ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามศาลชั้นต้นปรับทนายอานนท์พันบาท คดี “ยืนเฉยๆ”

วันนี้(7 พ.ย.2560) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี “ยืนเฉยๆ” ที่นายอานนท์ นำภา ทนายความ ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการทำกิจกรรมยืนเฉยๆ ที่วิคตอรี่พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 27เม.ย.2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว แอดมินของแฟนเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ทั้ง 8 คน ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับ 1,000 บาท ตามศาลชั้นต้น

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์พิจารณาใน 2 ประเด็น คือการจับกุมตัวนายอานนท์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จำเลยได้อุทธรณ์ว่าตามที่พยานตำรวจผู้จับกุมได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้นว่าได้ทำการจับกุมจำเลยเพราะเห็น่วาเป็นความผิดซึ่งหน้า โดยไม่ได้มีการประกาศเตือนให้เลิกการชุมนุมและไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและไม่ได้ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมก่อน จำเลยจึงเห็นว่าการปฏิบัติงานของตำรวจไม่ได้เป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 21, 23 และ 24 และการแจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาแก่จำเลยยังทำที่สน.พญาไทหลังการจับกุมแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสองอีกด้วย

ประเด็นนี้ศาลพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งหน้าการจับกุมของเจ้าหน้าที่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประเด็นต่อมาการที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ยังไม่ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2557 เป็นเพียงฉบับชั่วคราว และการจัดกิจกรรมของจำเลยเป็นไปโดยสงบและเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อีกทั้งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายยังให้การแจ้งจัดการชุมนุมก่อนการชุมนุมยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของประชาชนแต่พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่าทราบจากเฟซบุ๊กของจำเลยว่าจะมีการจัดชุมนุมแล้วและได้มีการจัดกำลังมาในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้มาเพื่อการดูแลความสะดวกแก่ประชาชน กลับกลายเป็นการมาเพื่อจับกุมจำเลยไม่ให้ชุมนุม จึงเป็นการขัดขวางและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของจำเลยและประชาชน

ศาลพิจารณาว่าหากจำเลยเห็นว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่และยังไม่มีการเพิกถอน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ และในการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ออกมาโดยชอบแล้ว

ในส่วนของประเด็นอื่นๆ ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นเพียงรายละเอียดปลีกไม่ได้เป็นสาระแก่การเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์จึงพิจารณาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พรุ่งนี้ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีทนายอานนท์นัด “ยืนเฉยๆ”

X