“อั๋ว” จ่ายค่าปรับ 3,350 บาท ชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังอัยการฟ้อง 4 ข้อหา 

4 ธ.ค. 63 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลพิพากษาปรับ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาและนักกิจกรรม ในความผิดฐาน ไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ รวม 3,550 บาท กรณีการชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อเย็นวันที่ 4 ก.ย. 63 เพื่อให้กำลังใจอานนท์ นำภา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และเรียกร้องให้ปล่อยตัว หลังเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 63 ศาลอาญาเพิกถอนการให้ประกันตัวทั้งสองในคดีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก 

ผู้ชุมนุมผูกโบว์ขาวหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (ภาพโดย ประชาไท)

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 63 พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้แจ้งข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุม ฝ่าฝืนมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ โดยจุฑาทิพย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแขวง 1 ในวันที่ 30 พ.ย. 63 ซึ่งอัยการนัดให้จุฑาทิพย์มาฟังคำสั่งว่า จะฟ้องหรือไม่ในวันที่ 4 ธ.ค. 63

>> แจ้งข้อหาจุฑาทิพย์-ธัชพงศ์ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกทม. 2 ครั้ง

ต่อมา ในวันที่ 4 ธ.ค. 63 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องจุฑาทิพย์ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ รวม 4 กรรม 4 ข้อหา ได้แก่ 

  1. เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 63 จำเลยได้จัดงานชุมนุมสาธารณะเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และกล่าวข้อความปราศรัยให้ปล่อยตัว โดยมีลักษณะเป็นการชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
  2. ในวันดังกล่าว จำเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ
  3. จำเลยยังได้นำผ้ามาผูกโบว์และนำดอกไม้มาวาง แขวน และติดที่บริเวณประตูทางออกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ
  4. จำเลยกับผู้ร่วมชุมนุมได้ยืนขวางบริเวณทางเท้าหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจาราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ

ผู้ชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (ภาพโดย ประชาไท)

หลังศาลรับฟ้อง ได้ถามคำให้การเบื้องต้น เนื่องจากคดีมีเพียงโทษปรับ จุฑาทิพย์จึงให้การรับสารภาพ พร้อมทั้งยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยเป็นนักศึกษา การกระทำที่ถูกกล่าวหาก็เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง โดยไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปเกินสมควร   

ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรม ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมปรับ 5,000 บาท, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ปรับ 1,000 บาท, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ ปรับ 500 บาท และข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ปรับ 200 บาท รวมปรับ 6,700 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษปรับทั้งสิ้น 3,350 บาท 

จนถึงขณะนี้ จุฑาทิพย์ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองแล้วรวม 8 คดี นอกเหนือจากคดีนี้และคดีผูกโบว์ขาวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งชำระค่าปรับแล้ว จุฑาทิพย์ยังถูกดำเนินคดีอีก 5 คดี โดยเป็นคดีที่มีเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 คดี อีก 2 คดีมีข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ทั้ง 5 คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ จุฑาทิพย์จะเข้ารับทราบข้อหาเพิ่มเติมในข้อหา “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคดีชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 63 ซึ่ง สน.บางโพ ออกหมายเรียกลงวันที่ 27 พ.ย. 63  หลังจุฑาทิพย์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 แล้วเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 63 (อ่านเพิ่มเติม: ตร.บางโพแจ้งม.116 สี่นักกิจกรรม ชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา กล่าวหาปราศรัยพาดพิงกษัตริย์

 

X