การ์ดและผู้ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เข้ารับทราบข้อหาอีก 2 ราย 

17 พ.ย. 2563 ที่ สน. ชนะสงคราม สิทธิทัศน์ จินดารัตน์ และณัทพัช อัคฮาด พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับข้อกล่าวหา จากเหตุการณ์การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามราษฎร์ (สนามหลวง) เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาสิทธิทัศน์และณัทพัช ว่า “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 

คดีดังกล่าวนี้ มี พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม กับพวก เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก

โดย พ.ต.ท.โชคอำนวย ได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีให้ทั้งสองทราบโดยสรุปว่า 

“เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ซึ่ง “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้นัดหมายชุมนุม ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณฟุตบาทด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รอบพื้นที่สนามหลวง เวลาประมาณ 12.04 น. นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายอะดิศักดิ์ สมบัติคำ, นายสิทธิทัศน์ จินดารัตน์ พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันผลักดันประตูรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนแม่กุญแจที่ล็อคประตูรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับความเสียหาย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงสามารถเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการใช้รถเวทีปราศรัยเคลื่อนที่พร้อมด้วยเครื่องขยายเสียงในการปราศรัย เวลาประมาณ 13.40 น. ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งนำคีมตัดเหล็กแม่กุญแจของประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านท่าเรือท่าพระจันทร์ และเข้ามาในมหาวิทยาลัย 

จากนั้นเวลาประมาณ 15.34 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนออกจากบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อมุ่งหน้าต่อไปยังพื้นที่ท้องสนามหลวง เวลาประมาณ 16.20 น. ได้มีนายณัทพัช อัคฮาด กับพวกพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมได้พังรั้วกำแพงของกรุงเทพมหานคร บริเวณฝั่งตรงข้ามศาลฎีกาเข้ามาภายในท้องสนามหลวงทำให้รั้วกำแพงของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย มีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังมีการจัดตั้งเวทีปราศรัยและจัดกิจกรรมบนเวทีปราศรัย โดยได้มีกิจกรรมสลับกับการปราศรัยบนเวทีของแกนนำเรื่อยมา 

ต่อมา วันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 06.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร โดยนำหมุดมาฝังลงบนพื้นที่ท้องสนามหลวงบริเวณหน้าเวที ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการเจาะทำลายพื้นบริเวณดังกล่าวเพื่อใช้ในการประกอบพิธี ทำให้พื้นปูนสนามหลวงได้รับความเสียหาย ต่อมาภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนโดยใช้รถยนต์บรรทุกออกจากท้องสนามหลวงเดินทางไปยื่นหนังสือให้กับตัวแทนที่จะมารับหนังสือส่งต่อให้องคมนตรีต่อไป ภายหลังแกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมโดยยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ” 

พ.ต.ท.โชคอำนวย ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาณัทพัชอีก 1 ข้อหา คือ “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โดยคดีนี้มีนายสุรเดช อำนวยสาร ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรุงเทพมหานคร และนายสถาพร เที่ยงธรรม ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรมศิลปากร เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกเช่นกัน

สิทธิทัศน์และณัทพัชให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวทั้งสอง

ทั้งนี้ ในช่วงการชุมนุมดังกล่าวมีรายงานข่าวว่า สิทธิทัศน์ จินดารัตน์ เป็นหนึ่งในการ์ดรักษาความปลอดภัยในการชุมนุม ซึ่งในช่วงที่ผู้ชุมนุมดันให้ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดออกเพื่อเข้าไปชุมนุมด้านใน นายสิทธิรัตน์ได้ถูกประตูหนีบจนนิ้วก้อยมือซ้ายขาด

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ธนพ อัมพะวัติ และชูเกียรติ แสงวงค์ ก็ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในกรณีนี้เช่นกัน  พ.ต.ท.โชคอำนวย แจ้งข้อกล่าวหาธนพ อายุ 19 ปี ว่า “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยแจ้งพฤติการณ์ในคดีเช่นเดียวกับสิทธิทัศน์ และระบุพฤติการณ์เฉพาะของธนพด้วยว่า ธนพได้ร่วมกับผู้ชุมนุมอีกกลุ่มนำคีมตัดเหล็กแม่กุญแจของประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านท่าเรือท่าพระจันทร์ 

ส่วนชูเกียรติ พ.ต.ท.โชคอำนวย แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันวางสิ่งของกีดขวางการจราจร และร่วมกันโฆษณาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ทั้งยังแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่ 2 ว่า “ข้อหาร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลงฯ โบราณสถานหรือส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน,  ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันติดตั้ง ตากวาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน มาตรา 10, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ระบุพฤติการณ์เฉพาะของชูเกียรติว่า ขึ้นปราศรัยบนเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งร่วมปักหมุดคณะราษฎร์ในเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2563 และร่วมเคลื่อนขบวนโดยใช้รถยนต์บรรทุกออกจากท้องสนามหลวง อันเป็นการกีดขวางการจราจร เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้กับตัวแทนที่จะมารับหนังสือส่งต่อให้องคมนตรี  

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 มีการดำเนินคดีผู้ร่วมชุมนุมและแกนนำใน 2 คดี คือ กรณีที่ ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม กับพวก เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และกรณีที่กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร มอบอำนาจให้ตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ 

โดยก่อนหน้านี้มีการเข้าจับกุมแกนนำและผู้ปราศรัยรวม 7 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม 

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยังออกหมายเรียกผู้ชุมนุมเข้ารับทราบข้อหาอีก 17 ราย ในจำนวนนี้มี วสันต์ เสดสิทธิ์ และสุวิชชา พิทังกร อดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วย 

โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมที่มีรายชื่อว่าถูกออกหมายเรียก 12 ราย เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 11 ราย โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาสุวิชชา ซึ่งนำพยานหลักฐานว่าตนไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เตรียมมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู แต่แจ้งข้อกล่าวหาวสันต์ว่า “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” แม้วสันต์จะแจ้งพนักงานสอบสวนว่าเขาไม่ได้มาร่วมชุมนุมแล้วก็ตาม 

 

X