ตลกร้าย ทนายประเวศ หลักการพิจารณาโดยเปิดเผย และสิทธิที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ

ลับ ลับ ลับ เป็นคำสั่งจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีซึ่งทนายความประเวศ ประภานุกูล ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการโพสต์ข้อความใน  facebook ส่วนตัวจำนวน 10 ข้อความ และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาอีก 3 ข้อความในวันสืบพยานโจทก์ปากแรกในวันนี้(8 พ.ค.61) โดยศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

หลักการพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นหลักการหนึ่งในสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair Trial) ซึ่งถูกรับรองไว้ทั้งในข้อ 10  และข้อ 11 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน( Universal Declaration of Human Rights)  และ ข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights ) เป็นหลักการสากลที่ยอมรับว่าในการพิจารณาคดีหนึ่งๆนั้นจำเป็นจะต้องกระทำโดยเปิดเผย บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่คู่ความในคดีสามารถเข้ามารับฟังการพิจารณาได้ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินคดีนั้นเป็นไปโดยโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่บุคคลว่าบุคคลทุกคนจะมีความเสมอภาคเบื้องหน้าของกฎหมาย ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และได้รับการพิจารณาจากศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลาง  สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจึงยิ่งมีความสำคัญเนื่องจากไม่ใช่เพียงสิทธิโดยตัวของมันเองเท่านั้น แต่เป็นหลักประกันสิทธิว่าคู่ความในคดีจะสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆในกระบวนการยุติธรรมได้ด้วย

ในส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความของไทยได้กำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินคดีอาญานั้น รองรับการพิจารณาโดยเปิดเผยไว้ในมาตรา 172 แต่หลักการดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศตามมาตรา 177

ทนายประเวศในฐานะทนายความ เคยคัดค้านว่าการพิจารณาคดีลับขัดรัฐธรรมนูญ

แม้สิทธิพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจะเป็นหลักการสากล แต่หลักการดังกล่าวเพิ่งได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครั้งแรกในมาตรา  40(2) รัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550  เมื่อทนายประเวศได้ทำหน้าที่ทนายความในคดีที่นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาจากการปราศรัยในปี 2551  และศาลอาญาสั่งพิจารณาลับ ทนายประเวศได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ามาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดต่อมาตรา 29 (ซึ่งรับรองว่าการจำกัดสิทธินั้นต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้ อีกทั้งการตรากฎหมายจำกัดสิทธิยังต้องระบุรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการจำกัด)  และขัดต่อมาตรา 40(2) (ซึ่งรับรองหลักการพิจารณาโดยเปิดเผย) หรือไม่   โดยทนายประเวศได้ใช้สิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 38/2552 ไม่รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่านางสาวดารณียังสามารถใช้สิทธิอื่นได้ อย่างไรก็ตามในคดีเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นของนางสาวดารณีว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งประเด็นที่จำเลยโต้แย้งเรื่องการพิจารณาลับไปศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลยุติธรรมจึงดำเนินการส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนุญวินิจฉัย ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2554 ว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิ

“…แม้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) จะบัญญัติให้การพิจารณาคดีต้องกระทําโดยเปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ก็กําหนดให้มีการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ แต่ต้องกระทําเท่าที่จําเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าว กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรานี้เป็นข้อยกเว้นของการพิจารณาและสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้าจําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักประกันการอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และให้มีการตรวจสอบการดําเนินกระบวนพิจารณาของคู่ความและของศาล แต่ลักษณะคดีอาญาบางประเภทหากมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าถ้ามีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว จะกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความปลอดภัยของประเทศ ศาลมีอํานาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับเพื่อคุ้มครองคู่ความและบุคคลที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นได้ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักประกันขั้นพื้นฐานที่อารยประเทศพึงให้เป็นสิทธิแก่บุคคลในกระบวนพิจารณาของศาล อนึ่ง การพิจารณาเป็นการลับ ก็มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมและมิได้จํากัดสิทธิของจําเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กําหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความของโจทก์จําเลย และทนายความของจําเลย ผู้ควบคุมตัวจําเลย พยาน ผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จําเป็นมิได้กระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)”

คดีดังกล่าวนี้นับเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักการพิจารณาโดยเปิดเผยครั้งแรก แม้จะคัดค้านไม่สำเร็จแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนของทนายประเวศ

ตลกร้าย ข้อยกเว้นยังอยู่ แต่หลักการหายไปจากรัฐธรรมนูญ 2560

แม้คำวินิจฉัยที่ 30/2554 ของรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่าการพิจารณาโดยลับตามมาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่โดยหลักการแล้วก็ยังมีข้อวิจารณ์ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 40 (2) รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นในการจำกัดสิทธิไว้ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญจะสามารถกำหนดข้อยกเว้นไว้เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้อย่างไร

แต่อย่างไรก็ตามข้อวิจารณ์ดังกล่าวนั้นกลับหายไปพร้อมรัฐธรรมนูญ 2550 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมทั้งยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยที่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560  สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยกลับไม่มีการรับรองไว้ กลายเป็นว่าข้อยกเว้นหลักการโดยเปิดเผยนั้นถูกท้าทายโดยทนายประเวศหนึ่งครั้ง และหลักการดังกล่าวถูกทำให้หายไปในรัฐธรรมนูญฉบับถัดมา ในขณะที่มาตรา 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้นก็ยังดำรงอยู่และถูกนำมาใช้กับการพิจารณาในคดี 112 อีกหลายคดี อาทิเช่น คดีจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาซึ่งแชร์พระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าว BBC[1]

ตลกร้าย การพิจารณาโดยลับ ถูกนำมาใช้กับทนายประเวศในฐานะจำเลยมาตรา 112

เมื่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยถูกปิดกั้น ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ นั่นย่อมทำให้ถูกตั้งคำถามจากประชาชนถึงความไม่ชอบมาพากล มาตรา 112 ที่ดูเป็นแดนสนธยาตั้งแต่สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกลดทอน การปล่อยตัวชั่วคราวที่ถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง ข้อความซึ่งไม่เคยถูกเปิดเผยว่าจำเลยถูกกล่าวหาด้วยถ้อยคำลักษณะใด  คำพิพากษาส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่าข้อความนั้นเป็นการ “ดูหมิ่น” “หมิ่นประมาท” หรือ“แสดงความอาฆาตมาดร้าย”  เมื่อมีการพิจารณาคดีลับเกิดขึ้นอีกก็ย่อมที่จะสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

โดยเฉพาะกรณีทนายประเวศซึ่งได้แถลงการณ์ไม่รับกระบวนการพิจารณาของศาลโดยตั้งคำถามถึงความมีส่วนได้เสียของศาลซึ่งประกาศตัวว่ากระทำในนามพระปรมาภิไธยมาโดยตลอด และไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนใดๆ โดยการถอนทนายความ ไม่ให้การ ไม่ถามค้าน และไม่นำพยานใดๆเข้าสืบในฐานะจำเลย การที่ศาลมีคำสั่งพิจารณาลับในคดีทนายประเวศระหว่างการสืบพยานโจทก์วันที่ 8-10 พ.ค.61 ที่ศาลอาญา จึงทำให้ความสนธยาของคดี 112 และ การพิจารณาโดยลับ กลับมาบรรจบกันอีกครั้ง และน่าสนใจว่าท่ามกลางการพิจารณาคดีที่จำเลยไม่ได้ประกันตัว ไม่ร่วมกระบวนการพิจารณาคดีและศาลสั่งพิจารณาลับ อะไรจะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับทนายประเวศ

[1] ดูรายละเอียด “คดี 112 กับความยุติธรรมที่ปิดลับ” https://tlhr2014.com/?p=5125

X