เปิดเรื่องราวชุมนุมค้านเผด็จการที่กำแพงเพชร: กรณีนอกสายตาดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช. 9 ราย

ปรากฏการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา ได้เกิดการรวมกลุ่มและการชุมนุมในหลายกรณีมากขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ไปจนถึงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาของประชาชนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของเครือข่าย People Go ที่เรียกว่ากิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็น ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ นโยบายความมั่นคงทางอาหาร, สิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการมีส่วนร่วม, การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเพื่อความเป็นธรรม (P-move) ที่ติดตามการแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐในด้านต่างๆ , การชุมนุมเรียกร้องให้ยุติโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และการชุมนุมหลายครั้งของ “คนอยากเลือกตั้ง” เพื่อเรียกร้องให้คสช.จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นต้น

นอกจากการชุมนุมใหญ่ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดสนใจของประชาชนทั่วไปและสื่อสำนักต่างๆ แล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นที่รับรู้และไม่ถูกสื่อมวลชนติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชร ได้พยายามออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คสช. ได้รับรู้ว่าประชาชนระดับรากหญ้า กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการบริหารประเทศ  โดยการออกมาทำการชูป้ายข้อความ พร้อมกับถ่ายภาพและวิดีโอกิจกรรมไว้ ก่อนจะได้นำมาเผยแพร่สู่โซเชียลมีเดีย  ซึ่งภายหลังจากการทำกิจกรรมแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ก็ได้มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วถึง 9 ราย และศาลได้มีคำพิพากษาสิ้นสุดลงไปอย่างเงียบงัน โดยไม่มีใครรับรู้

 

การชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในช่วงใกล้เคียงกับการเริ่มกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ที่เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (วันที่ 20 ม.ค.) และเริ่มต้นการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งที่บริเวณสกายวอร์คปทุมวัน (วันที่ 27 ม.ค.) คือเมื่อวันที่ 28 ม.ค.61 ได้มีกลุ่มประชาชนราว 20 กว่าคน นัดหมายกันไปชูป้ายข้อความที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยข้อความบนป้ายมีอาทิเช่น “เผด็จการออกไป ประชาธิปไตยคืนมา” “สามัคคีเรารอด ไล่โจรออกไป” “คนรวยกระจุก คนจนกระจาย” โดยได้มีการบันทึกภาพและวิดีโอกิจกรรม ก่อนถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ช่องทางต่างๆ  ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าติดตามตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเพื่อมาดำเนินคดี

น.ส.เบญจวรรณ พระสุนิน อายุ 51 ปี  เป็นผู้ประกอบกิจการรีสอร์ตและหอพักภายในจังหวัดกำแพงเพชร หนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว เปิดเผยว่าตั้งแต่ใน ปี 2559 หลังจากที่คสช. เข้ามาบริหารประเทศได้ระยะหนึ่ง น.ส.เบจวรรณรู้สึกว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ จากการทำธุรกิจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทำการค้าขายก็ไม่ได้กำไร ก่อนนี้ น.ส.เบญจวรรณทำธุรกิจค้าขายพืชไร่มาก่อน ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดีสร้างกำไรและรายได้ จากนั้นจึงได้เริ่มทำธุรกิจห้องพักและรีสอร์ต ที่เป็นช่วงเดียวกับเกิดการรัฐประหารของคสช. ช่วงแรกๆ ก็ยังพอจะดำเนินการไปได้อยู่ แต่หลังจากคสช.เข้ามาได้สักระยะหนึ่ง น.ส.เบญจวรรณเริ่มรู้สึกว่าได้รับผลกระทบกับธุรกิจ ค้าขายก็ขาดทุน จากที่ก่อนหน้านี้ทำธุรกิจได้วันละเป็นหมื่น แต่พอคสช. เข้ามาวันละพัน ยังหายาก ไม่พอที่จะใช้หนี้สินที่เพิ่มพูน

ช่วงนั้น น.ส.เบญจวรรณคิดหนักและเกิดความเครียด จึงได้วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเหตุใด ธุรกิจจึงได้ย่ำแย่ลงขนาดนี้ ก็คิดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาแม้มีประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ ประชาธิปไตยก็ยังจับต้องได้ มีประโยชน์กับประชาชน ไม่เดือดร้อนเหมือนยุคคสช.นี้ ผลงานรัฐบาลก่อนมีหลายอย่างทั้งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการจำนำข้าวที่ช่วยเหลือพยุงให้คนรากหญ้าได้มีรายได้ ยังมีโครงการสินค้า OTOP เพื่อให้เกษตรกรใช้ช่วงเวลาว่างทำสินค้ามาขาย แต่ในช่วงรัฐบาลคสช. พบว่ามีความพยายามยกเลิกโครงการดีๆ ในหลายโครงการ เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ลง มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นทั่วไป จึงคิดว่าอยากให้สังคมมีประชาธิปไตย เพราะคิดว่าเศรษฐกิจกับการเมืองเป็นสิ่งคู่กัน แล้วผลกระทบมันกระทบไปหมด ที่หอพักของน.ส.เบญจวรรณ พ่อแม่ของเด็กก็ไม่มีเงินจะมาเช่า ค่าเช่าก็ไม่อยากจะจ่าย เกิดการค้างค่าเช่ายาวออกไป

น.ส.เบญจวรรณเล่าว่าเมื่อคิดเห็นเช่นนั้น ตนจึงได้ตัดสินใจแสดงออกถึงปัญหาของตน และได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นชาวนา ชาวไร่ ซึ่งเคยซื้อขายพืชไร่อยู่ด้วยกัน และต่างก็พบว่าเพื่อนก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกัน ราคาข้าว ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ย่ำแย่ไม่เหมือนเมื่อก่อน จากที่เคยเป็นหนี้หลักแสน ตอนนี้เป็นหนี้หลักล้านแล้ว จึงเกิดการชักชวนกันว่ามาเขียนป้าย ชูป้ายเป็นสัญลักษณ์ให้คสช. รู้ว่าถ้าคสช.อยู่เนี่ย ประชาชนรากหญ้าตายหมด อยู่ไม่ได้ เพื่อนก็เห็นพ้องกันจึงมาร่วมการชุมนุม โดยในการชุมนุมก็มีป้ายข้อความที่ช่วยกันเขียนช่วยกันทำหลายอัน ให้รัฐบาลรับรู้ว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี เช่น “เผด็จการออกไป เอาประชาธิปไตยคืนมา” แล้วเขียนบอกให้เขารู้ด้วยว่า “ชาวนาลำบาก อยู่ยากจริงๆ”

วันที่มีการชุมนุมได้เลือกสถานที่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อยากให้คนรู้ว่าที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจมันดีขึ้น หากดีจริงทำไมไม่มีผลต่อประชาชนเลย ตนและเพื่อนๆ ประมาณ 10 กว่าคน ที่บอกต่อๆ กัน ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชน  จากนั้นจึงได้มีการถ่ายภาพและวิดีโอไว้ก่อนถูกนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียกันต่อๆ ไป

 

เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ใช้กำลังเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ชุมนุมเพื่อดำเนินคดี

หลังจากการชุมนุมดังกล่าวเพียง 1 วัน หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมดังกล่าว แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อบอกเล่าว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 61 เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 20 นาย เข้าติดตามตัวถึงหอพักที่ตนเองเป็นผู้ดูแลอยู่ โดยก่อนหน้านั้นได้ติดต่อมาทางโทรศัพท์ ระบุว่าอยากจะสอบถามข้อมูลเรื่องราวการทำกิจกรรม แต่เมื่อเขาได้เดินทางมาที่หอพักตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจแต่งกายชุดในเครื่องแบบ พร้อมรถทหารและตำรวจเข้ามาภายในหอพัก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบถามข้อมูลและเข้าตรวจค้นห้องต่างๆ ภายในหอพัก โดยไม่มีการแสดงหมายค้น พร้อมกับอ้างอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อหาแผ่นป้ายข้อความ ทั้งห้องที่ว่างและห้องที่มีผู้เช่าอาศัยอยู่ ก่อให้เกิดความตกใจแก่ผู้เช่าทั่วไปอย่างมาก แต่ก็ไม่พบแผ่นป้ายแต่อย่างใด จากนั้นหนึ่งในผู้ชุมนุมจึงได้ถูกพาตัวไปที่สภ.เมืองกำแพงเพชร และพบว่ายังมีผู้ร่วมชุมนุมอีกหนึ่งคนที่ถูกพามายังสถานีตำรวจอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายจับหรือหมายเรียกแต่อย่างใด

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการมีการสอบสวนเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น เขาก็ได้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง โดยที่ขั้นตอนดังกล่าวเป็นการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา แต่ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ยังไม่เข้าใจว่านั่นคือกระบวนการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา เพราะยังรู้สึกมึนงงตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาหรือร่วมอยู่ด้วยระหว่างที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นผู้ต้องหาทั้งสองได้เซ็นชื่อในเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาโดยเป็นการรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวกลับ

หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นัดหมายเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้กับอัยการจังหวัดกำแพงเพชร จากนั้นอัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร และศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้อ่านคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเลย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำให้ทราบข้อมูลว่าจากกิจกรรมชูป้ายดังกล่าว ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ทำกิจกรรมจำนวน 8 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยผู้ต้องหาแต่ละรายทยอยถูกแจ้งข้อหาที่สภ.เมืองกำแพงเพชรคนละช่วงวันกัน ทำให้มีการฟ้องร้องแยกเป็นทั้งหมด 5 คดี ในพฤติการณ์เดียวกัน โดยที่ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ทำให้มีการพิพากษาที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรทันที โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วยในกระบวนการต่างๆ

จำเลยในแต่ละคดีถูกพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เท่ากันโดยศาลมีการลงโทษจำคุกตั้งแต่ 1-4 เดือน และให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เนื่องจากให้การรับสารภาพ และทุกคดีให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี เนื่องจากจำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนอีกทั้งศาลยังลงโทษปรับ 1 พันบาททุกคนด้วย

 

 

ผู้ต้องหารายสุดท้าย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ศาลพิพากษาปรับ 5,000 บาท

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 61 น.ส.เบญจวรรณ พระสุนิน ผู้ต้องหาอีก 1 รายที่ได้ถูกออกหมายจับ เนื่องจากไม่ได้เดินทางเข้าพบตำรวจตามหมายเรียก จากการทำกิจกรรมดังกล่าว ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาสองข้อหาเช่นเดียวกับคนอื่นๆ โดยน.ส.เบญจวรรณให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา  ก่อนที่ในช่วงบ่าย ตำรวจจะมีการส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการได้ระบุต่อมาว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ต้องส่งสำนวนให้ทางอัยการภาค 6 ตรวจดูก่อน จึงนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ค. 61 ก่อนจะปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

หลังจากนั้น น.ส.เบญจวรรณ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อฟังคำสั่งของอัยการ แต่ทางอัยการระบุสำนวนคดียังไม่กลับมาจากอัยการภาค 6 จึงให้เลื่อนการฟังคำสั่งออกไป 2 ครั้งด้วยกัน

ก่อนที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 61 เวลา 10.00 น. อัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้นำตัว น.ส.เบญจวรรณ ผู้ต้องหา ส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และได้ยื่นคำแถลงประกอบการรับสารภาพเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษสถานเบา

จากนั้น ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้อ่านคำพิพากษาในวันนั้น โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา พิพากษาให้ปรับจำเลยจากการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะเป็นเงิน 5,000 บาท และชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เป็นเงิน 5,000 บาท รวมเป็นค่าปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือให้ปรับเป็นจำนวน 5,000 บาท โดยไม่มีโทษจำคุกใดๆ เมื่อญาติของจำเลยได้จ่ายค่าปรับเสร็จสิ้น ทำให้จำเลยได้รับการปล่อยตัวออกมา

 

รวมแล้วจนถึงปัจจุบัน ในการชุมนุมที่จังหวัดกำแพงเพชรตั้งแต่เมื่อต้นปี 2561 มีผู้ตกเป็นจำเลยด้วยกันทั้งหมด 9 ราย โดยที่ 8 รายแรก ศาลได้พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยมีความผิด แต่ให้รอการลงโทษไว้แล้วเวลา 1 ปี  และให้เสียค่าปรับจำนวน 1,000 บาท โดยที่จำเลยไม่มีทนายความร่วมอยู่ด้วยตลอดกระบวนการ และจำเลยรายสุดท้าย ศาลได้พิพากษาปรับเงินเป็นจำนวน 5,000 บาท จากพฤติการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

 

X