ไปยังไม่ถึงจุดเริ่มต้น: ทบทวน 3 ปี กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช. ข้อหากบฏ ก่อนศาลฎีกาพิพากษา

 

ในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1805/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1760/2558 ที่ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคสช. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โดยก่อนจะถึงวันพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนดูกระบวนการยื่นฟ้องคสช.และผลคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ผ่านมา ก่อนมาถึงชั้นศาลฎีกา

ข้อควรทราบที่สำคัญ  ไม่ว่าคำพิพากษาในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 จะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม กระบวนการฟ้องร้องในข้อหากบฏนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับตลอดระยะเวลา 3 ปี เป็นเพียงกระบวนการต่อสู้เพื่อร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีไว้พิจารณา คำพิพากษาของศาลฎีกาในครั้งนี้จึงยังไม่ใช่การตัดสินชี้ขาดว่าคสช.เป็นกบฏหรือไม่ แต่เป็นเพียงการตัดสินว่าศาลชั้นต้นจะรับคดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช.ไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งหากศาลฎีกาชี้ว่าศาลชั้นต้นควรรับพิจารณา กระบวนการไต่สวนในคดีกบฏจึงจะเริ่มขึ้นได้

 

1 ปี รัฐประหาร: กลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฟ้องคสช. ร่วมกันเป็นกบฏจากการเข้ายึดอำนาจ

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ “พ่อน้องเฌอ” กับพวก 15 คน พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม ได้เข้ายื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวม 5 คน ประกอบด้วย พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตามคำฟ้องของโจทก์ต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก บรรยายพฤติการณ์ว่าระหว่างวันที่ 20 – 24 พ.ค. 57 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช. หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คน ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91 , 113 และ 114

 

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แม้การยึดอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อ้างเหตุมาตรา 48 บัญญัติยกเว้นความผิดไว้แก่คสช.

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 แม้ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์เห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม และยอมรับว่าการเข้ายึดอำนาจของคสช.ไม่เป็นประชาธิปไตยตามข้อความดังนี้      

“การกระทำตามโจทก์ระบุในฟ้องว่า เหตุเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 57 ต่อเนื่องมานั้น ก็แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้ากับพวก เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในวันที่ 22 พ.ค. 57 ที่ต่อมาในวันที่ 25 พ.ค. 57 จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้คดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ดังนั้นก็ต้องถือว่าความผิดตามฟ้องนี้เกิดขึ้นก่อนที่หัวหน้า คสช. จะออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้มีผลบังคับใช้ ที่จะทำให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่ความผิดตามฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้”        

แต่ทั้งนี้ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับพ.ศ. 2557 ลงวันที่ 22 ก.ค. 57 ในมาตรา 48 มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและความรับผิดไว้ โดยศาลมีความเห็นว่า

แม้มีการเข้ายึดและการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของจำเลยทั้งห้ากับพวก ในนาม คสช.จะไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 22 ก.ค. 57 โดยมีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและความรับผิดไว้ใน มาตรา 48 ว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำต่อเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ของหัวหน้าและคณะ คสช. รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคสช. ที่ได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางด้านบริหาร หรือทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษ และการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันดังกล่าว หรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง…..ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิด และความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 48 แล้ว คดีของโจทก์ทั้งสิบห้าจึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง”

 

พลเมืองโต้กลับร้องศาลอุทธรณ์ให้มีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น

วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 สองเดือนหลังจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยระบุว่า

“ขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น โดยสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบห้า ไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 162 เมื่อโจทก์ทั้งสิบห้า ยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้อง แล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี ไม่ใช่ปฏิเสธการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรมและไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลที่จะพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นนำเอาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอาชญากร ซึ่งก่ออาชญากรรมต่อรัฐและประชาชนมายกเว้นการรับผิดให้กับจำเลยทั้ง 5 คน โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลอุทธรณ์รับคำร้องของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดยมีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 5 ทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 15 วัน

วันที่ 10 สิงหาคม 2558 ทนายอานนท์ นำภา ตัวแทนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เปิดเผยว่าศาลอาญามีคำสั่งรับอุทธรณ์คำร้องของกลุ่มพลเมืองโต้กลับแล้ว โดยมีคำสั่งให้จำเลยทำคำแก้อุทธรณ์ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน จากนั้นให้รวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป ซึ่งการที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ยื่นอุทธรณ์คำร้องก่อนหน้านี้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี ไม่ใช่ปฏิเสธการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรม และไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลที่จะพิสูจน์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้ง 5 ทำคำแก้อุทธรณ์ส่งศาลอาญาแล้ว ศาลอุทธรณ์อาจพิจารณาตามศาลชั้นต้นว่า คสช.มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเองแล้ว จึงไม่มีความผิด ก็จะยกฟ้องตามศาลชั้นต้น แต่หากศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นเปิดการไต่สวนตามที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้อง คสช. ทาง คสช. อาจจะประสานสำนักงานอัยการ เพื่อขอให้อัยการมาว่าความให้จำเลยในฐานะทนายของรัฐ

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น : ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจในการไต่สวน เหตุมาตรา 48 ถูกประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ระบุการกระทำใดๆของคสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย

จนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าแม้ฝ่ายโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ว่า คสช. ออกกฎหมายมาตรา  47  และ 48 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดกับหลักประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และความปรารถนาของประชาชน ดังนั้น คสช.จึงไม่สามารถอ้างกฎหมายสองมาตรานี้ยกเว้นความผิดแก่ตัวเองได้นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า

“…มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557  นั้น ประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า การกระทำใดๆ ของ คสช.ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนข้ออุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ที่ว่า การออกฎหมายในมาตราดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องแยกส่วนกันในการพิจารณา ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้องของฝ่ายโจทก์

ทั้งนี้ อานนท์ นำภา ทนายความฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ กล่าวหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องคดีทั้งสองศาล ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถยื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 แต่ตามมาตรา 221[1] ก็เปิดช่องให้สามารถยื่นฎีกาได้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาคดีนี้ทำความเห็นแย้งว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด และอนุญาตให้ฎีกาก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป

“แม้ทั้งสองศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ยังมีข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ฎีกาได้ โดยเราจะให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าในสังคม ข้อขัดแย้งควรจะขึ้นสู่ศาลสูงสุด ทั้งนี้ยังไม่เคยมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร รวมถึงการกระทำใดของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกามาก่อน” ทนายความฝ่ายโจทก์กล่าว

 

กลุ่มพลเมืองโต้กลับเดินหน้ายื่นฎีกาต่อ: โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎมาย

สามเดือนหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำร้องยืนตามศาลชั้นต้น ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับยังคงต่อสู้โดยการเข้ายื่นฎีกา ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559  แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษายกคำร้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  โดยฎีกามีสาระสำคัญ 3 ประเด็น

ประเด็นโต้แย้งที่ 1 เน้นย้ำว่ามาตรา 47 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีสภาพเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อเสียงแห่งมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษยชาติอย่างชัดแจ้ง โดยทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับยังคงยืนยันว่าประเด็นที่ได้อุทธรณ์ไปเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อคำพิพากษาในคดี และเป็นส่วนเดียวกันกับคดีอย่างแยกไม่ออก โดยมีความสำคัญเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทางกฎหมาย ที่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการใช้กฎหมายต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังกระทบกระเทือนต่อหลักการทางกฎหมายทั้งระบบ ทางกลุ่มจึงยืนยันว่าศาลอุทธรณ์ควรหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยและรับฟังก่อนจะมีคำพิพากษา การพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นของศาลอุทธรณ์โดยไม่หยิบยกประเด็นในอุทธรณ์ขึ้นมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเนื้อหาคือ

“……มาตรา 47 และ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษย์อย่างชัดแจ้งอันมีผลทางให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่สภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานทั่วไปของระบบกฎหมายที่ว่า “บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้” การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่อาจจะพ้นจากความรับผิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  พุทธศักราช  2557  กำหนดไว้ได้ ….” 

ประเด็นโต้แย้งที่ 2 ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อความที่ว่า

“วัตถุประสงค์ของการไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก็เพื่อให้ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์ในเบื้องต้นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดีในชั้นตรวจรับฟ้องนั้น หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คดีขาดอายุความ มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องเพื่อวินิจฉัยมูลคดีก่อนประทับฟ้อง”

โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใน 2 ประเด็น คือ

2.1  การยืนยันว่าฟ้องของโจทก์ถือเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยมีรายละเอียดครบถ้วน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะต้องดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ เปิดโอกาสให้โจทก์ได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานต่อศาล ตามสิทธิในการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 (1) กำหนดไว้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.2  อธิบายเกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนวิธีพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไว้ในภาค 3 โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่  1. ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง 2. การพิจารณา

2.3 คำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งได้แบ่งแยกหมวดไว้ชัดเจน เพราะโดยหลักกฎหมายศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ก่อน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องของโจทก์มีมูล ก็จะต้องประทับรับฟ้องไว้พิจารณา แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยไม่ได้ดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องและยังไม่ได้มีการรับฟ้องไว้พิจารณา แต่กลับพิพากษายกฟ้องโดยที่ยังไม่มีการรับฟ้องไว้พิจารณาและไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงประเด็นในคดีทั้งหมดที่ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับกล่าวในอุทธรณ์ ทำให้เป็นการข้ามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทบต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสิบห้าที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล อันจะไม่สามารถนำไปสู่ความยุติธรรมแก่โจทก์ทั้งสิบห้าได้

ประเด็นโต้แย้งที่ 3 ทางกลุ่มยืนยันถึงความจำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องเป็นผู้ผดุงหลักนิติรัฐและนิติธรรม ดังข้อความที่ว่า

โจทก์ทั้งสิบห้าขอเรียนต่อศาลว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการร่วมกันใช้กำลังบังคับให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศอันมิใช่วิถีทางตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้ อันถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และมาตรา 114…การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพิกเฉยต่อการย่ำยีระบบกฎหมายของจำเลยทั้งห้ากับพวก ย่อมเป็นการรองรับและนับเอากระบวนการรัฐประหารอันผิดต่อกฎหมายให้กลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย  และท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่คณะรัฐประหารกำลังทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ประหนึ่งดั่งไฟที่กำลังลามทุ่งจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและขัดแย้งทุกย่อมหญ้า  คงมีเพียงอำนาจของศาลฎีกาเท่านั้นในฐานะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่จะช่วยผดุงความยุติธรรมตรวจสอบการใช้อำนาจ ถ่วงดุล และคานอำนาจของคณะรัฐประหารได้ ทั้งนี้หากกลไกในกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปด้วยความยุติธรรม นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ สังคมย่อมตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการยังคงเป็นเสาหลักอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงโดยปราศจากอคติ  อีกทั้งยังป้องกันมิให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่างในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนและดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย และเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยดั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”      

 

นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา: จะไปถึงจุดเริ่มต้น?

เป็นเวลาเกือบสองปีภายหลังการยื่นฎีกาของกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ไม่มีความเคลื่อนไหวในคดีนี้ จนกระทั่งในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีหมายนัดฟังคำพิพากษามายังผู้ฟ้องคดีทั้ง 15 คน เพื่อให้ไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เวลา 9.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดา

เป็นที่น่าจับตามองว่าผลการพิพากษาจะออกมาในแนวทางใด โดยผลคำพิพากษาที่เป็นไปได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1. ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คือไม่รับฟ้อง เนื่องจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้วนิรโทษกรรมตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว อันจะทำให้การฟ้องร้องเอาผิดคณะรัฐประหารในคดีนี้ต้องสิ้นสุดลง และ 2. ศาลวินิจฉัยให้ต้องมีการพิจารณาคดีก่อน ทำให้สำนวนคดีนี้จะถูกส่งย้อนกลับไปยังศาลชั้นต้นใหม่ ให้ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง และเปิดโอกาสให้ฝ่ายโจทก์หรือกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ผู้ฟ้องทั้ง 15 คน นำพยานหลักฐานเข้ามานำสืบในชั้นศาล นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเอาผิดคณะรัฐประหารที่อาจเป็นไปได้ต่อไป

 

[1] ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ระบุว่า ห้ามมิให้ คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ มาตรา 221 ระบุว่า ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมาย นี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็น แย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็น ปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป
X