องค์กรสิทธิมนุษยชนจัดทำรายงานเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ICJ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้ร่วมกันจัดทำรายงานเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ในรายงานดังกล่าว ICJ TLHL และ CrCF ได้ระบุถึงข้อกังวลร่วมกันเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ฯ ได้ อันได้แก่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อบกพร่องทางด้านสิทธิมนุษยชนอันมีมาอย่างต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมายของประเทศ การไม่มีกฎหมายภายในกำหนดให้การซ้อมทรมาน การประติบัติที่ทารุณโหดร้ายในรูปแบบอื่น และการบังคับให้สูญหาย เป็นความผิด รวมถึงรายงานเกี่ยวกับกรณีการทรมานและการประติบัติที่ทารุณโหดร้ายในรูปแบบอื่น นอกจากนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งสามยังได้แสดงความกังวลต่อการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับการระบาดของโรค COVID-19 รวมทั้งและมาตรการต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิในการแสดงออกอย่างเสรี สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในข้อมูลข่าวสาร สิทธิส่วนบุคคล และเสรีภาพในการชุมชนและการสมาคม โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ศาลได้ทบทวนมาตราการดังกล่าว

ในรายงานฉบับนี้ องค์กรทั้งสามยังได้อธิบายถึงข้อห่วงกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญและกรอบทางกฎหมาย

  • คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2561 และ
  • คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 9/2562

การวิสามัญฆาตกรรม  การบังค้บให้สูญหาย และการซ้อมทรมาน

  • การขาดซึ่งบทบัญญัติในกฎหมายภายในที่กำหนดให้การซ้อมทรมาน การประติบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น และการบังคับให้สูญหาย เป็นความผิด
  • รายงานเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรม การซ้อมทรมาน การประติบัติที่ทารุณโหดร้ายในรูปแบบอื่น และการบังคับให้บุคคลสูญหาย รวมถึงความก้าวหน้าและผลการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว
  • การปรับใช้กฎหมายความมั่งคงต่าง ๆ และ
  • การตอบโต้ต่อบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรายงานกรณีการซ้อมทรมาน การประติบัติที่ทารุณโหดร้ายในรูปแบบอื่น และการบังคับให้บุคคลสูญหาย

ความเป็นมา

ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560 ในสมัยการประชุมที่ 119 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ทำการรับรองข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระที่สองของประเทศไทยตามมาตรา 40 ของ ICCPR

ตามข้อกำหนดด้านแนวทางและกระบวนการ คณะกรรมการ ฯ ได้ขอให้ประเทศไทยนำส่งรายงานติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเร่งด่วนของคณะกรรมการตามข้อ 8 (รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมาย) 22 (การวิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้สูญหาย และการทรมาน) และ 34 (สภาพของสถานที่คุมขัง) ภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่มีการรับรองข้อสังเกตเชิงสรุป ซึ่งคือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

ในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ประเทศไทยได้นำส่งรายงานติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการ ฯ รายงานฉบับดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 ICJ TLHR และ CrCF ได้ร่วมกันนำส่งรายงานติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เวลานั้นมีความคืบหน้าในประเด็นสำคัญหลายประการซึ่งทั้งสามองค์กรต้องการที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คณะกรรมการ ฯ ผ่านการส่งรายงานเพิ่มเติมฉบับนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทำการทบทวนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเร่งด่วนของประเทศไทยในสมัยการประชุมที่ 129 ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พ.ศ. 2563

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.icj.org/thailand-the-icj-and-other-human-rights-groups-make-supplementary-submission-to-the-un-human-rights-committee/

รายงานฉบับเต็ม: รายงานฉบับเต็มภาษาไทย

X