แจ้ง 5 ข้อหา 2 น.ศ. บุก “ปาไข่-สาดสี” ม.พัน 4 รอ. ทวงถามการลงโทษทหารล็อกคอผู้ชุมนุม

3 พ.ย. 2563 ที่ สน. เตาปูน 2 นักศึกษา ธนชัย เอื้อฤาชา จากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และณัฐชนน ไพโรจน์ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ารับทราบกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 22 ต.ค. 2563 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ของคดีให้ทั้งสองทราบว่า “เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 16.00 น. ได้มีกลุ่มประชาชนชุมนุมกันที่บริเวณหน้าประตูทางออกของ ม.พัน 4 พล.1 รอ. โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยเพื่อทวงถามหาผู้รับผิดชอบกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่มีเหตุกำลังพลของ ม.พัน 4 พล.1 รอ. จำนวน 3 นาย ให้ผู้ชุมนุมลบภาพที่ถ่ายที่ป้ายหน้ากองพัน แต่ผู้ชุมนุมคนดังกล่าวไม่ยอม ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอยู่ไม่พอใจ กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารทั้ง 3 นาย กระทำการเกินกว่าเหตุ จนมีเรื่องแจ้งความดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกายที่ สน.บางโพ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงมาทวงถามหาความรับผิดชอบ” 

“กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยให้ผู้ที่สั่งการออกมารับผิดชอบ มาตอบคำถาม ความคืบหน้า เมื่อไม่มีผู้ใดออกมา นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายธนชัย เอื้อฤาชา และนายฉัตรมงคล วัลลีย์ ได้ร่วมกันปีนขึ้นไปนั่งบนรั้วประตูห้อยขาทั้งสองข้างเข้าไปด้านในหน่วย ม.พัน 4 พล.1  รอ. ส่วนนายฉัตรมงคลได้ขึ้นไปนั่งบนรั้วและหย่อนตัวลงไปครึ่งตัวทางด้านใน จากนั้น นายภาณุพงศ์, นางสาวปนัสยา, นายธนชัย, นายฉัตรมงคล, นายณัฐชนน, นายชินวัฒน์ และอีก 1 คน ได้ร่วมกันนำไข่ต้มไข่ลวกขว้างปาข้ามรั้วเข้าด้านในหน่วย ขว้างปาไปที่ป้ายชื่อของหน่วย”

“ต่อมานายภาณุพงศ์ และนายธนชัยได้นำถังสีเปิดฝายกขึ้นเทราดที่ประตูของหน่วย และสาดสีเข้าไปในหน่วย จากนั้นได้ขว้างถังสีเข้าไปในหน่วยไกลประมาณ 10-15 เมตร นางสาวปนัสยาได้นำถังสีน้ำเงินความจุประมาณ 4 ลิตร เปิดฝามาเทสีลงพื้นราดและสาดสีไปที่ประตูทางเข้าหน่วย จากนั้นได้นำถังสีน้ำเงินส่วนที่เหลือมาทาที่ป้ายชื่อหน่วย โดยมีนายภานุพงศ์และนายธนชัยช่วยกันทาสีน้ำเงินที่ป้ายชื่อหน่วยด้วย ทำให้เกิดความเสียหาย ถูกทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์” 

กิจกรรม “ปาไข่-สาดสี” ม.พัน 4 รอ. -ขอบคุณรูปจากข่าวสด

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า คดีนี้ พ.ต.ท.สรัล สุรเดชานนท์ รอง ผกก.ป.สน.เตาปูน และ ร.อ.สำเนา ดำเนื้อดี ปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวร ม.พัน 4 พล.1 รอ. โดยได้รับมอบอำนาจจาก พ.ท.อิทธิศักดิ์ เสนตา ผบ.ม.พัน 4 พล.1 รอ. เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ให้ดำเนินคดี ภานุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ธนชัย เอื้อฤาชา, ฉัตรมงคล วัลลีย์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และบอม (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ทั้งนี้ ในส่วนของทหารได้กล่าวหาว่า ภานุพงศ์กับพวกซึ่งชุมนุมบริเวณหน้าทางประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. ได้กระทำความผิดกฎหมายอันเป็นเหตุให้กองทัพบกได้รับความเสียหาย

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาธนชัยรวม 5 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ขณะที่แจ้งข้อกล่าวหาณัฐชนน 4 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกระทำการใดให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์”

ธนชัยและณัฐชนนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นหนังสือในรายละเอียดภายในเวลา 15 วัน ภายหลังพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป โดยนัดหมายให้มารายงานตัวเพื่อดำเนินการต่อไปในวันที่ 1 ธ.ค. 2563

คดีนี้ตำรวจ สน.เตาปูน ออกหมายเรียกผู้ต้องหารวม 7 ราย นอกจากธนชัยและณัฐชนนแล้ว พรุ่งนี้ ชินวัตร และบอม จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนรายที่เหลือเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน  

การชุมนุมบริเวณหน้าทางประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ซึ่งตำรวจและทหารเข้าแจ้งเป็นคดีนั้น สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 63 ขณะประชาชนแยกย้ายกลับจากการเดินเท้าไปที่รัฐสภา เพื่อนำส่งรายชื่อประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อ ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้มีประชาชนรายหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมได้เข้าถ่ายภาพบริเวณป้าย ม.พัน 4 พล.1 รอ. และถูกทหารนอกเครื่องแบบสั่งให้ลบภาพออก แต่เขายืนยันไม่ลบ ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย จึงพยายามเข้าล็อคแขนและคอ พร้อมทั้งแย่งโทรศัพท์ แต่มีผู้ชุมนุมเข้าช่วยเหลือ ทหารทั้งสามนายอ้างว่า ได้รับคำสั่งมา หลังตำรวจ สน.บางโพ เข้าระงับเหตุ ผู้เสียหายยืนยันที่จะเข้าแจ้งความ ตำรวจจึงพาตัวทหารทั้งสามนายไปสอบสวนที่ สน.บางโพ โดยทหาร 3 นายให้การว่า ไม่มีใครสั่งให้กระทำลักษณะดังกล่าว และกล่าวขอโทษผู้เสียหาย 

ต่อมา วันที่ 28 ก.ย. 2563 ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมด้วยแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดกิจกรรม “ตามหานาย” เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากผู้บังคับบัญชาในการลงโทษพลทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย โดยหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ปักหลักหน้า พัน ม.4 พล.1 รอ. ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารออกมาพบ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ และได้ปาไข่ พร้อมสาดสีใส่ป้ายกองพัน และพื้นที่บริเวณด้านหน้ากองพัน ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ

“ปาไข่-สาดสี” ม.พัน 4 รอ. -ขอบคุณรูปจากข่าวสด
X