ประชาชนยังไม่เคยเอาผิดได้: ย้อนดูคดีฟ้องคณะรัฐประหารเป็นกบฏ จากยุคจอมพลถนอมถึงคสช.

22 มิถุนายน นี้ ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ 15 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคสช. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โดยศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะรับคดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฟ้องคสช.ไว้พิจารณาหรือไม่

ดูกระบวนการยื่นฟ้องคสช. และผลคำพิพากษาในศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์

ไปยังไม่ถึงจุดเริ่มต้น: ทบทวน 3 ปี กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช. ข้อหากบฏ ก่อนศาลฎีกาพิพากษา

หากลองมองย้อนกลับไปก่อนการฟ้องของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 86 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฏกรณีที่พลเมืองพยายามยื่นฟ้องผู้ก่อการรัฐประหารชุดต่างๆ ในข้อหาความผิดอาญาฐานกบฏ เท่าที่พบอย่างน้อย 3 กรณี การฟ้องของกลุ่มพลเมืองโต้กลับนับเป็นความพยายามครั้งที่ 4 แล้ว

ในทุกครั้ง ศาลไม่เคยรับคำฟ้องของผู้ฟ้องไว้พิจารณา จนกล่าวได้ว่าท่ามกลางรัฐประหารบ่อยครั้งในประเทศไทย นับเฉพาะที่ “ประสบความสำเร็จ” ทั้งหมด 10 ครั้ง การไต่สวนคณะรัฐประหารในคดีกบฏไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ประชาชนไม่เคยสามารถเอาผิด หรือนำคณะรัฐประหารมาลงโทษได้เลยตลอดประวัติศาสตร์การเมือง ยังไม่นับคำพิพากษาในอีกหลายคดีของศาลไทยตลอดมาที่วินิจฉัยรับรองการกระทำรัฐประหาร และการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน

การไม่สามารถเอาผิดได้ดังกล่าวนี้เอง ทำให้ผู้กระทำการคณะรัฐประหารทุกครั้งสามารถลอยนวลพ้นผิด และทำให้ผู้กระทำการชุดต่อๆ มา “กระทำซ้ำ” ได้อีกอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องกลัวการถูกลงโทษ เกิดวงจรการรัฐประหารอย่างซ้ำซากไม่สิ้นสุดในสังคมไทย

รายงานชิ้นนี้ชวนทบทวนความพยายามของประชาชนในการฟ้องร้องเอาผิดคณะรัฐประหารในข้อหากบฏเท่าที่ผ่านมา แม้ไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน แต่ความพยายามในอดีต อาจเป็นพื้นฐานสำหรับการหยุดยั้งการรัฐประหารต่อไปได้ในอนาคต [1]

 

 

2514: อดีตสามส.ส. ฟ้องคณะรัฐประหาร แต่ถูกคำสั่งจอมพลถนอมสั่งจำคุก

“ที่ผมฟ้องเขาไม่ใช่เพราะอยากดัง ไม่ใช่เพราะอยากหาคะแนนเสียง แต่ผมฟ้องเพราะทนไม่ได้กับรัฐบาลเผด็จการ มันไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เขาทำผิดกฎหมายเห็นๆ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาต่อต้าน…ตายก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ฟ้อง”

อุทัย พิมพ์ใจชน กล่าวถึงกรณีที่เขาพร้อมเพื่อน ส.ส. 2 ราย ฟ้องร้องคณะรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร [2]

หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 พร้อมกับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ยกเลิกคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และพรรคการเมือง  นายอุทัย  พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก และนายบุญเกิด หิรัญคำ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจอมพลถนอมกับพวก รวม 17 คน ต่อศาลอาญาในข้อหาความผิดฐานกบฏ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2515

ทั้งสามคนเห็นว่าคณะรัฐประหารได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ สั่งกำลังทหารติดอาวุธไปประจำการตามจุดสำคัญ ทำให้เจ้าหน้าที่และโจทก์ทั้งสามเกรงกลัวว่าจำเลยจะประทุษร้ายด้วยกำลังกายและอาวุธ จำต้องยอมปฏิบัติตาม และในคืนวันเดียวกันจอมพลถนอมยังประกาศให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ล้มอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้โจทก์ไม่อาจไปประชุมสภาเพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากปวงชนชาวไทยได้

คดีนี้ ต่อมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษาหมายเลขแดงที่ 1295/2515 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2515 ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ทั้งสามคนไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลมีการอ้างว่าถ้าหากถือว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหาย ก็อาจมีบุคคลอื่นๆ อีกที่จะเป็นผู้เสียหายฟ้องคณะปฏิวัติได้ในข้อหาเดียวกันนี้ ทำให้ฟ้องกันได้ทั่วประเทศ แทนที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กลับจะเกิดความระส่ำระสายเสียด้วยซ้ำ และศาลยังระบุว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสียหาย หรือมีสิทธิฟ้องคดีในประเภทใดได้โดยเฉพาะแล้ว ผู้แทนราษฎรก็ไม่มีสิทธิเช่นนั้น”

หลังจากศาลอาญายกฟ้องดังกล่าว คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมได้ “เอาคืน” อดีตส.ส.ทั้งสามคน โดยมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2515 ให้ลงโทษจำคุกนายอุทัย พิมพ์ใจชน 10 ปี และให้จำคุกนายอนันต์ และนายบุญเกิด คนละ 7 ปี โดยอ้างว่าทั้งสามคน “บิดเบือนความจริง เพื่อต้องการให้ศาลอาญารับฟ้อง เพราะต้องการใช้กระบวนพิจารณาของศาลกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าคณะปฏิวัติเป็นกบฏอยู่ตลอดไป มุ่งหวังให้ประชาชนเคลือบแคลงใจในฐานะของคณะปฏิวัติ”

ประกาศฉบับนี้ยังอ้างว่าส.ส.ทั้งสามคนย่อมรู้กฎหมายดี โดยเฉพาะนายอุทัยที่เป็นนิติศาสตรบัณฑิตและเนติบัณฑิต ย่อมทราบว่า “เมื่อคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จแล้ว อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของคณะปฏิวัติ คณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมใช้อำนาจอธิปไตยได้ทุกวิถีทาง”

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้จึงอ้างว่าการฟ้องคดีของทั้งสามคนไม่ใช่การใช้สิทธิโดยสุจริต มีเจตนาชักจูงให้ประชาชนหลงผิดว่าการกระทำของคณะปฏิวัติเป็นการกระทำของพวกกบฏ การฟ้องคดีนี้จึงกระทบกระเทือนความสงบภายในราชอาณาจักร และต่อต้านล้มล้างคณะปฏิวัติ สมควรต้องลงโทษจำคุกทั้งสามคน

 

ภาพสามอดีตส.ส. ผู้ยื่นฟ้องคณะรัฐประหารของจอมพลถนอม  แต่ถูกจอมพลถนอมใช้อำนาจเผด็จการสั่งจำคุก ก่อนได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังกว่า 1 ปี 7 เดือน

 

การใช้อำนาจเผด็จการของจอมพลถนอมมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจ “ตุลาการ” เข้าไปสั่งลงโทษจำคุกผู้คัดค้านต่อต้านการยึดอำนาจ ทำให้อดีตส.ส.ทั้งสามคน ต้องถูกคุมขังนับแต่นั้น

จนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้มีการออก พ.ร.บ.ให้ยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ในวันที่ 25 มกราคม 2517 โดยให้ปล่อยตัวทั้งสามคน และให้ถือว่าทั้งสามนั้นมิได้กระทำความผิดและมิเคยต้องโทษตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยในพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังระบุเหตุผลด้วยว่าการฟ้องร้องของทั้งสามคนเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและเป็นการแสดงความคิดเห็นตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทุกคน การใช้สิทธิฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรม ย่อมจะถือเป็นการกระทำความผิดมิได้

ทั้งสามคนนับได้ว่าเป็นนักการเมืองกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวเท่าที่ผ่านมาในประเทศไทย ที่หาญกล้าฟ้องคณะรัฐประหาร อุทัย พิมพ์ใจชน เคยยืนยันถึงการทำหน้าที่ในฐานะ “นักการเมือง” ในการฟ้องคณะรัฐประหารไว้ว่า

“จะต้องสู้เพื่อประชาชน แต่ตรงไหนคือการต่อสู้ ถ้ามีการเลือกตั้งเราจะไปพูดอะไรกับประชาชนว่าเราต่อสู้แล้ว อย่างไรคือการต่อสู้ บอกให้เลือกข้าพเจ้าแล้ว ตอนนี้เขารังแกชาวบ้าน แต่เราไม่ทำอะไรเลย คราวหน้าเราไปหาเสียง เราจะมีหน้าอะไรไปพูดกับชาวบ้านว่า เราต่อสู้เพื่อประชาชน ตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในยุคมืด คนปฏิวัติกดขี่ประชาชน อาวุธเราก็ไม่มี ก็สู้โดยใช้ความรู้” [3]

 

2549: ฉลาด วรฉัตร ฟ้องคณะรัฐประหาร คปค. 

หลังจากการรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กว่าจะมีกรณีการฟ้องร้องคณะรัฐประหารอีกครั้ง ก็ล่วงมาถึงการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดย ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้เคยออกมาเคลื่อนไหวอดข้าวประท้วงต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ในสมัยยุคพฤษภาทมิฬ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะรัฐประหารและผู้สนับสนุน รวมทั้งสิ้น 308 ราย ต่อศาลอาญา ในข้อหาความผิดฐานกบฏ ตามมาตรา 113 และความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ มาตรา 112  เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550

ร.ต.ฉลาด เห็นว่าคณะรัฐประหาร คปค. กระทำผิดด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บิดเบือนหรือบิดผันระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยเห็นว่าคดีไม่มีมูล ต่อมา ร.ต.ฉลาดได้อุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยคดีหมายเลขแดงที่ 7841/2553 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2553 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้องไว้พิจารณา

ศาลอุทธรณ์ได้ยกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ในมาตรา 37 ซึ่งได้บัญญัติถึงการกระทำทั้งหลายจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของคปค.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง รวมทั้งอ้างถึงมาตรา 36 ที่บัญญัติให้ประกาศและคำสั่งของคณะคปค. ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด ศาลจึงเห็นว่าการกระทำของคปค.และพวก พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามบทบัญญัติเหล่านี้แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะรับไว้พิจารณา

 

ภาพการประท้วงต่อการรัฐประหารปี 2549 ของฉลาด วรฉัตร โดยการขังตนเองไว้ในห้องขังจำลองที่หน้ารัฐสภา (ภาพจากเว็บไซต์ pantip)

 

2557: ฉลาด วรฉัตร ผู้พยายามฟ้องคณะรัฐประหารอีกครั้ง

“ศาลทหารหรือศาลไหนก็แล้วแต่ ที่สนับสนุนคนทำผิดกฎหมายก็ไม่ใช่ความถูกต้องแล้ว คุณจะไปบอกว่า คนไปปล้นเขามา นี่มันเหมือนปล้นกันทั้งประเทศเลยนะ พอคุณปล้นสำเร็จไม่มีใครต่อต้านคุณ แล้วคุณบอกว่าฉันมีอำนาจโดยชอบธรรม มันเป็นไปได้ไหม”

ร.ต.ฉลาด วรฉัตร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2557 ระหว่างอดอาหารประท้วงการรัฐประหาร [4]

แม้ 7 ปี ก่อนหน้านั้น ความพยายามของร.ต.ฉลาด วรฉัตร จะล้มเหลว แต่เขายังไม่ละความพยายามในการเอาผิดผู้ “ปล้นอำนาจ” มาโดยไม่ชอบธรรม โดยหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ร.ต.ฉลาดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวมทั้งสิ้น 27 คน ต่อศาลอาญา ในความผิดฐานกบฏ และความผิดตามมาตรา 112 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557

ร.ต.ฉลาด เห็นว่าคณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกและประกาศการปฏิวัติโดยมิชอบ ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยจำเลยได้ใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ศาลอาญาได้มีคำสั่งในวันเดียวกับที่ฟ้องนั้น โดยมีคำสั่งยกฟ้อง ไม่รับฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีนี้

แม้ว่าศาลจะยกฟ้อง แต่ฉลาด วรฉัตร ยังยืนหยัดอดอาหารประท้วงการรัฐประหารของคสช. ที่หน้ารัฐสภา รวมแล้วเป็นเวลากว่า 45 วัน พร้อมกับยืนยันว่าตราบใดที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าจะขอต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอดไป” [5]

 

 

ภาพฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงการรัฐประหาร 2557 ที่หน้ารัฐสภา (ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท)

 

สู่ 15 พลเมืองโต้กลับฟ้องคสช. กับความหวังในการเอาผิดคณะรัฐประหาร

“ไม่ว่าศาลฎีกาจะตัดสินอย่าง เราถือว่าเราได้ทำเต็มที่ในนามพลเมืองที่ต้องต่อสู้คัดค้านอำนาจอันป่าเถื่อนแล้ว ทั้งในกระบวนการยุติธรรมและบนท้องถนน”

อานนท์ นำภา หนึ่งในพลเมืองโต้กลับ ผู้ฟ้องคดีเอาผิดคสช. [6]

การฟ้องของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นับเป็นความพยายามครั้งที่ 4 ในการเอาผิดคณะรัฐประหาร โดยฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกรวม 5 คน ได้แก่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพล.อ.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาตามกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และ 114

ผู้ฟ้องทั้งหมด 15 คน ได้แก่ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, น.ส.ศรีไพร นนทรี, นายบารมี ชัยรัตน์, นายณัทพัช อัคฮาด, นายสิรภพ (สงวนนามสกุล), นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นัชชชา กองอุดม, นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, นายพายุ บุญโสภณ, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายกฤต แสงสุรินทร์ และนายอานนท์ นำภา ทั้งหมดยืนยันว่าตนได้รับผลกระทบและความเสียหายจากการทำรัฐประหารของคสช.

คดีนี้ ทั้งในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ต่างยกฟ้องคดี ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยต่างอ้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมาตรา 48 ได้บัญญัติให้คณะรัฐประหารพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

จากความพยายามในการฟ้องคณะรัฐประหารทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่ศาลนับมาใช้อธิบายอ้างปฏิเสธการรับฟ้องตลอดมา มีอยู่สองประเด็นหลัก ได้แก่ การอ้างเหตุผลทางเทคนิคว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย และการอ้างบทบัญญัติที่นิรโทษกรรมการกระทำของคณะรัฐประหารในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับต่างๆ ซึ่งออกมาโดยคณะรัฐประหารเอง โดยไม่เคยมีการพิจารณาเนื้อหาว่าการทำรัฐประหารเป็นความผิดหรือไม่เลย

แนวทางดังกล่าว ทำให้บทบัญญัติข้อหากบฏในกฎหมายอาญา ไม่เคยถูกนำมาใช้เอาผิดกับคณะรัฐประหารชุดใดๆ จนถึงปัจจุบัน และจึงทำให้พอคาดเดาคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่จะเกิดขึ้นได้

หากแต่ไม่ว่าคำพิพากษาจะเป็นเช่นไร อย่างน้อยความพยายามทั้งหมดเหล่านี้ ควรถูกบันทึกไว้ในฐานะส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของประชาชนที่ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหาร อันถูกทำให้กลายเป็น “สิ่งปกติ” ในสังคมไทย รวมทั้งเป็นพื้นฐานต่อไปสำหรับความพยายามของพลเมืองไทยในการหยุดยั้งภาวะลอยนวลพ้นผิดของคณะรัฐประหารตลอดมา

 

 

[1] ในส่วนรายละเอียดคดี และคำวินิจฉัยของศาลในรายงานนี้ สรุปและเรียบเรียงมาจากงานของ ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2560). ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน: กรุงเทพฯ.

[2] วิรัตน์ โตอารีย์มิตร (เรียบเรียง). (2545). พิมพ์ไว้ในใจชน: มุมมอง ความคิด และชีวิตการเมืองของ ‘อุทัย พิมพ์ใจชน’. สำนักพิมพ์บีเยศ. กรุงเทพฯ: หน้า 37-38.

[3] อ้างแล้วใน 2

[4] สำนักข่าวประชาไท. (8 มิ.ย. 2557). “เปิดใจ ‘ฉลาด วรฉัตร’ กับการอดอาหารต้านรัฐประหาร(อีกครั้ง) ในวัย 71” https://prachatai.com/journal/2014/06/53872

[5] สำนักข่าวประชาไท (6 ก.ค. 2557) “’ฉลาด วรฉัตร’ ยุติอดอาหาร แต่ยังทำกิจกรรมหน้าสภา” https://prachatai.com/journal/2014/07/54439

[6] อานนท์ นำภา โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561

 

 

X