สมาคมนักเขียนสากล “PEN” เรียกร้องยุติดำเนินคดี ‘อานนท์’ ขณะศิลปิน-กวีถูกคดีอย่างน้อย 14 ราย

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 63 สมาคมนักเขียนสากล PEN International ร่วมกับองค์กรปกป้องเสรีภาพของศิลปิน  Freemuse ได้เผยแพร่แถลงการณ์ให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีทั้งหมดต่ออานนท์ นำภา ในฐานะทนายความสิทธิมนุษยชนและกวี เนื่องจากเห็นว่าคดีต่างๆ ที่เขาถูกกล่าวหาและเป็นที่มาของการคุมขัง เกิดขึ้นจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก อันได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

Ross Holder ผู้ประสานงานโครงการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ PEN International ระบุว่าการดำเนินคดีของทางการไทยอย่างต่อเนื่องต่ออานนท์ เพื่อตอบโต้การแสดงออกโดยสงบของเขา เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนต่อการพังทลายของบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศไทย ในขณะที่รัฐบาลปราบปรามกวี นักเขียน และนักกิจกรรมที่แสดงออกโดยสงบอื่นๆ ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออก ตรงกันข้ามกับความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการปกป้องพลเมือง จึงขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการเช่นนั้นทันที เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

แถลงการณ์ยังให้ข้อมูลพื้นฐานถึงคดีสำคัญที่อานนท์ถูกจับกุมและกล่าวหา ได้แก่ การชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 ที่สนามหลวง ซึ่งทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการประกันตัวในคดี รวมทั้งก่อนหน้านั้นเขายังถูกจับกุมในคดีการปราศรัยในช่วงเดือนสิงหาคม เหตุจากการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย

PEN International ยังย้ำถึงแถลงการณ์ขององค์กรก่อนหน้านั้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่แสดงถึงความกังวลต่อการจับกุมดำเนินคดีประชาชนจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปราบปรามเสียงของฝ่ายคัดค้านในประเทศไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีทั้งหมด

 

 

ศิลปิน-นักเขียน ถูกดำเนินคดีแล้วไม่น้อยกว่า 14 ราย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายหลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 เป็นต้นมา พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการกล่าวหาดำเนินคดีต่อผู้มีที่มีบทบาทเป็นศิลปินและนักเขียน ซึ่งออกมามีส่วนร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตย ไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 14 ราย โดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มนักเขียนและกวี 3 ราย นอกจากอานนท์ นำภา ซึ่งถูกดำเนินคดีในฐานะแกนนำการชุมนุมต่างๆ รวมแล้ว 11 คดี ยังมีการกล่าวหาต่อกวีที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 2 ราย ได้แก่ เพ็ญสุภา สุขคตะ นักเขียนและกวีหญิง เจ้าของนามปากกา “เพ็ญ ภัคตะ” และวิธญา คลังนิล นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีบทบาทในการแต่งบทกวีขึ้นอ่านในที่ชุมนุม และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มลานยิ้มการละคร ซึ่งก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิละครไทยเคยมีการออกแถลงการณ์ให้ยุติการดำเนินคดีต่อเขามาแล้ว ทั้งสองคนถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตามมาตรา 116 จากการชุมนุมที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63

2. กลุ่มศิลปินนักร้องจากวงดนตรีต่างๆ 9 ราย ได้แก่ 3 ศิลปินนักร้องนักดนตรีจากวงสามัญชน, 3 ศิลปินแร็ปเปอร์จากวง RAP AGAINST DICTATORSHIP (RAD), ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ “บุ๊ค” แร็ปเปอร์จากวง Eleven Finger, ปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำ และไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องจากวง The Bottom Blues

3. กลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้และงานภาพยนตร์ 2 ราย ได้แก่ นายพึ่งบุญ ใจเย็น ซึ่งเป็นศิลปินช่างสักและออกแบบลายสัก ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานในจังหวัดเชียงใหม่ และเอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ สมาชิกของกลุ่มศิลปินปลดแอก ผู้ทำงานด้านภาพยนตร์ ซึ่งถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.

 

อ่านสรุปภาพรวมสถานการณ์การดำเนินคดีหลังเยาวชนปลดแอก

1 เดือนหลัง 14 ตุลา: คดีชุมนุมเพิ่ม 3 เท่า ผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 175 คน ข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พุ่ง

 

X