แม้ไร้ คสช. แต่ ‘เสงี่ยม’ อดีตแกนนำ นปช. ยังถูกหมายเรียกไปแจ้งข้อหาไม่รายงานตัว คสช.

วันนี้ (18 มิ.ย. 63) เวลา 13.00 น. พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อดีตแกนนำ นปช. เดินทางไปที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม (กก.1 บก.ป.) ตามนัดหลังถูก ร.ต.อ.ชัชวาลย์ ละอองบัว รองสารวัตรสอบสวน ออกหมายเรียกให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในข้อหาฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในบันทึกข้อกล่าวหาระบุว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 57 คสช. มีคำสั่งที่ 57/2557  ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมที่สโมสรทหารบก ในวันที่ 10 มิ.ย. 57 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-12.00 น. โดยได้ประกาศทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุและอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งปรากฏว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ผู้ต้องหาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง โดยไม่แจ้งอุปสรรค และ/หรือเหตุขัดข้องใดๆ

ด้าน พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 3 ก.ค. 63 จากนั้นพนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนพร้อมกับส่งตัวให้อัยการในวันที่ 8 ก.ค. 63 เวลา 10.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องประกันตัว 

พ.ต.ต.เสงี่ยม เปิดเผยว่า คำสั่งเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวดังกล่าวของ คสช. ไม่มีความชอบธรรมและไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจาก คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหาร และได้ตั้งคณะทำงานและร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใหม่ รวมถึงได้เขียนนิรโทษกรรมความผิดของตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย การกระทำเหล่านั้นถือว่าเป็นกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต 

เสงี่ยมยังกล่าวอีกว่าที่ตัดสินใจไม่เข้าไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยของตนเอง จึงเลือกที่จะดูท่าทีจากคนอื่นที่เข้าไปรายงานตัวก่อนว่าเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิตก็ย่อมมีสิทธิเลือกที่จะไม่เข้ามารายงานตัวตามคำสั่งดังกล่าว และยืนยันต่อสู้คดีเพื่อยืนยันว่าการกระทำของตนไม่ผิด และการทำรัฐประหารของ คสช. ที่ผิดฐานกบฏ จึงไม่มีความชอบธรรมในการเรียกคนอื่นให้เข้าไปรายงานตัว 

ทั้งนี้ พ.ต.ต.เสงี่ยม เริ่มถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 53 หลังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยคดีแรกถูกดำเนินคดีจากการบุกรุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 53 ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้นยุบสภา ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. 63 เขาเพิ่งถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่คลิปชวนไล่ คสช. อีกหนึ่งคดี ในข้อหาตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (อ่านข่าวย้อนหลัง ที่นี่)

สำหรับคดีข้อหาไม่รายงานตัว คสช. ถูก คสช. กำหนดให้มีโทษทางอาญาคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 โดยประกาศฉบับนี้ยังไม่ถูกยกเลิกไป แม้จะไม่มี คสช. แล้วก็ตาม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในยุค คสช. มีสถิติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่มารายงานตัวต่อ คสช. อย่างน้อย 14 ราย คดีสำคัญอันมีการต่อสู้คดีในชั้นศาล ได้แก่ คดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์, คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง, คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์, คดีของจิตรา คชเดช และคดีของสิรภพ

คดีแทบทั้งหมดศาลทหารและศาลพลเรือนมีคำพิพากษาว่าผู้ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. มีความผิด แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ โดยศาลวินิจฉัยรับรองความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. เนื่องจากศาลอ้างว่าคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว การออกประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายใดในการใช้สั่งบังคับกับประชาชน จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้  มีเพียงคดีของจิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงาน ที่ศาลทหารมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเธออยู่ในต่างประเทศขณะมีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว

 

 

X