สมาคมนักเขียนสากล (PEN) เรียกร้องยุติดำเนินคดี ม.112 ต่อ ส.ศิวรักษ์ เชิญนานาชาติร่วมรณรงค์

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 60 สมาคมนักเขียนสากล หรือ PEN International ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อ ส.ศิวรักษ์ จากกรณีการพูดถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2557  โดยเชิญชวนให้สมาชิกนักเขียนร่วมกันเรียกร้องให้ยุติข้อกล่าวหาต่อ ส.ศิวรักษ์ โดยไม่มีเงื่อนไขในทันที

PEN International  หรือ สมาคมนักเขียนสากล ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการที่นักเขียนผู้มีชื่อเสียงและนักกิจกรรมทางสังคม ได้แก่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) อายุ 85 ปี  ผู้เป็นทั้งนักวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเป็นผู้เขียนหนังสือไม่น้อยกว่า 100 เล่ม เผยแพร่ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ต้องเผชิญกับคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 เนื่องมาจากการพูดอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2557  โดย PEN ระบุในแถลงการณ์ว่าข้อกล่าวหาต่อนายสุลักษณ์นั้น เป็นผลโดยตรงจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบของเขา จึงขอเรียกร้องให้ยุติข้อกล่าวหาทันทีและโดยที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการส่งจดหมายร้องเรียนใน 3 ประเด็นด้วยกัน คือ

  1. เรียกร้องให้ยุติข้อกล่าวหาต่อสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
  2. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้มั่นใจว่าเป็นไปตามภาระผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) และการดูหมิ่น-หมิ่นประมาท (มาตรา 326-333 ของประมวลกฎหมายอาญา) ด้วย
  3. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินคดีของพลเรือนในศาลทหาร

แถลงการณ์ระบุด้วยว่าสมาชิกของ PEN จะสนับสนุนให้เผยแพร่บทความและความคิดเห็น ทั้งในระดับชาติหรือท้องถิ่น เพื่อไฮไลต์กรณีของส.ศิวรักษ์ และสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยต่อไป

สมาคมนักเขียนสากลให้ข้อมูลของคดีเพิ่มเติมด้วยว่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 60  นายสุลักษณ์ได้ถูกเรียกรายงานตัวต่อศาลทหาร และแจ้งผลการสอบสวนเกือบสามปีในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112  โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ในส่วนอัยการทหารจะมีคำสั่งคดีนี้ต่อไปในวันที่ 7 ธ.ค. 60 โดยที่ PEN อธิบายว่าหากกรณีของสุลักษณ์ยังดำเนินต่อไป เขาจะต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุดเป็นระยะเวลา 15 ปี ด้วยกัน

ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากคำอภิปรายของส.ศิวรักษ์ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2557 ในการอภิปรายทางวิชาการที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการที่สุลักษณ์ตั้งคำถามว่าถึงการยุทธหัตถีในศตวรรษที่ 16 ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระมหาอุปราชมังกะยอชวา ฝ่ายพม่า ได้เกิดขึ้นแท้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หนังเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กลายมาเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์ที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลทหาร โดยที่สุลักษณ์ได้กระตุ้นผู้ฟังว่า “อย่าเชื่อสิ่งใดง่ายๆ ไม่เช่นนั้น พวกเขาจะกลายเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)” สุลักษณ์จึงได้ถูกกล่าวหาโดยสองพลโทจากกองทัพ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 57

PEN ยังระบุอีกว่า สุลักษณ์ได้เผชิญหน้ากับข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หลายต่อหลายครั้ง ทั้งเกี่ยวกับการกล่าวสุนทรพจน์และงานเขียนของเขา ในแต่ละกรณีสุลักษณ์ได้พ้นจากความผิด หรือข้อกล่าวหาได้ยุติลงไปแล้ว โดยที่ข้อกล่าวหาล่าสุดเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลอย่างยิ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน แต่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติตั้งแต่ปี ค.ศ.1590-1605

 

ทั้งนี้ PEN International  หรือ สมาคมนักเขียนสากล ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1921 ในกรุงลอนดอน โดยกวี นักเขียนบทละคร และนักกิจกรรมด้านสันติภาพในสหราชอาณาจักร มุ่งทำงานส่งเสริมการรวมตัวของนักเขียน สนับสนุนการทำงานวรรณกรรม และปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ต่อมามีการขยายเครือข่ายสมาชิกออกไปทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกา จนกลายเป็นองค์กรระดับนานาชาติของนักเขียนมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยสมาชิกหลายคนของ PEN เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ทั้งเคยได้รับรางวัลโนเบล อาทิเช่น ชินัว อาเชเบ, โจเซฟ คอนราด, อาร์เธอร์ มิลเลอร์, นาดีน กอร์ดิเมอร์, หลิว เสี่ยวโป, มาริโอ วาร์กาส โยซา, โทนี่ มอริสัน, ซัลมาน รัชดี, ออร์ฮัน ปามุก เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ PEN International เคยออกแถลงการณ์และร่วมรณรงค์ในคดีมาตรา 112 ของประเทศไทยมาแล้ว 2 กรณี ได้แก่ กรณีของภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม สองศิลปินผู้ร่วมเขียนบทและจัดทำละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า เมื่อปี 2558 PEN ได้จัดงานวันแห่งนักเขียนที่ติดคุก (Day of the Imprisoned Writer) ครั้งที่ 34 และได้แถลงเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคน ซึ่งขณะนั้นยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ต่อมาในปี 2559 PEN ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, สิทธิกรรมกร และบรรณาธิการของนิตยสาร Voice of Taksin เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 อันเป็นวันครบรอบ 5 ปี การคุมขังสมยศ โดย PEN เน้นย้ำถึงความกังวลอย่างสูงต่อการใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลทำให้การแสดงออกอย่างสันติกลายเป็นอาชญากรรม

 

X