28 เม.ย. 2568 เวลา 17.00 – 20.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนา “นิรโทษกรรมประชาชน — เส้นทางสิทธิมนุษยชน เพื่ออนาคตของประเทศไทย” ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนของไทย และการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2568 โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งจากองค์กรภาคประชาสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองเข้าร่วมวงเสวนา
เยาวลักษ์ : การนิรโทษกรรมต้องครอบคลุม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในช่วงแรก เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทางแยกสำคัญของประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 จนถึงการชุมนุมในปี 2563 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก มีคนมากมายต้องอยู่ในเรือนจำ และมีคนมากมายต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
สถานการณ์ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นวิกฤติครั้งสำคัญของสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย การนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับประชาชนจึงเป็นวาระที่สำคัญยิ่งเพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ แต่การนิรโทษกรรมที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะต้องครอบคลุม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
พูนสุข : ความเห็น ความเหมือน และความต่างของร่างนิรโทษกรรม 4 ฉบับในสภา
ก่อนเริ่มวงเสวนาหลัก พูนสุข พูนสุขเจริญ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ภายในประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้ชวนพูดคุยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ฉบับที่อยู่ในสภา ว่ามีเนื้อหาที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
พูนสุขเล่าว่า ในปี 2567 ศูนย์ทนายฯ ได้ร่วมกับภาคประชาสังคม 23 องค์กร เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเข้าสู่สภาฯ ขณะเดียวกันก็มีการเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนิรโทษกรรมเข้าสภาไปก่อนหน้าแล้วจำนวน 3 ฉบับ ทำให้ในปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่
-ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ
-ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน
-ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งปัจจุบันคือพรรคประชาชน
-ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เสนอโดยประชาชน
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ร่างอยู่ในวาระที่ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เห็นชอบให้เลื่อนเข้ามาพิจารณาก่อน แต่ในวันที่ 9 เม.ย. วาระดังกล่าวก็ยังไม่ถูกพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งจะต้องรอเปิดประชุมสภาสมัยถัดไปในเดือนกรกฎาคม 2568 วาระดังกล่าวจึงจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ไม่แน่ใจว่าวาระดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไปให้กลายเป็นวาระที่ไม่เร่งด่วนหรือเปล่า
มีข้อสังเกตว่า เดิมทีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่อยู่ในวาระด่วนพิเศษ แต่ถูกนำเข้ามาเป็นวาระด่วนพิเศษ พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร แม้ว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองจะไม่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกันเลยก็ตาม และเนื่องจากยังมีความเห็นไม่ตรงกันของพรรครัฐบาลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร จึงทำให้พรรครัฐบาลตัดสินใจนำเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน และทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่ถูกนำขึ้นมาพิจารณาไปด้วย จนหมดสมัยประชุมไป
ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 4 ร่าง ในด้านกรอบเวลาที่จะกำหนดช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการพิจารณานิรโทษกรรมจะมีความใกล้เคียงกันหมดในทุกร่าง จะแตกต่างเพียงเล็กน้อย เช่น ร่างของพรรคก้าวไกล เริ่มต้นในวันที่ 11 ก.พ. 2549 จนถึงวันที่บังคับใช้กฎหมาย ขณะที่ร่างฉบับประชาชนจะเริ่มต้นตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งเป็นวันที่มีการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญจนถึงปัจจุบัน ส่วนร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งแต่ 2548-2565
อย่างไรก็ดี พูนสุขมองว่าเรื่องกรอบระยะเวลา เป็นเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
ในส่วนที่ว่าคดีประเภทใดบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หลัก ๆ ของทั้ง 4 ร่าง มีหลักการคล้ายกัน คือ จะเป็นคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง และคดีที่มีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง ความแตกต่างก็คือ ในร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างของพรรคครูไทยฯ มีการกำหนด 20 ฐานความผิดไว้ ซึ่งก็จะมีทั้งความผิดตามมาตรา 113 หรือความผิดเกี่ยวกับการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และความผิดอื่น ๆ
ขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกลจะไม่มีกำหนดฐานความผิดไว้ แต่จะให้คณะกรรมการพิจารณาว่ากรณีไหนเข้าข่ายการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง
ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มีการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือฐานความผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที ได้แก่
1.คดีตามประกาศคำสั่ง คสช.
2 คดีในศาลทหารตามประกาศ คสช.
3.คดี ม.112
4.พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548
5.พ.ร.บ.ประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559
6.คดีอื่น ๆ ที่มีข้อหา 1-5 ร่วมด้วย
และส่วนที่ 2 ฐานความผิดที่นอกเหนือจากส่วนแรก จะมีคณะกรรมการพิจารณาแรงจูงใจทางการเมือง
ทั้ง 4 ร่าง จะมีการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาว่าคดีไหนที่มีแรงจูงใจทางการเมือง โดยมีองค์ประกอบคล้าย ๆ กัน คือมีตัวแทนจากการเมือง และจากฝั่งศาลหรือฝั่งกระทรวงยุติธรรม แต่ร่างของภาคประชาชนจะแตกต่างไป คือ องค์ประกอบหลักของคณะกรรมการจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจะมีตัวแทนของผู้เสียหายในคดีการเมืองในแต่ละช่วงเวลาเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
โดยในแต่ละร่างก็มีความผิดยกเว้นที่จะไม่นำมานิรโทษกรรมแตกต่างกันไป ร่างของพรรคครูไทยฯ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่นิรโทษคดีมาตรา 112, คดีที่ทำให้บุคคลถึงแก่ความตาย, ความผิดต่อส่วนตัว และความผิดในคดีทุจริต
ร่างของพรรคก้าวไกล ไม่รวมคดีที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยทำเกินกว่าเหตุ, ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามมาตรา 113 ฐานล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในส่วนร่างฉบับประชาชน คดีที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมประกอบด้วย คดีที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยทำเกินกว่าเหตุ และความผิดตามมาตรา 113
ความแตกต่างอีกประการของทั้ง 4 ร่าง คือ ระยะเวลาที่ให้คณะกรรมการพิจารณาว่าคดีใดมีแรงจูงใจหรือมูลเหตุทางการเมือง โดยพรรครวมไทยสร้างชาติกำหนดไว้ที่ 1 ปี พรรคครูไทยฯ กำหนดไว้ที่ 60 วัน ขยายได้อีก 30 วันสองครั้ง เท่ากับมีระยะเวลา 120 วัน
ส่วนของร่างของพรรคก้าวไกลกับฉบับประชาชนระบุเวลาการทำงานของคณะกรรมการไว้ที่ 2 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 1 ปี
พูนสุขกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาความขัดแย้งหลักของการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากทุกฝ่ายคือ การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีประเด็นอีกหลายอย่างที่ควรหยิบยกมาพูดคุย เช่น มาตรา 113 ความผิดฐานล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพูนสุขมองว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะความขัดแย้งหลักของสังคมไทยเกิดจากการรัฐประหารล้มล้างการปกครอง แม้ในความเป็นจริง คณะรัฐประหารทั้ง 2 ชุด ตั้งแต่ปี 2549 จนถึง 2557 จะทำการนิรโทษกรรมตัวเองและผู้เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีคนได้รับความเดือดร้อนจากคณะรัฐประหารอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้หากพิจารณาที่อัตราโทษ โทษสูงสุดของมาตรา 113 คือประหารชีวิต ขณะเดียวกันแม้มาตรา 112 จะโทษเบากว่า แต่กลับกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมมากกว่า
หากเป้าหมายของการนิรโทษกรรมคือการคลี่คลายความขัดแย้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณามาตรา 113 ด้วย
ประเด็นต่อมาที่ร่างของพรรคก้าวไกลกับภาคประชาชนแตกต่างจากอีก 2 ร่าง คือ การนิรโทษกรรมโดยยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ เหตุที่จำเป็นต้องยกเว้นเรื่องนี้ไว้ ก็ด้วยเจตนาที่ไม่อยากให้สังคมไทยติดหล่มกับความรุนแรง และการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นวงจรเดิม ๆ ของของการรัฐประหาร และการใช้ความรุนแรงโดยไม่เกิคความรับผิดรับชอบ และประเด็นนี้มักจะถูกมองข้ามไป และไม่ถูกนำมาพูดคุยกัน จึงเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย
อีกประเด็นคือ ความรับผิดทางแพ่ง หากย้อนกลับไปช่วงการเคลื่อนไหวของฝั่งเสื้อสีเหลืองจะพบว่า มีหลายกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางแพ่ง เช่น การปิดสนามบินสุวรรณภูมิโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีคนถูกดำเนินคดีมากนัก แต่ความเสียหายทางแพ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศมีสูง
พูนสุขตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข 2 ฉบับ ทั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคครูไทยฯ ต่างก็มีการนิรโทษกรรมความผิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการที่สมาชิกของทั้งสองพรรคเคยเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองฝั่งสีเหลืองมาก่อนหรือเปล่า
ขณะเดียวกันร่างของภาคประชาชนและก้าวไกลไม่ได้มีการนิรโทษกรรมความผิดทางแพ่งกรณีเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ พูนสุขมองว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะรัฐเกิดความเสียหาย เสียงบประมาณไปอย่างมหาศาล แต่ในการพิจารณาหรือพูดคุยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประเด็นนี้กลับถูกมองข้ามและไม่นำขึ้นมาพูดถึง
ประเด็นต่อมา คือ มาตรา 112 กลายเป็นความขัดแย้งหลักในปัจจุบัน คดีนี้คดีเดียวทำให้ประเด็นอื่น ๆ ถูกลดความสำคัญลงและไม่ถูกพูดถึง แต่ถึงอย่างไร มาตรา 112 ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ด้วยเหตุที่ปัจจุบันผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คือกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ไม่รวมมาตรา 112 เพราะไม่ใช่คดีที่คนในฝ่ายตนเองได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของตัวเองแต่อย่างใด
พูนสุขฝากทิ้งท้ายว่าหากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนไม่ได้ไปต่อในวาระแรก จะมีความผิดจำนวนหนึ่งที่ไม่ถูกนำมาพิจารณาในการนิรโทษกรรม อันได้แก่
-ความผิดต่อชีวิต กรณีประชาชนกระทำต่อประชาชน
-ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
-ความผิดตามประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.
-คดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธของพลเรือนซึ่งพิจารณาคดีในศาลทหาร คดีอาวุธเหล่านี้หากพิจารณาเพียงแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว หลายคดีไม่มีมูลเหตุทางการเมือง แต่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นมาของ คสช.
-คดีของบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก (20 พ.ค. 2557 – 2 เม.ย. 2558) ซึ่งบุคคลเหล่านี้ควรได้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีของตนเอง หากพวกเขายังมีความประสงค์
.
วงเสวนา : ก้าวต่อไปของนิรโทษกรรม ก้าวต่อไปของผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง
วงเสวนา “ก้าวต่อไปของนิรโทษกรรม ก้าวต่อไปของผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง” ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เมลิญณ์ สุพิชชา นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน และ ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ดำเนินวงเสวนาโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw
ยิ่งชีพเปิดวงเสวนาด้วยการชวนมองถึงสถานการณ์ของการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก่อนวันที่ 9 เม.ย. 2568 เกิดเหตุการณ์ที่วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นวาระด่วนพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเกมทางการเมือง เอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเป็นตัวประกันทางการเมือง เพื่อให้มีการรับร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร
ในท้ายที่สุด ทั้งร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ไม่ทันพิจารณาให้ทันในสมัยประชุมสภา ซึ่งถ้าเลื่อนไปตามคิวปกติ ก็น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้อักครั้งสมัยหน้า นำมาสู่ความกังวลจากภาคประชาชนว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะถูกพิจารณาและให้ความสำคัญหรือไม่ และนำมาสู่คำถามว่าสถานการณ์เช่นนี้สะท้อนอะไรถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
.
อัครชัย : สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง – สิทธิมนุษยชน ยังไม่ดีขึ้น ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ – ไทยต้องฟังเสียงเวทีโลก แนะสภา – รัฐบาล เร่งคลี่คลายสถานการณ์ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยกำลังเผชิญว่า ในปัจจุบันสถิติการดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 มีคนที่ถูกดำเนินคดีกว่า 2,000 คน เป็นเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 300 คน และมีคดีที่ยังไม่สิ้นสุดมากกว่า 600 คดี เป็นจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 1,200 คน
แม้เวลาผ่านไป 5 ปีแล้ว แต่การพิจารณาคดีจำนวนมากซึ่งเป็นผลพวงจากปี 2563 ยังทำได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อัครชัยตั้งคำถามว่า สังคมไทยต้องใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะหลุดจากวงจรเหล่านี้
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 47 คน (48 คน หากนับรวมกรณีพิมชนกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุกในวันเสวนา และต้องเข้าเรือนจำเพื่อรอฟังคำสั่งศาลฎีกาว่าให้ประกันหรือไม่) หลายคดีเป็นคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด แต่หลายคนกลับไม่ได้ประกันตัวให้มาต่อสู้คดี ซึ่งขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence)
แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนมาสู่การบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนกลับยังไม่ดีขึ้น ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเพื่อไทยกลับมีคดีใหม่เกือบ 70 คดี รวมทั้งคดีมาตรา 112 ด้วย
อัครชัยกล่าวถึงการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยซึ่งมีความต้องการจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ว่า รัฐบาลของตนแตกต่างจากรัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และเดินสายบอกนานาประเทศว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม อัครชัยชวนมองบทบาทของไทยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยตรงผ่านเวทีระหว่างประเทศ 3 เวที
เวทีแรกคือ องค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษชนของสหประชาชาติ แปลว่าก่อนหน้านี้ในช่วงแข่งขันเลือกตั้งเพื่อจะให้ตนเองมีเก้าอี้ในคณะมนตรีแห่งนี้ ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกระดับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย และรับฟังความเห็นของผู้รายงานพิเศษของ UN แต่ล่าสุดแม้ผู้แทนพิเศษ UN จะเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เลิกดำเนินคดีทางการเมือง ยกตัวอย่างกรณีของทนายอานนท์ นำภา แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติชี้ว่า ไทยยังไม่เปลี่ยนท่าที ยังไม่ทำตามข้อเรียกร้องใด ๆ ทั้งที่คำมั่นสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นสัญญาที่ไทยเป็นผู้ให้ด้วยตนเอง ไม่มีใครบังคับให้ไทยเข้าไปนั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ไทยเลือกที่จะเข้าไปเอง ดังนั้น จึงไม่เป็นการคาดหวังมากเกินไปในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามคำมั่นสัญญาของตนเอง
เวทีต่อมาคือ รัฐสภายุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีมติเร่งด่วนประณามการส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ให้แก่รัฐบาลจีน รวมถึงการดำเนินคดีทางการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112 อัครชัยชี้ว่า ตอนนี้ไทยกำลังการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งแม้จะเป็นการเจรจาทางเศรษฐกิจ แต่รัฐสภายุโรปก็ส่งมติกำชับไปยังคณะกรรมาธิการยุโรปว่า อย่าลืมท่าทีของไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณค่าที่รัฐสภายุโรปให้ความสำคัญ
เวทีที่สาม คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศก็มีแถลงการณ์ออกมาประณามกรณีไทยส่งอุยกูร์กลับจีนเช่นกัน รวมไปถึงการแบนวีซ่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ และล่าสุด กรณีการดำเนินคดีกับนักวิชาการอเมริกันอย่าง พอล แชมเบอร์ส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศก็มีความกังวลอย่างมาก แม้แต่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกฯ แพทองธาร ยังยอมรับว่า กรณีพอล แชมเบอร์ส ส่งผลโดยตรงต่อการเจราจากำแพงภาษี ขณะเดียวกันพี่ชายของพอล แชมเบอร์ส ก็เดินสายสื่อสารกับนานาประเทศว่า หากมีการเจรจากับประเทศไทยอย่าลืมประเด็นนี้
จะเห็นได้ว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วิกฤติสิทธิมนุษยชนของไทยในปัจจุบัน คือสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตา
ในประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 นั้น อัครชัยชวนคิดเกี่ยวกับคำถามที่มักจะถูกถามเสมอว่า “ทำไมต้องรวมมาตรา 112” แต่เขามองว่า คำถามที่สำคัญมากกว่าก็คือ “ทำไมถึงไม่รวมมาตรา 112” ซึ่งจากประวัติศาสตร์ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 23 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2475 มากกว่า 20 ครั้ง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การรัฐประหาร ซึ่งสามารถนิรโทษกรรมได้ แต่ทำไมการออกมาแสดงความคิดเห็น การใช้เสรีภาพ กลับไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
อัครชัยเห็นว่า การที่มาตรา 112 เป็นจุดศูนย์รวมของความขัดแย้งในปัจจุบัน ถ้าเป้าหมายการนิรโทษกรรมคือการยุติความขัดแย้ง การนิรโทษที่ไม่รวมมาตรา 112 ก็เหมือนการดับไฟ แต่ไม่เอาเชื้อเพลิงออก
ประเด็นต่อมา ถ้านิรโทษกรรมโดยไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย ประชาชนก็จะพูดถึงมาตรา 112 อยู่เรื่อยไป การยกเว้นมาตรา 112 จะยิ่งทำให้คนตั้งคำถามไม่หยุดเกี่ยวกับมาตรา 112
ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับข้อเสนอให้ใช้การอภัยโทษในกรณีของคดีมาตรา 112 อัครชัยเห็นว่า การเอาคนออกจากคุกให้ไปเกี่ยวโยงกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จะไม่ใช่ทางออกในการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้ง ทางออกที่ดีที่สุดคือการใช้อำนาจจากสภาผู้แทนราษฎร
สุดท้ายอัครชัยเสนอถึงฝ่ายนิติบัญญัติว่า เวลาเราพูดถึงการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น เป็นอำนาจโดยชอบธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่เรื่องของศาล หากมีความปราถนาที่จะทำในเรื่องนี้จริง ก็สามารถทำได้เลย
ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็สามารถออกนโยบายเพื่อบรรเทาสถานการณ์ดังเกล่าได้ สังเกตได้ว่าในบางช่วงก็ไม่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เลย แต่ในบางช่วงก็มีการกลับมาดำเนินคดี สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจที่จะทำอะไรเกี่ยวกับปัญหานี้ได้ และรัฐบาลก็เป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจ หากตำรวจจะดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มก็สามารถสั่งการไม่ให้ทำได้
โทษของมาตรา 112 ซึ่งเป็นการแสดงออกทางความคิด แต่โทษกับเท่าความผิดในการฆ่าคนโดยไม่เจตนา ดังนั้น เราควรจะมาถกเถียงและพูดคุยกันเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว รวมถึงในประเด็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในช่วงปี 2563-2564 การต่อสู้ทางการเมืองดำเนินไปบนท้องถนน แต่ในทุกวันนี้การต่อสู้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ทำให้เราเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่พูดคุยกันในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
.
ศศินันท์ : นิรโทษกรรม 112 ติดหล่ม เกรงขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ชี้การเมือง – ปากท้อง คือเรื่องเดียวกัน หากนิรโทษไม่รวม 112 ถือว่าขัดกับเจตนารัฐบาล ย้ำคืนสิทธิประกันทำได้ทันที
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน เล่าย้อนถึงบรรยากาศในวันที่ 9 เม.ย. 2568 ว่า ในฐานะ สส. ก็ทราบเรื่องที่มีการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งตอนที่รู้ว่า มีการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ขึ้นมาพิจารณาอย่างเร่งด่วนพร้อมกัน ตนก็มองว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการเมืองที่แท้จริง เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันเลย รัฐบาลจงใจใช้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาเบี่ยงเบนความสนใจจาก ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ที่ถูกจับตาจากประชาชนอย่างกว้างขวาง
ในส่วนอนาคตของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ความชัดเจนในตอนนี้คือ ไม่ว่าอย่างไร สส.ฝั่งรัฐบาลไม่รับร่างของภาคประชาชนอย่างแน่นอน เหตุจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 112 และเกรงว่าจะขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ส่วนร่างของพรรคก้าวไกลยังไม่แน่ใจว่าจะมีการรับหรือไม่
ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเพื่อไทยมีจุดยืนมาโดยตลอดในเรื่อง “ปากท้องต้องมาก่อน การเมืองไว้ทีหลัง” แม้กระทั่งการจะแก้รัฐธรรมนูญก็ยังคงอ้างเรื่องปากท้อง แต่สถานการณ์ในตอนนี้ ทั้งกรณีอุยกูร์ และพอล แชมเบอร์ส พิสูจน์แล้วว่า การเมืองกับปากท้องเป็นเรื่องเดียวกัน
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเพื่อไทยย้ำมาตลอดถึงการลดอุณหภูมิทางการเมืองลง ศศินันท์มองว่า การที่นายกรัฐมนตรีเองก็ดูแลตำรวจและฝ่ายความมั่นคง การจะลดอุณหภูมิทางการเมืองก็สามารถทำได้ เช่น การชะลอฟ้อง การหยุดการดำเนินคดีทางการเมือง การทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อลดการดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ และควรต้องทำในฐานะคนที่ประกาศว่าต้องการจะปรองดอง
ในเรื่องของการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกฝ่ายต่างก็รอคอยว่า เมื่อไหร่พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างของตนเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคใช้หาเสียงตอนเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ผิดหวังที่เพื่อไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ปรองดองกับพรรคการเมืองที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งมาอย่างยาวนานไปเรียบร้อยแล้ว
ศศินันท์มองว่า หากไม่รวมมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมด้วยก็จะถือว่าขัดกับเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการความปรองดอง การเอาคดีอื่น ๆ มาเทียบว่า คดีมาตรา 112 เป็นส่วนเล็ก ๆ เป็นการมองที่ผิดฝาผิดตัว
มาตรา 112 ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่เปราะบางจนเกินไปที่จะนำมาพูดคุย แม้แต่ความพยายามจะตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่า มาตรา 112 มีความน่ากลัวจริงหรือเปล่า ก็ไม่อาจสำเร็จได้ แต่ถึงอย่างไรแม้จะมีความเปราะบางมากก็ต้องนำมาพูดคุย ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น แม้กระทั่งการกล่าวอ้างศาลรัฐธรรมนูญก็มีความเปราะบาง ศศินันท์ย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องทำให้รัฐสภามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับผ่านกฎหมายเพื่อประชาชนจริง ๆ
ศศินันท์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้แต่ สส.ฝั่งรัฐบาลที่เคยเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็กลับมีความไม่เข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง หรือสถานการณ์ของผู้โดนคดีมาตรา 112 อย่างแท้จริง
ศศินันท์ฝากถึงรัฐบาลว่า การคืนสิทธิประกันตัวเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรต้องมาเรียกร้องในสภาก็ได้ และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยนำมาใช้หาเสียง โดยบอกกับประชาชนว่าจะมีการพูดคุยกับศาลให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ในตอนนี้ถึงแม้รัฐบาลจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ให้พวกเขาออกมาสู้คดีข้างนอก นอกจากนี้การที่ฝ่ายบริหารแสดงเจตจำนงต่อกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแทรงจากฝ่ายบริหารแต่อย่างใด
.
เข็มทอง : รัฐบาลไม่มีความกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนนิรโทษกรรม เตือนไทยอย่ามีประวัติด่างพร้อยเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องนิรโทษโดยรวม ม.112 เพื่อหลุดออกจากวงจรความขัดแย้ง
ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาชุดนี้ มองว่า รัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับ ขาดความจริงจังและความกระตือรือร้น ทำให้สถานการณ์ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดำเนินไปอย่างเฉื่อยชา รัฐบาลใช้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเกมทางการเมืองในการต่อรองผลประโยชน์มากกว่า
แม้จะมีบ้างที่ในระดับบุคคลอาจมีคนที่กระตือรือร้นอยากผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้เกิดขึ้น แต่พอในระดับพรรคไม่มีความกระตือรือร้นในการขับเคลื่อน เสียงเล็ก ๆ ในพรรคจึงไม่อาจทำอะไรได้
เมื่อขาดคำสั่งหรือทิศทางอันชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงส่งผลให้ สส.ฝั่งรัฐบาลแต่ละคนจึงสงวนท่าที ไม่ยุ่งกับเรื่องการนิรโทษกรรม นำไปสู่การไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายร่างกฎหมาย อันเกิดมาจากความกลัวว่าหากทำให้การนิรโทษกรรมเป็นวาระที่หยิบยกขึ้นมาพูดได้ อาจมีคนพูดอะไรบางอย่างที่เขากังวล
แม้แต่การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาในเรื่องนี้ รัฐบาลก็ไม่มีเจตนาจะผลักดันอย่างจริงจัง แต่มีจุดประสงค์เพื่อเตะถ่วงจนกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะหายไปจากการรับรู้ของคนในสังคม อีกประการหนึ่งการที่คนส่วนใหญ่มีความเชื่อในลักษณะนี้ ก็สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจในพรรคเพื่อไทยและตัวรัฐบาล
เข็มทองมองว่า แม้ปัจจุบันเรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่โลกหันขวา หลายประเทศมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น จนเราเห็นว่าแม้แต่ประเทศที่มีประชาธิปไตยตั้งมั่นก็มีแนวโน้มในการจำกัดเสรีภาพ ปิดปากเสียงฝ่ายค้าน เปลี่ยนค่านิยม จนชั่วขณะหนึ่งดูเหมือนว่าตอนนี้ไม่ว่าใครก็เป็นอำนาจนิยมได้ แต่ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะเมื่อดูที่สถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบ เช่น กรณีจาก 3 เวทีระดับโลก ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกฝ่ายหันขวาเสมอไป
พอโลกในปัจจุบันเลือกข้าง เลือกขั้ว ประเทศไทยก็ต้องคำนึงถึงจุดยืนตัวเองให้ดีว่าจะวางจุดยืนของตัวเองอย่างไร แม้กระทั่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกาจะหันเหไปทางอำนาจนิยม แต่การที่เรามีประวัติด่างพร้อยในเรื่องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ มันก็ไม่ง่ายที่จะเจรจาธุรกิจหรือทำข้อตกลงกันในประเด็นต่าง ๆ
ดังนั้น แม้จะเรื่องเล็กน้อย แต่อะไรก็ตามที่ไทยสามารถทำได้เพื่อให้มันง่ายขึ้นในการเข้าสู่ประชาคมโลกหรือติดต่อกับเวทีโลก ประเทศไทยก็ควรจะทำ ไม่ควรแบกภาระและเงื่อนไขมากมายติดไปด้วย
เมื่อพูดถึงการนิรโทษคดี 112 เข็มทองชวนพิจารณาคดีมาตรา 112 ในฐานะคดีการเมือง ซึ่งมีลักษณะ 3 ประการ ประการที่หนึ่ง ในขณะที่คดีปกติ ก็คือคดีระหว่างคู่ความด้วยกัน แต่คดีทางการเมืองคือคดีที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่คู่ความก็สนใจและคิดว่าเกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง ประการที่สอง การดำเนินคดีหรือการพิจารณาคดี มีกระบวนการซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการทางนิติศาสตร์โดยตรง แต่มีปัจจัยทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และประการที่สาม ในการดำเนินคดีทางการเมืองจะมีความไม่สมเหตุสมผลอยู่
นอกจากนั้นปัจจุบันที่มีการมองว่า นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ร่วมกับคดีอื่น ๆ ไม่ได้ แปลว่ามันมีลักษณะพิเศษกว่าคดีอื่น ๆ
ขณะเดียวกัน แม้มาตรา 112 จะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเป็นความขัดแย้งหลักในปัจจุบัน แต่คำถามว่า จะรวมมาตรา 112 ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ กลับถูกยกขึ้นมาพิจารณาในสัปดาห์สุดท้ายของคณะกรรมมาธิการฯ ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญ นอกจากนี้ในกระบวนการพูดคุยเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ก็มีความไม่สมเหตุสมผล เช่น การยกเหตุผลว่าทำไมเอาคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนน้อยมาถ่วง ทำให้คนที่โดนคดีการเมืองช่วงก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2549 ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยเร็ว
เข็มทองยังมองว่า ในขณะที่ ‘คดีการเมือง’ เป็นคดีที่ไม่มีใครติดตามหรือเก็บข้อมูลแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไร ดังนั้นตัวเลขจึงอาจถูกกำหนดขึ้นมาเองได้ แต่คดีมาตรา 112 นั้นมีความชัดเจนแน่นอนว่ามีจำนวนกี่คดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในการพิจารณา ซึ่งในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้จะมีคนที่เห็นด้วยและเห็นใจผู้ที่โดนคดีมาตรา 112 อยู่บ้าง แต่พวกเขาก็กังวลว่า หากรวม 112 อาจทำให้การผลักดันการนิรโทษคดีอื่น ๆ ไม่สำเร็จไปด้วย จึงต้องการให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปก่อน แล้วค่อยแยกนิรโทษกรรมมาตรา 112 เป็นอีกฉบับ แต่หากยอมเช่นนั้น โอกาสที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษกรรมย่อมไม่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งคดีอื่น ๆ หมดวาระทางการเมืองไปแล้ว แต่คดีมาตรา 112 ต่างหากที่ยังคงเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ แล้วทำไมจะไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เพื่อหลุดออกจากวงจรความขัดแย้งในปัจจุบันเสียที
ทางออกต่อเรื่องนี้ เข็มทองมองว่า รัฐบาลเพื่อไทยสามารถใช้อำนาจบริหารในการทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อให้สถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนในไทยดีขึ้น ไม่ควรอ้างแต่ว่า ไม่สามารถควบคุมองคาพยพของระบบราชการได้เลย และไม่ควรโยนภาระความรับผิดชอบไปให้ฝ่ายตุลาการหรือกระทรวงยุติธรรมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
รัฐบาลอาจมีแนวนโยบายมอบไปยังแต่ละหน่วยงาน เช่น ในชั้นอัยการเมื่อมีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ไม่มีมูลเหตุเพียงพอ ก็อาจชี้ได้ว่าคดีเหล่านี้ไม่ใช่คดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์ก็สามารถอำนวยความสะดวกให้นักโทษทางการเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ความเน่าเฟะของกรมราชทัณฑ์ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถจัดการได้ ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากรัฐบาลเริ่มทำเรื่องเหล่านี้ ก็จะเป็นการแสดงความจริงใจว่าตนมีความต้องการจะผลักดันเรื่องนี้จริง ๆ
.
เมลิญณ์ : ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สร้างความหวังให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทั่วโลกรับรู้ – จับตา ม.112 มากขึ้น ยืนยันเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมือง – ยกเลิก 112 – ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
เมลิญณ์ สุพิชชา นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา เล่าว่า ในตอนที่ทราบว่าจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าไปพิจารณาในสภา ในหมู่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองก็มีความตื่นเต้นและตั้งตารอ แต่ท้ายที่สุดเมื่อไม่ได้มีการพิจารณาในวาระดังกล่าวก็มีความผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร
ในมุมคนนอกที่กลายมาเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว เนื่องจากการที่ออกมาจากประเทศแล้ว มีความปลอดภัยแล้ว ก็ทำให้มีความรู้สึกห่างเหินกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในระดับหนึ่ง เกิดเป็นความสองจิตสองใจว่า ควรจะต้องรู้สึกอย่างไร แต่พอนึกถึงคนที่ถูกดำเนินคดีและต้องถูกจองจำก็เกิดความหดหู่ขึ้นมา อย่างไรก็ดี แม้เธอจะไม่ได้คิดถึงการกลับไทยมานานแล้ว แต่การนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ทำให้เธอมีความหวังขึ้นมาบ้าง
เมลิญณ์เล่าถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในแวนคูเวอร์ที่ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ลี้ภัยทางการเมืองเพิ่มขึ้นจาก 6 คนเป็น 12 คน หรือเท่าตัว สะท้อนถึงสถานการณ์ที่คนไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยจนถึงขั้นต้องลี้ภัย ซึ่งนอกจากแวนคูเวอร์แล้ว ในประเทศอื่น ๆ ก็น่าจะมีผู้ลี้ภัยมากขึ้นเช่นกัน
เธอเล่าอีกว่า การอยู่ในสังคมที่ไม่มีเพดานในการแสดงออก ทำให้ความตื่นตัวทางการเมืองยิ่งสูงขึ้น ผู้ลี้ภัยยังคงเข้าสังคมและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยอย่างกระตือรือร้น
ในฐานะผู้ลี้ภัยเมลิญณ์พบว่า องค์กรต่าง ๆ ในระดับสากลเข้าใจปัญหาเกี่ยวประเด็นทางการเมืองมากขึ้น เธอเล่าว่า UNHCR ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัยทางการเมืองก็มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลี้ภัยทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยในคดีมาตรา 112 แสดงว่า มาตรา 112 เป็นประเด็นที่ถูกจับตาอย่างมากจากทั่วโลก
จากการที่มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับสถานทูตแคนาดาอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยก็ทำให้ทราบว่า ในปัจจุบันยังมีคนที่อยู่ในประเทศที่ 2 ที่กำลังรอลี้ภัยไปยังประเทศที่ปลอดภัยมากกว่า ความรู้สึกของผู้ลี้ภัยในตอนนี้ก็คือประเทศไทยมีบรรยากาศไม่ต่างจากช่วงรัฐประหารมากนัก
เสียงจากองค์กรนานาชาติเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองรู้สึกใจชื้นขึ้น เพราะทำให้รู้สึกว่ามีคนจำนวนมากจากทั่วโลกที่เข้าใจในสถานการณ์ที่พวกเขาพบเจอ นอกจากนี้ก็ทำให้รับรู้ว่ากำลังมีคนมากมายที่กำลังทำเพื่อผู้ลี้ภัยอยู่
การปฏิสัมพันธ์กับผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นทำให้เมลิญณ์รู้อีกว่า กรณีของผู้ลี้ภัยไทยเป็นกรณีที่แตกต่างออกไปจากกรณีอื่น ๆ เพราะในขณะที่ประเทศอื่นมีคนลี้ภัยจากสงครามเป็นส่วนใหญ่ แต่ประเทศไทยกลับเป็นผู้ลี้ภัยจากการแสดงออกทางการเมือง
การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการพูดถึงสุนัขทรงเลี้ยง ทำให้เมลิญณ์เห็นว่า ในคดีมาตรา 112 หลาย ๆ คดีก็เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ดังนั้น มาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายที่เอาไว้ปกป้องพระมหากษัตริย์แต่เป็นคดีที่ใช้ปิดปากทางการเมือง จึงไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะนิรโทษกรรมโดยไม่รวมมาตรา 112
เมลิญณ์ยังคงยืนยันถึง 3 ข้อเรียกร้องที่พูดกันมาโดยตลอด นั่นคือ
1.ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งควรจะต้องทำตั้งแต่แรกแล้ว ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้บริสุทธิ์
2.ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเป็นเพดานที่ทุกคนพูดไว้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และมองว่าเป็นประเด็นที่สามารถทำได้เช่นกัน
3.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หลายกรณี เช่น กรณีออกไปทำโพลถามเรื่องสถาบันฯ แต่กลับโดนใส่ EM ซึ่งเกินกว่าเหตุ และสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถาบันฯ
เมลิญณ์ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นเพดานที่ต่ำมาก และไม่คิดจะลดเพดานลง สิ่งสำคัญของการนิรโทษกรรมผู้โดนคดีมาตรา 112 คือการทำให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอีกครั้ง
.