คนอยากเลือกตั้งฟ้องศาลปกครองให้ตำรวจยกเลิกห้ามเดินขบวนและหยุดคุกคามต่อผู้ชุมนุม

เช้าวันนี้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยื่นฟ้องศาลปกครองให้ตำรวจยกเลิกห้ามเดินขบวนและให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจยุติการคุกคามผู้ชุมนุมที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังรอศาลปกครองมีคำสั่งว่าจะไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการชุมนุมหรือไม่

21 พ.ค.2561 นายอานนท์ นำภา ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งและทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ได้รับมอบอำนาจเดินทางไปยื่นคำฟ้อง คำร้องขอบรรเทาทุกข์ และขอไต่สวนฉุกเฉิน กรณีที่ตำรวจสน.ชนะสงครามได้กำหนดเงื่อนไขห้ามกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้(22 พ.ค. 2561) และทหารตำรวจเข้าคุกคามกลุ่มผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อเวลาประมาณ  12.00 น. ศาลปกครองรับฟ้องแล้วเป็นเลขคดีดำที่ 1056/2561

อุ้มไปค่าย-เข้าค้น-เฝ้าหน้าบ้าน-ห้ามไม่ให้ร่วม: สถานการณ์สกัดคนอยากเลือกตั้งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ณ เวลา 14.00 น. ศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะมีการไต่สวนฉุกเฉินตามที่มีการยื่นคำร้องไปหรือไม่ หากศาลรับคดีนี้จะมีการพิจารณาในวันนี้ว่าจะมีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ ตามกลุ่มผู้ชุมนุมมีคำร้องขอบรรเทาทุกข์ที่ได้ขอให้ตำรวจยุติการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวการชุมนุม และปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยต่อผู้ชุมนุม ให้ดำเนินการชุมนุมและเดินขบวนได้และจนกว่าการชุมนุมจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ทางกลุ่มผุ้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ตำรวจยกเลิกเงื่อนไขที่ให้ผู้ชุมนุมอยู่ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไม่ให้เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาลเป็นการทำลายเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน

ตามที่ตำรวจกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวยังขัดต่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯ  2558 เพราะทั้งเสรีภาพชุมนุมและเสรีภาพการเดินทางจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ต้องตีความ แม้ว่าการเดินขบวนอาจจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจราจรอยู่บ้าง แต่การเดินขบวนก็ใช้ไม่เกิน 1 ช่องทางจราจรจากถนนราชดำเนินที่มีหลายช่องทางจึงไม่กระทบต่อสิทธิในการเดินทาง

นอกจากนั้นในคำฟ้องยังระบุว่าการที่ตำรวจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมต้องมีหนังสืออนุญาตให้ชุมนุมจากหัวหน้า คสช. มายื่นต่อตำรวจ หากไม่มีหนังสืออนุญาต ห้ามจัดชุมนุมโดยเด็ดขาดเพราะการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.  การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวของตำรวจจะทำไม่ได้เป็นการขัดต่อมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2558 เพราะมาตรานี้ไม่ได้ให้อำนาจแก่ตำรวจพิจารณา “ประเด็นเนื้อหา” ของการชุมนุม แต่ให้จำกัดในเชิง “พื้นที่” การชุมนุมเท่านั้น

ในคำฟ้องยังระบุอีกว่า ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้โดยไม่อุทธรณ์ตามมาตรา 11  พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ทางตำรวจกำหนดไว้เป็นเงื่อนไข เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมของตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขตามมาตรา 11 การชุมนุมนั้นจะต้องขัดต่อมาตรา 7 และ 8 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นการกำหนดเรื่องสถานที่จัดชุมนุม ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมระมัดระวังไม่ให้ขัดตามมาตราดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ทางตำรวจก็ไม่ได้ให้ชัดเจนในหนังสือตอบกลับผู้แจ้งจัดชุมนุมว่าการชุมนุมครั้งนี้ขัดต่อมาตรา 7 และ 8 อย่างไร

ในคำฟ้องยังระบุถึงกรณีตำรวจทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบคุกคามกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 16 คน(รายชื่อแนบท้ายข่าว) และได้ยกกรณีที่ สภ.คูคต คุกคามกุลวดี ดีจันทร์ ผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้ากองทัพบก เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่าน โดยเข้าตรวจค้นบ้านของกุลวดีแม้ว่าจะมีหมายศาล แต่การตรวจค้นดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ชัดเจนว่าต้องการค้นหาสิ่งใด และไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ อีกทั้งตำรวจยังระบุว่าจะมีการติดตามกุลวดีตลอดเพื่อไม่ให้ไปชุมนุม

นอกจากกรณีของกุลวดีแล้วนายอุทัย แถวโพธิ ผู้ให้เช่ารถเครื่องเสียงแก่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยังถูกทหารในพื้นที่ควบคุมตัวเข้า มทบ.11 และยังได้ยึดเครื่องขยายเสียงไปอีกด้วย

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเห็นว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ในมาตรา 44 ประกอบกับข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามในการรับรอง คุ้มครอง และเคารพการใช้เสรีภาพดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีและผู้ชุมนุม การจำกัดเสรีภาพด้วยเหตุข้างต้น จึงเป็นการละเมิดต่อกรอบรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ

รายชื่อผู้ที่ถูกคุกคาม

ลำดับชื่อบุคคลสรุปเหตุการณ์การติดตามคุกคาม
1น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา –มีรถต้องสงสัยขับมาที่หมู่บ้านหลายครั้งตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีการขับรถติดตามเมื่อเธอออกไปทำงาน  และวันที่ 19 พ.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์สอบถามเรื่องการชุมนุม และขอไม่ให้ไปร่วมชุมนุม และไม่ให้พาคนไปชุมนุม
.
2นายอานนท์ นำภา –วันที่ 20 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่มาจอดรถเฝ้าอยู่หน้าบ้าน
.
3นางสาวกุลวดี ดีจันทร์ –วันที่ 19 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นาย นำหมายค้นเข้าตรวจค้นบ้าน แต่ไม่พบสิ่งกฎหมายใดๆ จากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าอยู่หน้าบ้านตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อจะเดินทางไปไหนจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปด้วย พร้อมกับมีการข่มขู่ว่าถ้าไปร่วมชุมนุมจะมีทหารมาจัดการ
.
4นางพรวลัย ทวีธนะวานิชย์ –วันที่ 19 พ.ค. 61 มีเจ้าหน้าที่สันติบาลเดินทางไปพบที่บ้านเพื่อสอบถามเรื่องการชุมนุม 2-3 รอบ วันที่ 20 พ.ค.61 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตลอดทั้งวันระหว่างเดินทางจากบ้านไปจังหวัดอยุธยา ทั้งยังมีการแอบถ่ายรูป ทำให้เกิดความไม่สบายใจอย่างมาก
.
5นายอ๊อด แอ่งมูล –วันที่ 18 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย เดินทางไปติดตามตัวที่บ้าน เมื่อไม่พบ ได้โทรสอบถามถึงที่อยู่ และพยายามถามเรื่องการไปร่วมชุมนุม
.
6น.ส.จิตต์ศจีฐ์ นามวงค์ –วันที่ 20 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางไปสอบถามหาที่บ้าน แต่ไม่พบ
.
7นายยามารุดดิน ทรงศิริ –วันที่ 19 พ.ค. 61 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบถามถึงที่มหาวิทยาลัย และพยายามสอบถามว่าจะไปร่วมการชุมนุมหรือไม่
.
8นายสิทธิชัย คำมี –วันที่ 17 พ.ค.61 เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์หาครอบครัวพยายามถามข้อมูลเรื่องการไปชุมนุมทางการเมือง พร้อมบอกญาติว่าขอไม่ให้ไปร่วมกิจกรรม
.
9นางรัตนา ผุยพรม –เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งตำรวจ ทหาร สันติบาล กอ.รมน. จังหวัดอุบลราชธานี เวียนกันเข้าไปที่บ้านทุกวันในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนการชุมนุม เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ และในวันที่ 20 พ.ค.61 มีทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ประมาณ 25 นาย ไปพบที่บ้าน ห้ามไม่ให้ไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ โดยอ้างว่าจะผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และขัดคำสั่ง คสช.
.
10นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา –วันที่ 18-20 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ มาหาที่บ้าน จ.ชัยภูมิ ครั้งละ 3-4 นาย สอบถามว่า จะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพหรือไม่ ทำให้ครอบครัวและชาวบ้านตกใจ
.
11นายเทวินทร์ พูลทวี –วันที่ 16-20 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปพูดคุยด้วยหลายครั้ง ขอให้ไม่ไปร่วมการชุมนุม และมีการเดินทางไปที่บ้าน พร้อมติดตามถ่ายรูปอย่างต่อเนื่อง
.
12นางประนอม พูลทวี –วันที่ 16-20 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปพูดคุยด้วยหลายครั้ง ขอให้ไม่ไปร่วมการชุมนุม และมีการเดินทางไปที่บ้าน พร้อมติดตามถ่ายรูปอย่างต่อเนื่อง
.
13น.พ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล –วันที่ 18-20 พ.ค.61 เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยสลับกันมาพูดคุยถึงที่ทำงานและที่บ้านในจังหวัดราชบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่วนเวียนและแจ้งว่าได้รับคำสั่งให้มาติดตามเฝ้าความเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน
.
14นายสมบัติ ทองย้อย –วันที่ 19 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราชกว่า 10 นาย เดินทางไปที่บ้าน เพื่อติดตามว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไม่
.
15นายณราชัย รังโปดก –วันที่ 12 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปพบที่บ้าน พยายามสอบถามข้อมูลเรื่องการไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เงินที่ใช้ไปร่วม และยังมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งติดตามไปพูดคุยด้วย
.
16นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล –วันที่ 18 พ.ค.61 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้าน เพื่อติดตามว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไม่
.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจ 50 นาย บุกค้นบ้าน 1 ในผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง และติดตาม 24 ชม.แม้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

X