การเมือง ความรัก และโลกเบื้องหลังก่อน“เยาวชนปลดแอก”ของ ฟอร์ด-เจมส์

อธิกัญญ์ แดงปลาด

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม เยาวชนปลดแอก” เมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 นับเป็นชนวนสำคัญที่ส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดการชุมนุมต่อเนื่องทั่วประเทศ ในใจกลางของจุดเปลี่ยนนั้นเอง ชื่อของอดีดนิสิตคณะรัฐศาสตร์จากรั้วจามจุรี “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้เป็นแกนนำกลุ่ม ได้กลายเป็นที่รู้จักนอกเหนือจากแวดวงนักกิจกรรมทางการเมือง ในฐานะเป็นสายลมหนึ่งของยุคสมัยที่กำลังพัดพาสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

จากอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่มเพศหลากหลาย เด็กหนุ่มผู้เคยประกาศตัวตนและความภาคภูมิใจในเพศวิถีผ่านการแสดงความรักร่วมกับคนรัก “เจมส์” ภานุมาศ สิงห์พรม ในพื้นที่ที่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ตลอดมาอย่างรัฐสภา ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ครั้งนั้น ทั้งคู่ได้ก้าวขึ้นมาอยู่แนวหน้าของขบวนการนักศึกษา จาก “เยาวชนปลดแอก” ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนเพียงไม่กี่คน สู่การเป็นคณะ “ประชาชนปลดแอก” ที่ผลักดันประเด็นแหลมคมขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมชูเรื่องการยุบสภา การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับใหม่ และให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน สู่การเคลื่อนไหวประเด็นพลิกฟ้าอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ในวาระที่การต่อสู้ของนักศึกษาเข้าใกล้จุดควบแน่นขึ้นทุกที ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนนั่งจับเข่าคุยกับฟอร์ดและเจมส์ในฐานะภาพสะท้อนความไม่ยอมจำนนต่ออำนาจนอกระบบของคนรุ่นใหม่ ชวนถกเรื่องความหวัง ความฝัน และความสัมพันธ์ บริบทสำคัญที่นำพาทั้งคู่ออกเดินเคียงข้างกันบนเส้นทางของการต่อสู้ที่ไม่อาจหวนกลับ จากวันที่ยังเป็นเพียงสองเด็กหนุ่มนัยน์ตาเปี่ยมฝัน สู่วันที่ต้องกลายเป็นแกนนำมวลชนนับหมื่น ณ แนวปะทะระหว่างชนชั้น
อยากให้เล่าเรื่องราวก่อนมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัว เราทั้งคู่คือใครก่อนเป็นเราอย่างทุกวันนี้? อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวมาอยู่แนวหน้าของการเปลี่ยนแปลง?

ฟอร์ด: สมัยเรียนอยู่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย อย่างการรณรงค์ให้ยกเลิกการประกวดดาวเดือน ยกเลิกระบบโซตัส ยกเลิกเครื่องแบบนักศึกษา ฯลฯ ผมยังเคลื่อนไหวนอกมหาวิทยาลัยด้วย เช่นเรื่องความหลากหลายทางเพศและเรื่องประชาธิปไตย กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อปี 2561 ผมก็เคยเข้าร่วมด้วย แปลกใจที่ตอนนั้นไม่โดนคดี (หัวเราะ)

เจมส์: ผมเคยอยู่กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศ กลุ่มภาคีนอนไบนารี ENBY (อ่านว่า “เอ็น-บี” ย่อจากตัวอักษรนำของคำว่า non-binary เป็นคำระบุเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบ 2 ขั้ว แบบชาย–หญิง) กลุ่มเดียวกับพี่ฟอร์ด ซึ่งเป็นขาหนึ่งของเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่ (New Gen Network-NGN) ตอน NGN Bangkok เปลี่ยนตัวผู้บริหาร ฟอร์ดที่เพิ่งขึ้นเป็นประธานชวนผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร เพราะผมเรียนทางด้านภาพยนตร์มา แต่มันยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่นเรื่องทรัพยากร เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เราชวนเพื่อนอีกคนมาร่วมกันทำกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ขณะที่อีกขาหนึ่งของเรายังทำงานกับ NGN อยู่

“การก่อตั้งเยาวชนปลดแอกในเวลานั้นเพราะอยากให้เป็นองค์กรที่เป็นพื้นที่ของเยาวชนผลักดันประเด็นทางสังคม และกล้าพูดถึงปัญหาที่เป็นต้นตอจริงๆ” – ภานุมาศ สิงห์พรม

ก่อนโดนคดีเยาวชนปลดแอก ตัวผมไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย เพียงแต่ชอบอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย และคาดหวังสังคมที่เท่าเทียม อนาคตที่มีแสงสว่างในประเทศ แล้วผมเองเรียนด้านภาพยนตร์ สนใจศิลปะ เลยอยากใช้ศิลปะขับเคลื่อนทางการเมือง

สมัยที่ยังเรียน ม.ปลายที่ อ.มวกเหล็ก สระบุรี ผมรู้สึกมาตลอดว่าระบบการศึกษาไทยพยายามสอนให้เราเป็นทาส ไม่ได้สอนให้มองคนเป็นคน เช่น ทุก ๆ สิ้นเดือน จะมีการตรวจผม เราต้องถูกตัดผมในทรงที่เราไม่ได้อยากตัดด้วยซ้ำ เราต้องถูกตรวจเล็บตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแปลกๆ กับสภาพโครงสร้างสังคม แล้วพอเข้าไปดูในวิชาสังคมศึกษา มันแทบไม่ได้สอนเรื่องความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเลย ระบบการศึกษาพยายามสอนให้เราศิโรราบ สอนแต่ประวัติศาสตร์ที่ผู้ชนะเขียนขึ้นเอง โดยเราไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง แต่พอเรามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงจากหลายแหล่ง พอเราสังเคราะห์ออกมา เราเริ่มรู้แล้วว่า สิ่งที่เราเคยรับรู้ มันไม่ใช่นะ มันผิดปกติ

เราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันเกิดอะไรขึ้น ใครคือผู้สั่งฆ่า จนเมื่อเราโตมา พอเริ่มเบิกเนตร เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างแล้วแหละ จะนิ่งเฉยแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะว่าความนิ่งเฉย คือการทำให้ลูกหลานรุ่นต่อไปต้องตกเป็นทาสแบบนี้ต่อไปอีก
อยากให้เล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกก่อนที่ต่อมาจะมีกลุ่มประชาชนปลดแอกว่ามีความต่างหรือความยากในเรื่องของการจัดการมากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมในการเคลื่อนไหวด้วย ไม่ใช่แค่เยาวชน แล้วความสำเร็จตรงนั้นถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายเราทั้งคู่ไหม?

เจมส์: สำหรับเยาวชนปลดแอกผู้ร่วมก่อตั้งมีสามคนครับ แต่ว่าหลังจากนั้นค่อยๆ ขยาย โดยเรามีธรรมนูญที่บังคับใช้ร่วมกัน ซึ่งฟอร์ดได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ ส่วนผมเป็น ผอ.ฝ่ายสื่อฯ กับฝ่ายแคมเปญด้วย

ฟอร์ด: การที่เราออกมาเคลื่อนไหวผ่านกลุ่มเยาวชนปลดแอกเพราะเราเห็นว่าเกมในสภาไม่มีทางเปลี่ยนอะไรได้ มันไม่มีแรงกดดันจากในสภาให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานั้น เป้าหมายเราคืออยากผลักดันวาระที่ก้าวหน้า เช่นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ว่าเราไม่สามารถพูดถึงได้แน่นอนถ้าเราทำงานภายใต้พรรคการเมือง เรารู้สึกว่าปัญหาสำคัญของประเทศไทย อย่างหนึ่งคือสถาบันกษัตริย์ไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เราเลยต้องการสร้างพื้นที่ที่เราจะสามารถพูดเรื่องนี้ได้

เจมส์: อุดมการณ์ของเยาวชนปลดแอกไม่ใช่มีแค่เรื่องปฏิรูปสถาบันฯ แต่เราต้องการขยายพื้นที่ทางการเมืองของเยาวชน เพราะในประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเมืองของเยาวชนน้อยมาก เราอยากให้เขามีพื้นที่ที่เขาสามารถออกมาพูด ได้มีปากเสียงจริง ๆ เราคาดหวังสังคมที่เท่าเทียม คาดหวังให้กลุ่มคนชายขอบเข้ามาร่วมผลักดันวาระต่าง ๆ ได้

ฟอร์ด: ในด้านการทำงานเยาวชนปลดแอกยังอยู่เหมือนเดิมควบคู่ไปกับประชาชนปลดแอก แต่จุดประสงค์ในการตั้งประชาชนปลดแอกเราต้องการให้เป็นองค์กรเฉพาะกิจ รวบรวมกลุ่มคนหลากหลายเข้ามาเคลื่อนไหวด้วยกัน ถามว่าเหนือความคาดหมายไหม ผมว่าไม่ หลังชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม ข้อเรียกร้องของเราคือต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นข้อเรียกร้องที่ใหญ่มากและต้องการคนหลากหลายมาเข้าร่วม ไม่ใช่แค่เยาวชนเพียงกลุ่มเดียว

ส่วนเรื่องความยาก มันยากมาก แต่เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น การจัดม็อบครั้งแรกสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมเราแทบไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้ลงรายละเอียดเลยว่าการจะจัดการชุมนุมสักครั้งต้องมีอะไรบ้าง การตัดสินใจ การจัดการ กำหนดการบนเวที งานเลยตกมาอยู่ที่คนไม่กี่คน เกิดความกดดันและความเครียด ทำให้เราดูแลจัดการทุกอย่างได้ไม่ทั่วถึง ยอมรับว่าม็อบครั้งนั้นเราวางแผนกันจริง ๆ สองวันล่วงหน้า เรียกมาคุยเฉพาะกลุ่ม แต่พอครั้งหลัง ๆ ในแง่การจัดการ เราเรียนรู้มากขึ้น มีการแบ่งทีม ลิสท์ข้อมูลว่าต้องทำอะไรบ้าง งานเลยไม่ได้หนักที่ใครคนใดคนหนึ่งจนเกินไป

ความยากอีกอย่างคือการต้องทำงานกับคน ฝ่ายประชาธิปไตยมีเฉดที่หลากหลาย ถ้าในกลุ่มของนักศึกษาเยาวชนจะอยู่ในเฉดใกล้ๆ กัน แต่พอเป็นประชาชนปลดแอกแล้วมีกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นเยาวชนเข้ามาร่วมด้วย บางส่วนจะมีแนวคิดหรือมีอุดมการณ์อีกแบบหนึ่ง ถึงไม่ได้ขวาจัด แต่มีบางเรื่องที่เขายังไม่พร้อมเสี่ยง บางเรื่องที่เขายังไม่พร้อมพูด คือเขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับเรา เขาเห็นด้วย เพียงแต่แค่ยังไม่พร้อม มันยังอันตรายอยู่

เจมส์: สำหรับผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติของการเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะว่าในระบอบประชาธิปไตย มีเฉดของความคิดและอุดมการณ์ที่ค่อนข้างกว้าง มีคนที่ทั้งซ้ายนิดหน่อยหรือซ้ายมาก ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเราต้องอยู่ร่วมกันในท่ามกลางความต่าง แต่ในตอนนี้ที่เรายังไม่มีคำว่าประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ประชาชนต้องรวมกันให้ได้มากที่สุดก่อน

ฟอร์ด: ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องการคือการบรรลุเป้าหมายสามข้อแรกให้ได้ คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภาภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้ได้ พอเราบรรลุ โอเค เราอาจเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกปัญหาจะหายไปหมด เพียงแต่น่าจะมีการเปิดพื้นที่ให้เราถกเถียงและแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันมากขึ้น

อย่างเป้าหมายแรกคือการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่วมกัน แต่ในเนื้อหาหรือประเด็นรองลงไป เช่น สมมติ สภาใหม่จะเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ องค์กรอิสระจะเป็นรูปแบบไหน สถาบันกษัตริย์จะมีอำนาจแค่ไหน ไปคุยกันในชั้น สสร. ได้ แต่ตอนนี้เราต้องเปิดกระบวนการก่อน
สำหรับคนที่เพิ่งอยู่ในสายตาของมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐไม่นาน รู้สึกไหมว่าการโดนคดีเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย?

ฟอร์ด: ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ปี 2561 ผมเคยไปร่วมชุมนุมร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คนโดนคดีกันเยอะ แฟรงค์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ที่ไปด้วยกัน โดนหมายมา 5 – 6 ใบ แต่ตอนนั้นผมไม่โดน คดีแรกของผมมาจากการไปยืนชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หน้าสถานทูตกัมพูชา แค่ชูป้ายเฉยๆ ไม่ได้พูดปราศรัยเลย เจมส์และเพื่อนจากจุฬาฯ ไปด้วย แต่ในกลุ่มมีแค่ผมคนเดียวที่โดน คราวนี้พอรู้ว่าโดนปุ๊บ ความรู้สึกแรกไม่ได้กลัว โกรธมากกว่า


สำหรับฟอร์ด เยาวชนปลดแอกอาจจะไม่ใช่คดีแรก น่าจะพอมีประสบการณ์บ้างในการรับมือ แล้วอย่างเจมส์ ตอนรู้ตัวว่าถูกดำเนินคดีข้อหาด้านความมั่นคง ตอนนั้นเรารู้สึกยังไงบ้าง? ได้เตรียมใจไว้ก่อนล่วงหน้าหรือเปล่า คุยกับคนในครอบครัวยังไงบ้าง?

เจมส์: แม่ผมเสียชีวิตแล้ว ส่วนพ่อกับพี่สาวไม่ได้สนใจการเมืองมาก ตอนแรกผมกังวลว่าคดีจะส่งผลกระทบกับชีวิตเยอะหรือเปล่า แต่ด้วยความที่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำไม่ผิด อุดมการณ์ที่เราเรียกร้องไม่ผิด เป็นสิ่งปกติ ทำได้ ตัวผมเลยไม่กังวลอะไร ค่อยๆ อธิบายให้พ่อกับพี่สาวฟัง เขาก็โอเค ตามนั้นแหละ (หัวเราะ) อาจจะรู้ว่ายังไงก็ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว

เยาวชนปลดแอกเป็นคดีแรกในชีวิตของผม ซึ่งมีข้อหาตามมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นด้วย ไม่มีการอุ่นเครื่องก่อน อยู่ ๆ ก็มา ม.116 เลยตู้มเดียว ส่วนตัวผมไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นหรือแปลกใจ เพราะว่าในประเทศที่โครงสร้างบิดเบี้ยวขนาดนี้ รัฐบาลไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ แม้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครเลยก็ตาม

“เยาวชนควรได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ ได้เรียนหนังสือ เรียนวิชาที่เขาอยากเรียน แต่ในประเทศที่โครงสร้างบิดเบี้ยวบีบให้เขาต้องออกมาเรียกร้อง ต้องมาเผชิญกับความไม่เป็นธรรมจากการโดนดำเนินคดี” – ภานุมาศ สิงห์พรม

ฟอร์ด: โดยหลักการแล้วเราควรได้ใช้ชีวิตตามความฝันตัวเอง โดยหลักการแล้วเราควรลืมตาอ้าปากได้ มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพตัวเองและเติบโตในสังคมนี้ พอโอกาสนั้นไม่มี โครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่เอื้อ เราต้องเรียกร้องเพื่อปรับให้มันเอื้อ แต่พอเราเรียกร้องปุ๊บ กลายเป็นเราโดนคุกคามอีก
นอกเหนือจากเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง อีกด้านที่สร้างความประทับใจให้คนที่ติดตามฟอร์ดและเจมส์คือเรื่องความสัมพันธ์ เล่าความเป็นมาหน่อย?

ฟอร์ด: เรารู้จักกันตั้งแต่ต้นปี 2562 เพราะอยู่กลุ่ม ENBY ด้วยกัน แต่ตอนนั้นต่างคนต่างยังมีแฟนกันอยู่
เจมส์: คือรู้จักกันนานหลายเดือน แต่ไม่เคยเจอกันเลย เห็นกันผ่านๆ แค่ในแชทกลุ่ม ก็คุยกันแค่ในนั้น แล้วมันมีช่วงหนึ่งฟอร์ดเขาสอนพิเศษแถวรังสิต เราปัดทินเดอร์แล้วเจอเขาในนั้น (หัวเราะ) เราก็ เอ๊ะ! ทำไมคนนี้หน้าคุ้นๆ วะ เลยปัดขวากลับไป

ฟอร์ด: พอมันแมทช์ เราก็รู้สึกคุ้นๆ แล้ว

เจมส์: ผมเลยทักไปว่า ทำไมหน้าคุ้นๆ จัง (หัวเราะ) พี่ฟอร์ดก็ทักว่าเหมือนเราเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก ตอนนั้นเราทั้งคู่โสดด้วย เลยเริ่มคุยกัน
ใครจีบใครก่อน?

ฟอร์ด: พูดยากนะ (ยิ้ม)

เจมส์: ต่างคนต่างจีบ (หัวเราะ) ด้วยความที่เขาเองก็อยู่กลุ่ม ENBY เราเลยค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะมีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน

หลังจากแมทช์กันในทินเดอร์ พี่ฟอร์ดก็ไปประชุมในฐานะตัวแทนเยาชนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ที่อาฟริกา พอเขากลับมา ผมก็ไปรับแล้วไปเที่ยวพัทยาด้วยกัน
คุยกันนานไหมกว่าจะคบกันจริงจัง?

เจมส์: ไม่นานนะครับ ไม่ถึงเดือนด้วยซ้ำ ใช่ไหม? คือเกมเร็วมาก (หัวเราะ) แค่ประมาณอาทิตย์เดียวด้วยซ้ำ

ฟอร์ด: คุยกันเกือบอาทิตย์ก่อนผมจะไปอาฟริกา กว่าจะเจอกันกันครั้งแรกก็ตอนที่ผมกลับมา จากตอนนั้นถึงตอนนี้คบกันปีกว่าแล้ว
อะไรที่ดึงดูดเราสองคนเข้าหากัน?

เจมส์: พี่ฟอร์ดเขาอุดมการณ์ค่อนข้างแรงกล้า เป็นคนพูดแล้วน่าฟัง สามารถอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่ายได้ (ฟอร์ด: จริงอ่ะ?) เออจริง ๆ (เน้นเสียง) อีกอย่างหนึ่งพี่ฟอร์ดเขาเป็นคนเทคแคร์ดีมาก ไม่ยอมปล่อยเลย เวลาจะไปไหนก็อยากไปด้วยตลอด เวลามีเรื่องหนักๆ เขาก็อยู่ด้วยกันกับเรา

ฟอร์ด: สำหรับผม ถ้าความชอบจริง ๆ คืออุดมการณ์ของเขาแรงกล้าเหมือนกัน (เจมส์หัวเราะ) หนักแน่น อะไรจะมากระทบอุดมการณ์ไม่ได้เลยนะ ต่อมาคือเรื่องของความแอคทีฟ แอคทีฟมาก ๆ (เน้นเสียง) แอคทีฟสุด ๆ แอคทีฟที่สุดในโลก (เจมส์: เกินไป) ตั้งแต่ขับเคลื่อนทางการเมือง ทางสังคมมา ไม่เคยเจอใครแอคทีฟขนาดนี้ และเป็นการแอคทีฟแบบมีลูกเล่น ไม่ได้แอคทีฟแบบจะชนทุกอย่างที่ขวางหน้า อีกอย่างหนึ่งคือการเทคแคร์ครับ เทคแคร์เราดีเหมือนกัน คือต่างคนต่างเทคแคร์กันแหละเนอะ (เจมส์หัวเราะ)
รู้สึกตัวไหมว่าการแสดงความรักของทั้งสองคน สร้างแรงกระเพื่อมให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ เพราะก่อนหน้าฟอร์ดกับเจมส์ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแทบจะเรียกได้ว่ามีระยะห่างกันพอสมควร คนในสังคมบางกลุ่มไม่ได้มองว่าสองประเด็นนี้เป็นประเด็นเดียวกัน?

ฟอร์ด: ถามว่ารู้ตัวไหม? มีคนให้กำลังใจเราตั้งแต่ตอนจูบกันที่สภาแล้วนะ เพราะเขามองว่าสิ่งที่เราทำคือความกล้าหาญ คือการแสดงออกถึงการมีตัวตนของ LGBTIQ+ เขาขอบคุณที่เรากล้าสะท้อนประเด็นนี้

ส่วนตัวผมคิดว่าการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องสิทธิของ LGBTIQ+ คือเรื่องการเมือง เพราะเกี่ยวพันกับสิทธิพลเมืองและอำนาจทางการเมืองอยู่แล้ว การจะเปลี่ยนแปลง หรือทำให้เกิดความเท่าเทียมจะแยกออกจากการเมือง ไม่ได้

ปัจจุบันอำนาจการต่อรองของกลุ่มเพศหลากหลายมีน้อยกว่า ต้นทุนทางสังคมเรามีน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม บวกกับสังคมที่เหมือนจะยอมรับแต่ไม่ได้ยอมรับอย่างแท้จริง เป็นการยอมรับที่เปลือกนอก พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีเพราะเหมือนจะให้สิทธิแต่ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะเรียกร้องสิทธิจากเผด็จการ จากอำนาจนิยม

“สิทธิของ LGBTIQ+ กับประชาธิปไตยคือเรื่องที่ต้องไปคู่กัน ประชาธิปไตยคือการที่คนทุกกลุ่มสามารถมีปากมีเสียง ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน บนฐานของคำว่าสิทธิมนุษยชน” – ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี

เจมส์: ผมมองว่าการแสดงออกของ LGBTIQ+ ต้องทำให้เหมือนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือเป็นสิ่งที่ต้องทำได้ พูดได้ แสดงออกได้เป็นเรื่องปกติ การที่เราจูบหรือจับมือในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติที่พวกเราทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

ฟอร์ด: ความรู้สึกตอนเราจับมือกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าการแสดงออกของเราต้องช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองหรือโดดเด่นในสังคมของคนเพศหลากหลาย แต่เราจับมือกันเพราะเราเป็นแฟนกัน (เจมส์: ใช่ ไม่มีอะไรมากกว่านั้นเลย) แค่นั้นเอง เพราะไม่ว่าจะไปไหนมาไหน เราจับมือเล่นกันปกติ แค่วันนั้นเราหน้ามุ่ย ขรึมด้วย เพราะเพิ่งออกจากศาลมา เลยตลกไม่ออก (หัวเราะ)
ถ้าวันหนึ่งเราเรียกสังคมที่เราอยู่ว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยเต็มใบได้ คิดว่าตอนนั้นทั้งสองคนจะกำลังทำอะไรอยู่? อะไรคือความฝันก่อนมาพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม?

ฟอร์ด: ถ้าสังคมทุกอย่างดี การเมืองเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีคุณค่าแบบอำนาจนิยม เอาจริง ๆ ผมอยากเป็นนักวิชาการ ถ้าทุกอย่างสมบูรณ์แบบ มีรัฐสวัสดิการ มีการกระจายอำนาจ ชาว LGBTIQ+ กลุ่มคนชายขอบได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โห คือไม่ต้องทำอะไรแล้ว (หัวเราะ) ไปทำงานด้านวิชาการเลย เพราะผมชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนหนังสือ ชอบการวิจัยประเด็นลึก ๆ

เจมส์: ความฝันของผมคืออยากเป็นเกษตรกร เป็นชาวสวน แล้วก็เป็นศิลปินด้วย เพราะผมชอบชีวิตที่สงบ เรียบง่าย แต่ก็ยังชอบงานสร้างสรรค์ อย่างงานอาร์ตเวิร์กของกลุ่มผมก็เป็นคนทำ
ก่อนหน้านี้มีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนถูกดำเนินคดี ถูกจับเข้าคุก ถ้าถึงตาเราบ้าง ได้เตรียมจัดการความรู้สึกตัวเองยังไงบ้าง? เราจะบอกสังคมยังไงว่าสิ่งที่เราสู้มีคุณค่า?

ฟอร์ด: เตรียมใจไว้ระดับหนึ่ง ถ้าติดจริงเท่ากับเราถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย คงกังวลว่าระหว่างอยู่ในคุก พ่อจะอยู่ได้ไหม สถานการณ์การเมืองจะเป็นยังไง สิ่งที่เราสู้ไปจะมีอะไรเปลี่ยนไหม จะมีคนทำต่อไหม จะมีคนรุ่นต่อไปที่คิดเหมือนเราหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเรื่องความกลัว ผมไม่ได้กังวลเรื่องสวัสดิภาพตัวเองเท่าไหร่

เจมส์: ผมไม่กลัวเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะถ้าเขาจับเราเข้าคุก จะยิ่งชัดเจนว่าเขากำลังใช้อำนาจรัฐกำจัดคนเห็นต่าง กำจัดคนที่ออกมาเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่า ถ้าผมหรือฟอร์ดเข้าคุก ผมเชื่อว่าการต่อสู้จะไม่มีทางจบ จะมีคนใหม่ๆ เดินเข้ามาอีกเป็นสิบเป็นร้อยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรา แต่คือประชาชนทั้งหมด

ฟอร์ด: ถึงจะโดนจับไป แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะไม่เสียดาย สิ่งที่เรากังวลมีอยู่อย่างเดียวคือกลัวว่าจะตามโลกข้างนอกไม่ทัน
อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตาตัวเอง?

ฟอร์ด: ใช่ แต่เราก็สบายใจได้ถ้ายังมีคนกล้าออกมา เพราะเชื่อว่าต่อให้เขาจับหมด 30 คน ตามหมาย (คดีสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563) การต่อสู้จะไม่มีทางหยุด เราเชื่อว่ามีคนอีกหลายสิบล้านคนคิดเหมือนเรา เขาทนไม่ไหวกับสภาวะสังคมแบบนี้แล้ว

เจมส์: ถ้าวันนั้นมาถึง ผมอยากให้ทุกคนมองว่านี่คือสัญลักษณ์ของความอยุติธรรมที่รัฐทำกับประชาชน ไม่ใช่แค่ผมหรือฟอร์ดหรอก ในอนาคตถ้ายังมีรัฐบาลชุดนี้ ยังมีโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2563 อยู่แบบนี้ จะต้องมีคนอื่น ๆ อีกมากที่ตกเป็นเหยื่ออำนาจรัฐ ถ้าเรายังปล่อยให้โครงสร้างบิดเบี้ยว คนต่อไปอาจเป็นคนใกล้ตัวของใครสักคน
คิดว่าพลังประชาชนตอนนี้มันมีน้ำหนักขนาดไหนในสังคม?

ฟอร์ด: ผมว่ามีมาก เพราะก่อนหน้าการประท้วง 18 กรกฎาคม และสืบเนื่องมาเรื่อย ๆ จนถึงเดือนกันยายน สภาฯ ไม่มีทีท่าจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ไม่มีทีท่าว่าจะยอมตัดอำนาจตัวเอง แต่พอมีการประท้วงต่อเนื่องของขบวนการประชาธิปไตยทั่วประเทศ มันกดดันเขา ทำให้เขาต้องยอมบางส่วน เขาต้องยอมถอยบางประการ ถึงแม้เขายังถอยไม่หมด แต่ตลอดสองเดือนที่มา มันชัดเจนและเห็นผลว่าไม่สูญเปล่า เราไม่ได้เหนื่อยฟรี

เจมส์: เขาสกัดกั้นการเรียกร้องครั้งนี้ได้ยาก เพราะไม่ใช่การเรียกร้องที่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ เขาจัดของเขาเอง ค่อนข้างเหนือการควบคุมของภาครัฐ แต่หลังจากนี้จะเป็นโจทย์ที่พวกเราต้องคุยกันว่าเราจะกดดันให้มากกว่านี้ได้ยังไง
ในระยะยาว ถ้าข้อเรียกร้องทั้งสามข้อได้รับการตอบสนอง ก้าวต่อไปของเยาวชนปลดแอกกับประชาชนปลดแอกคืออะไร?

ฟอร์ด: สำหรับประชาชนปลดแอก สมมติเราบรรลุสามข้อเรียกร้อง เราจะสลายตัว เพราะตามข้อตกลงประชาชนปลดแอก คือองค์กรเฉพาะกิจ แต่สำหรับเยาวชนปลดแอกเรามีวาระที่อยากผลักดันต่อ เช่นการร่างรัฐธรรมนูญในชั้น สสร. ในฐานะที่เราเป็นองค์กรเยาวชน เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่านี้ เพราะตอนนี้อายุของ ส.ส. ขั้นต่ำอยู่ที่ 25 ปี เราต้องลดลง การจะใช้สิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุขั้นต่ำคือ 18 ปี สิ่งที่เราจะทำคือ ถ้าคุณใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เท่ากับคุณจะต้องมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย เรื่องการศึกษา เราอยากผลักดันให้การศึกษาเป็นมิตรต่อผู้เรียนมากขึ้น เป็นการศึกษาของพลเมืองจริง ๆ และเป็นการศึกษาที่เคารพสิทธิมนุษยชนของนักเรียนและของบุคลากรทางการศึกษา นี่คือตัวอย่าง
ตอนนี้เยาวชนทั่วประเทศเริ่มตื่นตัวประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองและต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มีบางส่วนยังกังวลเรื่องผลกระทบ ถ้าคุยกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้ อยากคุยอะไรกับเขา?

เจมส์: เราอยากบอกเขาว่า ถ้าไม่ใช่เวลานี้ ตอนนี้ มันอาจไม่มีอีกแล้วก็ได้ เวลานี้คือเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วในการออกมาเรียกร้อง ตอนนี้นักเรียนมัธยมจำนวนหนึ่งตื่นแล้ว แรงงานจำนวนหนึ่งตื่นแล้ว นักศึกษาจำนวนมากตื่นแล้ว ไม่มีเวลาไหนดีไปกว่าเวลานี้อีกแล้ว ผมอยากให้ทุกคนพยายามก้าวผ่านความกลัว ข้ามผ่านสิ่งที่เขาปลูกฝังเรามา ข้ามผ่านความรู้สึกว่าเราต้องศิโรราบต่อระบบ ออกมาร่วมกัน ไม่ว่ามีชุมนุมที่ไหน หากคุณไปร่วม ถือว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าของประเทศ หรือแม้แต่ของตัวคุณเองแล้ว

ฟอร์ด: ถ้าเกิดเรายังนิ่งเฉยหรือว่ายังกลัว ถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ก้าวออกมา สังคมแบบนี้จะถูกส่งต่อไปให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเราคงไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะตัวเราเองไม่ชอบสภาวะสังคมแบบนี้ใช่ไหม? ลูกหลานเราคงไม่ชอบเช่นเดียวกัน

สังคมทุกวันนี้ โอกาสในการเติบโตน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้อยู่ ลูกหลานเราจะลืมตาอ้าปากได้ยังไง? เราต้องเชื่อก่อนว่าเรามีอำนาจ เราคือประชาชน เราคือเจ้าของประเทศนี้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ด้วยเสียงของเรา ถ้าหากเราออกมากันเยอะๆ การเปลี่ยนแปลงก็อยู่ไม่ไกล

ความกลัวเป็นสิ่งที่มีพลังในการกดทับมาก แต่สิ่งที่มีพลังเหนือกว่าความกลัวคือความหวัง เราต้องมีความหวัง

“เราต้องกล้าหวังว่าจะเห็นประเทศที่ดีกว่านี้ได้” – ภานุมาศ สิงห์พรม

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ประชาชน-นักศึกษา 15 คน จากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก รวมตัวรับทราบ 7 ข้อกล่าวหา

ทัตเทพ-ภานุมาศ ถูกจับกุมตามหมายจับคดี #เยาวชนปลดแอก ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา

ประมวลสถานการณ์สองวันของการจับกุม “อานนท์” – 8 ผู้ร่วมชุมนุมเยาวชนปลดแอก

X