนพร

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบปากคำผู้เสียหายเพิ่มเติมด้วยว่าได้รับความเสียหายอย่างไร ผู้เสียหายถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชังจากใคร และอย่างไร รวมถึงข้อความของธนพรไม่มีข้อเท็จว่า ผู้ตายมีพฤติกรรมอย่างไร เป็นคนไม่ดีอย่างไร เมื่อตายแล้วแผ่นดินจึงจะสูงขึ้น แต่เห็นว่าเป็นการนำคำโบราณมาพูดใส่ความทหารว่าเป็นคนเลว

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน

ในส่วนของพยานจำเลย ธนพรอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว โดยให้การต่อศาลว่า ที่เขาโพสต์ข้อความ “เสียดายตายแค่เจ็ดน่าจะตายสักห้าพันแผ่นดินจะได้สูงขึ้น” เพราะเคยเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2553 เจ้าหน้าที่ทหารสลสยการชุมนุมโดยใช้กระสุนจริงและกระสุนยาง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้เขาคิดว่าความสูญเสียที่เกิดกับประชาชนในวันนั้นมากกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทหารในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก

ธนพร ให้การว่า เขาอยู่ร่วมในเหตุการณ์การสลายชุมนุมวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และได้เห็นภาพขณะนายวสันต์ ภู่ทองถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้า และอยู่ในบริเวณเดียวกับที่นายฮิโรยูกิ นักข่าวรอยเตอร์ นายสยาม และนายจรูญ ไม่ทราบนามสกุล เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของทหาร เพราะวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุมตั้งแนวคนละฝั่งกัน ส่วนตัวเขาเองนั้นถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หน้าอกและสีข้าง ทำให้เนื้อบางส่วนหลุดหายไป ปัจจุบันยังเป็นแผลเป็นอยู่

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ธนพรรู้สึกเกลียด กลัว และอึดอัด เมื่อต้องพบเจอหรืออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่ทหาร เพราะทำให้นึกถึงการตายของนายวสันต์ เป็นเหตุให้เขาพิมพ์และเผยแพร่ข้อความดังกล่าว หลังแสดงความเห็นไปแล้วบุคคลอื่นเกือบทั้งหมดแสดงความเห็นต่อว่าเขา เขารู้สึกกดดันจึงปิดบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวหลังจากเผยแพร่ข้อความไปแล้ว 1 วัน ก่อนจะมีผู้บันทึกภาพหน้าจอไปเผยแพร่ ซึ่งเขาไม่มีส่วนรู้เห็น

จากนั้น ธนพรถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2557 ไว้ที่กองร้อยสารวัตรทหารที่สนามเป้า และสโมสรตำรวจ โดยยึดโทรศัพท์และไม่ให้โอกาสติดต่อบุคคลที่ไว้วางเกี่ยวกับสถานที่ที่ถูกควบคุมตัว ระหว่างควบคุมไม่มีการสอบถาม มีเพียงการต่อว่าทำนองว่า คิดว่าเก่งนักหรือ คิดว่าแน่ใช่ไหม ซึ่งธนพรคิดว่าทหารควบคุมตัวไปเพื่อให้หลาบจำ

หลังเกิดเหตุ ธนพรได้พยายามติดต่อญาตินายทหารผู้เสียชีวิตทั้ง 7 นาย ซึ่งติดต่อได้เพียงบางท่าน เพื่อขอโทษและสำนึกในการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว โดยได้เสนอไกล่เกลี่ยเกี่ยวกับการโฆษณาขอโทษ และบวชเพื่อขอขมา ญาติของผู้ตายบางคนขอให้ไปขอขมาผู้ตายในที่เกิดเหตุ ซึ่งเขาก็ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

จากนั้นอัยการได้ถามค้านธนพร โดยเขาไม่ทราบว่าทหารที่มาสลายการชุมนุมจะมาจากกองทัพภาคที่ 3 หรือไม่ และไม่ทราบว่าศาลพิพากษาเกี่ยวกับการตายของนายฮิโรยูกิว่าเกิดจากระสุนความเร็วสูง แต่ไม่ทราบว่าเป็นกระสุนของฝ่ายใด และเท่าที่ทราบ สื่อโดยทั่วไปลงข่าวในเชิตำหนิการกระทำของเขา

ธนพรยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีอำนาจควบคุมตัวเขาตามกฎอัยการศึก แต่ที่ไม่ได้แจ้งความตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา เพราะอาจถูกปฏิเสธแจ้งความ หรือต่อให้รับแจ้งความก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผลจะออกมาในทางเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ทหาร และเขาได้สำนึกว่าได้กระทำสิ่งที่ไม่สมควร ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์

แถลงการณ์ปิดคดี

หลังการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 13 ต.ค. 2559 ทนายความจำเลยได้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดี โดยระบุว่า ข้อความของธนพรไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเป็นการกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอย คาดคะเนเอาเองโดยไม่ยืนยันข้อเท็จจริง และคำว่า “แผ่นดินจะสูงขึ้น” เป็นคำเปรียบเปรยโบราณอันเป็น “ข้อความที่ไม่อาจเป็นจริงได้” ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อญาติผู้เสียชีวิต เมื่อรวมกันตลอดข้อความแล้วเป็นเพียงข้อความในทำนองสมน้ำหน้า ซ้ำเติมผู้ตาย ซึ่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในทางศีลธรรมอัดีของประชาชน แต่ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องโจทก์

พยานต่างก็เบิกความถึงข้อความของธนพรในทำนองว่า เป็นข้อความหยามเหยียดไม่ให้เกียรติผู้ตาย ย่อมเป็นไปตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 578/2550 ว่า ข้อความที่เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพ หรือเหยียดหยาม ไม่เป็นใส่ความ ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท

ธนพรยังไม่ได้มีเจตนาใส่ความผู้ตายและผู้เสียหาย เนื่องจากใจความที่เขาต้องการจะสื่อสารคือ เสียดายตายน้อยไป น่าจะตายมากกว่านี้ ส่วนคำว่า “แผ่นดินจะได้สูงขึ้น” เป็นเรื่องที่ธนพรคาดเดาเอาเองจากประสบการณ์เลวร้ายที่เคยถูกกระทำจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร จึงโพสต์ระบายความรู้สึกด้วยความคับแค้นใจในลักษณะดังกล่าว

แถลงการณ์ปิดคดียังระบุอีกว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังได้ว่า ข้อความของธนพรน่าจะเป็นเหตุให้ภรรยา หรือบุตร หรือบิดามารดาของผู้ตาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือไม่ อย่างไร แต่กลับเห็นว่า ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน นำเสนอข่าวไปในทางตำหนิ ว่ากล่าว ด่าทอ และประณามการกระทำของธนพร และพยานผู้เสียหายทุกปากให้การสอดคล้องกันว่า ไม่ได้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2777/2545 ชี้ให้เห็นว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความทำนองว่า ตายมากกว่านี้แผ่นดินจะได้สูงขึ้น ประชาชนทั่วไปไม่อาจเชื่อได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่เป็นประชาชนทั่วไปมาเบิกความต่อศาล เพื่อยืนยันว่าอ่านข้อความของธนพรแล้วเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคนเลว สมควรตาย ความคิดเห็นของคนทั่วไปในโพสต์ของจำเลยก็ไม่มีใครเชื่อเช่นนั้น รวมถึงเวบไซต์ข่าวก็ลงข่าวในทำนองต่อว่า และประณามจำเลย จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิญญูชนทั่ไปไม่ได้เชื่อ หรือเห็นว่าผู้ตายเป็นคนเลว สมควรตายตามที่จำเลยโพสต์

นอกจากนี้ ทนายความยังยื่นคำร้องคัดค้านหนึ่งในผู้พิพากษาคดีนี้ คือ นายเทวัญ รอดเจริญ ผู้ซึ่งไกล่เกลี่ยให้จำเลยรับสารภาพก่อนเริ่มสืบพยาน ไม่อนุญาตให้ทนายความถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในปี 2553 และไม่บันทึกคำให้การของพยานโจทก์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ในสำนวน

พิพากษา

8 ธ.ค. 2559 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา โดยศาลวินิจฉัยว่า แม้ผู้เสียหายจะร้องทุกข์เพียงข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ก็ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงรายละเอียดพฤติการณ์ของจำเลยที่โพสต์แสดงความดูหมิ่นผู้ตาย แสดงเจตนาให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดี

ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหาเหตุใส่ร้ายผู้ตาย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ยิ่งมีทหารตายมากเท่าใด แผ่นดินก็จะยิ่งสูงขึ้น แม้ไม่ให้รายละเอียดและยืนยันข้อเท็จจริง แต่การเปรียบเปรยว่า “น่าจะตายสักห้าพันแผ่นดินจะได้สูงขึ้น” เป็นการทำให้บุคคลทั่วไปทราบว่า นายทหารผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายเป็นผู้ทรยศต่อแผ่นดิน เป็นเสนียดของสังคม

ศาลเห็นว่า ผู้เสียชีวิตเสียชีวิตขณะปฏิบัติราชการ ซึ่งอาชีพททารเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เสียสละควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ แต่ข้อความของจำเลยมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามเกียรติ และใส่ความผู้ตาย โดยโพสต์ให้บุคคลทั่วไปเห็นและเข้าใจได้ว่าผู้ตายเป็นคนเลว เป็นเหตุให้ญาติผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง แม้ผู้เสียหายไม่อาจแสดงพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลได้ว่า ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังอย่างไร แต่หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเหตุให้ถูกดูหมิ่นได้ การกระทำของจำเลยก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

ศาลได้ยกข้อความแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ของจำเลย ที่เข้ามาต่อว่า ด่าทอจำเลย แสดงให้เห็นว่าวิญญูชนเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ผิด และครบองค์ประกอบความผิด

กรณีที่จำเลยจ่อสู้เรื่องที่จำเลยเคยเห็นเจ้าหน้าที่ทหารใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้กระทำความผิดนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ตายเป็นญาติสนิทกับจำเลย รวมถึงเหตุการณ์เกิดขึ้นนานกว่า 4 ปี จึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดความคับแค้นใจ นายทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม จำเลยจึงควรใช้วิจารณญาณ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ซ้ำเติมผู้เสียหาย

กรณีอำนาจควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึก ศาลเห็นว่าบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กฎอัยการศึกเป็นเพียงความผิดที่อาจนำคดีขึ้นพิจารณาในศาลทหาร แต่มาตรา 8 ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ถือว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเต็มที่ที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ และตามมาตรา 15 ทวิ ถือว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจที่จะกักตัวบุคคลไว้เพื่อสอบถามตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ จึงถือว่าการควบคุมตัวของ ร.ต.ปรัชญาชอบด้วย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

ศาลเห็นว่าพยานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัย แต่เนื่องจากจำเลยได้สำนึกผิดต่อการกระทำของตน มีความพยายามติดต่อผู้เสียหายหลังเกิดเหตุเพื่อขอโทษ การกระทำของจำเลยเกิดจากความหลงผิด จึงให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

X