สั่งฟ้อง “เสงี่ยม” อดีตแกนนำนปช. ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์คลิปชวนประชาชนไล่ คสช.

พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีข้อหามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุเผยแพร่คลิปชวนประชาชนร่วมกันขับไล่ คสช. จำนวน 2 คลิป ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ล่าสุดอัยการสั่งฟ้องคดี จำเลยยืนยันต่อสู้คดีในชั้นศาล

การสอบสวนพ.ต.ต.เสงี่ยม ในคดีบุกรุกรัฐสภา จากเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

.

ถูกจับกุมคดีบุกรุกสภาเมื่อปี 53 ก่อนคดีหมดอายุความ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 63 พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ได้ถูกพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดมณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ เข้าจับกุมบริเวณบ้านพักที่จังหวัดชุมพร ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1551/2562 ลงวันที่ 17 ส.ค. 62 (คดีพิเศษที่ 59/2553) จากกรณีถูกกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 53 ระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้นยุบสภา โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัว พ.ต.ต.เสงี่ยมไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. 63 ในวันเดียวกับที่คดีจะหมดอายุความ หลังผ่านเหตุการณ์มาครบ 10 ปี พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น, ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว, ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำร้ายร่างเจ้าพนักงาน และทำให้เสียทรัพย์ฯ โดยกล่าวหาว่า พ.ต.ต.เสงี่ยม ร่วมกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงไปชุมนุมที่บริเวณหน้าที่ทำการรัฐสภาในระหว่างการประชุมสภา ก่อนผู้ชุมนุมได้ทำลายประตูรั้วของรัฐสภา ขัดขวางการประชุมรัฐสภา และมีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารที่รักษาความปลอดภัย จนได้รับบาดเจ็บ (อ่านคำฟ้องเพิ่มเติม)

จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในคดีนี้ และได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 มิ.ย. 63

.

ถูกจับกุมแจ้งข้อหาคดีเผยแพร่คลิปชวนไล่ คสช. อีกคดี

ในวันที่ 7 เม.ย. นั้นเอง เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้นำหมายจับที่ 307/2563 ออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 63 เข้าจับกุม พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ หลังจากได้รับการประกันตัวในคดีบุกรุกรัฐสภาดังกล่าวแล้ว

พ.ต.ต.เสงี่ยมได้ถูกควบคุมตัวไปที่บก.ปอท. เพื่อแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาตามมาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 เรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง จากเหตุกรณีโพสต์คลิปวิดีโอลงเว็บไซต์ยูทูปและเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2560 จำนวน 2 คลิป โดยมีเนื้อหากล่าวเชิญชวนประชาชนและนักศึกษาให้ออกมาชุมนุมขับไล่ คสช. จากกรณีที่ไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้ง และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในช่วงดังกล่าว

คดีนี้มี พ.ต.ท.กังวาล ศรีวิไล เจ้าหน้าที่จากบก.ปอท. เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา และในชั้นสอบสวนพ.ต.ต.เสงี่ยม ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาวันที่ 8 เม.ย. 63 พนักงานสอบสวนได้นำตัวพ.ต.ต.เสงี่ยมไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญา โดยระบุว่ายังสอบสวนพยานไม่แล้วเสร็จ และยื่นขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีมีอัตราโทษจำคุกสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ด้านพ.ต.ต.เสงี่ยมได้ยื่นขอประกันตัว โดยเช่าหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวน 200,000 บาท และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้รวบรวมสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการ และอัยการได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี โดยพ.ต.ต.เสงี่ยมได้เดินทางไปรายงานตัวและรับฟังคำฟ้องที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 โดยเขายืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลอาญาได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานคดีในวันที่ 27 ก.ค. 63 เวลา 09.00 น. และให้ประกันตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิม 

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เป็นอีกข้อหาหนึ่งที่ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการนำมาใช้ตีความอย่างกว้างขวางเพื่อปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในช่วง 5 ปีเศษภายใต้อำนาจ คสช. มีการนำข้อหานี้มาใช้กล่าวหานักการเมืองและนักกิจกรรมจำนวนอย่างน้อย 124 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้แสดงความคิดเห็น-เผยแพร่ข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือเป็นผู้นำปราศรัยในการชุมนุมต่างๆ โดยข้อหานี้ระบุโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 7 ปี

.

อ่านเพิ่มเติมในรายงาน ราวกับคสช.ยังไม่จากไปไหน: 6 ปีรัฐประหาร การละเมิดสิทธิที่ยังคงอยู่ และ รู้จักข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เครื่องมือจัดการประชาชนยุค คสช.

.

X