6 วัยรุ่น อุทธรณ์โทษหนักคดีเผาซุ้ม ขอศาลรอการลงโทษและลดหย่อนค่าเสียหาย

ความคืบหน้าคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่น  ซึ่งศาลจังหวัดพลมีคำพิพากษาจำคุก 6 วัยรุ่น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 61 ใน 2 คดี คือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1267/2560 (เผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่) ซึ่งมีนายไตรเทพ กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ), 217 (วางเพลิงเผาทรัพย์), 358 (ทำให้เสียทรัพย์), 209 (เป็นอั้งยี่), 210 (เป็นซ่องโจร) ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหก โดยหลังจากลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 กรณีที่จำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 อายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี และลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 คนละ 2 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ไม่รอลงอาญา

อีกคดีคือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1268/2560 (เผาซุ้มในอำเภอชนบท) ซึ่งมีนายไตรเทพ และพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย โดยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยที่ 1 – 4 ของคดีแรก ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 209 , 210 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ โดยหลังจากลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 กรณีที่จำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 อายุไม่เกิน 20 ปี และลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 คนละ 3 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา อีกทั้งให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ ต่อจากโทษจำคุกในคดีแรกทำให้จำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 ต้องโทษจำคุกคนละ 5 ปี 32 เดือน หรือ 7 ปี 8 เดือน และจำเลยที่ 2 ต้องโทษจำคุกมีกำหนดรวม 11 ปี 6 เดือน

นอกจากนี้ ในส่วนแพ่งซึ่งผู้เสียหายได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในคดีแรกจำเลยทั้งหก ได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท แก่ อบต.หินตั้ง แล้ว ส่วนในคดีที่สองศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 958,000 บาท ตามราคาก่อสร้างที่เทศบาลตำบลชนบท ผู้เสียหาย ร้องต่อศาล พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

จากโทษจำคุกที่หนัก และค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ในจำนวนที่สูง ทำให้จำเลยทั้งหกตัดสินใจอุทธรณ์ในทั้ง 2 คดี โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 61 ทนายความของทั้งหกได้เข้ายื่นอุทธรณ์ที่ศาลจังหวัดพล คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร หรือให้จำเลยเสียค่าปรับ หรือทำงานบริการสังคม โดยจำเลยทั้งหกยินยอมถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และในคดีที่สองให้ลดหย่อนค่าเสียหายทางแพ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อขอโอกาสให้จำเลยทั้งหกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม พร้อมทั้งดูแลครอบครัวต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการจำคุกจำเลยทั้งหกไว้เป็นเวลานาน

ล่าสุด ศาลจังหวัดพลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา รับอุทธรณ์ของจำเลยในทั้ง 2 คดี ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาต่อไป

อุทธรณ์ของจำเลยทั้งหก และทั้งสี่ ในสองคดีดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษนั้นเป็นโทษที่หนักเกินไป ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุเพียง 18-20 ปี จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 4 อาศัยอยู่กับมารดาเพียงลำพัง จึงเป็นแรงงานเพียงคนเดียวในครอบครัว จำเลยที่ 3 และที่ 4 กำลังศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. จำเลยทั้งหกไม่มีประวัติว่าเคยได้รับโทษจำคุก หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญาใด ๆ

อุทธรณ์ยังระบุว่า ความผิดที่จำเลยทั้งหมดก่อในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตของจำเลยต่อไป ที่ผ่านมาจำเลยทั้งหมดได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และชั้นศาล ให้ความร่วมมือต่อกระบวนการพิจารณาอย่างดี อีกทั้งเมื่อจำเลยทั้งหมดถูกคุมขังจนครบกำหนดฝากขัง และได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระช่วงระยะเวลาหนึ่ง จำเลยทั้งหมดก็ไม่ได้หลบหนี หากแต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแสดงความสำนึกผิด ทั้งนี้ นับตั้งแต่ถูกจับในคราวแรกจนถึงวันที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล จำเลยทั้งหมดก็ถูกคุมขังใกล้ครบปีแล้ว นับว่าได้รับการลงโทษที่มากพอให้จำเลยทั้งหมดเข็ดหลาบและจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก การลงโทษจำเลยทั้งหมดต่อไปจึงเป็นการไม่จำเป็น เพราะทำให้ครอบครัวของจำเลยทั้งหมดขาดแรงงาน ขาดกำลังหลักของครอบครัว อย่างน้อยที่สุดก็ขาดแรงงานในการทำนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวอีสาน

นอกจากนี้ ในส่วนแพ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวน 958,000 บาท โดยศาลชั้นต้นพิเคราะห์จากวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างว่า เมื่อทรัพย์สินที่เสียหายสร้างขึ้นเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเคารพสักการะ ย่อมไม่อาจนำค่าเสื่อมราคามาพิจารณาได้เยี่ยงพัสดุหรือสิ่งปลูกสร้างทั่วไปนั้น จำเลยทั้งสี่เห็นว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนที่สูงเกินไปและไม่เป็นจริง เนื่องจากสิ่งที่ประชาชนชาวไทยแสดงความเคารพสักการะ คือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่โครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้าง ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสี่ที่ขอให้คิดค่าเสียหายโดยหักค่าเสื่อมราคา โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวรสำหรับหน่วยงานภาครัฐของกรมบัญชีกลาง จึงหมายถึงความเสื่อมสภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย พลาสติก ที่ผ่านแสงแดด ลม ฝน มาเป็นเวลานานปี ย่อมมีความชำรุดทรุดโทรมเป็นธรรมชาติ อีกทั้งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็มีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยมีข้อสังเกตต่อคำพิพากษาในคดีทั้งสองนี้ว่า ศาลมีคำพิพากษาลงโทษในข้อหาหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หนักกว่าที่เคยมีคำพิพากษาในคดีอื่น (คดีแรก 7 ปี คดีที่สอง 10 ปี) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ศาลยุติธรรมพิพากษาจำคุกความผิดฐานนี้ในอัตราโทษสูงไม่ต่างจากศาลทหารซึ่งส่วนใหญ่ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

นอกจากคดีของ 6 วัยรุ่นนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 60 ศาลจังหวัดพลได้มีคำพิพากษาในคดีตระเตรียมวางเพลิงซุ้มฯ ในเขต อ.เปือยน้อย ลงโทษจำคุกนายหนูพิณ และนายฉัตรชัย คนละ 2 ปี 6 เดือน และมีเด็กอายุ 14 ปี อีก 1 คน แยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ ขอนแก่น ซึ่งศาลกำหนดมาตรการให้เข้ารายงานตัวเป็นเวลา 6 เดือน หลังถูกควบคุมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นรวม 90 วัน

นอกจากนี้ ตำรวจ ทหาร ยังติดตามจับกุมผู้ร่วมวางแผนก่อเหตุได้อีก 2 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2560 นำไปควบคุมตัวใน มทบ.11 รวม 7 วัน โดยไม่ให้ครอบครัวเข้าเยี่ยม ก่อนส่งมาดำเนินคดีที่ สภ.ชนบท และอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา รวม 3 คดี คือ คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติใน อ.บ้านไผ่, คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.ชนบท  และคดีตระเตรียมเผาซุ้มฯ ในเขต อ.เปือยน้อย ทั้งสองให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวน และชั้นศาล และถูกขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอพล โดยไม่ได้ยื่นประกันตัวตลอดมา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาทั้ง 3 คดี ดังกล่าวในวันที่ 22 พ.ค. 61 นี้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ: ควบคุมตัวเด็ก 14 ในค่ายทหาร และการควบคุมตัวมิชอบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

ชี้ชะตา 6 วัยรุ่นเผาซุ้มฯ ผลพวงความขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกกด

โทษหนัก! จำคุก 10 ปี ข้อหา 112 วัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

 

X