กสม. ตรวจสอบกรณีผู้ต้องขังถูกจำกัดการส่งจดหมายให้เฉพาะบุคคลร่วมสายเลือด เห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าเหตุ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 เว็บไซต์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 19/2567 ในเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร กรณีร้องเรียนว่าเรือนจำกลางบางขวางออกข้อบังคับกำหนดให้ผู้ต้องขังติดต่อบุคคลภายนอกได้เฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น

การตรวจสอบในเรื่องนี้ของ กสม. เกิดขึ้นจากกรณีมีผู้ต้องขังรายหนึ่งได้ยื่นร้องเรียนผ่านทางไปรษณีย์ ลงวันที่ 31 มี.ค. 2566 โดยผู้ร้องเรียนเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่ศาลลงโทษประหารชีวิต และถูกคุมขังอยู่ที่แดน 2 ในเรือนจํากลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี 

เมื่อปี 2564 เรือนจำกลางบางขวางได้ออกข้อบังคับให้ผู้ต้องขังติดต่อบุคคลภายนอกได้เฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น ทําให้ผู้ต้องขังรายนี้ไม่สามารถติดต่อบุคคลอื่นได้ เนื่องจากบิดาและมารดาได้เสียชีวิตแล้ว จึงขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขังที่พึงได้รับตามที่กฎหมายบัญญัติ และ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้ตรวจสอบ

.

ผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวางต้องหาหลักฐานมายืนยันว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ที่จะมาเยี่ยมหรือติดต่อ และไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกได้

กสม. ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าผู้ต้องขังรายนี้ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ทําให้ร่างกายซีกซ้ายเคลื่อนไหวไม่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นโรคไต และไขมันอุดตัน ทำให้ต้องรับประทานอาหารที่เหมาะกับเงื่อนไข จึงต้องการติดต่อบุคคลภายนอกที่เคยรู้จัก เพื่อขอความช่วยเหลือด้านการเงินสําหรับซื้ออาหารเอง แต่เรือนจำกลางบางขวางได้ออกข้อบังคับลงวันที่ 28 ก.พ. 2566 ห้ามบุคคลที่ไม่ใช่ญาติซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง และไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังส่งจดหมายติดต่อบุคคลภายนอก ทั้งที่ก่อนหน้านั้นผู้ต้องขังรายนี้ยังสามารถติดต่อลูกพี่ลูกร้อง หรือบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือได้อยู่ 

ผู้ต้องขังรายนี้ยังได้ยื่นรายชื่อบุคคลที่ให้เข้าเยี่ยมได้ ประกอบด้วย ภรรยา ลูกพี่ลูกน้อง อดีตภรรยา และบุตรชาย 2 คน แต่เรือนจำกลางบางขวางส่งรายชื่อกลับมา เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับบุตรชายทั้งสอง และไม่มีหลักฐานรับรองความสัมพันธ์กับภรรยา ซึ่งต้องใช้เอกสารรับรองจากกํานันหรือผู้ใหญ่บ้าน ทําให้ผู้ต้องขังรายนี้ไม่มีช่องทางติดต่อกับบุคคลตามรายชื่อดังกล่าว 

นอกจากนั้นผู้ต้องขังรายนี้ ยังพยายามส่งจดหมายติดต่อเพื่อนที่เคยถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ และลูกพี่ลูกน้อง แต่ก็ไม่สามารถส่งจดหมายติดต่อได้ หรือส่งไปก็ไม่รู้ว่าได้รับหรือไม่

เรือนจำกลางบางขวางได้ให้เหตุผลว่า การออกข้อบังคับเป็นการป้องกันผู้ต้องขัง ส่งข้อความที่อาจผิดกฎหมายไปยังบุคคลภายนอก แต่ผู้ต้องขังโต้แย้งว่า หากมีข้อความที่ผิดกฎหมาย ทางเรือนจำย่อมสามารถตรวจสอบได้ ประกอบกับเรือนจําอื่น ๆ อนุญาตให้ผู้ต้องขังติดต่อกับบุคคลภายนอกใต้ การกระทําของเรือนจำกลางบางขวางจึงไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

.

เรือนจำอ้างว่ามีปัญหาจากการให้ผู้ต้องขังติดต่อบุคคลภายนอกมาก่อน จึงต้องออกข้อบังคับควบคุมการเยี่ยมญาติและติดต่อสื่อสาร

ทางด้านนักทัณฑวิทยา เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชํานาญงาน เรือนจํากลางบางขวาง ได้ให้ข้อมูลกับทาง กสม. ระบุว่าในเรื่องการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขัง เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ได้ลงนามออก “ข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น และการสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคม หรือโดยทางใด ๆ ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องขังเรือนจํากลางบางขวาง พ.ศ. 2566” เพื่อป้องกันผู้ต้องขังใช้เรือนจำเป็นที่สื่อสารให้บุคคลภายนอกกระทำผิดกฎหมาย เช่น เขียนข้อความใส่รหัสลับเพื่อติดต่อซื้อขายยาเสพติด หรือติดต่อกับผู้ต้องขังเรือนจำอื่น ๆ ซึ่งอาจทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ 

ข้อบังคับนี้ กําหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งชื่อญาติที่จะติดต่อทางจดหมายไว้ล่วงหน้าไม่เกิน 10 ราย ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์เป็นบิดา มารดา บุตร พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และหลานของผู้ต้องขังเท่านั้น และอนุญาตให้รวมถึงญาติฝั่งภรรยาด้วย โดยให้ผู้ต้องขัง นําเอกสารที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านส่งให้เรือนจํา อีกทั้งกําหนดความถี่ในการส่งจดหมายออกนอกเรือนจําได้ตามลําดับขั้นของผู้ต้องขังด้วย 

ทางเรือนจำอ้างว่า ในอดีตเรือนจําเคยพบปัญหาจากการอนุญาตให้ผู้ต้องขังติดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จํากัด แม้สามารถคัดกรองจดหมายของผู้ต้องขังได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด 

.

กสม. พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำรวจเรือนจำความมั่นคงสูงสุด 4 แห่งไม่ได้ห้ามส่งจดหมายถึงบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทาง กสม. ได้ตรวจสอบระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น หรือสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคม ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 ข้อ 5 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานเรือนจำตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายหรือเอกสาร  แต่ระเบียบดังกล่าว ไม่ได้กําหนดให้ผู้ต้องขังจัดทําบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะติดต่อสื่อสารทางจดหมาย หรือกําหนดความสัมพันธ์ของบุคคลที่จะติดต่อให้ต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น 

ในส่วนระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจํา พ.ศ. 2561 ข้อ 7 ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจําไว้ล่วงหน้า จํานวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สามารถดําเนินการได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 30 วัน และกรณีมีเหตุพิเศษ ผู้บัญชาการเรือนจําอาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลภายนอก นอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังก็ได้ 

เช่นเดียวกับในประกาศมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง ของกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 1 พ.ย. 2564 ก็กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเยี่ยม การติดต่อบุคคลภายนอกของผู้ต้องขังไว้ในลักษณะดังกล่าว

ทาง กสม. ยังได้ตรวจสอบไปที่เรือนจำความมั่นคงสูงสุดที่มีอยู่ 5 แห่งทั่วประเทศ โดยพบว่าที่เรือนจํากลางระยอง เรือนจํากลางพิษณุโลก เรือนจํากลางคลองไผ่ และเรือนจํากลางนครศรีธรรมราช มีการกำหนดให้ผู้ต้องขังจัดทำรายชื่อญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ที่จะเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกันที่เรือนจำ แต่ไม่ได้มีการกำหนดให้ผู้ต้องขังต้องจัดทำรายชื่อผู้ที่จะติดต่อทางจดหมาย และอนุญาตให้ติดต่อทางจดหมายกับบุคคลที่ไม่ใช่ญาติได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย โดยยกเว้นที่เรือนจำกลางเขาบินที่ไม่อนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อเยี่ยม

.

กสม. สรุปความเห็นว่าข้อบังคับเรือนจำบางขวางเรื่องการส่งจดหมาย จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร เสนอให้ยกเลิกใช้ในเรือนจำทั่วประเทศ

สุดท้ายทาง กสม. ได้สรุปความคิดเห็นจากการตรวจสอบดังกล่าวเป็นมติ โดยเห็นว่าทั้งตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอก กรณีสื่อสารทางจดหมาย ไม่ได้กําหนดให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อได้เฉพาะญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ยกเว้นกรณีติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือเครือข่ายคมนาคมที่เรือนจําจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังติดต่อเฉพาะญาติเท่านั้น 

ส่วนกรณีการจัดทําบัญชีรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะติดต่อกับผู้ต้องขังไว้ล่วงหน้า เรือนจําสามารถกําหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อจํานวนไม่เกิน 10 รายชื่อ ซึ่งเป็นการดําเนินการกรณีบุคคลเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังในเรือนจําเท่านั้น โดยไม่มีระเบียบใดกําหนดให้ผู้ต้องขังต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะสื่อสารทางจดหมายไว้ล่วงหน้า 

โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเรือนจำความมั่นคงสูงสุด 4 แห่ง ล้วนไม่มีข้อบังคับกําหนดให้ผู้ต้องขังต้องจัดทํารายชื่อผู้จะติดต่อทางจดหมาย และต่างอนุญาตให้ผู้ต้องขังสื่อสารทางจดหมายกับบุคคลที่ไม่ใช่ญาติได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย

เรือนจำกลางบางขวางเองก็ไม่ได้เป็นเรือนจําความมั่นคงสูงสุด และสามารถใช้อํานาจในการตรวจสอบจดหมายของผู้ต้องขัง หากพบว่ามีการสื่อสารที่ก่อให้เกิดการกระทําผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของเรือนจํา เรือนจำย่อมมีอํานาจสั่งให้ผู้ต้องขังแก้ไข ระงับการส่ง สั่งให้ทําลาย หรือดําเนินการสอบสวนหรือส่งเรื่องฟ้องร้องดําเนินคดีได้ เพื่อป้องกันเหตุข้างต้นได้อยู่แล้ว โดยไม่จําเป็นต้องให้ผู้ต้องขังจัดทําบัญชีรายชื่อผู้จะติดต่อสื่อสารทางจดหมายไว้ล่วงหน้า 

โดยสรุปแล้ว กสม. เห็นว่าการออกข้อบังคับของเรือนจำกลางบางขวางเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังโดยไม่จําเป็น เป็นการเพิ่มภาระและจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 รวมทั้งไม่สอดคล้องกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ และข้อกําหนดแมนเดลลา ที่ให้ผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตให้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนตามความเหมาะสม การกระทําของผู้ถูกร้องจึงเป็นการกระทําอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทาง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อปัญหาดังกล่าว โดยให้เรือนจำกลางบางขวาง ทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิกข้อบังคับที่กําหนดให้ผู้ต้องขังจัดทําบัญชีรายชื่อผู้ที่จะติดต่อสื่อสารทางจดหมาย ซึ่งจํากัดเพียงญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น

และยังเสนอแนะให้กรมราชทัณฑ์สั่งการเรือนจําทั่วประเทศ ดําเนินการในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อให้เป็นไปในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับระดับความมั่นคงของแต่ละเรือนจํา โดยขอให้ดําเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้ 

ทั้งนี้ ภายหลังจากผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำกลางบางขวาง พบว่าปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาในการติดต่อสื่อสารบุคคลภายนอกผ่านจดหมายอยู่เช่นเดียวกับกรณีของผู้ร้องเรียนรายนี้

.

อ่านรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับนี้

X