พรุ่งนี้ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีทนายอานนท์นัด “ยืนเฉยๆ”

พรุ่งนี้(22ธ.ค.2559) เวลา 9.00น.ที่ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาคดี ‘ยืนเฉยๆ’ ที่นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้นัดทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 8 แอดมินแฟนเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ จากการควบคุมตัวภายในค่ายทหารเมื่อ 27 เม.ย.2559 ทำให้นายอานนท์ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งนี้

คดีนี้มีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ในเรื่องของการไม่แจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง (หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่จัดชุมนุม) ก่อน 24 ชั่วโมง มาดำเนินคดีกับนายอานนท์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นายอานนท์เห็นว่าตัวบทกฎหมายมีปัญหาและถูกนำมาใช้ในการริดรอนเสรีภาพ

“มาตราที่ผมโดนเป็นการให้แจ้งจัดการชุมนุมเท่านั้นไม่ใช่การขออนุญาตด้วย แล้วตัวกฎหมายมันไม่เป็นธรรมในตัวมันเองด้วย การบังคับให้แจ้งก่อน เท่ากับเปิดช่องให้ตำรวจสะกัดการใช้เสรีภาพ เห็นได้จากที่ตำรวจเอารั้วไปล้อมบ้างวางกำลังรอสะกัดบ้าง มันเป็นการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน”

ความเดิม

เช้าตรู่ของวันที่ 27เม.ย.2559 ทหารตำรวจเข้าบุกค้นจับกุมตัวบุคคล 9 ราย ทั้งในกรุงเทพและขอนแก่น วันแรกของการควบคุมตัวไม่มีใครทราบว่าทำไมบุคคลเหล่านี้ถึงถูกจับกุม เจ้าหน้าที่บอกคนรอบข้างพวกเขาเพียงว่าจะนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 11 เท่านั้น ภายหลังผู้ที่ถูกจับกุม 8 คน(มี 1 คนได้รับการปล่อยตัว) ถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าเป็นแอดมินแฟนเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’

ในช่วงสายวันเดียวกัน นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้นัดประชาชนมาร่วมกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตอน 6 โมงเย็น เพื่อเรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวทั้ง 9 คน แต่กิจกรรมเริ่มไปได้เพียงไม่กี่นาทีตำรวจสน.พญาไท ได้เข้าจับกุมผู้ที่มาร่วมรวม 16 คน

5-e0b8ade0b8b2e0b899e0b899e0b897e0b98ce0b8a2e0b8b7e0b899

นายอานนท์ นำภา(กลาง) ขณะทำกิจกรรมยืนเฉยๆ พร้อมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ

ทั้งนี้มีเพียงนายอานนท์ที่ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมนี้ในข้อหาจัดชุมนุมโดยไม่แจ้งต่อตำรวจก่อนจัด 24 ชั่วโมง และยังถูกแจ้งข้อหาด้วยฐานความผิดเดียวกันนี้จากกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ ที่เรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุขเมื่อ 19 เม.ย. ไปด้วยอีกข้อหา คืนนั้นนายอานนท์ให้การปฏิเสธโดยจะให้การเพิ่มเติมภายหลัง จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวกลับ

ต่อมาอัยการศาลแขวงดุสิตมีความเห็นสั่งฟ้องนายอานนท์ในฐานความผิด จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เฉพาะกิจกรรมวันที่ 27 เม.ย. ข้อหาเดียว ส่วนอีกข้อหายังอยู่ในชั้นสอบสวน และศาลได้นัดสอบคำให้การไปเมื่อ 8 ส.ค.2559 นายอานนท์ได้ให้การปฏิเสธ

บันทึกการสืบพยาน

คดีนี้ศาลได้สืบพยานไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา เพียง 1 นัดเนื่องจากคดีนี้มีเพียงพยานฝ่ายโจทก์เพียง 4 ปาก เป็นตำรวจสน.พญาไทที่เกี่ยวข้องในคดีที่ขึ้นให้การในชั้นศาล แต่นายอานนท์ในฐานะจำเลยไม่ประสงค์จะเบิกความและนำพยานฝ่ายตนเข้าสืบ

6-e0b8ade0b8b2e0b899e0b899e0b897e0b98ce0b896e0b8b9e0b881e0b888e0b8b1e0b89a

ภาพขณะตำรวจกำลังนำตัวผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมไปที่ สน.พญาไท ซึ่งมีนายอานนท์รวมอยู่ด้วย

พยานปากแรกพ.ต.อ.ชณาวิน พวงเพชร ผกก.สน.ปากคลองสาน ในขณะเกิดเหตุพยานทำหน้าที่เป็นผู้กำกับสน.พญาไท ได้เบิกความโดยสรุปว่า ณ วันที่เกิดเหตุตนได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่านายอานนท์จะไปจัดกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในเวลาประมาณ 18.00 น. แต่ตนไม่ได้รับการแจ้งจากผู้จัดว่าจะมีการจัดชุมนุมในพื้นที่ดูแลของสน.พญาไท

นายอานนท์ในฐานะจำเลยได้ถามค้านพ.ต.อ.ชณาวิน ถึงประเด็นมาตรการในการจัดการการชุมนุมของสน.พญาไทว่าเป็นอย่างไร พยานได้ตอบคำถามว่าสน.พญาไทมีการออกคำสั่งเป็นการภายในว่าหากมีการแจ้งจัดการชุมนุมมาถึงสถานีจะต้องมีการสรุปสาระสำคัญของการชุมนุมเพื่อส่งให้ผู้บังคับบัญชาได้ แต่คำสั่งภายในนี้ไม่ได้ส่งมอบให้แก่พนักงานสอบสวนในคดีนี้ และในส่วนของการวิธีปฏิบัติในการดูแลการชุมนุมไม่ได้ออกเป็นระเบียบไว้แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสม

พ.ต.อ.ชนาวินตอบจำเลยอีกว่าคดีนี้ไม่มีคำสั่งเป็นการเฉพาะจาก คสช. การดำเนินการเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยจึงถามพยานต่อว่าทราบว่าขณะเกิดเหตุ คสช. ได้ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่และหากเกิดการชุมนุมทางการเมืองแล้วไม่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวก็จะมีความผิดอีกด้วย แต่คดีนี้ก็ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามคำสั่งดังกล่าวด้วย

พยานตอบคำถามต่อว่าการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ต้องเป็นการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น มีผู้ชุมนุมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปก็เป็นการชุมนุมตามกฎหมาย แต่จะเป็นการชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานไม่อาจสันนิษฐานไว้ก่อนได้ และทางสถานีก็ไม่ได้วางระเบียบว่าการชุมนุมแบบใดถึงเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่การยืนเฉยๆ โดยแสดงสัญลักษณ์ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมที่มีความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้

พ.ต.อ.ชณาวินตอบในประเด็นการปฏิบัติงานในวันนั้นว่า สน.พญาไทได้จัดกำลังไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณที่จะมีการชุมนุม แต่ไม่ได้มีการประชุมวางแผนเอาไว้ก่อน เมื่อได้รับทราบว่าจะมีการจัดการชุมนุมก็ได้โทรศัพท์ประสานสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปดำเนินการ และได้ประสานไปทางรองผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 เพื่อขอกำลังจากกองร้อยควบคุมฝูงชน การปฏิบัติหน้าที่วันนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.พญาไทและกองร้อยควบคุมฝูงชนเพียงสองหน่วย

พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าตนได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมในตอนเช้าจากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่ได้บอกพยานว่าทราบเรื่องจากไหน และพยานเองก็ไมไ่ด้มีกการประสานกับผู้จัดชุมนุมหรือจำเลยแต่อย่างใด และได้ให้หน่วยข่าวลงพื้นที่หาข่าวบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่เช้าของวันที่ 27 เม.ย.

นายอานนท์ถามต่อว่าการดำเนินการจับกุมหรือจะสลายการชุมนุมจะต้องขอหมายศาลก่อนหรือไม่ พ.ต.อ.ชณาวินเบิกความต่อว่าผู้ใต้บังคับบัญชารายงานมาว่าการชุมนุมเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกและยังเป็นความผิดซึ่งหน้าจึงดำเนินการเชิญตัวจำเลยและพวกไปที่สน.พญาไท แต่ความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นความผิดตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ตนไม่แน่ใจ แต่การชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งจัดการชุมนุมสามารถจับกุมได้ทันทีเนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า ในส่วนของการจับกุมของผู้ใต้บังคับบัญชานั้นดำเนินการอย่างไรบ้างตนไม่ทราบ

จากนั้นนายอานนท์ถามประเด็นเนื้อหาของการทำกิจกรรมยืนเฉยๆ กับพ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าเป็นการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกทหารควบคุมตัวทั้ง 8 คน ซึ่งการเรียกร้องสามารถทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย และการยืนเฉยๆ ก็เป็นไปโดยสงบ แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งมาว่าจะมีการจัดชุมนุม

นายอานนท์ถามว่าการแจ้งจัดการชุมนุมว่าการแจ้งสามารถทำได้โดยระบบอิเล็กโทรนิกใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่และเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ คือเป็นการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้รับแจ้งโดยตรง ซึ่งจำเลยได้ถามต่อว่าแล้วการแจ้งโดยการโพสต์เฟซบุ๊กเป็นสาธารณะแล้วมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบเห็นถือว่าเป็นการแจ้งแล้วหรือไม่และเป็นการแจ้งที่สะดวกหรือไม่ พยานยืนยันตามประกาศสำนักนายกฯ ว่าต้องเป็นการแจ้งมาที่ผู้รับแจ้งโดยตรง

ประเด็นสุดท้ายนายอานนท์ถามว่ากรณีที่ประชาชนพบเห็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่สามารถชุมนุมเรียกร้องได้หรือไม่ และการเรียกร้องนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่าทำได้

อัยการโจทก์ถามติงประเด็นที่ยังไม่มีการดำเนินการแจ้งข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่3/2558เพราะเหตุใด พ.ต.อ.ชณาวินตอบว่ายังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งยังไม่เสร็จ จึงมีความเห็นให้ดำเนินการในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมฯ ก่อน

จากนั้นอัยการถามว่านิยามของการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เป็นอย่างไรและการแจ้งจัดชุมนุมทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศสำนักนายกฯเป็นอย่างไร พยานได้อ่านข้อความตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อ 6 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ และทางสน.พญาไทเองมีการจัดร้อยเวรรับเรื่อง 24ชั่วโมง มีโทรศํพท์ โทรสารและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

พยานปากที่สอง พ.ต.ท.พิศิษฐ์ กิติพัฒน์ธารากุล จากบก.น. 2  แผนกยุทธศาสตร์และแผนงาน เบิกความว่าขณะเกิดเหตุตนเป็นสารวัตรสืบสวน สน.พญาไท ก่อนการชุมนุมในทางการข่าวพบว่านายอานนท์ นำภาได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าจะชุมนุมที่ลานวิคตอรี่ พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื่องจากไม่พอใจที่ทหารจับกุมบุคคล 8 คน มีการประกาศชักชวนให้คนเข้ามาร่วมชุมนุม นอกจากนั้นนายอานนท์ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือในการประกันตัวผู้ที่ถูกทหารจับกุมทั้ง 8 คนด้วย และยังรวมถึงตัวนายอานนท์เองซึ่งอาจจะถูกจับกุมจากการชุมนุมนี้ด้วยโดยมีการโพสต์เลขบัญเอาไว้ด้วย

เมื่อพยานได้รับทราบเรื่องการชุมนุมที่จะมีขึ้นแล้วได้จัดกำลังไปที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก่อนหน้าถึงเวลาตั้งแต่ประมาณ 17.00 น. จากนั้นเมื่อถึงเวลา 18.00น. ตนได้เห็นนายอานนท์ปรากฏตัวที่ลานวิคตอรี่ พ้อยท์ โดยมีคนเข้าร่วมอีกราว10คน มายืนเรียงแถวหน้ากระดานและประกาศให้คนที่ผ่านไปมาเข้าร่วมด้วย ทางเจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกภาพเอาไว้

จากนั้นพยานได้เดินเข้าไปสอบถามว่าใช่นายอานนท์หรือไม่ แล้วแจ้งว่าการชุมนุมนี้ไม่ได้แจ้งการชุมนุมเป็นหนังสือถึงผู้กำกับ สน.พญาไท เป็นการทำผิดตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้วจึงเชิญตัวนายอานนท์ไปที่สน.พญาไท จากนั้นตนก็ได้ทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่แจ้ง นายอานนท์ให้การปฏิเสธ

จากการชุมนุมดังกล่าวยังจับบุคคลตามหมายจับของศาลทหารได้อีก 2 คนคือนายปกรณ์ อารีย์กุล และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ จึงได้ทำบันทึกจับกุมไว้ ส่วนบุคคลอื่นๆ ในวันนั้นเพียงเชิญตัวมาเท่านั้น

ช่วงทนายจำเลยถามค้านว่าจากภาพในพยานเอกสารโพสต์ของจำเลยมีการระบุวันและเวลาของโพสต์เอาไว้หรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ เบิกความว่าทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีการโพสต์ในวันที่ 27 แต่ไม่ทราบว่าเวลาโพสต์ เนื้อหาคือเชิญชวนคนให้มาแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทหารจับกุมตัวบุคคลทั้ง 8 คน โดยให้มาทำการยืนเฉยๆ แต่พยานไม่ได้เป็นคนเห็นโพสต์นี้เอง

ทนายความจำเลยจึงได้ถามต่อว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการเชิญชวนคนมาก่อความไม่สงบใช่หรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ ตอบคำถามนี้ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการกีดขวางทางเดินของประชาชนเพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นลานกว้าง

พยานเบิกความต่อว่าเมื่อได้รับทราบเรื่องก็ได้จัดกำลังตำรวจชุดจับกุมไปวางกำลังไว้โดยรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพราะว่าข่าวที่ได้รับทราบมาอาจจะเป็นข่าวลวงแล้วมีการไปจัดกิจกรรมในจุดอื่นแทนก็ได้ ในขณะที่สังเกตการณ์อยู่พยานได้เห็นว่าจำเลยมาล้อมวงรวมกลุ่มกัน และเชิญชวนคนที่ผ่านไปมาให้เข้าร่วมโดยไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นอีก ทั้งนี้ผู้ชุมนุมที่มาเข้าร่วมไม่มีอาวุธ

ทนายความได้ถามว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่พยานตอบว่าใช่ แต่ก็มีการออกกฎหมายว่าการจะจัดชุมนุมจะต้องมีการแจ้งกับเจ้าหน้าที่ก่อน จากนั้นทนายความได้ถามต่อว่าแล้วทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบแต่คิดว่าเพื่อให้เกิดความสงบเพราะก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมขึ้นแล้วเกิดความวุ่นวายจนเกิดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

ทนายยังถามต่ออีกว่าการแจ้งเป็นไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่าแจ้งเพื่อขออนุญาตต่อผู้กำกำกับของสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อพิจารณาว่าจัดชุมนุมได้หรือไม่ เช่น การชุมนุมจัดใกล้โรงพยาบาลหรือไม่ เมื่อจัดแล้วประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่

ในส่วนการปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมราว 5-10 นาทีก่อน จึงเข้าไปแจ้งให้จำเลยทราบว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทนายความได้อ่านมาตรา 21 วรรคสองในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้วถามว่าได้มีการร้องขอต่อศาลหรือไม่ พ.ต.ท.พิศิษฐ์ตอบว่ากรณีนี้ไม่ได้ไปขอหมายศาล และไม่ได้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุม และการจับกุมดังกล่าวไม่มีหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า ทนายความจึงถามอีกว่าแล้วทราบหรือไม่ว่าความผิดตามข้อหาที่ตนได้ทำการจับกุมนี้มีโทษจำคุกหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

อัยการถามติงพ.ต.ท.พิศิษฐ์ว่าที่พยานไม่ได้ขอหมายศาลนี้เมื่อมีการแจ้งให้ทราบว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจำเลยได้ยุติการชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่าเมื่อแจ้งให้ยุติการชุมนุมแล้วนายอานนท์ยังคงยืนต่อไป แต่เมื่อตนได้เชิญตัวไปที่สน.พญาไทแล้วทางจำเลยก็ไปตามคำเชิญจึงไม่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลอีก

พยานปากที่สาม พ.ต.ท.ปรีชา สว่างม่วง ผู้บังคับการหมู่สืบสวน มีหน้าที่ออกสืบสวนหาข่าวและจับกุมผู้กระทำความผิด เบิกความว่า ณ วันที่เกิดเหตุ นายอานนท์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณลานวิคตอรี่พ๊อยท์ การชุมนุมนี้สืบเนื่องจากการที่ทหารได้จับกุมบุคคลพลเรือนไป ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้เขาไปวางกำลังที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ตั้งแต่เวลาประมาณ17.00น. เมื่อถึงเวลา 18.00น.นายอานนท์และพวกรวม14คนได้ไปยืนที่อนุสาวรีย์ชัยฯ และมีการแสดงออกสัญลักษณ์ โดยยืนเรียงเป็นแถวแต่ไม่เห็นการกระทำอย่างอื่นอีก

จากนั้นสารวัตร(พ.ต.ท.พิศิษฐ์) ได้เข้าไปแจ้งแก่นายอานนท์ว่าการชุมนุมนี้ได้มีการแจ้งต่อผู้กำกับ สน.พญาไทแล้วหรือไม่ แต่จำเลยได้ตอบว่าไม่ได้มีการแจ้ง สารวัตรจึงเชิญตัวจำเลยไปที่สน.พญาไท เมื่อไปถึงแล้วได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ นอกจากนายอานนท์แล้วยังได้มีการจับกุมนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ซึ่งมีหมายจับของศาลทหาร และนายปกรณ์ อารีย์กุลซึ่งมีหมายจับของศาลแขวงปทุมวันอยู่จึงได้ส่งตัวให้สนงปทุมวันต่อไป ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่เชิญตัวมาได้ทำประวัติเอาไว้ แต่ไม่มีการทำบันทึกจับกุม

ช่วงทนายความจำเลยถามค้านว่าในเอกสารพยานหลักฐานที่เป็นภาพหน้าจอโพสต์ของจำเลยนั้นมีโดเมนเนมและวันที่โพสต์หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีโดเมนเนมแต่วันที่ของโพสต์ ณ วันที่เกิดเหตุที่ดูมีระบุวันที่แต่ในเอกสารพยานไม่มีการระบุเอาไว้

ทนายความถามถึงเหตุการณ์ขณะจับกุม พยานตอบว่าจำเลยยืนอยู่เฉยๆ ที่ลานวิคตอรี่พ๊อยท์ แต่ก็ยืนอยู่ไม่นานและไม่ได้กระทบความสงบ โดยพยานเองมาถึงสถานที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 17.00น. โดยทราบว่าจะมีการชุมนุมจากโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลย แต่ไม่ได้เห็นโพสต์เองทราบจากหน่วยข่าวแจ้งมา เหตุที่เข้าไปจับกุมเพราะว่าจำเลยไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุม ในตอนที่จับกุมไม่ได้มีการแจ้งสิทธิจนไปถึงโรงพักจึงมีการแจ้งให้จำเลยทราบ

ทนายความถามว่าการที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้แจ้งก่อนจัดการชุมนุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนใช่หรือไม่ พยานตอบว่าการชุมนุมนี้ไม่ได้แจ้งต่อหัวหน้าสถานีแต่พอทราบจากเฟซบุ๊กแล้วจึงได้จัดกำลังไปที่ลานวิคตอรี่พ๊อยท์ ทนายความจึงได้ถามว่าเท่ากับว่าพยานทราบแล้วว่าจะมีการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่แต่จำเลยไม่ได้มีการแจ้งจัดการชุมนุม

พยานตอบถึงขั้นตอนปฏิบัติในวันเกิดเหตุว่ามีการประกาศให้เลิกการชุมนุมก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวไป ทนายความจึงถามว่าได้มีการขอหมายศาลหรือไม่พยานตอบว่าในกรณีนี้ไม่มีการขอหมายศาลและไม่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุม และในขณะที่จับกุมไม่มีการขอหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าและในวันนั้นจำเลยก็ไม่มีหมายจับในคดีอื่นมาก่อน

พยานปากสุดท้ายของคดีนี้พ.ต.ต.เกษม พิพิธกุล หัวหน้าพนักงานสอบสวน สน.พญาไทมีหน้าที่สอบบสวนคดีอาญาทั่วไป พยานเบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20.30น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนนำตัวนายอานนท์ นำภาพร้อมบันทึกจับกุมมาส่งให้ตนตามข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งจัดการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง

จากการสอบสวนพบว่าก่อนเกิดเหตุนายอานนท์ได้โพสต์เฟซบุ๊กชวนคนไปร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งการแจ้งจัดการชุมนุมกฎหมายกำหนดให้แจ้งต่อผู้กำกับของสถานีตำรวจในท้องที่ตามที่มีการกำหนดเอาไว้ในประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่จำเลยไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุม

ตำรวจชุดจับกุมได้นำภาพถ่ายขณะมีการชุมนุมมามอบให้ ทราบว่ามีการจับกุมบุคคลอื่นๆ อีกแต่ชุดจับกุมนำตัวนายอานนท์มาให้แค่คนเดียว ในภายหลังจึงทราบว่ามีการจับกุมตัวนายปกรณ์ อารีย์กุลและนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์แล้วนำตัวไปสอบสวนที่สน.อื่น

ในคดีนี้ พ.ต.ต.เกษมได้สอบสวนพยาน ปาก พ.ต.ท.พิศิษฐ์ ตำรวจผู้กล่าวหา พ.ต.ต.ปรีชา ผู้ร่วมจับกุม และพ.ต.อ.ชณาวิน ผู้กำกับสน.พญาไท ในฐานะเจ้าพนักงานรับแจ้งจัดการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พยานกล่าวว่า จากการสอบสวนพ.ต.อ.ชณาวินทราบว่าคดีนี้จำเลยไม่ได้มีการแจ้งจัดการชุมนุม และเมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้วจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายอานนท์ว่าจัดการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งก่อนการชุมนุม 24ชั่วโมง เมื่อได้ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของจำเลยแล้วจึงทราบว่า

จำเลยถามค้านนายอานนท์ถามพยานว่าในพยานเอกสารที่เป็นภาพหน้าเว็บเฟซบุ๊กว่ามีการระบุว่าเป็นการคัดลอกมาจากและมีที่อยู่ของเว็บไซต์หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี นายอานนท์จึงถามต่อว่าแล้วได้มีการขอข้อมูลไปที่กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ขอเนื่องจากไม่ทราบที่อยู่ของเว็บไซต์ (URL)

ส่วนในประเด็นวันที่มีการโพสต์ในภาพไม่แสดงวันที่ของการโพสต์ แต่มีการเขียนข้อความไว้ในเอกสารว่าเป็นโพสต์ของนายอานนท์ที่โพสต์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายอานนท์จึงถามต่อว่าจากการโพสต์นี้เมื่อวันที่27เม.ย.2559 แล้วก็มีการชุมนุมเกิดขึ้นก็เห็นได้ว่าถึงอย่างไรก็แจ้งไม่ทันภายใน24ชม.ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ จำเลยจึงถามพยานต่อว่าแล้วถ้าไม่ทันจะต้องทำอย่างไร พยานตอบว่าผู้จัดการชุมนุมก็ต้องไปแจ้งขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการ กองบังคับการตรวจนครบาล 1 ตามมาตรา12พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทั้งนี้ในคดีนี้พยานไม่ได้เรียกผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 มาสอบสวนหรือไม่ และจากคำให้การของผู้กำกับก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงว่าได้สอบถามไปยัง บก.น.1 ว่ามีการแจ้งจัดการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่

ในประเด็นประวัติอาชญากรรมของนายอานนท์พ.ต.ท.เกษมเบิกความว่า นอกจากคดีนี้แล้วจำเลยยังมีคดีอื่นในลักษณะเดียวกันนี้อีกคดีซึ่งตำรวจชุดสืบสวนเป็นชุดเดียวกัน

อัยการถามติงว่าคดีนี้สายสืบมีการตรวจพบตอนกี่โมงพ.ต.ท.เกษมตอบว่าไม่ทราบว่ากี่โมงแต่เป็นช่วงเที่ยง อัยการจึงถามต่อว่าถ้าการโพสต์ดังกล่าวมีการตรวจพบตั้งแต่เที่ยงและการชุมนุมที่จัดขึ้นในเวลา 18.00น. ก็ยังมีเวลา6ชม. ซึ่งเพียงพอต่อการแจ้งจัดการชุมนุมต่อกองบังคับการตำรวจนครบาลได้ อีกทั้งสถานที่จัดชุมนุมยังอยู่ห่างจากสน.พญาไทประมาณ1กิโลเมตรเศษ

อัยการถามถึงสาเหตุที่ไม่มีการสอบสวนผู้บังคับการ บก.น.1 ว่าเพราะอะไร พยานตอบว่าเพราะตนมีความเห็นว่าสอบคำให้การผู้กำกับสน.พญาไทก็เพียงพอแล้วและจากการสอบสวนก็ไม่พบว่าจำเลยได้มีการแจ้งจัดการชุมนุมไปที่ บก.น.1

อัยการถามปิดท้ายว่าจากการสอบคำให้การจำเลยได้สอบถามจำเลยหรือไม่ว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กหรือไม่ พ.ต.ท.เกษมตอบว่าได้ถามแล้วแต่จำเลยแจ้งว่าปฏิเสธที่จะให้การ

X