“พิมพ์ แทนฤทัย” ถูกสั่งฟ้อง ม.112 คดีแรก กรณีปราศรัยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ใน #ม็อบ14กรกฎา66 ก่อนศาลให้ประกัน

26 มิ.ย. 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้อง “พิมพ์” แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำวัย 24 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในเวทีเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคารพเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในการชุมนุม ‘Respect My Vote’ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566

คดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2566  อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน โดยอ้างว่าได้พบคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชน เป็นการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีแทนฤทัยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมปราศรัย มีเนื้อหากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทางที่เสื่อมเสียพระเกียรติ และเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112 

ต่อมา 7 ส.ค. 2566 แทนฤทัยเดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.แดนชัย ทูลอ่อง รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ปทุมวัน โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่แทนฤทัย ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า ในวันที่ 14 ก.ค. 2566 ผู้ต้องหาได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทำนองว่าไม่มีสถาบันใดอยู่เหนือสถาบันประชาชน และกล่าวเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคารพเสียงของประชาชนและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

แทนฤทัยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวถึงกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 14 ก.ค. ว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามข้อกล่าวหา ในการปราศรัยครั้งนั้น เป็นเพียงการเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจให้ฟังเสียงของประชาชนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ เธอเคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว 4 คดี แต่ไม่เคยถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 มาก่อน

หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 และอัยการนัดฟังคำสั่งในคดีมาทั้งหมด 2 ครั้ง โดยในวันนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีในที่สุด

สุปราณี จิตรทหาร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ผู้เรียงฟ้อง บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย โดยตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยได้ขึ้นเวทีเข้าร่วมกล่าวคำปราศรัยในงานชุมนุมสาธารณะ โดยใช้ชื่องานว่า “Respect my vote สว. และสส. ต้องเคารพเสียงประชาชนและเสียงของตนเอง” ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

จำเลยได้กล่าวถ้อยคำพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 10) ในทางที่ไม่เหมาะสม และเป็นความผิดต่อกฎหมาย โดยจำเลยได้กล่าวถ้อยคำปราศรัยอันเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความ ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ บางข้อความต่อมวลชนผู้เข้าร่วมชุมนุมฟังคำปราศรัยของจำเลยประมาณ 600 คน

โจทก์กล่าวหาว่า คำปราศรัยของจำเลยทำให้ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมฟังคำปราศรัยในบริเวณที่เกิดเหตุ สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์ไทย และทำให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่สร้างมลทินมัวหมอง เซาะกร่อนบ่อนทำลายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง อันเป็นการเสื่อมเสียต่อพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

ในท้ายคำฟ้อง โจทก์ยังระบุขอคัดค้านการปล่อยตัวจำเลย โดยระบุว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี

ภายหลังศาลรับฟ้อง นายประกันได้ยื่นขอประกันตัวแทนฤทัย โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 19 ส.ค. 2567

สำหรับการชุมนุมซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.ค. 2566 โดยใช้ชื่อว่า ‘Respect My Vote’ เป็นการนัดหมายของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อร่วมเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน  ภายหลังวันที่ 13 ก.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันในรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม >>> #ม็อบ14กรกฎา66 #RespectMyVote

X